Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
(Deep South Watch)

          ผ่านไปแล้วกว่า 5 เดือนหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลซึ่งนำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้คือการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จนบัดนี้สถานการณ์ยังคงรุนแรง ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ได้มีการลอบก่อวินาศกรรมถึง 9 จุดใน จังหวัดยะลา ทำให้มีคำถามถี่ยิบขึ้นถึงบทบาทและความจริงใจของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหมกมุ่นอยู่กับการแก้ไขปัญหาการเมืองส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นกรณีเสื้อแดงเสื้อเหลือง และการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล จนละเลยการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆที่ถูกคาดหวังเอาไว้เยอะ
   
          “ถ้าหลักของเราเนี่ย ต้องเป็นเรื่องหมุนไปที่การพัฒนา เมื่อผมเข้ามาได้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดพิเศษ แล้วทำแผน ตอนนี้แผนเสร็จแล้วก็มาดูตัวงบประมาณซึ่งมีหลายตัวที่ต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ เพราะนโยบายที่พูดไว้เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับในความหลากหลายของวัฒนธรรมมากขึ้น มีเรื่องอะไรบ้าง กำลังไล่ทำอยู่ เช่น เรื่องภาษา” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อทีมข่าว “ดีพเซ้าท์” ถึงภารกิจของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

          “ผมว่าขณะนี้ หน่วยงานของฝ่ายความมั่นคงเขาก็รับทราบ นโยบายที่มีความเป็นเอกภาพ และก็รับประเด็นปัญหาที่ทางฝ่ายการเมืองบอก อย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปละเมิดสิทธิคนหรือไม่ ตอนนี้เขาก็ขานรับเต็มที่นะครับ ขอให้แจ้งข้อมูลมาเท่านั้นเอง ถ้ามีกรณีหรือคิดว่าจำเป็นต้องดำเนินการ เขาก็ให้ความร่วมมือ” เขาบอกถึงความเป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่เกิดความไม่สงบในพื้นที่เป็นต้นมา ซึ่งอภิสิทธิ์ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้น แต่จนบัดนี้กลับยังไม่มีใครเห็นภาพนั้นชัดนัก

          อภิสิทธิ์ยืนยันว่านโยบายของรัฐบาลยังคงเป็นการเมืองนำการทหาร แต่การเมืองที่เขามุ่งเน้นคือคำว่า “พัฒนา” ที่ควรเป็น “ตัวนำ”

          แต่ภาพจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทุกวันนี้คือทหารยังคงทำงานอยู่เต็มพื้นที่และบทบาทด้านการทหารยังคงนำโด่ง ซึ่งอภิสิทธิ์อธิบายว่า 

          “มันก็ยังมีเรื่องบทบาทของ กอ. รมน. กับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งผมกำลังจะปรับอยู่ แต่มันต้องมีเหตุ ต้องมีระบบการประเมินที่ดีที่จะทำตัวนี้ เพราะว่าในการต่ออายุ พ.ร.ก. คราวที่แล้ว ผมก็ให้ประเมิน ผมอยากให้เขาเทียบให้เห็นว่าระหว่างการใช้ พ.ร.ก. และช่วงที่เคยมีการชะลอการบังคับใช้ สมัยท่านสุรยุทธ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตัวเลขมันเป็นอย่างไร ผมต้องการข้อมูลที่ชัดเจนในการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงตรงนี้”

          เมื่อถูกถามอย่างตรงไปตรงมาว่าเพราะต้องเอาใจกองทัพซึ่งมีบทบาทสำคัญในการได้มาซึ่งรัฐบาลชุดนี้ จนทำให้ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาตอบว่า “ผมกลับบมองว่า การที่ผมเข้ามา ของพวกนี้ชัดเจนมากขึ้น อย่างกรณีโรฮิงญา สมัยก่อนผมไม่เคยเห็นใครในฝ่ายการเมืองไปตั้งคำถามนี้เลย แต่ตอนนี้พอเกิดประเด็นทุกประเด็น เราจะคุยกัน ทางราชการเขาก็ให้การตอบรับดี”

          “มันเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงก็ต้องยอมรับว่ามีประชาชนในพื้นที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งก็มีความคาดหวัง หรือมีความอบอุ่นกว่าจากการที่มีกองกำลังดูแลความมั่นคงอยู่ ความรู้สึกตรงนั้นก็แรง เราต้องหาความพอดีคือกองกำลังอยู่ตรงนั้นได้ แต่ไปเน้นด้านการพัฒนามากขึ้น ผมทราบตอนหลังว่ามีโครงการให้ทหารไปทำงานพัฒนามากขึ้น แต่ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ทั้งหมดเพราะบางพื้นที่มีปัญหา แต่เราทำ อย่าไปยึดติดว่าใคร ต้องยึดติดว่าเราทำอะไร”

          เขาอธิบายต่อว่า จริงๆ แล้ว กอ.รมน.ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นการผสมผสานของทุกฝ่ายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนตั้งคำถามก็ตั้งคำถามได้หมดว่าทำไมการแก้ไขการชุมนุมถึงไม่ใช้ตำรวจ แต่ใช้ทหาร ตอนนี้ใครมีกำลังที่ทำได้ภายใต้กติกาก็ต้องให้คนนั้นทำไปก่อน ซึ่งโดยหลักคือต้องให้ตำรวจทำก่อน แต่ตำรวจบอกว่าทำไม่ได้ก็ต้องให้ทหารทำ

          “เหมือนกันตอนนี้สมมติมีผู้รับเหมาทิ้งงานก่อสร้างถนนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมให้เป็นนโยบายไปว่า ต่อไปนี้ไม่ใช่โยกงบออกมาจากพื้นที่ ผมบอกว่าเอาทหารเข้าไปสร้างซะ อย่าไปติดใจว่าเป็นทหาร ประเด็นคือเรากำลังสร้างถนน”

          เมื่อถูกถามถึงเรื่องการพูดคุยเจรจากับกลุ่มขบวนการที่สนับสนุนการสร้างความรุนแรง อภิสิทธิ์ค่อนข้างระมัดระวังที่จะตอบคำถามนี้

          “การพูดคุยทุกระดับทำได้อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเจรจาเพราะถ้าบอกว่าเป็นการเจรจาจะมีความซับซ้อนขึ้นมาทันที โดยเฉพาะเกี่ยวต่างประเทศ แต่ผมยังยืนยันว่ากรณีนี้เป็นเรื่องภายในประเทศ”

         เมื่อถามต่ออีกว่า มีการติดต่อจากฝ่ายตรงข้ามรัฐเข้ามาบ้างหรือไม่ เขาเลี่ยงที่พูดถึง เพียงแต่กล่าวสั้นๆ ว่า “หลายระดับคงพูดคุยกันอยู่ ผมได้ยินมาบ้าง แต่ผมจะไปอยู่ในกระบวนการนี้ไม่ได้อยู่แล้ว”

          สุดท้ายเขายืนยันความตั้งใจว่า ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ เขาจะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก หลังจากเคยมาตรวจเยี่ยมมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้จริงๆ แล้วเรื่องข้อมูลเขามีไม่น้อยอยู่แล้ว แต่อยากไปให้ขวัญและกำลังใจและฟังในสิ่งที่เล็ดรอดไป
   
          นข้อข้องใจเดียวกันเกี่ยวพันธสัญญาที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไว้ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จนถึงบัดนี้กลับยังแทบไม่เห็นสัญญาณในทางที่ดี ซึ่งถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ชี้แจงว่า สิ่งแรกที่ต้องการให้มีคือองค์กรถาวร ซึ่งได้มีการจัดร่างพระราชบัญญัติเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ซึ่งได้พยายามติดตามหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ดังนั้นขณะนี้ เขาจึงต้องทำงานภายใต้องค์กรที่เป็นอยู่ตามกฎหมาย

          “ปัจจุบัน ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่ไม่มีบทบาทอำนาจในตัวของตัวเอง ก็ต้องทำงานประสานกับทุกส่วนราชการ ผมเริ่มต้นด้วยการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ผู้ช่วย ทั้ง 5 จังหวัด ภายใต้ความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็น ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 และส่วนราชการอื่นๆ ทุกอย่างดำเนินการไปเสร็จเรียบร้อย และได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนราชการ นอกจากนี้ผมยังได้เชิญส่วนผู้แทนทุกส่วนราชการจำนวน 62 คน ไปเยี่ยมคำนับ ฯพณฯ มุขมนตรีรัฐกลันตัน ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างมิตรไมตรี”

          ถาวรบอกว่า สิ่งที่เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลนี้เดินมาถูกแนวทางคือ มาเลเซียได้ปิดแคมป์ที่รับคนไทยที่อพยพ 131 คน กับอีก 2 แห่ง นอกจากนี้ตัวเลขของการเกิดเหตุรุนแรงตั้งแต่ 1 มกราคมจนถึง 30 เมษายนของปีนี้ ยังลดน้อยว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนถึง  20 ครั้ง

          “เรามีความเป็นเอกภาพในแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาภาคใต้มากขึ้น” ถาวรชี้แจงถึงเรื่องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหน่วยงานต่างๆเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา แม้น้ำเสียงยังไม่ค่อยหนักแน่นนัก

           “ที่เราพูดกันว่าใช้การเมืองนำการทหาร ด้วยการเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา ผมสร้างความเข้าใจด้วยการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนถี่ยิบ ในบางสัปดาห์ ช่วงเสาร์-อาทิตย์ ถี่ยิบถึง 10 ครั้ง ไม่เว้นแม้กระทั้งกลางคืน นั่นคือการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องประชาชนกับเรา”

          เมื่อถามว่าให้ความสำคัญการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ แต่ทำไมคณะรัฐมนตรีชุดพิเศษหรือ ครม.ใต้ ถึงมีการประชุมไปเพียงครั้งเดียว เขาชี้แจงว่า ครม.ใต้ จะมุ่งเน้นในเรื่องของการจัดทำแผนงานโครงการ อย่างไรก็ตามเขาเองก็เคยเตือนไปแล้วว่าอย่างน้อยควรจัดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อจะติดตามงานให้เห็นเป็นรูปธรรม

          “ถามว่ารัฐมนตรีถาวร เสนเนียม รับผิดชอบอะไร ผมรับผิดชอบ ศอ.บต. ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของ กอ. รมน. และเป็นหน่วยงานเล็กๆ ในหน่วยปฏิบัติการที่ 5 ของ กอ.รมน. ผมเองพยายามใช้ความสามารถและความสัมพันธ์ส่วนตัวในการประสานงาน จริงๆ แล้วเราไม่สามารถสั่งงานผู้ว่าราชการจังหวัดได้แม้แต่คนเดียว ไม่สามารถสั่งการให้นายอำเภอปฏิบัติตามคำสั่งของเราได้แม้แต่คนเดียว เพราะเราไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของ กอ.รมน. จึงไม่สามารถสั่งหน่วยงานในสังกัด กอ.รมน. ได้ ผมใช้ความรู้สึกนึกคิดที่รับผิดชอบต่อบ้านเมื่อของข้าราชการที่มาให้ความร่วมมือกับเรา” เขาพูดด้วยน้ำเสียงที่ฟังเหมือนอัดอั้นตันใจ

          เมื่อถามย้ำว่าสาเหตุที่แท้จริงทำให้พรบ.ฉบับใหม่เชื่องช้า เขาบอกเป็นนัยยะว่า “อาจเกิดจากความยุ่งยากทางการเมืองและความแตกต่างทางความคิด” เมื่อถามต่อไปว่าแล้วจะตอบคำถามคนในจังหวัดชายแดนใต้อย่างไร

          “ที่ตอบไม่ได้ ก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปตอบ ผมก็ใช้ความขยันเป็นคำตอบ ใช้ความเสี่ยงของตัวเราเองไปเป็นคำตอบ ใช้คำตอบในเชิงยุทธศาสตร์ ในเชิงนโยบาย ที่ประกาศไว้ต่อประชาชน ซึ่งเขาคงรับรู้ ว่าเราได้ทำแล้ว ทำเต็มที่แล้ว แต่ว่าการทำงานร่วมกันกับคนหลายๆ คน เมื่อผู้มีอำนาจเหนือกว่าบอกให้รอก่อน มันก็ต้องเป็นเช่นนี้”