Skip to main content

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ขบวนการภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพลังแห่งความหวังในแนวทางสันติเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงที่ยังหาทางออกไม่ได้ ในท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว เราได้เห็นการเติบโตของภาคประชาสังคมซึ่งหมายถึงองค์กรและกลุ่มบุคคลที่ทำงานเพื่อส่วนรวมแต่ไม่ใช่รัฐ คนที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของบุคคลและองค์กรต่างๆ ในแบบไม่แสวงหากำไรแบบธุรกิจเอกชน แต่ทำเพื่อชุมชนของตนเพื่อพี่น้องร่วมสังคม อย่างเป็นอิสระและโดยสำนึกอาสาสมัคร

การเติบโตของขบวนการภาคประชาสังคมเช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะแสดงให้เห็นว่าแทนที่จะมีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายคือฝ่ายรัฐกับขบวนการก่อความไม่สงบและฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงอื่นๆ ยังมีพลังฝ่ายที่สามซึ่งพร้อมจะเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยสำนึกแห่งสันติและเหตุผล

การจะเข้าใจลักษณะทางการเมืองของพลังภาคประชาสังคมได้ สิ่งที่จะต้องให้ความสนใจก็คือ ภูมิหลังและพัฒนาการของกลุ่มดังกล่าว

พัฒนาการของภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเริ่มเกิดขึ้นจากการประสานงานของนักวิชาการมหาวิทยาลัยในพื้นที่กับกลุ่มชาวบ้านเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในกระบวนการพัฒนาประเทศ กลุ่มชาวบ้านที่ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการนี้ก็คือ ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งต่อสู้ในประเด็นการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน (กรณีอวนรุนอวนลาก) ผลจากการที่นักวิชาการ เอ็นจีโอ และผู้นำชุมชนบางแห่งได้ร่วมกันสรุปบทเรียนทางสังคมในการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร ในปี พ.ศ.2536 ได้เกิดการจัดตั้งชมรมชาวประมงพื้นบ้านยะหริ่ง และชมรมชาวประมงพื้นบ้านหนองจิกขึ้น

ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ.2536-2538 องค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดภาคใต้ที่สงขลาและตรังเริ่มเข้าไปทำงานในชุมชนชาวประมงพื้นบ้านเพื่อประเมินทางเลือกใหม่ในการจัดการประมงชายฝั่งร่วมกับชาวประมงพื้นบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านได้ขยายตัวออกไปในสองสามจังหวัดและได้มีการก่อตั้ง "สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้" ขึ้น ความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านในปัตตานีแสดงให้เห็นจากการที่ผู้นำของชาวประมงพื้นบ้านที่นี่เป็นผู้นำองค์กรดังกล่าว หลังจากนั้นได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้านและผู้นำชุมชนเพื่อแก้ปัญหาของชาวบ้านมากขึ้นในหลายกลุ่ม ทั้งพื้นที่ป่าเขาและพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขยายตัวออกไปก็คือปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในช่วงปี พ.ศ.2540 ซึ่งผลกระทบของวิกฤตดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและชุมชนล้มละลาย รัฐบาลในสมัยนั้นได้มีโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เรียกว่า การลงทุนเพื่อสังคม หรือ SIP : Social Investment Program ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่รัฐบาลไทยในการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยโครงการพัฒนาชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มารวมตัวกัน แต่ยังมีรูปแบบองค์กรไม่ชัดเจนในลักษณะองค์กรอาสาสมัคร จากนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานกองทุนทางสังคมหรือคณะทำงานชุมชนเข้มแข็งขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาสังคมซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเน้นในด้านสภาพแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาเยาวชน ต่อมา องค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้มีการพัฒนาองค์กรด้วยการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และกระบวนการจัดทำแผนจังหวัด โดยกลไกที่เป็นผลมาจากโครงการ SIP เป็นตัวเคลื่อนงาน ในระหว่างปี พ.ศ.2542-2543 เมื่อโครงการ SIP จบลงแต่การเคลื่อนตัวของภาคประชาสังคมก็มีชีวิตของตนเอง มีความเข้มแข็งและพัฒนาการต่อไป

เมื่อรัฐบาลไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตรก้าวสู่อำนาจครั้งแรก โครงการกองทุนหมู่บ้านก็ลงสู่ชุมชนด้วยงบประมาณประชานิยมอันมหาศาล กลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ก็อาศัยเงื่อนไขนี้เพิ่มศักยภาพที่สร้างตัวขึ้นมาก่อนหน้านั้นหลายปี จนกระทั่งได้มีการสร้างองค์กรที่เรียกว่า "ประชารัฐ" ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สะท้อนภาพการขยายตัวการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในพื้นที่ดังกล่าวอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นการร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐในพื้นที่ เช่นกรมการศึกษานอกโรงเรียน สาธารณสุขจังหวัด พัฒนาชุมชนและธนาคารเพื่อการเกษตร เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่ากระแสการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมในสายดังกล่าว มีการขยายตัวมากจนกลายเป็นพลังทางสังคมที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พัฒนนาการในส่วนนี้เป็นผลที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศที่ทำให้มีปัญหาในการพัฒนา เช่น การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ ลักษณะพิเศษของขบวนการภาคประชาสังคมก็คือ เป็นการประสานกันระหว่างนักวิชาการกับองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการผสมกันระหว่างคนนอกพื้นที่สามจังหวัดที่มาอยู่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่มาเป็นเวลายาวนานกับคนในพื้นที่ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นแท้ๆ องค์กรเหล่านี้ได้ดำเนินการพัฒนาผู้นำชาวบ้านขึ้นมาในกระบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว

สัญลักษณ์ของการรวมตัวอย่างเข้มแข็งของพลังภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ก็คือ การประท้วงใหญ่ของชาวประมงพื้นบ้านที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานีในกลางปี พ.ศ.2543 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขนโยบายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรชายฝั่งในส่วนที่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้านและแก้ไขปัญหาอวนรุนอวนลากในทะเลชายฝั่งของจังหวัดปัตตานี 

ในอีกด้านหนึ่ง การขยายตัวของภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลง "ภายใน" โครงสร้างชนชั้นและกลุ่มทางสังคมที่เป็นผลมาจากการปฏิรูประบบการศึกษาในสังคมมลายูปัตตานี ที่ทำให้เกิดกระบวนการผสมกลมกลืนทางเชื้อชาติและภาษา รัฐทำให้ระบบการศึกษาของไทยเข้ามามีส่วนสำคัญในการผลิตคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาในสายสามัญหรือในทางโลก แทนที่ระบบการศึกษาที่เน้นทางศาสนาซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ก็คือ การใช้ระบบการศึกษาภาคบังคับในปี พ.ศ.2464 การเน้นนโยบายชาตินิยมทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ.2482 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการปฏิรูปการศึกษาในปี พ.ศ.2504  ซึ่งบังคับให้มีการเปลี่ยนระบบการศึกษาทางศาสนาแบบโรงเรียนปอเนาะไปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เริ่มต้นด้วยการจดทะเบียนโรงเรียนปอเนาะ และต่อมาก็บีบบังคับให้ปอเนาะกลายรูปเป็นโรงเรียนราษฏร์สอนศาสนาอิสลามในปี พ.ศ.2508 รัฐได้เร่งรัดให้กระบวนการแปรสภาพดังกล่าวเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2514 และเปลี่ยนชื่อให้กลายเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปี พ.ศ.2526

การที่รัฐไทยเข้าไปเปลี่ยนระบบการศึกษาปัตตานีก็เพื่อสร้างคนมุสลิมมลายูรุ่นใหม่ที่ผ่านการศึกษาสายสามัญและเป็นผู้นำทางโลกเข้าทำงานในระบบราชการไทย ตั้งแต่ในระดับล่างเช่นกำนันผู้ใหญ่บ้าน จนถึงข้าราชการสายปกครอง สายการศึกษาและสาธารณสุข เพื่อให้ถ่วงดุลกับชนชั้นนำทางศาสนาอีกกลุ่มที่ผ่านการศึกษาสายศาสนาทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ปัญญาชนจากต่างประเทศเหล่านั้นมักได้รับการศึกษาจากประเทศในตะวันออกกลาง อาฟริกาเหนือ เอเชียใต้และประเทศมุสลิมเพื่อนบ้าน คนกลุ่มหลังนี้เกิดจากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ไว้ใจระบบการศึกษาไทยเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาในตอนแรกและส่งลูกไปเรียนสายศาสนา จนกลับมาเป็นผู้นำสายศาสนาหรือผู้นำในการศึกษาและวัฒนธรรม เช่น เช่นโต๊ะครูและอุสตาส เป็นต้น

  พัฒนาการระบบการศึกษาอิสลามตามแนวดังกล่าวมีผลทำให้เกิดมูลนิธิเพื่อการศึกษาในการจัดตั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขึ้นซึ่งเป็นฐานการพัฒนาระบบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ได้รับเงินอุดหนุนการศึกษาจากรัฐตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็เกิดระบบการออมทรัพย์แบบอิสลามตามกฎหมายสหกรณ์ มูลนิธิและกลุ่มสหกรณ์เหล่านี้อาจจะถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบอีกส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคประชาสังคมซึ่งทำให้เกิด "ผู้นำ" ในอีกแบบหนึ่งที่มีฐานจากกิจกรรมทางศาสนาหรือเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มคนที่เข้าสู่ระบบการศึกษารัฐในสายสามัญก็ผ่านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพในจำนวนมากขึ้น คนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในระยะแรกจะเป็นพวกที่ได้รับทุนการศึกษาของกระทรวงมหาดไทยไปเรียนสถาบันชั้นสูง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัยและธรรมศาสตร์ เพื่อกลับมาเป็นข้าราชการในพื้นที่มุสลิม แต่ในระยะหลังเมื่อมีการเปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ.2514 นักเรียนสามัญจากสามจังหวัดภาคใต้จำนวนมากก็เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเปิดแห่งนี้และกลายเป็นฐานของกลุ่มทางสังคมใหม่ที่ใหญ่มากในยุคต่อมา

ปรากฏการณ์ที่สำคัญในการขยายตัวของชนชั้นนำรุ่นใหม่ของสามจังหวัดภาคใต้ที่ผ่านการศึกษาสายสามัญก็คือการจัดตั้งกลุ่ม พีเอ็นวายเอส (PNYS ซึ่งย่อมาจากปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล) กลุ่มพีเอ็นวายเริ่มก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ.2521 และจัดตั้งสำเร็จในปี พ.ศ.2526 คนในกลุ่มนี้ต่อมาจะกลายเป็นชนชั้นกลางรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งมีบทบาทนำในฐานะเป็นข้าราชการ นักธุรกิจรายย่อย และนักการเมืองท้องถิ่นเช่นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล รวมทั้งบางส่วนของผู้นำฝ่ายท้องที่ เช่น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น

ลักษณะที่น่าสนใจของขบวนการภาคประชาสังคมในส่วนนี้ก็คือ องค์ประกอบของกลุ่มคนในสายนี้เป็น "คนใน" ที่รู้ปัญหาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตระหนักรู้ในอัตลักษณ์ท้องถิ่น มีสำนึกประวัติศาสตร์และศาสนา รวมทั้งผ่านความเจ็บปวดร่วมกับสังคมอันเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและของพี่น้องของตน

สัญลักษณ์การต่อสู้ที่สำคัญของพลังทางสังคมส่วนนี้ก็คือ การต่อสู้กับรัฐในการประท้วงที่มัสยิดกลางปัตตานีในปี พ.ศ.2518 การประท้วงเรื่องสิทธิในการแต่งกายแบบมุสลิมะห์ใช้ผ้าคลุมผมของนักศึกษาวิทยาลัยครูยะลาที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลาในปี พ.ศ.2531 และการประท้วงกรณีมัสยิดกรือเซะในช่วงปี พ.ศ.2533 กระแสการต่อสู้ดังกล่าวชี้ให้เห็นการก่อรูปของปัญญาชนชนชั้นกลางใหม่ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการความยุติธรรมในการรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เน้นแนวทางการต่อสู้ที่สันติและถูกกฏหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการในบริบทการพัฒนาสังคมในโลกสมัยใหม่

นี่คือบริบททางสังคมและพื้นฐานของการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมในช่วงก่อนปี พ.ศ.2547 ซึ่งสะท้อนความเข้มแข็งของการพัฒนาการของพลังทางสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลากหลายและมีชีวิตชีวา แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและการก่อความไม่สงบที่ขยายตัวลุกลามไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2547

สถานการณ์ของภาคประชาสังคมก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย หลายคนรู้สึกตกใจ "ช็อค" กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่งานภาคประชาสังคมทุกอย่างกำลังดำเนินไปด้วยดีแต่เมื่อมีเหตุการณ์ขึ้นในระยะแรกมีผลกระทบอยู่ไม่น้อยต่อความรู้สึกที่ความรุนแรงขยายตัวออกไปอย่างคาดไม่ถึงโดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2547 ซึ่งเกิดการตายจำนวนมากและการปราบอย่างรุนแรงของฝ่ายรัฐที่มัสยิดกรือเซะ ในช่วงนี้ ระยะแรกเกิดภาวะสับสนรวนเรในขบวนการภาคประชาสังคมในส่วนของการต่อสู้เพื่อจัดการทรัพยากรและการพัฒนา มีการพูดคุยกันเองว่าต่อไปคงจะทำงานต่อไปไม่ได้แล้ว บางส่วนก็ถูกห้ามปรามจากครอบครัวเพื่อให้หยุดการทำงานจนหายหน้าไปหลายเดือน แต่อีกส่วนก็ยังคงมีความหวังและเดินงานต่อไป ประสบการณ์ใหม่สอนให้คนในภาคประชาสังคมรู้ว่า "ความซับซ้อน" ของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่ล้ำลึกและประกอบไปด้วยหลายปัจจัยมากที่จะต้องใช้เวลาอีกนานในการแก้ไขเยียวยา แต่ผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขาพบว่า "เหยื่อ" ของความรุนแรงคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ จากต้นทุนของการทำงานภาคสังคมและเครือข่ายชุมชนที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2540 ทำให้มีการต่อสายเยี่ยมเยียนผู้สูญเสียและเจ็บปวดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในปี พ.ศ. 2547 จึงหันมามีจุดเน้นที่การช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้สูญเสีย มุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาที่กระบวนการยุติธรรมเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์จากเหตุการณ์ความรุนแรงและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าให้สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น ในกระบวนการดังกล่าวบทบาทในฐานะเป็นฝ่ายที่เป็นกลางหรือเปิดพื้นที่ทางสังคมเพื่อการพูดคุยหาทางออกอย่างสันติก็เริ่มเด่นชัดขึ้น ในปลายปี พ.ศ.2547 เมื่อรัฐบาลทักษิณเริ่มยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะเร่งด่วนปี พ.ศ.2547-2548 ด้วยการทุ่มงบประมาณมากกว่า 6,000 ล้านบาทลงมาในพื้นที่ กลุ่มองค์กรในภาคประชาสังคมก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระดมความต้องการของประชาชนเพื่อทำโครงการพัฒนาในระดับรากหญ้าโดยเน้นที่เวทีประชาคมมุสลิม บทบาทประชาสังคมเป็นเพียงส่วนน้อยนิดในโครงการพัฒนาดังกล่าวแต่ก็ทำให้เครือข่ายประชาชนสามารถฟื้นตัวและเริ่มกลับมาแสดงบทบาทใหม่ ในลักษณะพัฒนาและต่อยอดงานเดิมที่ทำไว้แล้ว โดยเกิดโครงการเยียวยาในกลุ่มต่างๆ ขึ้น เช่น การเยียวยาในเครือข่ายโรงเรียนปอเนาะและมีการพัฒนาเครือข่ายมุสลิมในโครงการดับบ้านดับเมือง ชุมชนเป็นสุขภาคใต้ นอกจากนี้แล้ว ในกระบวนการดังกล่าว ปัญญาชนมุสลิมจากสายของพีเอ็นวายในพื้นที่ก็รวมตัวกันขึ้นมาอีกครั้งและสามารถจัดตั้งมูลนิธิฮิลาล อะห์มัร หรือมูลนิธิอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยมุสลิมในตอนต้นปี พ.ศ. 2550 ซึ่งสามารถขยายสาขาไปอย่างกว้างขวางถึง 12 ศูนย์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ลักษณะเด่นโครงมูลนิธิฮิลาลฯ คือความสามารถในการระดมทุนสนับสนุนจากท้องถิ่นทั้งคนมุสลิมและพุทธ สามารถเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตรายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาขั้นต้นแก่ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบได้ 

นอกจากการขยายตัวและต่อยอดงานที่ดำเนินไปแล้วในสถานการณ์ความไม่สงบ บทบาทใหม่ของขบวนการภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ การพัฒนาแนวทางในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการสร้าง "พื้นที่สาธารณะ" ในการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงด้วยวิถีทางสันติและกระบวนการประชาธิปไตย จุดเริ่มต้นที่เด่นชัดคือการเกิดขึ้นของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสามานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งการทำงานของกรรมการดังกล่าวเป็นมิติใหม่ของการแก้ปัญหาในสังคมไทย นำไปสู่การประชุมและพบปะเสวนาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่หลายแห่งของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และภาคประชาสังคม รวมทั้งชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ผลที่เกิดตามมา คือ การขยายตัวของงานวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลความเป็นจริงในพื้นที่จากนักวิชาการทั้งจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่และจากส่วนกลาง การเข้ามามีบทบาทขององค์กรเครือข่ายของสื่อมวลชน ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ เพื่อรายงานข่าวที่เกิดขึ้น และรายงานข่าวเจาะลึกเชิงสืบสวนสอบสวน สัญญะที่สำคัญก็คือ การเกิดขึ้นของศูนย์ข่าวอิศราในยุคแรกและศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งรายงานข่าว นำเสนอข้อมูลและงานวิเคราะห์ การวิจัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่สื่อมวลชนในระดับชาติและระหว่างประเทศ

เวทีสำคัญในพื้นที่สาธารณะที่มีการจัดประชุมและพบปะ ประสานงานเพื่อระดมความคิดเห็นของภาคประชาสังคมก็คือ มหาวิทยาลัยและโรงแรมในกลางเมืองของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การพัฒนาดังกล่าวก่อตัวขึ้นในท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบสี่ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ยิง ระเบิด และเผาสถานที่กระจายไปเกือบจะทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะที่จังหวัดยะลา เขตเทศบาลเมืองกลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีระดับความรุนแรงสูงสุด จังหวัดปัตตานีลักษณะพิเศษที่แบบแผนการก่อเหตุมีลักษณะคล้ายวงแหวนล้อมรอบเขตเมืองหรือเขตเทศบาล สถาบันการศึกษาคือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีและโรงแรมซีเอสปัตตานีจึงดูเสมือนว่าจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มีการประชุมสร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์การต่อสู้แบบสันติวิธีเพื่อแก้ปัญหาอันซับซ้อนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่สาธารณะเป็นเวทีที่สำคัญมากในการพัฒนาประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การระเบิดที่โรงแรมซีเอสปัตตานีในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2551 จึงเป็นความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่จงใจทำลายพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นเวทีพัฒนาการความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมตลอดช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมา จนดูคล้ายกับว่าเป็นการปิดพื้นที่ปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เหลืออยู่อันน้อยนิด

แต่เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังของพลังทางสังคมที่เข้มแข็งและพัฒนาการที่ยาวนานของภาคประชาสังคมในช่วงมากกว่าสิบปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้มีชีวิตและเติบโตขึ้นมาจากการปรับตัวในความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มีทั้งสูงต่ำ เกิดและดับ เครือข่ายที่เกิดขึ้นเป็นเสมือน "นกฟินิกส์" ที่สามารถก่อกำเนิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าจากเถ้าถ่านร่างกายของของตนเอง พื้นที่ทางสังคมได้ถูกเปิดขึ้นแล้วในใจของประชาชนเพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น พื้นที่นี้จะขยายตัวต่อไปด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่นในพลังของเหตุผลและภูมิปัญญาไม่จำกัดอยู่ที่ใดที่หนึ่งในท่ามกลางสถานการณ์อันร้อนแรงที่เกิดขึ้น