Skip to main content
 
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
          ในขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ทวีความระอุขึ้นในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ความพยายามแสวงหาทางออกทางการเมืองผ่านกระบวนการที่ไม่ใช้ความรุนแรงทั้งในแง่ของการใช้กำลังเข้าต่อรองและการใช้กฎหมายเข้าจัดการก็ยังคงเดินหน้าทีละก้าว บนพื้นฐานที่ว่าใจกลางของปัญหาความขัดแย้งที่ปะทุเป็นความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ปัจจุบันนั้น โดยแท้แล้วเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นในการบริหารจัดการชีวิตของผู้คนในพื้นที่ว่าควรจะเป็นเช่นไร
 
ภาษาของความรุนแรง
 
          ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ชายแดนใต้อุดมด้วยความรุนแรงในแบบแผนหลายประการที่เคยปรากฎให้เห็นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ในรอบไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เหตุการณ์ที่มีนัยยะสำคัญหลายประการดูจะกระจุกหนาแน่นมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีเป้าหมายเข็มแข็งที่เป็นฐานทหาร การโจมตีเป้าหมายอ่อนอย่างพลเรือน โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปยังชาวไทยพุทธ พระสงฆ์ ย่านที่อยู่ของคนเชื้อสายจีนในพื้นที่และแหล่งสถานบันเทิงในเมือง
 
          จากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ความรุนแรงในชายแดนใต้นับตั้งแต่มกราคม 2547 กระทั่งถึงมกราคม 2554 รวม 85 เดือนมีเหตุการณ์ความรุนแรงรวมทั้งสิ้น 10,585 เหตุการณ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4,572 ราย ได้รับบาดเจ็บ 7,404 ราย สถิติของความรุนแรงดังกล่าว โดยเฉพาะในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้สะท้อนความพยายามในการลงทุนด้วยความรุนแรงเข้าต่อต้านของฝ่ายหนึ่งและกดปราบจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตลอดจนเหตุการณ์ของความรุนแรงที่เป็นไปได้ในสถานการณ์เช่นนี้ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนความไว้เนื้อเชื่อใจและสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แม้เชื่อว่าจะส่งผลในการสร้างอำนาจต่อรองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการใช้ต้นทุนที่สูงเกินไป เมื่อต้องพิจารณาถึงผลระยะยาวที่ทั้งผู้ยึดกุมอำนาจเหนือ (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม) ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการหาข้อยุติทางการเมือง และสร้างที่ยืนที่มีเสถียรภาพต่อสภาวะที่เรียกว่า “สันติภาพ
 
          กล่าวในแง่นี้แล้ว หากความรุนแรงเป็นภาษาที่ต้องการสื่อสารออกมาจากผู้ที่ยังยืนอยู่ในมุมมืด เราอาจตีความหมายเหล่านี้ได้อย่างรวบรัดว่า สันติภาพและความสงบสุขยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่พวกเขาต้องอภิปรายถึงในห้วงเวลานี้ อย่างน้อยก็ในขั้นตอนการเตรียมการก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรอง ในทางตรงกันข้าม น่าสนใจว่าภาษาที่สะท้อนจากฟากฝั่งของทางการไทยและจาก “ชนกลุ่มน้อย” ในพื้นที่ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีทั้งโดยตรงและโดยสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธและผู้คนเชื้อสายจีนก็ดูจะไม่ชัดเจนแจ่มชัดเหมือนที่เคยแข็งกร้าวอย่างที่เป็นมาก่อนหน้านี้
 
          แต่กระนั้นก็ต้องกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าววางตัวเองอยู่ในบริบทที่มีความพยายามใช้วิธีการทางการเมืองและวิธีการที่ไร้อาวุธเข้าต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นบางสัญญาณจาก “ทางการไทย” ที่ต้องการพูดคุยกับ “ผู้เห็นต่าง” หรือความพยายามของหลายฝ่ายที่จะเป็นทั้ง “ตัวเชื่อม” และ “พื้นที่กลาง” ในการเปิดช่องให้มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพจากหลากหลายช่องทาง ชนิดที่เรียกกันว่าเดินชนกันในพื้นที่ ทั้งในระดับองค์กรระหว่างประเทศ คณะทำงาน กระทั่งถึงตัวบุคคลที่ปวารณาตัวเป็นข้อต่อดังกล่าว แน่นอนว่าสำหรับบางคนที่ถืออำนาจทางการของรัฐเองก็มองความเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างระแวดระวัง
 
          ความเคลื่อนไหวอีกด้านได้แก่ความพยายามเพิกถอนสถานะ “ฉุกเฉิน” ออกในบางพื้นที่ และสวมทับการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน พร้อมทั้งเตรียมเปิดช่องทางให้มีการนิรโทษกรรมต่อ “ผู้หลงผิด” โดยวาดหวังจะสร้างที่ยืนให้กับอดีตสมาชิกของ “กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ” โดยไม่จำเป็นต้องยุ่งยากลำบากกับการพิสูจน์ความจริงในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องใช้เวลานาน แม้จะมีเสียงทักท้วงมาบ้างจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนถึงความเสี่ยงที่จะมีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะผู้ต้องหา (กรุณาดูที่ "ไอซีเจ" ชำแหละ ม.21 "ลิดรอนสิทธิ-ตัดสินล่วงหน้า" กังขาเว้นโทษความผิดร้ายแรง) แต่ดูเหมือนว่าเรื่องใหญ่ที่สุดในมุมของรัฐเองอาจเป็นประเด็นความพร้อมและความเป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐ ตลอดจนความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายต่อกระบวนการดังกล่าวเสียมากกว่า
 
ในขณะเดียวกัน การผลักดันกฎหมายที่รองรับ ศอ.บต.ให้ประกาศใช้ได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อันเป็นหนึ่งในผลงานที่จับต้องได้ของ “พรรคประชาธิปัตย์” อาจส่งผลเพียงแค่สร้าง “ความมั่นคง” ภายในหน่วยงานพลเรือนของรัฐแห่งนี้เท่านั้นเอง แต่ผลโดยรวมต่อการคลายปัญหาความขัดแย้งยังอยู่ในฐานะที่ไม่มีหลักประกันอะไรมากนัก แม้ว่าเลขาธิการ ศอ.บต.จะมีดาบในการฟันข้าราชการที่มีพฤติกรรม “ไม่เหมาะสม” ก็ตาม นอกจากนี้ อำนาจที่เพิ่มมากขึ้นและมั่นคงขึ้นนี้ก็ดูจะสร้างความตึงเครียดระหว่างหน่วยงานพลเรือนและทหารที่อาจเป็นแนวโน้มใหม่ที่ฝ่ายรัฐจำต้องเผชิญ
 
กระนั้นก็ตาม ศอ.บต. คือจุดขายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองการปกครองที่ชายแดนใต้ที่มากไปกว่านี้ สิ่งเหล่านี้ยังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยังไปไม่ถึงจากทั้งฟากฝ่ายของรัฐบาลไทยและฝ่ายเครือข่ายใต้ดินที่ต่อต้านอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน อย่างน้อยก็ในภาวะแวดล้อมเช่นนี้และภายใต้ระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลชุดนี้
 
ทว่า “การต่อสู้” ของกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ที่อาจมีความหมายของ “สันติภาพ” แตกต่างกันก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป
 
การต่อสู้หลายแบบ
 
          เมื่อเร็วๆ นี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แตะประเด็นต่างๆ อย่างทั่วถึง (กรุณาดูที่ นายกรัฐมนตรียืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินมาถูกทางแล้ว) ภาษาของอภิสิทธิ์ดูจะมีมุมมองด้านบวกต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาลภายใต้การนำของตนในหลายด้าน โดยเฉพาะการส่งสัญญาณที่เน้นย้ำถึงฐานะของอำนาจต่อรองของฝ่ายการเมืองที่นำเหนือฝ่ายทหาร ในสำนวนของเขา นี่คือ “การต่อสู้” ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่ “ต้องการเห็นการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของกฎหมาย ความยุติธรรมและการพัฒนา” กับอีกฝ่ายที่ “ต้องการแก้ปัญหาโดยการใช้ความรุนแรง” แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงไม่อาจเรียกได้ว่ามีการริเริ่มที่ใหม่เพียงพอต่อแนวโน้มการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ โดยเฉพาะการที่เดินไปไม่ไกลถึงขั้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการเมืองการปกครองเพื่อเปลี่ยนการต่อรองด้วยความรุนแรงมาเป็นวิธีการทางการเมืองมากไปกว่าการคงสถานะอันเข้มแข็งของศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ
 
          สำหรับนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเพิ่งผลักดันกฎหมายที่รองรับสถานะของ ศอ.บต.เมื่อไม่นานมานี้แล้ว แม้จะยืนยันว่าตนเองเปิดกว้างพอที่จะรับฟังข้อเสนอให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาจะมองไม่เห็นข้อจำกัดของการเมืองระบบตัวแทนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นว่าไม่สามารถเป็นช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการท้องถิ่นที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นข้อจำกัดของการปกครองที่ยังคงรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางผ่านกลไกขององค์กรปกครองส่วนภูมิภาค รวมถึงความเชื่อมโยงของการปกครองต่อรากเหง้าของความรุนแรงดังที่เป็นอยู่ สำหรับรัฐบาลชุดนี้ การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะเป็นไปได้ก็เพียงแต่มุ่งหวังผลในการจัดการปัญหาเชิงเศรษฐกิจเป็นด้านหลักเท่านั้น ดังเช่นที่อภิสิทธิ์กล่าวย้ำถึงการผลักดันให้ปรับเปลี่ยนบางส่วนของอำเภอแม่สอดให้กลายเป็นเขตปกครองพิเศษในไม่ช้านี้
 
          หากพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ความรุนแรงที่ชายแดนใต้วางตัวเองอยู่บนปัญหาของความไม่ลงรอยระหว่างอำนาจของศูนย์กลางและพื้นที่ชายขอบ ในมุมของรัฐประชาชาติไทย/สยาม นี่คือการปกป้องอำนาจเหนือดินแดนและผู้คนอย่างถึงที่สุด มุ่งมั่นต่อต้าน “การแบ่งแยกดินแดน” ไม่ว่าจะด้วยวิธีการนานาประการ ในทางตรงกันข้าม เครือข่ายของผู้ก่อการที่เคลื่อนไหวใต้ดินและใช้ความรุนแรงเข้าต่อรองมองปฏิบัติการของตนเองเป็น “การต่อสู้” ที่ต้องการปลดปล่อย “ปาตานี” ออกจากการยึดครองของเจ้าอาณานิคม โดยมีเหตุผลในทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนารองรับอย่างหนักแน่น ด้วยเหตุนี้ จากมุมของพวกเขา การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นการ “กู้เอกราช” หาใช่เป็นการ “แบ่งแยกดินแดน” ไม่
 
          กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าในสนามความขัดแย้งดังกล่าวจะมีผู้เล่นอยู่เพียงสองฝักสองฝ่าย หากแต่ในพื้นที่ตรงกลางยังอุดมด้วยตัวแสดงอีกมากมายทั้งที่อยู่ในฐานะเหยื่อของความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนกลุ่มประชาสังคมที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในการต่อรองกับทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในขั้วขัดแย้งหลัก รวมทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดัน “ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ที่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กร หรือที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในเวลาต่อมา
 
          ในการประชุมสัมมนา “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันที่จับต้องได้?” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวเป็นเจ้าภาพหลัก (กรุณาดูที่ อีกครั้งกับ นครปัตตานี 8 ความคาดหวังของคนพื้นที่ต่อรูปแบบการปกครองใหม่) อิสมาแอล อาลี อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี นิยามความเคลื่อนไหวผลักดันดังกล่าวว่าเป็น “การต่อสู้” อีกประเภทหนึ่งที่ยืนอยู่ในแนวทางของสันติวิธีที่มุ่งคลี่คลายความขัดแย้งและความรุนแรงโดยใช้องค์ความรู้ขับเคลื่อน หลังจากที่ข้อสรุปในรอบหลายปีที่ผ่านมาล้วนสะท้อนว่าโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจของรัฐไม่สามารถคลายความขัดแย้งได้ เขาประเมินในเบื้องแรกว่า แม้รัฐบาลอาจไม่รับฟังข้อเรียกร้อง แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับ “หน้าที่” ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้ และแม้ว่าจะไม่สำเร็จบรรลุผลในห้วงชีวิตของคนรุ่นหนึ่ง ก็จำเป็นที่จะต้องส่งทอดภารกิจเหล่านี้สู่คนรุ่นลูกต่อไป
 
เพราะหากแนวทางแบบนี้สามารถป้องการการสูญเสียแม้เพียงชีวิตเดียวก็ถือว่าคุ้มแล้ว เราที่ร่วมกันทำงานในวันนี้ก็จะได้บุญ ยิ่งสามารถป้องกันไม่ให้สูญเสียชีวิตอีกจำนวนมาก เราก็ยิ่งได้บุญมากขึ้นไปด้วย...ความพยายามของเราในวันนี้ ไม่เพียงแต่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาของที่นี่เท่านั้น หากแต่เพื่อแก้ปัญหาของทั้งประเทศด้วย
 
          ต่อให้แนวทางการปรับโครงสร้างการปกครองในชายแดนใต้จะยังไม่มีหลักประกันว่าผู้ที่ใช้ความรุนแรงจะเลือกใช้หนทางการเมืองเข้าต่อรอง หรือแม้กระทั่งจะให้คำตอบว่าความรุนแรงจะยุติลงในทันที ทว่าการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงถึงประเด็นดังกล่าวก็ถือเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้ที่เคยเชื่อว่าความรุนแรงเป็นวิธีการเดียวในการส่งเสียงตนสู่สังคม ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า “การต่อสู้” ที่ชายแดนใต้นั้นไม่สามารถผูกขาดความหมายได้เพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป
 
“โมเดล” และกระบวนการจากพื้นที่
 
งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นในวันรัฐธรรมนูญและยังถือเป็นเวทีใหญ่ของ “เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่วันเดียวกันนี้ของปี 2552 พวกเขาเคยร่วมกันจัดเวทีสาธารณะครั้งใหญ่ไปแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมา กระบวนการรับฟังและประมวลความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา และอาชีพรวม 47 เวที (กรุณาดู ไฟล์นำเสนอโดย พล.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานเครือข่ายฯ) เพื่อสะท้อนแง่มุมข้อจำกัดของโครงสร้างการปกครองที่เป็นอยู่ รวมถึงการแสวงหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ที่สอดคล้องต่ออัตลักษณ์ของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่และอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ด้วยการสนับสนุนจากทางด้านวิชาการและงบประมาณบางส่วนจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มอ.ปัตตานี และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
กระบวนการดังกล่าวเป็นที่มาของ “(ร่าง) รายงานผลการศึกษาการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความพยายามในการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนจากมุมมองของคนพื้นที่ (ร่างที่ 5)” ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไขผ่านการรับฟังความเห็นในเชิงลึกและขั้นตอนที่กำลังพัฒนายกร่างเป็นพระราชบัญญัติ และในอนาคตอันไม่ไกลนี้ เครือข่ายดังกล่าวจะรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้
 
กระบวนการเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ “โมเดล” จากพื้นที่ฉบับนี้แตกต่างไปจาก “โมเดล” ที่ว่าด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองการปกครองที่นำเสนอจากนักวิชาการและนักการเมืองที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “นครปัตตานี” ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ “ทบวงชายแดนใต้” ของศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรีและสุกรี หลังปูเต๊ะ “ปัตตานีมหานคร” ของอัคคชา พรหมสูตร ฯลฯ เพราะการขับเคลื่อนในพื้นที่ผ่านเวทีต่างๆ ตลอดจนการอภิปรายในพื้นที่สาธารณะในรอบปีที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่ทำให้วาระของโครงสร้างทางการปกครองเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ยังเป็นประเด็น “ต้องห้าม” ที่เทียบเคียงกับ “การแบ่งแยกดินแดน” ให้กลายเป็นประเด็นที่สามารถจะคิดได้ พูดได้ และถกเถียงได้
 
ในเนื้อหาของร่างรายงานฉบับนี้ ประมวลแง่มุมของปัญหาที่สืบเนื่องมาจากโครงสร้างการปกครองแบบเดิมโดยแยกเป็น 2 มิติ ได้แก่ ในด้านการบริหารการจัดการท้องถิ่น และในด้านการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยยังคงทั้งประเด็นที่เป็นข้อเสนอจากเวทีรับฟังความเห็นและประเด็นโต้แย้งไว้อย่างรอบด้าน กระนั้นก็ตาม เมื่อประมวลสรุปความเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้ว ร่างรายงานดังกล่าวได้คั้นเอาความคาดหวังพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่ที่จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการถกเถียงและพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในอนาคต โดยมีข้อสรุปเป็น 8 ประการ ได้แก่
 
ประการแรก การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามบังคับแห่งมาตรา 1 ที่กำหนดให้ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”
 
ประการที่สอง การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องเป็นการปกครองที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการเมืองในลักษณะที่ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีที่ยืนและเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย รับฟังเสียงส่วนใหญ่โดยไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย คำนึงถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่าง รวมทั้งมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่เป็นรูปธรรมแก่คนไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่
 
ประการที่สาม การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ และมีจำนวนข้าราชการไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผู้บริหารและข้าราชการที่มีสำนึกรักท้องถิ่น และมีความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
 
ประการที่สี่ การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีกลไกที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการริเริ่ม เสนอแนะ และตัดสินใจในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการของท้องถิ่น รวมทั้งกำกับติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้บริหารท้องถิ่นได้ในระดับที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองได้มีอำนาจในการจัดการชีวิตของตัวเองดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 281 ของรัฐธรรมนูญที่เน้น “หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น”
 
ประการที่ห้า การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีระบบการกลั่นกรองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่สามารถลดการแข่งขันแตกแยกในชุมชนและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในระดับหนึ่งว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนหนึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมและความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับการเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง
 
ประการที่หก การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องใช้สองภาษา คือ ภาษาไทยและภาษามลายูควบคู่กันไปบนสถานที่และป้ายต่างๆ ของทางราชการ
 
ประการที่เจ็ด การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีระบบการศึกษาที่อยู่ในมาตรฐานกลางของกระทรวงศึกษาธิการ และในขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับความต้องการและอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วย โดยใช้หลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญและสายศาสนา รวมทั้งมีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ ในลักษณะที่ผู้ปกครองจากทุกกลุ่มวัฒนธรรมต่างมีความสบายใจและมั่นใจที่จะส่งบุตรหลานของตนเข้ามาศึกษาเล่าเรียน
 
และประการที่แปด การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีการบังคับใช้ระบบกฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้นที่ทั้งในแง่ของบทบัญญัติ การวินิจฉัยตัดสิน และการมีสภาพบังคับ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว มรดก และการควบคุมศีลธรรมจริยธรรมของชาวมุสลิมอันมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตโดยตรงมากที่สุดก่อนในอันดับแรก
 
 
          ในขณะที่ โมเดลที่ว่าด้วยโครงสร้างการปกครองแบบใหม่ก็มีข้อเสนอดังแผนภาพ ต่อไปนี้
 
กรุณาคลิกที่ภาพเพื่อดูรายละเอียด
 
ร่างรายงานที่มาจากเสียงของประชาชนในพื้นที่ฉบับนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็น ปรับปรุงและต่อเติม แต่สถานะที่เป็น “เครื่องมือ” ในการพูดคุยถกเถียงถึงอนาคตชายแดนใต้ต่างหากที่อาจจะสำคัญกว่าเนื้อหาจริงๆ ที่บรรจุไว้ในรายงานชิ้นนี้ แม้ว่าความรุนแรงจะยังส่งภาษาสะท้อนกว้างขวาง แต่เราก็คงไม่ละเลยที่จะแสวงหาทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่เพียงแต่ยุติความรุนแรงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบบ้านที่จะอยู่ด้วยกันเพื่อก่อร่าง “สันติภาพ” ที่มีที่ยืนให้กับทุกฝ่าย โดยไม่ต้องสังเวยชีวิตของผู้ใดอีกในอนาคต

 

File attachment
Attachment Size
processpresentation10-3.ppt (2.1 MB) 2.1 MB