Skip to main content

 

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (1)

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

หลายคนถามถึงต้นตอของความวุ่นวายในตะวันออกกลาง แต่คำถามอย่างนี้มันกว้าง และสามารถตอบได้หลายแนวทาง ถึงอย่างนั้น ผมอยากเสนอภาพของตะวันออกกลางในยุคอาณานิคมและการกำเนิดรัฐสมัยใหม่เพื่อสะท้อนให้เห็นรากฐานปัญหาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเนื่ิองต่อตะวันออกกลางและโลกมาจนถึงวันนี้

การศึกษานี้เป็นงานที่ร่วมพัฒนาขึ้นระหว่างผมกับนักศึกษาที่เคยเข้ามาฝึกงานในศูนย์มุสลิมศึกษาเมื่อปีที่แล้วครับ

ผลของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ต่อตะวันออกกลาง

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๑ อาณาจักรออตโตมันล่มสลายเนื่องจากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ดินแดนต่างๆที่เคยอยู่ภายใต้สุลต่านออตโตมันได้ถูกแบ่งแยกและปกครองโดยชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามในฐานะดินแดนภายใต้อาณัติ (mandate) ได้แก่ อิรักและปาเลสไตน์ในอาณัติอังกฤษ และ ซีเรียและเลบานอนในอาณัติของฝรั่งเศส

สงครามโลกครั้งที่ ๑ นับว่าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากต่อดินแดนในตะวันออกกลาง เนื่องจากผลกระทบของสงครามได้นำไปสู่การก่อตั้งระบบรัฐสมัยใหม่ (modern state system) ในภูมิภาค และเป็นรากฐานของระบบการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลกอาหรับ

หนึ่งในเหตุการณ์ที่มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งรัฐสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง คือ การจัดตั้งดินแดนใต้อาณัติ (mandate system) เนื่องจากระบบและกลยุทธ์การบริหารปกครองที่ชาติมหาอำนาจนำมาใช้ปกครองดินแดนในอาณัติในสมัยนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เข้าใจระบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและสังคมในรัฐตะวันออกกลางในยุคต่อมา

งานศึกษานี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษา และวิเคราะห์การบริหารและการจัดการดินแดนในอาณัติของอังกฤษและฝรั่งเศส รวมทั้งผลกระทบของนโยบายรัฐบาลที่มีต่อประชากรชาวอาหรับในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อทำความเข้าใจการจัดตั้งรัฐสมัยใหม่ในตะวันออกกลางในยุคอาณานิคม และประเด็นปัญหาทางการเมืองและการจัดการโครงสร้างทางสังคมที่เริ่มปรากฏในยุคเดียวกันแต่ยืดเยื้อยาวนานจนมาถึงปัจจุบัน

การก่อตั้งรัฐตะวันออกกลางในยุคอาณานิคม

เจมส์ เกลวิน (James Gelvin) นักประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง ชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย อธิบายว่า พรมแดนต่าง ๆ ในแถบเลอแวนต์ เมโสโปเตเมีย และ อะนาโตเลีย เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วยปัจจัย ๒ ประการ

หนึ่ง คือ ระบบดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติ (League of Nations mandate) ที่มอบอำนาจให้จักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสแบ่งแยกดินแดนในตะวันออกกลาง กำหนดอาณาเขต และขีดเส้นพรมแดนในรูปแบบเมืองก่อนรัฐ (proto-states) เพื่อปกครองได้อย่างอิสระ โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางชนชาติ และศาสนาของประชากร

การก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่งคือการทำการปฏิวัติระบอบการปกครอง การต่อต้านระบบจักรวรรดินิยม และการพิชิตดินแดน ดังจะเห็นได้จากดินแดนอะนาโตเลียที่ยังคงเป็นปึกแผ่นเดียวกันเนื่องจากรัฐบาลชาตินิยมตุรกี นำโดยมุสตาฟา เคมาล อตาร์เติร์ก ประกาศสงครามประกาศอิสรภาพตุรกี (Turkish War of Independence) และสู้รบกับตัวแทนฝ่ายสัมพันธมิตร คือ กรีซบนแนวรบด้านตะวันตก และอาร์มีเนียบนแนวรบด้านตะวันออก ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๑๙ ถึง ค.ศ. ๑๙๒๒ จนสามารถตั้งเป็นรัฐอิสระ (สาธารณรัฐตุรกีในปัจจุบัน) ได้อีกครั้งในปี ค.ศ. ๑๙๒๓

อย่างไรก็ดี บทความนี้จะนำเสนอการบริหารปกครองของดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจรากฐานของการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง และปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐตะวันออกกลางที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน