Skip to main content

 

สตรีชายแดนใต้ขอร่วมรณรงค์เพื่อสันติสุขในพื้นที่

 

มารียัม อัฮหมัด
ปัตตานี
180308-TH-women-1000.jpg
น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ประธานสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ชูป้ายเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัย ในวันสตรีสากล ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 8 มีนาคม 2561
 เอื้อเฟื้อภาพโดย น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในวันสตรีสากลในวันพฤหัสบดีนี้ สตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง วางอาวุธ และหาทางออกโดยสันติวิธี รวมทั้งให้ยอมรับความเสมอภาคระหว่างสตรีเพศและบุรุษเพศ ซึ่งมีสตรีจำนวนหลายพันรายบาดเจ็บเสียชีวิต หรือสูญเสียคนในครอบครัวจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากว่าสิบสามปี

น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ประธานสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ได้เดินทางจากยะลามารับรางวัลสตรีดีเด่น ด้านส่งเสริมสันติภาพ ประเภทประชาชน จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่กรุงเทพในปีนี้ และได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนต้องการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง โดยขอให้ผู้หญิงได้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้เกิดสันติสุข ให้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมได้

น.ส.ปาตีเมาะ ระบุว่า องค์กรสตรี 23 องค์กร ได้พัฒนาข้อเสนอของผู้หญิงบนพื้นฐานของมิติหญิงชายขึ้นเป็นครั้งแรก  เรียกร้องพื้นที่สาธารณะปลอดภัย ตลาด โรงเรียน-สถานศึกษา ถนน ศาสนสถาน เพื่อผลักดันการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้แสดงความขอบคุณกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นถึงความตั้งใจในการทำงาน เพื่อผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่

“ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย หาทางออกโดยวิธีทางการเมือง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธที่ทำให้ผู้หญิง และกลุ่มเป้าหมายเปราะบางได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลด และไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ มุ่งเน้นสันติภาพในพื้นที่ ไม่ใช่แค่ได้รางวัล แต่เราอยากได้สันติภาพกลับคืนมาจริงๆ” น.ส.ปาตีเมาะกล่าว

น.ส.ปาตีเมาะ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานในพื้นที่ ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2547 ถึงปี 2561 มีจำนวนเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น 19,702 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 6,736 ราย บาดเจ็บ 13,334 คน ผู้หญิงและองค์กรผู้หญิงต่างๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ จึงได้ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนผู้หญิงในภาคส่วนอื่นของประเทศ เพื่อขอความสันติสุข

“ผู้หญิงเป็นเหยื่อโดยตรง 16 เปอร์เซ็นต์ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นแม่ที่สูญเสียลูกชายและลูกสาวกว่า 6,000 คน หญิงหม้าย 3,000 คน เด็กกำพร้า 9,000 คน จากการสูญเสียทั้งพ่อและแม่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ ปัญหาปากท้อง ยาเสพติด สุขภาพจิต ความแตกร้าว และการหวาดระแวงกัน” น.ส.ปาตีเมาะกล่าวเพิ่มเติม

ทางด้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ขอสงวนชื่อ-นามสกุล และอาชีพ) กล่าวว่า ในฐานะสตรีที่ต้องมาใช้ชีวิตที่ปราศจากผู้นำครอบครัว ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ เพราะสามีถูกยิงตายเมื่อ 12 ปีก่อน จนต้องเปลี่ยนบทบาทจากแม่บ้านมาเป็นผู้นำครอบครัว เป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับลูก ขอเรียกร้องให้สังคมมองผู้หญิงอย่างเสมอภาค อย่ามองว่าเป็นภาระสังคม

“สังคมยังมองผู้หญิงม่าย ผู้หญิงเลี้ยงเดี่ยวเป็นปัญหา สร้างภาระให้สังคม บางครั้งจะถูกสังคมดูถูก อยากให้ทุกฝ่ายมาร่วมยอมรับคนกลุ่มนี้มากกว่านี้ ร่วมกันหาอาชีพให้เขาได้ทำเพื่อเลี้ยงครอบครัว เพราะถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากเป็นแบบนี้” สตรีรายดังกล่าวระบุ

“ปัจจุบันเศรษฐกิจแย่ คนตกงานจำนวนมาก ครอบครัวรับภาระไม่ไหว ปัญหาในครอบครัวก็ตามมา สามีเครียด บางครอบครัวสามีใช้ยาเสพติดเป็นทางออก ทะเลาะกับภรรยา มีการตบตี เตะต่อยภรรยา สารพัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ผู้หญิงก็เกิดความเครียดไม่ต่างจากผู้ชาย แต่จากการกระทำที่เกิดขึ้นในสังคม เสมือนว่าผู้หญิงมีความอดทนมากกว่าผู้ชาย รวมทั้งยังใช้สติแก้ปัญหามากกว่าใช้กำลัง แต่ความรุนแรงมักจะตกกับผู้หญิงเสมอ” สตรีรายเดียวกัน กล่าวเพิ่มเติม

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.benarnews.org