Skip to main content

 

บทสะท้อนต่อแถลงการณ์ลวงโลกฯ ของ กอ.รมน. ภาค 4 สน.

 

ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง

 

ขอบคุณภาพจาก http://www.naewna.com

 

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) น่าจะอธิบายถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ดีกว่านี้แทนการออกแถลงการณ์ที่ให้ชื่อว่า “แถลงการณ์ลวงโลก” “ยุตติหลอกลวงประชาชน”

ในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐที่มีภารกิจทำงานเพื่อประชาชน การตอบข้อสงสัยด้วยเหตุด้วยผลและข้อเท็จจริงมีตัวชี้วัดหรือตัวเลขทางสถิติสนับสนุนคำอธิบายดังกล่าวแทนการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือสำนวนตอบโต้คำแถลงการณ์ของ “เครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” น่าจะก่อให้เกิดบบรรยากาศที่สร้างสรรค์มากกว่า (โปรดดูคำแถลงการณ์ของกอ.รมน. ภาค 4 สน.และเครือข่าย http://www.thaipost.net/main/detail/4202)

 คำแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ มีเนื้อหาหลักในการเรียกร้องให้ทางการใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติงานเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพราะเมื่อประชาชนถูกละเมิดจากการใช้กฎหมายพิเศษ บาดแผลจากการกระทำของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมไม่ง่ายที่จะรักษา และยิ่งไปกว่านั้นปัจจัยที่มีอยู่เดิมและปัจจัยแทรกซ้อนต่างๆ จะยิ่งทำให้บาดแผลนั้นลุกลามและขยายไปเป็นความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับรัฐอันเป็นสาเหตุให้เกิดการต่อสู้เป็นวงจรไม่สิ้นสุด

 หากพิจารนาถ้อยแถลงของ เครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพฯ อย่างใคร่ครวญด้วยใจที่เปิดกว้าง จะเห็นว่า เครือข่ายฯมีความระมัดระวังอย่างยิ่งต่อการตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งนี้ โดยเห็นได้จากข้อเรียกร้องที่ให้ฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐยุติความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ทุกชาติพันธุ์และศาสนาโดยทันที ส่วนการเรียกร้องให้ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ยุติการดำเนินคดีกับสื่อมวลชนนั้นก็เพื่อปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลให้กับประชาชนในมิติที่แตกต่างไปจากรัฐ และในสังคมที่มีวุฒิภาวะ (Maturity) สื่อมวลชนย่อมมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ที่จะตั้งคำถามกับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 สน. เห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอโดยสื่อมวลชนมีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง กอ.รมน. ควรเลือกแนวทางการใช้ทรัพยากรและกลไกต่างๆรวมทั้งช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่อย่างพร้อมสรรพชี้แจงทำความเข้าใจมากกว่าการฟ้องร้องดำเนินคดี นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงท่าที่บริสุทธิ์ใจ เป็นมิตรและเปิดกว้าง (in good faith) แต่เมื่อกอ.รมน.เลือกแนวทางฟ้องร้องดำเนินคดีสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงถูกมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อมิให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือที่เรียกว่า SLAPPs (Strategic Lawsuit against Public Participations)

เจ้าหน้าที่มีอำนาจ ทรัพยากร และมีกฎหมายพิเศษคุ้มครองการปฏิบัติงานอยู่แล้วไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อชาวบ้านอีกโดยเฉพาะเมื่อการดำเนินการดังกล่าวนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมากยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่าย เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้านได้เพราะมีความรู้สึกที่ขาดความเชื่อมั่นต่อกันเสียแล้ว ฝ่ายหลังจึงต้องหันไปพึ่งพิงองค์กรภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และคนทำงานในพื้นที่ที่พวกเขาไว้วางใจ

 จากการสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจของหน่วยงานหรือกลุ่มคนในการทำงานเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยและการสร้างสันติภาพโดยสถานีวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจจากประชาชน (3.08 คะแนน) น้อยกว่าภาคประชาสังคม และองค์กรสิทธิมนุษยชน (3.19 และ 3.12 คะแนนตามลำดับ) (โปรดดู https://www.deepsouthwatch.org/node/4147)

เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560-2562  ซึ่งจัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติที่มีกรอบคิด หลัก (ข้อ 3)  คือ (3.1) การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี (3.2) การใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง (3.3) การบริหารจัดการบนพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรมและ (3.4) การยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน(โปรดดูhttps://www.deepsouthwatch.org/node/9823) ล้วนต้องการภาคประชาสังคมในการบรรลุถึงเป้าหมาย การมองภาคประชาสังคมว่าเป็นหุ้นส่วนของสันติภาพแทนการมองว่าเป็นศัตรูที่จ้องทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ น่าจะสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐเขียนขึ้นมาเองกับมือมากกว่า

เนื้อหาและชื่อแถลงการณ์กอ.รมน. ภาค 4 สน.ที่ตั้งชื่อแถลงการณ์ของตัวเองว่า “แถลงการณ์ลวงโลก “ยุตติหลอกลวงประชาชน” ก็ไม่น่าสร้างภาพพจน์ที่ดีแก่องค์กรเช่นเดียวกัน