Skip to main content

 

บริหารสไตล์นบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) การดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

จอห์น อะแดร์ (John Adair) นักวิชาการด้านการทหารที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษเขียนไว้ในหนังสือชื่อ “สภาวะผู้นำของมุฮัมมัด” ว่าบุคคลที่มีสภาวะผู้นำโดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์คือมุฮัมมัดศาสดาแห่งอิสลาม เมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ปกครองรัฐอิสลามท่านได้ใช้ความยุติธรรมในการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและชาวเมือง ท่านรังเกียจการหมิ่นศักดิ์ศรี ไม่เคารพในตัวตนของผู้อื่น มีตัวอย่างแสดงให้เห็นหลายครั้ง

ท่านอะบูฎารฺ อัลกิฟารี อัลกินานี (ร.ฎ.) หนึ่งในผู้ร่วมงาน (ซอหะบะฮฺ) ของท่านนบีมุฮัมมัด รอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ต่อสู้เรื่องความอยุติธรรมมาตลอดแต่บางครั้งยังทำผิดพลาด รายงานหะดิษซอเฮียะฮฺโดยอิหม่ามอัลบะญาฆี 4760 บันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งท่านอะบูฎารฺ (ร.ฎ.) เรียกขานท่านบิลาล (ร.ฎ.) ว่าบุตรของหญิงผิวดำ ท่านบิลาลนำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ซึ่งในภายหลังท่านรอซูลลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ได้เตือนท่านอะบูฎารว่าไม่มีผู้ใดที่มีคุณค่าเหนือกว่าผู้อื่นเว้นแต่ด้วยศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ของเขาผู้นั้นเท่านั้น

ในเรื่องเดียวกันนี้อะบูฎารฺยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงโดยเล่าเพิ่มเติมปรากฏในบันทึกหะดิษซอเฮียะฮฺของอิหม่ามบุคอรี 6050 ว่าท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวกับท่านอะบูฎารว่าหากท่านเรียกขานมารดาของท่านบิลาลด้วยชื่อที่ไม่เหมาะสม ท่านย่อมเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ละเลยเพิกเฉย (ญะฮีลียะฮฺซึ่งเป็นคำเรียกขานชาวมักกะฮฺยุคก่อนอิสลาม) ท่านอะบูฎาร (ร.ฎ.) ถามกลับว่าฉันด้วยอายุปลายคนแล้วนี่ละหรือเป็นผู้เพิกเฉยละเลย ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ตอบว่าถูกต้องแล้ว พร้อมตักเตือนเพิ่มเติมว่าคนเหล่านั้นคือพี่น้องของเจ้าซึ่งแม้อัลลอฮฺจะกำหนดให้เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ทว่าเจ้าต้องดูแลให้เขากินอาหารเหมือนที่เจ้ากิน สวมใส่เสื้อผ้าเช่นเดียวกับที่เจ้าสวมใส่ อย่าใช้ให้เขาทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา หากมอบหมายงานหนักแก่ผู้ใด เจ้าต้องให้ความช่วยเหลือ อย่าได้ทอดทิ้ง