Skip to main content

 
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
 

            การกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้ คือโจทย์ใหญ่ที่ฝ่ายต่างๆ กำลังครุ่นคิดหาแนวทาง

            ยุทธศาสตร์สร้างสันติภาพ ด้วยสันติวิธี การเมืองนำการทหารของฝ่ายรัฐ เรียกได้ว่าได้รับการยอมรับมากที่สุดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่ยุทธศาสตร์ของฝ่ายก่อความไม่สงบคือการสร้างความรุนแรง

          ชายแดนภาคใต้ จึงเป็นพื้นที่แห่งการปะทะกันระหว่างทั้งสองแนวทาง

          ความรุนแรง ด้านหนึ่งคือการท้าทายและทดสอบความอดทนต่อแนวทางสันติวิธี อีกด้านหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า นี่คือการสร้างเครื่องมือในการควบคุมมวลชน

          ความเหลื่อมล้ำทางแสนยานุภาพ ระหว่างกองทัพไทยและขบวนการก่อความไม่สงบ อาจกล่าวได้ว่า จุดมุ่งหมายของการต่อสู้ของขบวนการใต้ดินมิใช่การแตกหักทางการทหาร แต่การคงอำนาจในการควบคุมมวลชนไว้ได้ คือการสะสมปัจจัยความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแตกหักทางการเมือง

            ความรุนแรงจึงเป็นเครื่องมือสั่นคลอนความเชื่อมั่นในแนวทางสันติ ภาวะที่ผู้คนไร้ความหวังถึงภาวะความสงบสุข ซึ่งชีวิตจะดำเนินไปอย่างปกติ อาจกลายเป็นการบีบให้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด เพื่อหาทางออกจากภาวะความรุนแรงที่บีบคั้น ซึ่งจะกลายเป็นจุดแตกหักทางการเมือง

          สถานการณ์ชายแดนใต้ในช่วงหลังนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ความรุนแรงอ่อนกำลังลง จากสถิติของหลายๆ ฝ่าย ชี้ชัดตรงกันว่าจำนวนเหตุการณ์รุนแรงลดลง ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คน ที่กลับคืนมา การไปมาหาสู่ ติดต่อทำมาค้าขายกันมีมากขึ้น หลายพื้นที่มีการจัดประกวดนกกรงหัวจุก กิจกรรมวิถีชีวิตพื้นบ้านที่หายไปนาน

            นี่อาจเป็นบทพิสูจน์ว่า หากความรุนแรงหายไป ความเชื่อมั่น ความหวังถึงชีวิตปกติจะกลับมา การจุดประกายความหวังถึงสันติสุข ภาวะชีวิตที่ปกติ ไม่ต้องพะวงอยู่กับความรุนแรง อาจกลายเป็นแรงผลักดันให้การปฏิเสธความรุนแรง เปล่งเสียงดังขึ้นมามากขึ้น หากเมื่อใดที่ฝ่ายก่อความรุนแรงถูกต่อต้าน เมื่อนั้นแนวทางการสร้างสันติภาพก็สามารถหยั่งรากได้อย่างมั่นคง

          แต่ 4 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงสร้างความหวาดกลัวจนกลบทุกสรรพเสียง รัฐเองก็พะวงอยู่กับการแก้โจทย์สกัดกั้นความรุนแรง โดยเน้นปฏิบัติการทางทหาร จนละเลยการสร้างโอกาสสร้างความหวังถึงความสงบสุข ซึ่งทุกคนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ

          โจทย์ความรุนแรงนี้เอง ทำให้พื้นที่ชายแดนภาคใต้มีแต่ ‘นักรบ' มากกว่า ‘นักพัฒนา' ทรัพยากรในทุกด้านที่ทุ่มลงไป จึงเน้นหนักไปที่การสกัดกั้นความรุนแรงมากกว่าจะใช้ไปในการพัฒนา เพื่อจุดประกายความหวังถึงความสงบสุข

          ความรุนแรงที่ลดลง จึงยังเร็วเกินไปที่จะอ้างว่า เป็นความสำเร็จของปฏิบัติการทางทหาร แท้จริงแล้วยังต้องรอดูกันอีกระยะหนึ่งว่า ความรุนแรงที่ลดลง มาจากการคุมเชิงซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายหรือไม่

          ด้านหนึ่งขบวนการใต้ดินกำลังซ่อมสร้าง ฟื้นเครือข่ายที่ถูกสลายไป อีกด้านหนึ่งรัฐอาจอ่อนล้าด้านการข่าว จึงเฝ้ารอการฟื้นคืนของเครือข่ายขบวนการใต้ดิน เพื่อการกวาดล้างต่อไป

          น่าเสียดายที่ช่วงเวลานี้ การปลุกความหวังถึง ภาวะความสงบสุขให้ผุดขึ้นมาปรากฏให้เห็นเลย

        การคงกำลัง ‘นักรบ' เพื่อสกัดกั้นความรุนแรงยังมีความจำเป็น แต่ขณะเดียวกันการเพิ่มจำนวน ‘นักพัฒนา' ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

แต่วันนี้กลไกการพัฒนาอย่าง ศอ.บต.ก็ยังแจ้งเกิดไม่ได้สักที

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสถานการณ์ชายแดนภาคใต้
กับ
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ได้ที่ bangyub.multiply.com
หรือที่
www.oknation.net/blog/ayub