Skip to main content

 

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (จบ)

เลบานอน

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ฝรั่งเศสแยกพื้นที่ส่วนหนึ่งจากดินแดนในซีเรียออกมาจัดตั้ง เลบานอนใหญ่ (Greater Lebanon) ในปี ค.ศ. 1920 ตามข้อตกลงไซคส์ - พิโกต์ที่ทำไว้กับอังกฤษ เลบานอนไม่เคยเป็นรัฐที่มีอาณาเขตทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจน เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมันที่ประกอบไปด้วยชาวคริสเตียนมาโรไนต์เป็นส่วนใหญ่ และชาวอาหรับมุสลิมเป็นส่วนน้อย

การที่ฝรั่งเศสเข้าข้างชาวมาโรไนต์ที่อาศัยในเลบานอนทำให้ประชาชนชาวมุสลิมและศาสนาอื่นๆ รวมกันต่อต้านอำนาจฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงใช้ระบบที่เรียกว่า “Confessionalism” เพื่อกระจายอำนาจทางการเมืองตามสัดส่วนของประชากรภายในแต่ละชุมชนทางศาสนาและชาติพันธุ์ในเลบานอน

จะเห็นได้ว่า ฝรั่งเศสต้องใช้ยุทธวิธีแบ่งแยกและปกครองในแต่ละดินแดนใต้อาณัติเพื่อให้การปกครองดินแดนที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชนหลากหลายกลุ่มเป็นไปอย่างเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม แม้ฝรั่งเศสมีจุดมุ่งหมายที่จะขจัดขบวนการชาตินิยมในซีเรียด้วยการแบ่งแยกปกครองอย่างนี้ ระบบดังกล่าวกลับปลุกกระแสชาตินิยมเลบานอนขึ้นและเกิดปัญหาทางนิกายศาสนา (sectarianism) ที่เป็นชนวนของข้อพิพาทอันยาวนานในเลบานอนภายหลังระบบอาณัติสิ้นสุดลง

บทสรุป

การครอบครองดินแดนตะวันออกกลางของชาติตะวันตกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อภูมิภาคในหลายด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ระบบรัฐสมัยใหม่ (modern state system) และเส้นแบ่งอาณาเขตของรัฐต่างๆ ถือกำเนิดขึ้นในตะวันออกกลางจากข้อตกลงและการตัดสินใจของชาติมหาอำนาจ เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส

การที่ชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในตะวันออกกลาง ทำให้ความหวังของชาวอาหรับที่จะจัดตั้งรัฐอาหรับและได้รับเอกราชพังทลายลง เนื่องจากชาติมหาอำนาจแบ่งสรรผลประโยชน์ในรูปของการแบ่งแยกดินแดนในตะวันออกกลาง หนึ่งในรูปแบบของการปกครองอาณานิคมดังกล่าว คือ ระบบอาณัติ (mandate system) ซึ่งเจ้าอาณานิคมมีสิทธิเต็มรูปแบบในการกำหนดนโยบายการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

การรุกรานของชาติตะวันตกและการจัดการแต่งตั้งผู้นำอาหรับปกครองในนามเจ้าอาณานิคมได้ก่อให้เกิดแรงต่อต้านจากขบวนการชาตินิยมอาหรับขึ้น นอกจากนี้ การรวบรวมดินแดนเพื่อจัดตั้งรัฐในอาณัติที่มิได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของประชากรในแง่ของศาสนาและชนชาติ ทำให้การปกครองของมหาอำนาจตะวันตกประสบปัญหาจากความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์และศาสนาภายในดินแดนของตน

ปัจจัยภายนอกอย่างการเข้ามาของชาติมหาอำนาจ ประกอบกับปัจจัยภายใน เช่น การเมืองการปกครองภายในโลกอาหรับ ได้ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในดินแดนตะวันออกกลางขึ้น เช่น ความพยายามของผู้นำชาตินิยมอาหรับที่ประสงค์จะปกครองตนเองแม้จะยังมิได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการ

อีกกรณีหนึ่งคือ การพัฒนาจุดยืนในเชิงนโยบายต่างประเทศเพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงอำนาจและความแข็งแกร่งของรัฐ ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในโลกอาหรับหลัง ค.ศ. 1918 จึงได้วางรากฐานของการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้ว่าดินแดนในตะวันออกกลางจะถูกชาติมหาอำนาจแยกออกเป็นส่วนๆ ตามระบบอาณัติและถูกควบคุมตามนโยบายแบ่งแยกและปกครอง การก่อขึ้นของอัตลักษณ์ของชาติและ

ความสัมพันธ์ระหว่างชาติอาหรับกลับสูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายรัฐในตะวันออกกลางตั้งแต่ ค.ศ. 1918 - 1939 จึงถือเป็นพื้นฐานของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางในสมัยต่อมา ที่ผู้นำชาติอาหรับต่างนำแนวคิดชาตินิยมมาเป็นหลักเพื่อต่อต้านการครอบครองดินแดนโลกอาหรับของมหาอำนาจตะวันตก

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (1)

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (2) : ที่มาของระบบดินแดนใต้อาณัติ

ตะวันออกกลางในยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (3) : รูปแบบและระบบการปกครองภายใต้อาณัติ

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (4) : ปาเลสไตน์ในอาณัติอังกฤษ (British Mandate of Palestine)

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (5) : ซีเรียในอาณัติฝรั่งเศส