Skip to main content

สมัชชา นิลปัทม์
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย



















 แม้กระแสการตอบรับต่อแนวทางการแก้ปัญหาของสังคมไทยต่อปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปี  จะยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนก็ตาม แต่ทว่าในโลกของวิชาการกลับคึกคักและเคลื่อนไหวอย่างยิ่ง การจัดเวิร์คชอป เรื่อง “Violence, Peace Constituencies and Justice in Southern Thailand” โดย East – West Center Washington D.C.  (EWCW) และ Institute of Defence and Strategic Studies (IDSS) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางประเทศสิงค์โปร์ ณ โรงแรม ซีเอส ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 – 31 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา เป็นหลักฐานยืนยันความตื่นตัวตัวทางวิชาการนี้ได้เป็นอย่างดี

 

เพราะเมื่อพิจารณาถึงองค์กรผู้จัดเวทีวิชาการดังกล่าว ต่างแสดงท่าทีในการสนับสนุนให้นักวิชาการเลือกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสนามวิจัย  โดยเมื่อเพ่งมองสถาบันวิชาการจากฝั่งตะวันตก จะพบความกระตือรือร้นของ East – West Center สถาบันการศึกษาด้านวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยฮาวาย เมืองมานัว มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีนักวิชาการไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่านเป็นศิษย์เก่าที่นั่น ได้ขยายสาขาเพิ่มเติมขึ้นอีกแห่งใจกลางเมืองหลวง กรุงวอชิงตัน. ดีซี

 

มีนักวิชาการหลายคนให้ข้อสังเกตว่า การเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่เมืองหลวง ของ EWC คือ การรุกเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อหาทุนนำมาขับเคลื่อนองค์กรและสนับสนุนงานวิจัย นอกจากจากนี้ยังเห็นเจตจำนงค์อันชัดเจน ถึงความสนใจในการศึกษาปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการประชุมวิชาการด้าน ไทยศึกษาซึ่งมีนักวิชาการไทยเข้าร่วมเสนอผลงานหลายท่านเมื่อกลางปี 2548 ที่ผ่านมา รวมถึงความพร้อมในการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องปัญหาภาคใต้แก่นักวิจัยที่มีประเด็นศึกษาน่าสนใจ

 

หันมามองในระดับภูมิภาค เราจะเห็นความเคลื่อนไหวของสถาบันการศึกษาที่ให้ความสนใจต่อปัญหาความมั่นคงในระดับภูมิภาคเสมอมา ก็คือสถาบันการป้องกันประเทศและยุทธศาสตร์ศึกษา” (IDSS) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง และ โครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (S/E Asia Studies) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและมีงานศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง

 

หากย้อนมองไปจะพบว่าประเทศสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านความมั่นคงมาโดยตลอด เนื่องจาก ประเทศสิงคโปร์ มีลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่โดดเด่น การเป็นเมืองท่าที่สำคัญของภูมิภาคและมีบทบาทในทางเศรษฐกิจสูง โดยในระยะหลังๆ เริ่มมีความวิตกต่อการก่อการร้ายสากล ซึ่งประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ถูกล้อมด้วยประเทศเพื่อนบ้านที่มีการกระทบกระทั่งทางการเมืองอยู่บ่อยครั้งเช่น มาเลเซีย ความเกี่ยวพันกับการก่อร้ายของอินโดนีเซีย การเรียกร้องเอกราชในจังหวัดอาเจะห์ จึงทำให้รัฐบาลสิงคโปร์มีความระมัดระวังเกี่ยวกับนโยบายการก่อการร้ายมากเป็นพิเศษ ทั้งด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศและการใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน

 

ความคึกคักดังกล่าวยังไม่รวมนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากทั่วโลกที่ต่างเดินทางทางมา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเลือกเป็นสนามศึกษา ด้วยเหตุผลนี้เช่นนี้ เราจึงพบนักวิชาการและนักวิจัย ต่างประเทศ เดินสวนกันไปมาแทบจะชนกัน พื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ในขณะนี้จึงเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ที่นักวิชาการทั้งไทยและเทศ หวังเข้ามาสร้างความโดดเด่นในผลงาน

 

การเวิร์คชอป “Violence, Peace Constituencies and Justice in Southern Thailand” ได้ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของประเด็นที่ศึกษาในพื้นที่ภายหลังจากเกิดเหตุรุนแรงในช่วง  2 ปีที่ผ่านมา ไล่เรียงไปตั้งแต่  “ยุทธวิธีที่เปลี่ยนไปของการก่อการร้ายโดย แอนโทนี่ เดวิส แห่ง Jane’s Intelligence, “รากเหง้าปัญหาของความขัดแย้งโดย Francesca Lawe – Davies แห่ง International Crisis Group, “การเมืองของความขัดแย้งโดย Duncan McCargo แห่ง มหาวิทยาลัยลีด ประเทศอังกฤษ,

 

 “ความรุนแรงที่ยังดำเนินอยู่ ในมิติทางประวัติศาสตร์โดย Michael Montesano จาก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, “The Fear Factor in the Conflict” โดย Muhammad Arafat จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, “Role of Foreign  Actor” โดย Michael Vatikiotis แห่ง ศูนย์อังรี ดูนังต์, “ทัศนะของพระสงฆ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้โดย Michael Jerryson แห่ง มหาวิทยาลัยแคลิฟฟอร์เนีย ซานตาบาบารา

 

ความน่าสนใจของเหล่านักวิชาการต่างชาติที่ร่วมนำเสนอในงานวิชาการในเวทีนี้ก็คือ หลายคนต่างถูกเคี่ยวกรำในงานวิจัยภาคสนาม ด้วยการลงพื้นที่ในประเทศไทยอย่างยาวนาน จึงไม่แปลกที่จะพบว่าหลายคนสามารถพูดภาษาไทยและภาษามลายูได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น Michael J. Montesano ที่คลุกคลีกับกับการศึกษากลุ่มชาวจีนในจังหวัดฝั่งอันดามัน และนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ อย่าง May Mullins ที่ทำการศึกษากลุ่มคนไทยพุทธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักวิชาการหนุ่มอย่าง Muhammad Arafat ที่ศึกษาปัจจัยของความกลัว ด้วยการฝังตัวในสนามวิจัยทั้งในสงขลาและ 3 จังหวัด ไม่เว้นแม้แต่นักวิชาการตะวันตก อย่าง Duncan McCargo ที่ลงพื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้อย่างกว้างขวางและมีงานวิชาการให้กล่าวถึงเสมอ

 

นอกจากนี้จะเห็นหลักไมล์ทางวิชาการทางการศึกษาปัญหาภาคใต้ ผ่านการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อตัวงาน ในมุมมองจากฝั่งนักวิชาการไทยได้แก่สำรวจความรุนแรงโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมณ์ศรี แห่ง คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี, “การปกครองท้องถิ่นโดย ดร.ฉันทนา หวันแก้ว แห่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “โครงการชุมชนพื้นบ้านโดย ดร.สุกรี หะยีสาแม แห่ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอ.ปัตตานี และ ผลกระทบจากความรุนแรงต่อผู้หญิงโดย .อัมพร หมาดเด็น  แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แน่นอนว่าต่อไปในอนาคตงานศึกษาเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการอ้างอิงอย่างกว้างในแวดวงวิชาการ

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นศึกษาที่นำเสนอในการเวิร์คชอปครั้งนี้ แทบจะเป็นเพียงความรู้อันน้อยนิดแค่หยิบมือเดียว เมื่อเทียบกับแง่มุมการศึกษาที่มีหลากหลายราวกับใบไม้ทั้งป่า ที่รอการเข้ามาศึกษาและค้นพบ ซึ่ง ดร.โจเซพ เลียว นักวิชาการจาก Institute of Defence and Strategic Studies (IDSS) ได้ให้ข้อคิดว่า ประเด็นที่จะศึกษานำพื้นที่ศึกษายังคงมีอีกมาก ซึ่งเท่าที่ตนมองเห็นในขณะนี้ก็คือ ประเด็นศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิง, พระและศาสนาพุทธในพื้นที่ เรื่องของชนกลุ่มน้อยในสังคม, ประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ที่แตกต่างกันของคนในพื้นที่และผลกระทบแนวคิดแบบอิสลามสุดขั้วต่อสังคมในพื้นที่

 

ด้าน ดร.อิตี อับราฮัม นักวิชาการจาก East – West Center กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากการเวิร์คชอบครั้งนี้ก็คือ ทำให้ได้รับรู้ว่ารากเหง้าของปัญหามาจากอะไร, ความคิดเห็นของประชาชนซึ่งมีความหลากหลายเป็นอย่างไรบ้าง, ธรรมชาติของปัญหาคืออะไร, โลกาภิวัฒน์ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและแนวคิดอิสลามอย่างไรบ้าง, ปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีต่อการดำรงอยู่และความรู้ของคนในสังคม และสิ่งที่ต้องศึกษาอย่างเร่งด่วนก็คือ จะต้องนำความรู้มาหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

 

ผมว่ามีประเด็นเยอะมาที่น่าศึกษาต่อ ไม่ว่าจะเรื่องนัยสำคัญของความเป็นเมืองชายแดนที่มีการเคลื่อนย้ายของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน, ผลกระทบของทหาร ตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่ รวมธุรกิจมืดและผิดกฎหมาย ซึ่งเราควรศึกษาให้มากที่สุดและไม่ควรปักใจว่าปัญหาใดเป็นปัญหาหลักตัวอย่างเช่น เรื่องการเปลี่ยนยุทธวิธีของผู้ก่อการร้ายว่า แม้ในงานวิจัยจะระบุปัญหาที่ชัดเจนแต่รัฐไทยก็ยังไม่สามารถนำไปแก้ปัญหาได้นักวิชาการจาก East – West Center ให้ความเห็น

 

นอกจากนี้ในเวทีวิชาการยังเสนอว่า ยังอีกหลายประเด็นที่จะต้องทำการศึกษา คือ บทบาทของสื่อในการประกอบสร้างความจริง  การรายงานข่าวหรือการสะท้อนภาพของความรุนแรงในพื้นที่ ,ภาพของชาวพุทธและมุสลิมที่ปรากฏในสื่อถูกนำเสนออย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม แม้ความรู้จะเป็นอำนาจจนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “Deep South Fever” ในแวดวงวิชาการมาใช้ในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งที่นักวิชาการพึงตระหนักในการทำวิจัย ดังที่ ดร.มารค ตามไท จากมหาวิทยาลัยพายัพ ได้ให้ข้อคิดไว้ในช่วงท้ายๆ ของเวทีวิชาการก็คือ

 

หากจะนำความรู้นั้นไปใช้เพื่อแก้ปัญหาให้ประสบความสำเร็จ เราต้องแยกให้ได้ว่า อันไหนเป็นความรู้ในโลกของวิชาการ อันไหนเป็นความรู้ที่ใช้ในโลกของความจริง

 

จึงเป็นข้อคิดเห็นที่นักวิชาการควรน่าทบทวนอย่างเอาจริงเอาจัง มิใช่เพื่อนำความรู้เพื่อเอา กล่องและสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพของตัวเองเท่านั้น.