Skip to main content
ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา[1]
ศุภราภรณ์ ทวนน้อย[2]
อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เป็นการถอดบทสรุปจากโครงการวิจัยเรื่อง “สถานภาพและบทบาท สถานีโทรทัศน์ระบบ บอกรับสมาชิก (เคเบิลทีวี) ใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส)” อันเป็นหนึ่งในชุดงานวิจัยที่ดำเนินการโดยคณาจารณ์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จำนวน 6 ชิ้น ภายใต้การสนับสนุนโดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation Project หรือ STEP Project) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
 
บทนำ
 
จากต้นกำเนิดของสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 59 ปีก่อน เป็นการเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มการรับสัญญาณโทรทัศน์ในพื้นที่ห่างไกล โดยใช้การส่งสัญญาณผ่านสายเกิดขึ้น เช่นเดียวกับการเกิดสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีในประเทศไทยยุคแรกที่มุ่งกระจายสัญญาณโทรทัศน์ไปยังพื้นที่ “อับสัญญาณ” เป็นหลัก เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง
สำหรับประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก 2 ประเภท ประกอบด้วย
1. สถานีโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกที่ใช้การส่งสัญญาณจากระบบดาวเทียม เช่น บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานจากบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ใช้ระบบการส่งสัญญาณออกอากาศด้วยระบบ TrueIPTV รับสัญญาณด้วยจานสัญญาณ DSTV หรือ “จานแดง”
2.สถานีโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกที่ให้บริการผ่านสายเคเบิลส่งสัญญาณภาพถึงบ้านของสมาชิก หรือ เคเบิลทีวีท้องถิ่น เป็นธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น เกือบทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตเทศบาลหรือชานเมืองตามต่างจังหวัด ที่มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่น เพื่อให้สามารถติดตั้งสายเคเบิลไปยังบ้านเรือนของประชาชนได้จำนวนมาก แต่ลงทุนต่ำ ด้วยข้อกำจัดดังกล่าว ทำให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นยังไม่แพร่หลายไปยังพื้นที่นอกเขตเทศบาล ซึ่งยังเป็นช่องว่างทางการตลาดที่อาจขยายกลุ่มสมาชิกในอนาคต
           การให้บริการของเคเบิลทีวีท้องถิ่นนั้นมีช่องรายการให้ชมมากถึง 60-80 ช่องรายการ บางบริษัทมีการผลิตรายการที่ตอบสนองต่อความต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของท้องถิ่นด้วย ขณะที่สมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่นจะจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน อยู่ระหว่าง 200-350 บาทต่อเดือน
         การเกิดสถานีโทรทัศน์เคเบิลท้องถิ่นตามเขตเมืองต่างๆ ในระยะ 10-15 ปีที่ผ่านมา อาจไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาจุดอับสัญญาณ แต่เพราะมีช่องว่างทางการตลาดเกิดขึ้น ทั้งในแง่ “เนื้อหา” และ “ผู้ชม” ที่ผู้ประกอบการเห็นโอกาสในการทำธุรกิจทางด้านสื่อ แต่จะเป็นสื่อที่เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ต่างก็มี “สถานภาพ” และ “บทบาท” เพื่อการดำรงอยู่ในสังคมเช่นเดียวกับสื่อประเภทอื่นๆ
 
สถานภาพเคเบิลทีวีท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายภาคใต้ตอนล่าง
 
หากกล่าวถึงการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไปย่อมมุ่งหวังเพียงผลกำไรสูงสุดเป็นเป้าหมาย แต่ธุรกิจสื่อไม่เพียงดำรงตนอยู่ใน “สถานภาพทางธุรกิจ” เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นเท่านั้น แต่ยังต้องดำรงอยู่ใน “สถานภาพทางสาธารณะ” ด้วย นับเป็น 2 สถานภาพที่อาจเดินเคียงคู่กันได้อย่างสมดุล แต่บางโอกาสอาจขัดแย้ง (Conflict of Interest) กัน เมื่อมีการจัดวางสถานภาพใดสถานภาพหนึ่งมากหรือน้อยจนเกินไป
สถานีโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก หรือ “เคเบิลทีวีท้องถิ่น” ใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) มีอยู่ทั้งสิ้น 13 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในจังหวัดสงขลามากที่สุด จำนวน 4 แห่ง โดยมีบริษัท สุชาติเทเลคอม จำกัด หรือหาดใหญ่เคเบิล 93 เป็นบริษัทที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดกว่าหมื่นคน ขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยะลาเคเบิลทีวี เป็นเจ้าของสถานีเคเบิลทีวีมากที่สุด จำนวน 3 แห่ง คือ ปัตตานีเคเบิลทีวี ยะลาเคเบิลทีวี และเบตงเคเบิลทีวี
ด้านการประกอบธุรกิจนั้น พบว่า เริ่มการประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไปมากที่สุด (ราว พ.ศ.2540-2544) ร้อยละ 37.5 รองลงมา คือ ระยะเวลา 3-6 ปี และ 7-10 ปี ร้อยละ 25.0 เท่ากัน และต่ำกว่า 3 ปี ร้อยละ 12.5 มีการจัดองค์กรธุรกิจในรูปแบบ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” (หจก.) มากที่สุด ถึงร้อยละ 50 ที่เหลือจัดตั้งในรูปแบบบริษัทและวิสาหกิจส่วนบุคคล
ส่วนสถานภาพทางธุรกิจ[3] ของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ณ ปัจจุบัน พบว่า อยู่ในระดับยืนหยัดมากที่สุด ร้อยละ 62.5 รองลงมา คือ ระดับพึ่งพิง ร้อยละ 25.0 และสุดท้าย คือ ระดับเข้มแข็ง ร้อยละ 12.5 ซึ่งสถานประกอบการที่อยู่ในระดับยืนหยัดส่วนมาก ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลขนาดเล็กถึงปานกลาง โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครยะลาบางราย ประเมินว่าธุรกิจของตนเองอยู่ในระดับเข้มแข็ง สามารถขยายกิจการออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงได้อีก
รายได้ของเคเบิลทีวีท้องถิ่นมาจากค่าสมาชิกเกือบทั้งหมด ถึงร้อยละ 82.7 นอกจากนั้นมาจากค่าโฆษณา และรายได้จากส่วนอื่นมาจุนเจือ สำหรับจำนวนสมาชิกเคเบิลทีวี ซึ่งเป็นที่มาของรายได้หลักของผู้ประกอบการ พบว่า มีจำนวน 201-400 คน ร้อยละ 33.2   รองลงมา คือ จำนวนต่ำกว่า 200 คน, จำนวน 601-800 คน และจำนวน 801-1000 คน ร้อยละ 16.7 เท่ากัน มีค่าสมาชิกต่อเดือนตั้งแต่ 350 บาทลงมา ร้อยละ 87.5 รองลงมา คือ 351-700 บาท ร้อยละ 12.5
ขณะที่จำนวนช่องรายการอยู่ที่ 61-70 ช่องรายการมากที่สุดถึงร้อยละ 62.5 รองลงมา คือ 71-80 ช่องรายการ ร้อยละ 25.0 และ 41-50 ช่องรายการ ร้อยละ 12.5 ในจำนวนช่องรายการดังกล่าว พบว่า มีช่องรายการประเภทกีฬามากที่สุด ร้อยละ 22.8 รองลงมาคือประเภทข่าว ร้อยละ 21.8 อันดับสาม คือ ประเภทภาพยนตร์ ร้อยละ 20.3 อันดับสี่ คือประเภทเพลง ร้อยละ 10.9 อันดับห้า คือ ประเภทสารคดี ร้อยละ 10.2 นอกจากนั้นเป็นช่องประเภทเด็กและเยาวชน ศาสนา วัฒนธรรม การจำหน่ายสินค้า
จากการศึกษา ยังพบว่า ลักษณะของช่องรายการที่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีเผยแพร่มี 4 ลักษณะ คือ
1.ช่องรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากบริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตัวกลางในการรวบรวมช่องรายการที่มีคุณภาพ และเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัทมาจัดเรียงให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ (Platform) ช่องที่อยู่ในกลุ่มนี้จะมีสัญลักษณ์ CTH แสดงไว้ในแต่ละช่องรายการด้วย
2.ช่องรายการที่เคเบิลทีวีเป็นผู้ผลิตเอง มีรูปแบบรายการ และเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไปตามศักยภาพของแต่ละแห่ง หรือเรียกว่าช่องรายการท้องถิ่น ทั้งที่เป็นรายการข่าวในท้องถิ่นและรูปแบบรายการประเภทอื่นๆ
3. ช่องรายการพันธมิตรกับสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เช่น บริษัทไทยเดย์ ดอทคอม จำกัด ผู้ผลิตช่องรายการ ASTV มีจำนวน 6 ช่องรายการ รวมทั้งช่อง NEWS1 ด้วย บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ผลิตช่องข่าว 24 ชั่วโมง เนชั่น แชแนล ฯลฯ
4. ช่องรายการที่แต่ละเคเบิลทีวีท้องถิ่นจัดหาเอง เป็นช่องรายการที่เคเบิลทีวีท้องถิ่นรับช่องรายการที่ให้ บริการสัญญาณฟรี โดยไม่เสียค่าลิขสิทธิ์ รับสัญญาณช่องรายการผ่านดาวเทียม ซึ่งทำให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นแต่ละแห่งมีช่องรายการที่แตกต่างกันออกไป และสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าของตนเอง เช่น เคเบิลทีวีในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นโรงแรมที่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สิงคโปร์มาพักผ่อนค่อนข้างมาก ก็จะจัดหาช่องรายการจากประเทศมาเลเซีย ที่เป็นภาษามาเลย์ ภาษาจีน ส่วนเคเบิลทีวีท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดหาช่องรายการที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมชาวมุสลิมในพื้นที่ เช่น ช่องรายการภาษามาเลย์ ภาษาอาหรับ ช่องรายการมุสลิม ฯลฯ
 
การวิเคราะห์สภาพการณ์ (SWOT Analysis)
 
การพิจารณาถึงบทบาทของสถานีโทรทัศน์เคเบิลท้องถิ่นนั้น มีการวิเคราะห์ในหลากหลายมิติ แล้วนำมาเรียงต่อกันเป็นจิกซอว์เพื่อให้เห็นภาพรวมที่สะท้อนบทบาทหน้าที่ของเคเบิลทีวีท้องถิ่น สำหรับมิติที่ต่างๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของเคเบิลทีวีท้องถิ่น ประกอบด้วย มิติด้านแรงจูงใจของผู้ประกอบการ มิติด้านการให้บริการช่องรายการ มิติด้านเนื้อหารายการที่ผลิตเอง และมิติช่วงการเกิดภาวะวิกฤต ดังรายละเอียดต่อไปนี้
มิติด้านแรงจูงใจของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่น พบว่า ผู้ประกอบการมององค์กรตนเองเป็นเพียงองค์กรธุรกิจทั่วไปมากที่สุดถึงร้อยละ 19.3 และการเป็นเวทีสาธารณะ เป็นที่พึ่งของคนในท้องถิ่น เป็นศูนย์รวมความบันเทิงที่หลากหลาย เป็นผู้นำความแปลกใหม่ด้านเนื้อหารายการท้องถิ่น และการเป็นผู้นำเสนอกีฬาท้องถิ่น ร้อยละ 11.5 เท่ากัน ขณะที่บทบาทหน้าที่ที่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นพื้นฐานของการเป็นองค์กรสื่อมวลชน กลับมีไม่ถึงร้อยละ 10.0 นั่นคือ การเป็นสถาบันเพื่อสังคม การเป็นผู้ให้ความรู้ การเป็นเฝ้าสอดส่องระวังภัย ซึ่งแรงจูงใจภายในของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นตรงกันข้ามกับการประเมินบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ตามที่ระบุไว้ในรายงานวิจัย เรื่อง สถานภาพและบทบาทหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น (2552) โดยผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประเมินบทบาทหน้าที่ของตนเองว่าเป็นตัวแทน/ทนายชุมชน เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเรื่องราวในท้องถิ่น และเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำในทุกเรื่องมากกว่าบทบาทหน้าที่อื่นๆ
มิติด้านการให้บริการช่องรายการ พบว่า สัดส่วนของเนื้อหารายการจากช่องรายการต่างๆ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการแสดงบทบาทของตนเองต่อสังคมท้องถิ่น ซึ่งพบว่า จำนวนช่องรายการทั้งหมดเป็นช่องรายการที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงมากกว่า ร้อยละ 60 ของช่องรายการทั้งหมด ประกอบด้วย ช่องกีฬามากที่สุด ถึงร้อยละ 22.8 รายการประเภทภาพยนตร์ ร้อยละ 20.3 รายการเพลง ร้อยละ 10.9 มีเพียงร้อยละ 21.8 เท่านั้นที่เป็นรายการประเภทข่าวสาร เหตุการณ์ปัจจุบัน และร้อยละ 10.2 เป็นรายการสารคดี ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของเคเบิลทีวีท้องถิ่นจึงมุ่งแสดงบทบาทการให้ความบันเทิงค่อนข้างชัดเจนกว่าบทบาทหน้าที่อื่นๆ เหตุผลประการสำคัญ คือ ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีมีศักยภาพในการรวมช่องรายการต่างๆ (Content Provider) มาจากหลากหลายแหล่งผู้ผลิต
มิติด้านเนื้อหารายการที่ผลิตเอง พบว่า ช่องรายการที่ผลิตเองไม่ได้เป็นช่องรายการที่ผลิตเองตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีรายการประเภทข่าวสารท้องถิ่น การถ่ายทอดกิจกรรมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในบางโอกาส และรายการลักษณะอื่นๆ สอดแทรกในรายการภาพยนตร์และเพลงที่ผู้ประกอบการจัดหามาเผยแพร่ ซึ่งมีรายการข่าวที่ผลิตเอง ความยาว 30 นาที-1 ชั่วโมงต่อวัน อาจมีการเปิดซ้ำหรือรีรันในช่วงเช้าหรือเย็นแตกต่างกันออกไป
จากการสำรวจรายการที่ผลิตเอง พบว่า มีรายการประเภทข่าวท้องถิ่นและบริการ ร้อยละ 50 ของประเภทรายการทั้งหมด รองลงมา คือ รายการปกิณกะบันเทิง หรือวาไรตี้ ร้อยละ 18.75 อันดับที่สาม คือ รายการเกี่ยวกับผู้หญิง ร้อยละ 12.5 และอันดับสุดท้าย คือ รายการประเภทเพลง ครอบครัว และนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสมาชิกเคเบิลทีวี มีจำนวนเท่ากันคิดเป็นร้อยละ 6.25
ด้านเนื้อหารายการที่ผลิตเอง พบว่า รายการข่าวท้องถิ่นและบริการ ซึ่งเป็นรายการที่เคเบิลทีวีท้องถิ่นเกือบทุกแห่งผลิต มีเนื้อหารายการที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในท้องถิ่น ขณะที่บางแห่งมีการขยายเนื้อหาข่าวออกไปในจังหวัดใกล้เคียงด้วย
ลักษณะของรายการข่าวบางแห่งจะมีการร่วมมือกับสื่อมวลชนท้องถิ่นเพื่อผลิตรายการข่าวประเภทคุยข่าวด้วยภาษาท้องถิ่น และรับเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อน ปัญหาต่างๆ จากประชาชนในพื้นที่ และมีการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของสื่อมวลชนท้องถิ่นกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีที่ช่วยสร้างบทบาทของสื่อด้านการเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เนื้อหารายการลักษณะนี้ แม้ว่าจะสามารถแสดงบทบาทหน้าที่ที่พึงจะเป็นของการเป็นองค์กรสื่อเพื่อตอบสนองความเป็นชุมชนหรือท้องถิ่น แต่ก็มีสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่ เคเบิลทีวีท้องถิ่นบางแห่ง อาจมีรายการข่าวสารท้องถิ่นที่ผลิตเองไม่ต่อเนื่องเพราะขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ
มิติช่วงการเกิดภาวะวิกฤต พบว่า บทบาทหน้าที่หนึ่งที่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นบางแห่งได้แสดงบทบาทของตนเองอย่างชัดเจน คือ การเป็นที่พึ่งของสังคมในยามเกิดวิกฤต โดยเฉพาะการเกิดอุทกภัยที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เคเบิลทีวีท้องถิ่นบางแห่ง มีส่วนในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย บทบาทในการเฝ้าระวังภัยให้แก่สังคมท้องถิ่นนั้น แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
Ø ระยะก่อนภัยมา ที่มีการรายงานข่าวเพื่อเตือนภัยแก่ประชาชน
Ø ระยะเกิดภัยพิบัติ มีการจัดทำเป็นรายการพิเศษสดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับความต้องการของประชาชน มีการลงพื้นที่เพื่อทำข่าวในชุมชนต่างๆ มีการตรวจสอบภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือ ประสานและรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ จากประชาชน จนสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย
Ø ระยะการฟื้นฟู มีหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นของประชาชน แล้วรายงานข่าวเผยแพร่ไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ยังพบว่าการแสดงออกถึงบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ของเคเบิลทีวีท้องถิ่นนั้น ยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก และยังไม่ปรากฏว่าบทบาทหน้าที่ของเคเบิลทีวีท้องถิ่นเกี่ยวกับการไม่เป็นไปตามหน้าที่ (Dysfunction) ที่เป็นผลกระทบด้านลบจากการแสดงบทบาทหน้าที่ขององค์กรสื่อมวลชนอาจเนื่องมาจากอิทธิพลของเคเบิลทีวีท้องถิ่นยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด แตกต่างจากสถานีโทรทัศน์โดยทั่วไป (ฟรีทีวี)
 
การวิเคราะห์สภาพการณ์ (SWOT Analysis)
 
การวิเคราะห์สภาพการณ์ หรือ SWOT Analysis ของเคเบิลทีวีท้องถิ่น เป็นการวิเคราะห์ใน 2 ระดับ คือ ปัจจัยในองค์กร (Internal Factors) และปัจจัยภายนอกองค์กร (External Factors) ซึ่งการวิเคราะห์สภาพการณ์ จะแยกแยะให้เห็นจุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) โอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) ของเคเบิลทีวีท้องถิ่นในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ดังนี้
            S - จุดแข็ง ประกอบด้วย ผู้ประกอบการมีพื้นฐานทางธุรกิจ มีรายได้ที่แน่นอนจากค่าสมาชิก ซึ่งสามารถนำมาวางแผนการประกอบการทางธุรกิจได้ สามารถขยายธุรกิจประเภท (Business Lines) ที่ใกล้เคียงกันได้ สามารถขยายจำนวนสมาชิกในพื้นที่ใกล้เคียงเขตเมืองได้อีก การรู้จักลูกค้าของตนเอง
            W – จุดอ่อน ประกอบด้วย บุคลากรขององค์กรขาดแคลน เช่น การขาดแคลนบุคลากรด้านการผลิตเนื้อหาทั้งข่าวและรายการ บุคลากรขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงานทำให้มีการลาออกบ่อยครั้ง ขาดประสบการณ์ ขาดความเป็นมืออาชีพ ผู้ประกอบการขาดความรู้พื้นฐานทางด้านนิเทศศาสตร์ การบริหารองค์กรขาดหลักการและมีความยืดหยุ่นสูง และรายการท้องถิ่นมีน้อย
            O – โอกาส ประกอบด้วย การมีสื่อมวลชนท้องถิ่นที่สามารถเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันได้ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และราคาถูกลง การมีสถาบันทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ในพื้นที่ ประชาชนมีความกระตือรือร้นที่ต้องการข่าวสารมากขึ้นและแตกต่าง บริษัทบันเทิงหันมาประกอบธุรกิจด้านการผลิตเนื้อหาผ่านเคเบิลทีวีมากขึ้น ซึ่งนักร้อง นักแสดงของบริษัทเหล่านี้ มีลูกค้าที่เกาะเกี่ยวกันแน่นเป็น (แฟนคลับ) ที่ต้องการรับชมผลงานของศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ มีการรวมกันเป็นสมาคมที่เข้มแข็ง หน่วยงานภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญในการเป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น คู่แข่งในธุรกิจลักษณะเดียวกันน้อย สามารถขยายตลาดได้อีก
            T – อุปสรรค ประกอบด้วย การแข่งขันกับธุรกิจดาวเทียม ที่มีมากขึ้น จ่ายถูก จ่ายเพียงครั้งเดียวไม่เสียรายเดือน ธุรกิจเคเบิลระดับชาติมีการรุกด้านการตลาดมากขึ้น ทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมและผูกกับโทรศัพท์มือถือ กฎมายยังขาดความชัดเจนในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ และประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคสื่อมากขึ้น
            จากการวิเคราะห์สภาพการณ์ของเคเบิลทีวีใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จะเห็นว่า มีประเด็นที่สามารถนำไปขยายต่อในเชิงธุรกิจ และแก้จุดบอดของตนเอง เพื่อให้ธุรกิจเคเบิลทีวีในท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการรายใดจะขยับตัวก่อน เพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจของตนเองในการขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น
 
ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา
 
1.    ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการเคเบิลทีวี
Ø ผู้ประกอบการเคเบิลทีวียังมีข้อจำกัดด้านการผลิตเนื้อหาที่ตอบสนองท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เนื้อหาของช่องรายการที่ผลิตเองมีความแตกต่างจากผู้ประกอบการเคเบิลทีวีผ่านดาวเทียม จึงควรประสานความร่วมมือกับผู้สื่อข่าวท้องถิ่น นักจัดรายการวิทยุในจังหวัด ให้มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรด้านข่าวได้
Ø ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นควรมีการสำรวจความต้องการของสมาชิก และผู้ชมรายการจะได้นำมาเป็นข้อมูลการจัดหารายการที่สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก และสร้างสรรค์รายการในช่องที่ผลิตเอง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก
Ø ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีควรมีการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตรายการ การทำข่าวให้แก่บุคลากรของตนเอง เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความสามารถ และเสริมสร้างประสบการณ์ ซึ่งควรร่วมมือกัสถาบันการศึกษา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือเสนอให้สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดการอบรม
Ø ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นควรมีการเพิ่มอัตราบุคลากรทางด้านการผลิตเนื้อหาให้มากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันทางด้านเนื้อหา และการแข่งขันทางธุรกิจกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีผ่านดาวเทียม เพราะการผลิตเนื้อหาที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ถือเป็นจุดแข็งของเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่ยังต้องมีการพัฒนาอีก
  1. ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานสนับสนุน
Ø สถานีโทรทัศน์เคเบิลท้องถิ่นมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้เป็นสื่อเพื่อชุมชนได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่สนับสนุน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัย จะทดลองศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการพัฒนาสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีท้องถิ่นให้เป็นสื่อเพื่อชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นในการพัฒนาต่อไป
Ø สถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีท้องถิ่นที่ขาดแคลนบุคลากรในการผลิตเนื้อหาข่าวและรายการที่ส่งเสริมการปฏิรูปชุมชน สังคม หรือเนื้อหาที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย แต่ผู้ประกอบการสามารถให้เวลาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่หน่วยงาน องค์กรที่ต้องการเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าว ควรมีการจัดทำรายการสำเร็จรูปที่สามารถออกอากาศได้ทันที เพื่อความสะดวกในการเผยแพร่ต่อไป
 
บรรณานุกรม
บรรยงค์ สุวรรณผ่อง, อังธิดา ลิมป์ปัทมปาณี, อติมา จันทร์ดา และคณะ. 2552. สถานภาพและบทบาทหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น. รายงานการวิจัย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
 


[1] นักวิจัย, อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
[2] นักวิจัย, อาจารย์ประจำสาขานวัตกรรมการออกแบบสื่อและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
[3] สถานภาพทางธุรกิจ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย (อ้างอิงแนวคิดของรายงานวิจัย เรื่อง สถานภาพและบทบาทหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น, 2552) ระดับเข้มแข็ง หมายถึง มีรายรับมากกว่ารายจ่ายร้อยละ 20-30 และมีกำไรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระดับยืนหยัด หมายถึง มีรายรับสูงกว่ารายจ่าย ร้อยละ 1-20 และพอเลี้ยงกิจการได้ และระดับพึ่งพิง หมายถึง มีรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย และต้องนำรายได้ส่วนอื่น