Skip to main content

รายงานสถานการณ์ ความขัดแย้งรุนแรงในชายแดนใต้/ปาตานี

[ไตรมาส 4/2561]

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ดาวน์โหลด

ภาพรวม

จากการรวบรวมสถิติในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 134 เหตุการณ์ เฉลี่ยการเดือนละ 45 เหตุการณ์ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวน 101 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย และบาดเจ็บ 51 ราย โดยเดือนตุลาคมมีจำนวนเหตุการณ์น้อย ที่สุด (35 เหตุการณ์) และเดือนธันวาคมเกิดเหตุการณ์มากที่สุด (54 เหตุการณ์)

สถิติข้างต้นส่งผลให้ยอดสะสมของเหตุการณ์นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หรือรวมทั้งสิ้น 15 ปี มีจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวม ทั้งสิ้น 20,163 เหตุการณ์ มีจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย 20,432 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 6,921 ราย และบาดเจ็บ 13,511 ราย

จากข้อมูลเหตุการณ์ในไตรมาสที่ 4 ที่มีการรวบรวมไว้ พอจะจำแนกได้ว่ามีสาเหตุที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ร้อยละ 47 (63 เหตุการณ์) รองลงมา สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน ร้อยละ 41 (55 เหตุการณ์) ส่วนสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 10 (13 เหตุการณ์) และสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ร้อยละ 2 (3 เหตุการณ์) เมื่อเปรียบเทียบจากสัดส่วนของสาเหตุเฉพาะไตรมาสที่ 4 ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนมีแนวโน้มจะลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี

ในส่วนของประเภทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไตรมาสนี้ ประเภทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ การยิง มีจำนวน 53 เหตุการณ์ รองลงมาคือ เหตุระเบิดจำนวน 25 เหตุการณ์ ก่อกวนปราศจากความรุนแรง 19 เหตุการณ์ พบศพ 10 เหตุการณ์ โจมตี/ปะทะ/ซุ่มโจมตี 8 เหตุการณ์ ทำร้ายร่างกาย 5 เหตุการณ์ ปิดล้อมตรวจค้น 5 เหตุการณ์ และประเภทเหตุการณ์อื่นๆ 9 เหตุการณ์

ส่วนข้อมูลเชิงพื้นที่จะเห็นได้ว่ามีการเกิดเหตุการณ์กระจายทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้นพื้นที่อำเภอกาบัง และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ไม่มีการเกิดเหตุการณ์ในช่วงไตรมาสนี้ โดยพื้นที่ที่มีเหตุการณ์มากที่สุดคือ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส (12 เหตุการณ์) รองลงมาอำเภอเมืองยะลา (11 เหตุการณ์) และ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา (7 เหตุการณ์) ถ้าดูข้อมูลในระดับตำบล พื้นที่ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ตำบลท่าสาป ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ตำบลบองอ และตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีความเข้มข้นของเหตุการณ์มากที่สุด

เมื่อจำแนกดูเฉพาะเหตุการณ์ที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่มีเหตุการณ์มากที่สุดคือ อำเภอเมืองยะลา 9 เหตุการณ์ รองลงมา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส  6 เหตุการณ์ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส 5 เหตุการณ์ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา 4 เหตุการณ์ และอำเภอศรีสาคร จังหวัด นราธิวาส 4 เหตุการณ์ แต่เมื่อพิจารณาลงลึกในระดับตำบล จะพบว่าพื้นที่ตำบลท่าสาป ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส มีความเข้มข้นของเหตุการณ์

สำหรับเหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงจะเห็นว่ามีผู้ได้รับผลกระทบทางตรงที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงกล่าวคือมีผู้บาดเจ็บล้มตายที่เป็นผู้ชาย ร้อยละ 87 และเป็นผู้หญิงร้อยละ 13 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าผู้หญิงมีสัดส่วนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในส่วนของเป้าหมายของความรุนแรงที่เป็น เป้าหมายอ่อนแอ (Soft Targets) มีสัดส่วนที่ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ในขณะที่เป้าหมายแข็ง (Hard Targets) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 เป็นเท่าตัว

เหตุการณ์สำคัญ

ในห้วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 มีความเคลื่อนไหวสำคัญที่สะท้อนพลวัตของความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี ทั้งในมิติของปฏิบัติการทางทหารและกระบวนการ ทางการเมือง พิจารณาในแง่ของเหตุการณ์ความรุนแรง บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งสัญญาณที่ควรจับตาเฝ้าระวัง ในขณะที่หลายเหตุการณ์น่าจะสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพัฒนาการในทางการเมือง

ในช่วงสามเดือนนี้พบว่ามีปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มุ่งโจมตีเป้าหมายที่มีความหมายสลับซับซ้อนกล่าวคือพบแบบแผนที่มุ่งโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดอาวุธในสถานที่ซึ่งเป็นพื้นที่ของพลเรือนทั้งสวนสาธารณะ ตลาดนัด และโรงพยาบาล

แบบแผนดังกล่าวพิจารณาจากกรณีเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ใน สวนสาธารณะกาญจนาภิเษกในเขตตัวอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 5 ราย และกรณีชุดของเหตุการณ์ที่มุ่งลอบยิงเจ้าหน้าที่ในตลาดนัด ซึ่งเกิดขึ้น 3 ครั้งในเดือนพฤศจิกายน คือ เหตุการณ์แรกในวันที่ 2 ที่ตลาดนัดบ้านตันหยงดาลอ ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี (อาสาสมัครทหารพรานเสียชีวิต 1 ราย) วันที่ 22 ที่ตลาดนัดบ้านตะโล๊ะดือรามัน อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี (อาสาสมัครชุดคุ้มครองตำบลเสียชีวิต 2 ราย) และวันที่ 25 ที่ตลาดนัดท่าหยี ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา (อาสาสมัครรักษาดินแดนและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิตรวม 3 ราย)

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเหตุการณ์ในวันที่ 28 ธันวาคม ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนับสิบคนบุกยึดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัด นราธิวาส โดยกักตัวเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขเอาไว้ เพื่อใช้เป็นฐานเพื่อโจมตีฐาน ปฏิบัติการของชุดคุ้มครองตำบลกาลิซา ที่ตั้งอยู่ใกล้กันแม้ไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รุนแรงจากเหตุการณ์นี้ เนื่องจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังสองฝ่ายจนฝ่ายแรกล่าถอยไป แต่ก็ส่งผลสะเทือนทางการเมืองอย่างมาก เหตุการณ์ทำนองเคยเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่โรงพยาบาลเจาะไอร้องมาแล้ว

เหตุการณ์ที่อุกอาจเช่นนี้ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างไม่เป็นที่กังขาใดๆ แต่ดูเหมือนว่าผู้ก่อการประสงค์ทั้งท้าทายต่อข้อเรียกร้องของหลายฝ่ายที่ต้องการให้ พื้นที่สาธารณะปลอดภัยจากการสู้รบและความรุนแรงด้วยเช่นกัน และยังพยายามตั้งคำถามต่อกรอบของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการละเว้นเป้าหมายโจมตีที่พลเรือนและการจำแนกแยกแยะระหว่างพลรบกับพลเรือนในความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธเช่นนี้

ความซับซ้อนที่กล่าวถึงข้างต้นก็คือการพยายามละเมิดกฎเกณฑ์สากลดังกล่าวไม่เพียงแต่โจมตีทางการทหารเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งตอบโต้กับการจัดวางกำลังของรัฐในภารกิจรักษาความปลอดภัยหรือการคุ้มครองพลเรือนไปด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งในบางกรณีก็สุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าการละเมิดกฎเกฑณ์ข้างต้นด้วย เช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าผู้ก่อการจะประสงค์ดังกล่าวหรือไม่ก็ตามสถานภาพ ในทางการเมืองของขบวนการต่อต้านรัฐที่พยายามผลักดันกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายด้วยเช่นกัน

พัฒนาการใหม่ของการพูดคุย

หลังจากที่ทางการมาเลเซียแต่งตั้ง ตันศรีอับดุลราฮิม นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพคนใหม่ ทางการไทยก็มีการปรับเปลี่ยนหัวหน้าคณะ พูดคุยเพื่อสันติสุขในเดือนตุลาคม จากเดิม พล.อ.อักษรา เกิดผล ไปเป็น พล.อ.อุดม ชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เคี่ยวกรำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดระยะเวลารับราชการ ในเชิงโครงสร้างที่รองรับภารกิจดังกล่าว รัฐบาลไทยก็ปรับปรุงใหม่ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 327/2561 เพื่อให้กลไกการทำงานใน 3 ระดับ คือ ในระดับการกำกับนโยบายการพูดคุย คณะพูดคุยฯ และคณะประสานงานในพื้นที่มีความกระชับและประสานสอดคล้องกันมากขึ้น บทบาทสำคัญที่โดดเด่นไม่เพียงแต่จะอยู่ที่คณะพูดคุยฯ และหัวหน้าเท่านั้น หากแต่ยังอยู่ที่กลไกประสานงานหลังบ้านอย่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่จะทำหน้าที่เป็นสำนักเลขานุการ ปัญหาความไม่ลงรอยกันในชุดก่อนหน้านี้ทำให้โฉมหน้าใหม่ของเลขานุการคณะพูดคุยจะเป็นไปในลักษณะการทำงานร่วมกันจากบุคลากรที่มาจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สมช. กอ.รมน.ส่วนกลาง และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในขณะเดียวกันบทบาทที่ลดน้อยถอยไปในงานพูดคุยได้แก่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งระยะหลังนี้ถูกจำกัดบทบาทมากขึ้นในแทบจะทุกด้าน

เหตุการณ์สำคัญในห้วงสามเดือนนี้คือการเดินทางเยือนประเทศไทยของตุน มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี่มาเลเซีย เพื่อพบปะกับผู้นำรัฐบาลไทยและกล่าว ปาฐกถาต่อสาธารณะกลางกรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือนตุลาคม การเดินทางของนายกรัฐมนตรีอาวุโสครั้งนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณทั้งต่อผู้กำหนดนโยบายและ สังคมไทยว่ามาเลเซียยังคงประสงค์และมุ่งมั่นอย่างจริงจังต่อการเข้าไปมีส่วนคลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ในแง่หนึ่งคือเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ รัฐบาลไทยเคยช่วยเหลือในการจัดการปัญหาความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ปฏิกิริยาของสังคมไทยนั้นมีอยู่หลากหลาย แต่การตอบสนองในพื้นที่อาจพิจารณาได้จากปฏิบัติการทางทหารและการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้งในรอบ 2 เดือนหลังจากนั้น ซึ่งรวมไปถึงการพ่นข้อความในพื้นที่สาธารณะหลายจุดด้วย ถ้อยคำอย่างเอกราชปาตานี

แม้จะมีการปรับทัพกันใหม่ของทั้งในฝ่ายของผู้อำนวยความสะดวกและฝ่ายรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นไปพร้อมกับการทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น การก้าวพ้นความล้มเหลวในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัย และการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกับหลายกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ เป็นต้น ตลอดจนปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานบางประการเพื่อให้สามารถเข้าถึงและพูดคุยกับผู้แทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับมาราปาตานีในตอนเริ่มแรก แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่คาดหวังไว้

ปัญหาใหญ่สำหรับฝ่ายรัฐบาลไทย (และมาเลเซีย) ก็คือว่าบีอาร์เอ็นที่มีศักยภาพในการควบคุมกองกำลังในพื้นที่นั้นยังปฏิเสธที่จะพูดคุยด้วยดังที่มีรายงานว่าความพยายามพบปะกันอย่างน้อย 3 ครั้งในห้วงเดือนพฤศจิกายน นั้นต้องล้มเหลวพร้อมกับกระแสข่าวเรื่องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อกดดันพวกเขาให้ตอบรับและเข้าร่วมการพูดคุยในเวลาต่อมามีความเป็นไปได้ว่าทั้งรัฐบาลไทยและมาเลเซียนั้นมีกรอบเวลาที่ต้องการบรรลุผลสำเร็จโดยเร็วเพื่อชี้วัดถึงความสำเร็จในห้วงที่ผู้มีอำนาจยังคงอยู่ในวาระ

โดยเฉพาะฝ่ายทางการไทยที่กำลังเดินเข้าสู่การเลือกตั้งในเร็ววัน ห้วงเวลา เช่นนี้ ทุกช่องทางที่สื่อสารและเข้าถึงกลุ่มบีอาร์เอ็นจึงสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ในการเดินหน้ากระบวนการพูดคุย ซึ่งในด้านกลับกันก็ส่งผลให้เกิดการแข่งขันช่วงชิงของบรรดาผู้ปาวารณาตัวเป็นผู้ประสานงานและนายหน้าอย่างขนานใหญ่ด้วยเช่นกัน

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

สถานการณ์ความรุนแรงในห้วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ 15 ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้สะท้อนความเป็นจริงประการหนึ่งว่าแม้เหตุการณ์ความรุนแรงจะมี แนวโน้มลดลงในห้วงเวลาที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะบรรลุถึงจุดลงตัว พัฒนาการของความรุนแรงและความหมายของปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นในระยะหลังเริ่มบ่งชี้ให้เห็นความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะคลุมเครือมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วันเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งนี้ดำเนินควบคู่ไปกับพัฒนาการทางการเมืองที่ฝ่ายต่างๆ มีการปรับตัวและเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม อย่างไรก็ตามพลเรือนยังคงตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายจากการกดดันของทั้งสองฝ่าย การมุ่งมั่นแสวงหาทางออกทางการเมืองด้วยแนวทางอันสันติเป็นทิศทางที่ส่งผลบวก แต่ควรต้องพิจารณาด้วยว่าวิธีการในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวนั้นสะท้อนความมุ่งมั่นในการแสวงหาข้อตกลงทางการเมืองมากน้อยเพียงใดด้วยเช่นกัน

File attachment
Attachment Size
raayngaan-q4-2018-final-th.pdf (1.46 MB) 1.46 MB