Skip to main content

 

ศาสนากับระบบนิเวศน์

 

บรรจง บินกาซัน

 

 

ในจักรวาลนี้ นอกจากพระเจ้าแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น สุภาษิตไทยที่ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึงป่า” หรือ “ดินดีเพราะหญ้าปก ป่ารกเพราะเสือยัง เสือมีเพราะป่าบัง หญ้ายังเพราะดินดี” ยืนยันความจริงในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ในอดีต ป่าคือตู้เย็นที่เก็บของสดไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ให้แก่มนุษย์ ป่ากับเสือเอื้อเฟื้อกันในการดำรงอยู่ ในสมัยก่อน คนไม่กล้าเข้าป่าลึกเพราะกลัวเสือ ป่าจึงรกชัฏ และความรกทึบของป่านี้เองที่บังเสือไว้จากการถูกล่า แต่เมื่อมนุษย์เจริญทางวัตถุ สามารถผลิตปืนได้ แต่จิตใจไม่เจริญตาม การล่าสัตว์ป่าจึงส่งผลต่อการดำรงอยู่ของป่า เมื่อป่าหายไป สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศก็แปรเปลี่ยน ส่งผลร้ายกลับมาหามนุษย์เอง

เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ทุกศาสนาจึงมีกฎข้อห้ามในเรื่องการบริโภคสัตว์และอาหารบางชนิด เช่น สิ่งมึนเมา เพราะศาสนาต้องการจะปกป้องสติปัญญาของมนุษย์ซึ่งทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์

นอกจากสิ่งมึนเมาแล้ว เนื้อของสัตว์บางอย่างยังเป็นสิ่งต้องห้ามทางศาสนาด้วย เช่น พระพุทธเจ้าได้สั่งห้ามพระภิกษุกินเนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง เนื้อของสัตว์เหล่านี้ล้วนไม่ใช่สิ่งจำเป็น ไม่กินก็ไม่ตาย กินไปก็ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่โทษมากกว่า

อาจเป็นเพราะเนื้อเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับพระภิกษุเท่านั้น ฆราวาสจึงหาโอกาสกินเนื้อของสัตว์เหล่านี้ และในบรรดาเนื้อของเสือที่ห้ามกิน ก็ไม่ระบุว่ามีเสือดำรวมอยู่ด้วย จึงเปิดโอกาสให้ใครบางคนเลี่ยงบาลีล่าเสือดำเพื่อเอาเนื้อของมันมากิน

การกินหรือไม่กินสิ่งใดล้วนมาจากความเชื่อ พระภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ต้องห้ามก็เพราะความเชื่อฟังในคำสั่งของพระพุทธเจ้า กรรมกรชาวจีนในอดีตจับหางลูกหนูที่ยังตัวแดงๆและยังไม่ลืมตาใส่ปากเคี้ยวตามด้วยเหล้าโรงเพราะเชื่อว่าจะให้พลัง การกินอุ้งตีนหมี ดีหมีหรือดีงูเห่าก็เพราะความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นยาบำรุงกำลัง มันเป็นความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนใดๆทั้งสิ้น

ในทางตรงข้าม ชาวฮินดูกลับไม่กินเนื้อวัวเพราะนับถือวัวว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพาหนะของเทพเจ้าและเป็นสัตว์มีพระคุณ การไม่กินเนื้อวัวจึงมีฐานที่มาจากความเชื่อ

การไม่บริโภคบางสิ่งบางอย่างของชาวมุสลิมก็มาจากความเชื่อเช่นกัน นั่นคือ ความเชื่อในพระเจ้า คนมุสลิมที่ศรัทธาในพระเจ้าถือว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่งรวมทั้งมนุษย์ ดังนั้น พระเจ้าจึงเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่าอะไรดีและไม่ดีสำหรับมนุษย์ ถ้าพระเจ้าห้ามบริโภคสิ่งใด นั่นหมายความว่าสิ่งนั้นไม่ดีสำหรับมนุษย์ มุสลิมก็จะละเว้น และสิ่งที่อิสลามห้ามหลายอย่างล้วนเป็นข้อห้ามในคัมภีร์ทางศาสนาก่อนหน้าคัมภีร์กุรอาน เช่น สิ่งมึนเมา เนื้อหมู เนื้อของสัตว์ที่ใช้เขี้ยวและกรงเล็บล่าเหยื่อเป็นอาหาร ด้วยการใช้ภาษาที่ครอบคลุมในคำสั่งห้าม คนมุสลิมจึงไม่จำเป็นต้องตีความว่าเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่า

เมื่อเนื้อของสัตว์ที่ใช้เขี้ยวและกรงเล็บล่าเหยื่อเป็นสิ่งต้องห้ามบริโภค ข้อห้ามนี้จึงครอบคลุมไปถึงนกบางชนิด เช่น เหยี่ยวและนกอินทรีด้วย

ความเชื่อทางศาสนานี้เองที่มีบทบาทในการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและความสมดุลของระบบนิเวศน์ เพราะสัตว์ล่าเหยื่อด้วยเขี้ยวและกรงเล็บมีจำนวนน้อยกว่าสัตว์กินพืช เช่น เก้ง กวาง กระต่ายและหนู ถ้าสัตว์มีเขี้ยว เช่น งู เหยี่ยว เสือ ถูกล่าจนหมด สัตว์กินพืชเช่นหนู กระต่ายก็จะแพร่พันธุ์ทำลายพืชผลของมนุษย์จนเสียหาย

คนมุสลิมไม่กินเนื้อของสัตว์มีเขี้ยวมิใช่เพราะเกรงกลัวกฎหมายของรัฐ แต่เป็นเพราะคนมุสลิมเกรงกลัวการลงโทษของพระเจ้าเพราะการละเมิดขอบเขตคำสั่งห้ามของพระองค์และเพราะคำสอนของนบีมุฮัมมัดที่กล่าวว่า ร่างกายและเลือดเนื้อที่เติบโตมาจากการบริโภคสิ่งต้องห้าม พระเจ้าจะไม่รับการละหมาดและการวิงวอนขอพร