Skip to main content

“…

ค่ำคืนเอ๋ย

จงก้าวไปให้ช้าลง

จนกว่าเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้

ได้หยั่งรากและแตกหน่อ

ก่อนที่รุ่งอรุณอันน่าสะพรึงกลัว

จะมาเยี่ยมเยือน

ขอให้เราได้กล่าวสดุดี

แก่ผู้ตายที่ไร้หลุมฝังศพ

และปราศจากมรณบัตร

ขอให้เราได้จารึกชื่อของเขา

บนสุสานไร้กาลเวลา

ของเหล่าวีรชน

ผู้อุทิศตนแด่มวลชน

……..”

 

บทกวี Flower in the darkness หรือ ดอกไม้ในความมืด ที่ชะการีย์ยา อมตยาเขียนอุทิศแก่สมชาย นีละไพจิตรบทนี้ เขาแต่งไว้เมื่อ 12 ปีที่แล้วก็จริง ทว่ามันยัง “ใช่” เสมอ ไม่ว่าเมื่อนั้นหรือบัดนี้ มันบอกเราว่าความตายที่ “ไร้หลุมฝังศพ” ของเขานั้นกลับยิ่งทำให้ชื่อสมชาย นีละไพจิตรยังคงสร้างแรงสะเทือนต่อไปโดยเฉพาะในการสร้าง “เมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้” เพื่อความเป็นธรรม

สมชายเป็นหนึ่งในชื่อของคนตายและคนหายในสถานการณ์ของความขัดแย้งภาคใต้  ก่อนหายไปเมื่อ 12 มี.ค. 2547 เขารับเป็นตัวแทนว่าความในคดีความมั่นคงจำนวนหนึ่งที่มีกลุ่มคนจากสามจังหวัดภาคใต้ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุรุนแรง ความเคลื่อนไหวสำคัญก่อนที่จะหายไปเป็นความพยายามที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกความที่ถูกซ้อมทรมาน ทั้งยังล่ารายชื่อเพื่อขอให้มีการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก ความตายที่ไร้หลุมฝังศพของเขาจึงสัมพันธ์กับปัญหาสิทธิของคนในสามจังหวัดภาคใต้อย่างแนบแน่น ความข้อนี้ปรากฎชัดในการเสวนาเรื่อง "14 ปีทนายสมชาย จิตววิญญาณที่ไม่สามารถบังคับให้สูญหาย"

สมชายเป็นมุสลิมและเป็นคนกรุงเทพฯ เขาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและเมื่อจบออกมาก็ได้ฝึกงานกับทนายทองใบ ทองเปาน์  เขาเป็นทนายความในยุคสมัยที่การศึกษากฎหมายและการเป็นทนายไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับหลายๆคนโดยเฉพาะที่มาจากสามจังหวัดภาคใต้

มันโซร์ สาและ ที่เคยศึกษานิติศาสตร์และเป็นรุ่นน้องของทนายสมชายมาก่อนบอกเล่าว่า เขาเองแม้จะจบการศึกษาด้านกฎหมายแต่กลับตัดสินใจไม่ยึดอาชีพทนายความ  เพราะทนายความสำหรับเขาในเวลานั้นก็คือคนที่สามารถพลิกขาวให้เป็นดำได้เพียงเพื่อที่จะเอาชนะคดี ทว่าในวันนี้ มันโซร์ชื่นชมว่าทนายสมชายเป็นคนที่เสียสละ สิ่งสำคัญคือเขา “ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง”  ส่วนมูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ อดีตนักศึกษานิติศาสตร์อีกรายเล่าว่า แม้ในยุคสมัยของเขาซึ่งตามหลังทนายสมชายหลายปี แต่สำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อยในสามจังหวัด อาชีพทนายก็ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดี  ดูเหมือนว่าปัญหาใหญ่คือประเด็นเรื่องของการเป็นทนายกับการจัดการกับ “ความจริง” แต่งานของทนายความอย่างสมชาย นีละไพจิตรเปลี่ยนวิธีคิดอันนี้ของเขาด้วยบทสรุปใหม่ “นักกฎหมายมันไม่ได้ขี้โกงทุกคน” เขาว่า พร้อมกับสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ทำความรู้จักสมชาย คนที่พร้อมจะช่วยเหลือคนที่ถูก “กดขี่ข่มเหง” ในทุกที่  เขาเห็นว่า “วันนั้นหากไม่มีสมชาย ก็อาจจะไม่มีอีกหลายๆคนรวมทั้งแมค (ศูนย์ทนายความมุสลิม)”

เส้นทางการทำงานของสมชายที่เกี่ยวพันกับสามจังหวัดภาคใต้นั้น ทนายอับดุลกอฮาร์เล่าว่า เขาเริ่มตั้งแต่คดีความมั่นคงที่นักศึกษาจากภาคใต้ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหงจำนวน 6 คนถูกกล่าวหาว่าวางระเบิดเพื่อต่อต้านการสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการรวมตัวตั้งกลุ่มทนายความในนามชมรมนักกฎหมายมุสลิมเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งหก โดยมีทนายสมชายเข้าร่วมด้วย และตั้งแต่นั้นทนายสมชายก็ได้จับคดีที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้อีกหลายคดี รวมถึงคดีที่เรียกว่าคดีกูเฮงเผาโรงเรียน  คดีสุดท้ายที่เขารับว่าความให้ก็คือคดี “เจไอ” อันเป็นคดีที่น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอะกับพวกรวม 4 คนถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มเจมาอิสลามิยาหรือเจไอพร้อมกับวางแผนวางระเบิดสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ 

หลังปี 2547 อันเป็นปีที่สมชายถูกอุ้มหาย จำนวนคดีความมั่นคงที่เป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ในภาคใต้เพิ่มปริมาณมากขึ้นหลายเท่า ในบางปีตัวเลขคดีที่ค้างรอการพิจารณาในศาลมีหลายพันคดี ผลกระทบจากการที่คนจำนวนมากต้องเข้าต่อสู้ในชั้นศาลทำให้เกิดสภาพอันปั่นป่วน เพราะจำนวนนักกฎหมายที่จะรับมือไม่เพียงพอ แม้ชมรมนักกฎหมายมุสลิมจะขยับขยายกลายเป็นศูนย์ทนายความมุสลิมในเวลาต่อมาก็ตาม การเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าจะต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นแรงกดดันอย่างหนักให้คนจำนวนมากในพื้นที่ต้องเรียนรู้แบบก้าวกระโดดในเรื่องกฎหมายและสิทธิ และมันทำให้กระบวนการนี้กลายเป็นแนวหน้าของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมไปในทันที และในขณะที่สังคมต้องรับมือกับคดีความมั่นคงจำนวนมาก อีกด้านยังมีความเคลื่อนไหวหลายอย่างนอกห้องพิจารณาคดีที่สั่นสะเทือนชุมชน เสียงร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานเป็นหนึ่งในปัญหาอันนั้น ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้ชะตากรรมของสมชายที่ถูกอุ้มหายยิ่งกลายเป็นภาพพิสูจน์ในเรื่องปัญหาสิทธิในสามจังหวัดไปในที่สุด และการทำงานของเขาก็ได้กลายเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่อีกหลายคนก้าวเข้าสู่เส้นทางของการทำงานในเรื่องกระบวนการยุติธรรม

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความมุสลิมเปิดเผยว่าตัวเลขคนที่เข้าร่วมทำงานหรือร่วมกิจกรรมฝึกอบรมด้านสิทธิและกฎหมายกับศูนย์เพิ่มขึ้นเรื่อยมา จากปี 2550 ที่มีทนายความเพียง 7 คน ขณะนี้ศูนย์มีทนายความกว่า 20 คน รวมทั้งอีกจำนวนหนึ่งที่รอสอบใบอนุญาต การจัดอบรมเรื่องกฎหมายและสิทธิในแต่ละปีมีคนไปเข้ารับการอบรมปีละราว 20 คน คนที่เข้ารับการอบรมที่สนใจทำงานด้านนี้อย่างจริงจังมักจะเริ่มต้นด้วยการทำงานแบบไม่มีเงินตอบแทนเป็นเวลาหนึ่งปี พวกเขายังมีเครือข่ายของคนที่ช่วยทำงานสนับสนุนด้านสิทธิที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นคดีความ เช่นในเรื่องช่วยเหลือประชาชนที่ไปร้องเรียนขอความช่วยเหลือ มีคนที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสนับสนุนการทำงานของทนายความ ที่น่าสนใจด้วยก็คือ ในบรรดาทนายความหน้าใหม่นั้นมีผู้หญิงในสัดส่วนที่มากยิ่งกว่าผู้ชาย แต่ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า องค์ความรู้ทางด้านกฎหมายและสิทธิของคนในพื้นที่เริ่มก่อตัวและเพิ่มปริมาณอย่างจริงจัง พวกเขาได้อิทธิพลทั้งวิธีทำงานและวิธีคิดจากทนายสมชาย

“ทนายสมชายเคยพูดไว้ว่า ตราบใดที่ยังมีการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ การกดขี่ละเมิดสิทธิจะไม่หมดสิ้นไป ขอให้เราช่วยกันปกป้องสิทธิ เพราะเราคือความหวังของประชาชน”  ทนายอับดุลกอฮาร์ระบุ

เขายังชี้ว่าสมชายเข้ารับทำคดีความมั่นคงเพราะเขามองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น แก่นของปัญหาเป็นเรื่องของการเมือง 

“เขาคุยกับผมว่า คดีความมั่นคงคือคดีที่มีความคิดทางการเมือง การดำเนินคดีกับพวกเขามันไม่ใข่วิธีแก้ปัญหา ผมเข้าใจเอาว่าทนายสมชายน่าจะมีความคิดว่าให้แก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการเมือง และเขาพยายามจะใช้กลไกทางกฎหมาย นำเสนอข้อมูลเพื่อถ่วงดุลในการแก้ปัญหาของอำนาจรัฐ”

อับดุลกอฮาร์ยืนยันว่านักกฎหมายต้องมีวิธีมองที่กว้างออกไปจากตัวบทกฎหมาย  “นักกฎหมายไม่ใช่ว่าความเพื่อชนะคดีเท่านั้น แต่ต้องวิพากษ์กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและวิพากษ์ระบบได้ เพราะโครงสร้างของรัฐมาด้วยระบบกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ถ้าเมื่อไหร่อยู่เหนือกฎหมาย คิดดูว่าคู่ความขัดแย้งจะเป็นยังไง”

สิบสี่ปีหลังการสูญหายของทนายสมชาย คดีความมั่นคงในสามจังหวัดภาคใต้อาจจะลดลง แต่อับดุลกอฮาร์เห็นว่าปัญหาใหม่ในการต่อสู้คดีกับการละเมิดสิทธิยังคงทะยอยเข้ามาให้รับมืออย่างไม่ขาดสาย รวมไปถึงบางสิ่งบางอย่างที่ดูจะเป็นการ “เดินถอยหลัง” สำหรับเขา เช่นปัญหาว่าศาลควรรับฟังผลการซักถามผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพียงใด ซึ่งเป็นประเด็นที่นักกฎหมายทั้งทนาย อัยการและศาลเคยถกกันจนเป็นที่ยอมรับว่าไม่ควรให้น้ำหนัก แต่เรื่องนี้ก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไป ซึ่งนั่นหมายถึงผลสะเทือนที่จะตามมาอีกหลายประการโดยเฉพาะกับผู้ที่ถือว่าต้องสงสัย เขาระบุว่าปัญหาใหญ่อีกอย่างที่กำลังย้อนกลับมาสู่พื้นที่ก็คือเรื่องของการซ้อมทรมานที่หนักขึ้นอีกครั้ง เป็นปัญหาที่เขาเห็นว่าคู่กรณีความขัดแย้งในพื้นที่ต่างดูเหมือนไม่เดือดร้อน เพราะฝ่ายหนึ่งก็มองว่าวิธีนี้เป็นกลยุทธในการรีดข้อมูล ส่วนฝ่ายตรงข้ามก็เห็นว่าปัญหาอย่างนี้จะยิ่งเรียกคนให้กับพวกเขา แม้แต่ในเวทีเจรจาก็ไม่มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ คนที่ตกที่นั่งลำบากที่สุดก็คือเหยื่อ  อับดุลกอฮาร์เห็นว่า นี่ก็ทำให้นักกฎหมายและนักสิทธิที่ยังต้องทำงานหนักต่อไป และไม่แน่ว่าอาจจะหนักมากขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขหลายอย่างที่ “แรง” ขึ้น แต่คนทำงานก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป

“เราต้องทำเพื่อปกป้องคนที่เป็นเหยื่อ” เขาว่า

 

 

หมายเหตุ สำหรับคดีกูเฮงอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ กูเฮงเผาโรงเรียน: คดีประวัติศาสตร์ แบบอย่างการต่อสู้อันชอบธรรม โดย สมชาย นีละไพจิตร 2547