Skip to main content

รายงานสถานการณ์ ความขัดแย้งรุนแรงในชายแดนใต้/ปาตานี

[ไตรมาส1/2561]

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ดาวน์โหลด

 ภาพรวม

เหตุการณ์ในรอบสามเดือนแรกของปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 119 ครั้ง เฉลี่ย เกิดขึ้นเดือนละ 40 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บล้มตายรวมทั้งสิ้น 151 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต รวมทั้งสิ้น 47 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวน 104 ราย โดยเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน หน้า (4/2560) จำนวนเหตุการณ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างโดดเด่น แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะใกล้เคียงกัน แต่ผู้ได้รับบาดเจ็บก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนในไตรมาส เดียวกันจะพบว่า เดือนกุมภาพันธ์มีจำนวนเหตุการณ์มากที่สุด คือ 53 ครั้ง แต่ในเดือนมกราคมที่แม้จะมีจำนวนเหตุการณ์น้อยกว่า (34 ครั้ง) แต่ก็ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย มากที่สุดถึง 64 ราย

สถิติข้างต้นส่งผลให้ยอดสะสมของเหตุการณ์อยู่ที่ 19,734 ครั้ง ในขณะที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายอยู่ที่ 20,100 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 6,750 ราย และจ านวน ผู้บาดเจ็บจำนวน 13,350 ราย 

จากการรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ในไตรมาสที่ 1 มีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถระบุ สาเหตุได้ชัดเจนร้อยละ 59 รองลงมาคือสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับแบ่งแยกดินแดนคิดเป็นร้อย ละ 36 และสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจก็คือเมื่อ เปรียบเทียบจากเหตุการณ์ไตรมาสที่ 1 นับตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2560 สาเหตุที่เกี่ยวข้อง กับการแบ่งแยกดินแดนนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลับเห็นสัญญาณที่เพิ่มสูงขึ้น ในปี 2561  

ส่วนประเภทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีมากที่สุดยังคงเป็นรูปแบบการใช้อาวุธปืน ยิง 72 ครั้ง รองลงมาเป็นเหตุการณ์ระเบิด 25 ครั้ง วางเพลิง 7 ครั้ง และประเภทเหตุการณ์ อื่น ๆ 15 ครั้ง

ในเชิงพื้นที่ เหตุการณ์ในไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ยกเว้นอำเภอโคกโพธิ์ กาบัง ธารโต และแว้ง ส่วนในเขต 4 อำเภอจังหวัด สงขลา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่อำเภอเทพา พิจารณาสถิติในรายอำเภอจะพบว่า ระดับความเข้มข้นของการเกิดเหตุการณ์มากที่สุดอยู่ที่อำเภอยะรัง (10 ครั้ง) รองลงมาก็คือ สายบุรี 9 ครั้ง เมืองยะลา 9 ครั้ง ยะหริ่ง 7 ครั้ง และตากใบ 7 ครั้ง

เมื่อจำแนกดูเฉพาะเหตุการณ์ที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนจะเห็นว่ามีการกระจุกตัวสูงอยู่ในเขตอำเภอของจังหวัดปัตตานี กล่าวคือ มีเหตุการณ์ใน อำเภอสายบุรี 6 ครั้ง รองลงมาก็คือยะรัง  5 ครั้ง ยะหริ่ง 4 ครั้ง และเมืองยะลา 3 ครั้ง เมื่อพิจารณาลงลึกในระดับตำบล จะพบว่าตำบลตะลุบัน (สายบุรี) มีเหตุการณ์มากที่สุด 4 ครั้ง รองลงมาคือตำบลยามู (ยะหริ่ง) 3 ครั้ง 

เหตุการณ์สำคัญ

ตลาดและห้างร้าน 

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2018 มีเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่หลายครั้งที่สร้างผลสะเทือนต่อความรู้สึกของทั้งผู้คนในและต่างพื้นที่ เหตุการณ์ที่ควรกล่าวถึงการเปิดฉากวางระเบิดตลาดพิมลชัย ตลาดสดกลางเมืองยะลาเมื่อวันที่ 22 มกราคม ยังผลให้มี ผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีก 26 ราย การก่อเหตุในลักษณะเช่นนี้ห่างหายไปจาก สถานการณ์ในพื้นที่ระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในเขตเมืองยะลา เจ้าหน้าที่รายงานว่าจุดเกิด เหตุนั้นอยู่บริเวณแผงขายเนื้อหมู นี่เป็นอีกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงในตลาดซึ่งถือเป็นพื้นที่ สาธารณะที่องค์กรภาคประชาสังคมบางส่วนเรียกร้องให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย การเกิดขึ้นใน ห้วงเวลาที่หลายเดือนก่อนหน้านี้มีเหตุรุนแรงเบาบางสร้างผลกระทบในแง่ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของพลเรือนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของหน่วยงานราชการนั้นค่อนข้างสับสน เห็นได้จากการผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคที่ 4 ส่วนหน้า (หรือแม่ทัพภาคที่ 4) ตีความว่า เหตุการณ์นี้มีโยงกับปมธุรกิจมืดของบางตระกูลที่ประสงค์ทำลายบรรยากาศการลงทุน ในขณะที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติระมัดระวังที่จะด่วนสรุป แต่ก็ยืนกรานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขและการดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย นักสังเกตการณ์บางคนมองเชื่อมโยงปฏิกริยาดังกล่าวกับการปิดล้อมตรวจค้น ขนานใหญ่ในเขตอำเภอบังนังสตา หลังเหตุการณ์เผารถโดยสารเมื่อปลายปีที่แล้ว หากเป็น เช่นนั้นจริง แบบแผนของความรุนแรงในชายแดนใต้ก็ยังคงติดกับดักของความรุนแรงโต้ กลับซ้ำไปมา โดยที่พลเรือนตกเป็นเป้าหมายของการกดดันและโจมตี 

เหตุการณ์ที่พลเรือนตกเป็นเป้าหมายยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังกรณีที่เกิดขึ้นในอีกราว 1 เดือนถัดมาที่ปรากฎว่ามีเหตุลอบวางเพลิงห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในเขตตัวเมือง นราธิวาส 3 จุด ในดึกรอยต่อระหว่างคืนวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันมากกับชุดของปฏิบัติการก่อกวนในหลายจุดพร้อม ๆ กันในค่ำวันที่ 23 รายงานของเจ้าหน้าที่พบว่ามีเหตุเกิดขึ้น 8 จุด ในเขต 5 อำเภอ โดยตั้งสมมติฐาน เบื้องต้นไว้ว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ชุดของเหตุการณ์เหล่านี้ยังยืนยันลักษณะ การก่อเหตุแบบที่มีการประสานกันในหลายพื้นที่ จึงอาจกล่าวได้ว่าแม้จำนวนเหตุการณ์ โดยรวมจะลดลง แต่การต่อต้านโดยการใช้กำลังอาวุธก็ยังคงดำรงอยู่

อย่างไรก็ตาม มีพัฒนาการที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือการที่หน่วยงานที่รับผิดชอบประเมินว่าสถานการณ์ความไม่สงบในอำเภอเบตงได้ทุเลาเบาบางแล้ว ยังผลให้ในการพิจารณาขยายเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรอบที่ 51 จึงตัดเบตงออกจากบัญชี แต่ยังคงบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงภายในเอาไว้ เหมือนกับอีก 5 อำเภอก่อน หน้านี้ คือ เทพา สะบ้าย้อย จะนะ นาทวี (สงขลา) และแม่ลาน (ปัตตานี)

“กฎหมาย” นำการเมือง 

ช่วงสามเดือนแรกของปี 2561 ยังเป็นห้วงเวลาแห่งการเผชิญหน้าระหว่าง หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่อย่าง กอ.รมน.ภาค 4 สน. กับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมชายแดนใต้ ดูเหมือนว่าแนวทางของ ผอ.รมน. ภาค 4 สน. คนปัจจุบันที่ชู “กฎหมายนำการทหารตามการเมือง” จะถูกแปลงไปสู่ปฏิบัติอย่างแข็งกร้าว เพื่อให้แน่ใจว่าฝ่ายรัฐจะควบคุมกำกับทิศทางที่ตนพึงประสงค์ได้ แต่หลังจากนี้ก็ควรตั้งคำถามถึงประสิทธิพลของแนวทางนี้อย่างจริงจัง

หลังจากปิดล้อมตรวจค้นขนานใหญ่ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ข้อกังวลที่ว่าผู้ถูกควบคุมตัวจากปฏิบัติการเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองให้ปลอดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการซ้อมทรมาน ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาอีกครั้ง ดูเหมือนว่าการหยิบยกประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้จะถูกเฝ้าระวังจาก กอ.รมน.ภาค 4 สน. มากเป็นพิเศษ กระทั่งถึงขั้นลงมือแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทต่อสำนักข่าว ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จากกรณีที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์หนึ่งในเหยื่อที่ถูก ซ้อมทรมาน 4 ครั้งในห้วงตั้งแต่ปี 2550 - 2560 หลังจากนั้นไม่นานในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ผู้แทนของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ก็เข้าแจ้งความเอาผิดฐานหมิ่นประมาทนายอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) หลังจากที่เขาเข้าร่วมรายการ โทรทัศน์ “นโยบาย by ประชาชน” ของสถานีไทยพีบีเอส เพื่อบอกเล่าภูมิหลังของคดีความ ที่เขาถูกซ้อมทรมานเมื่อปี 2551 และเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก กระทั่งศาลปกครองสั่งให้กองทัพชดเชยค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 3 ล้านบาทในปี 2559 

การฟ้องร้องดำเนินคดีใน 2 กรณีข้างต้นถือเป็นแบบแผนที่พบเจอบ่อยครั้ง ของมาตรการในการฟ้องดำเนินคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นใน ระดับประเทศและในพื้นที่ เมื่อผนวกกับแรงกดดันที่พลเรือนประสบกับปฏิบัติการของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มติดอาวุธ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวทักท้วงโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมหลาย 38 องค์กร โดยเรียกร้องให้เปิดพื้นที่สำหรับการแสดงความคิดเห็น และพิทักษ์ปกป้องชีวิตพลเรือน

อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายเพื่อมุ่งหวังกดดันกลุ่มผู้มีความคิดเห็นต่างก็ยังปรากฎในอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เปิดแถลงว่าจะแจ้งความดำเนินคดีกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีพฤติกรรมฉ้อโกงงบประมาณอุดหนุนสถานศึกษา และผ่องถ่ายเงินงบประมาณบางส่วนไปยังสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเหตุการณ์นี้ตึงเครียดขึ้นมาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคมพร้อม ๆ กับปฏิบัติการบุกค้นบางโรงเรียนเป้าหมายพร้อมทั้งอายัดทรัพย์สินบางส่วน กอ.รมน. แถลงว่ามีข้อมูลโรงเรียนที่เข้าข่ายถึง 65 โรง แม้จะโต้แย้งว่าที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหามาเป็นอย่างดีจากโรงเรียนเป้าหมายและเครือข่ายโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ แต่ก็เป็นปฏิกริยาที่ทัดทานกับมาตรการเหล่านี้ก็ดูจะไม่มี น้ำหนักมากนัก

การพูดคุย VS พาคนกลับบ้าน 

ในเดือนกุมภาพันธ์ปรากฎข่าวความเคลื่อนไหวสำคัญของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขหลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นสัญญาณของจุดเปลี่ยนและความไม่แน่นอนของการดำเนินการที่มาจากทั้งฝ่ายภาครัฐและฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจส่งผลต่ออนาคตของกระบวนการทางการเมืองดังกล่าวนี้ ทั้งนี้รวมไปถึงประเด็นปัญหา เกี่ยวกับทิศทางในการทำงานที่มีความแตกต่างภายในฝ่ายตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชันกันภายในหน่วยงานรัฐระหว่างแนวทางที่เน้นไปที่การพูดคุยสันติสุขกับการกดดันและเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน

สัญญาณเริ่มต้นจากการประชุมของคณะทำงานเชิงเทคนิคของทั้งสองฝ่ายใน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งบรรลุถึงข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน โดยเฉพาะการกำหนดอำเภอที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ซี่งเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในเวลาต่อมาว่าคืออำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ในขณะที่ข้อเสนอให้มีการพักโทษผู้ต้องขังของมาราปาตานีก็ได้รับการตอบสนองจากทางรัฐบาล ข้อสรุปดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการพบปะหารือกันหลายครั้งและเว้นว่างไปในช่วงปลายปีที่แล้ว

ความคืบหน้าดังกล่าวดูจะเป็นสัญญาณบวกท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดถี่ขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันไปก็คือการรณรงค์เรียกร้องให้ผู้คนที่คิดว่าตนเองต้องการกลับตัวกลับใจเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งดำเนินการโดย กอ.รมน.ภาค 4 สน. พร้อมทั้งประกาศจะเดินหน้าโครงการพื้นที่ปลอดภัยฝ่ายเดียว 14 อำเภอ แม้ทั้งฝ่ายนี้และคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจะเปิดเผยต่อสาธารณะบ่อยครั้งว่างานของพวกเขาไม่ได้ขัดแย้งและล้วนแล้วแต่สอดรับกันและกัน แต่ก็ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหลักคิดที่ประกอบด้วย สมมติฐานและแนวทางการมองปัญหาความขัดแย้ง ตลอดจนวิธีการปฏิบัตินั้นดูเหมือนจะสวนทางกันอยู่ในที

ความแตกต่างดังกล่าวถูกขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นเมื่อกลุ่มมาราปาตานีเปิดแถลงข่าวที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม หลังจากที่คณะพูดคุยฯ ฝ่ายรัฐบาลพยายามเร่งรัดดำเนินการขึ้นรูปโครงการพื้นที่ปลอดภัยของตนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว มาราปาตานีนั้นตั้งถามพุ่งตรงไปยังโครงการพาคนกลับบ้านและแสดงความกังวลต่อบทบาทของแม่ทัพภาคที่ 4 โดยตรง พร้อมกันนี้ยังยืนกรานว่าโครงการที่ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. กำลังทำอยู่นั้นเป็นคนละเรื่องกับที่ตกลงและพูดคุยกันบนโต๊ะ ในด้านหนึ่งก็เพื่อเป็นการลดระดับความเร่งรีบดำเนินการของโครงการพื้นที่ปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็ต้องการชี้แจงให้ชัดเจนระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการพูดคุยกับโครงการพาคนกลับบ้านนั่นเอง

นอกจากนี้แล้วข้อความที่น่าสนใจและควรต้องบันทึกเอาไว้ก็คือท่าทีของหัวหน้าคณะพุดคุยฯ ฝ่ายมาราปาตานีผ่านการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ดูเหมือนจะเชื่อมั่นกับรัฐบาลทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็หวังพึ่งพระบารมีของใน หลวงรัชการที่ 10 ให้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา ประเด็นดังกล่าวนี้เกิดประเด็น วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในพื้นที่

ที่จริงแล้วสถานการณ์ของฝ่ายขบวนการปาตานีก็อาจไม่แตกต่างกันกับฝ่ายรัฐบาล เพราะความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนขององค์กรร่มอย่างมาราปาตานีก็ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนกังขา เพราะที่ผ่านมามีปรากฎการณ์ที่บ่งชี้ว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นยังไม่ได้ให้ฉันทานุมัติต่อการขับเคลื่อนการพูดคุยกับรัฐบาลทหาร อย่างเต็มที่นัก การวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้พิสูจน์โดยตัวมันเองว่ายังมีความไม่ลงรอยกันอยู่ภายใน

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

เหตุการณ์ไตรมาสแรกของปี 2018 เตือนให้ต้องเฝ้าระวังว่าความรุนแรงอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป การเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนที่เป็นผลมาจากมาตรการทางการทหารและการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อกดดันนั้นอาจไม่ส่งผลดีต่อการสร้างบรรยากาศการหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผลสัมฤทธิ์ของปฏิบัติการเหล่านี้อาจสร้างความสงบเรียบร้อยได้เพียงระยะสั้น หากแต่ไม่สามารถเป็นหลักประกันใด ๆ ได้เลยว่าแนวทางการกดปราบจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนความขัดแย้งจากการที่ใช้กำลังห่ำหั่นกันไปสู่วิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง

ความไม่สอดคล้องต้องกันภายในฝ่ายตนเองกลายเป็นปัจจัยที่นูนเด่นเห็นชัดมากยิ่งขึ้นในห้วงเวลาสามเดือนนี้ เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อการเดินหน้าหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้งในอนาคต สัญญาณเช่นนี้เตือนให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจในแต่ละฝ่ายให้เร่งหาหนทางสร้างฉันทามติภายในฝ่ายตนเองในประเด็นสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะรักษาช่องทางการพูดคุยกับคู่สนทนาของตนเอาไว้ระดับใดและแบ่งบทบาทของกลุ่มย่อยๆ ในฝ่ายตนเองไว้ตรงไหน เพราะต้องไม่ลืมว่าการใช้อำนาจสั่งการตามสายบังคับบัญชาอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินตามยุทธศาสตร์ในการต่อรองทางการเมืองเสมอไป

File attachment
Attachment Size
raayngaan-q1-2018.pdf (1.43 MB) 1.43 MB