Skip to main content
 “หลักเจตนารมณ์” แห่งกฏหมายอิสลาม และการแสวงหาฉันทมติที่ทับซ้อน
A Call for Maqasid al-Shariah and A Search for Overlapping Consensus
 
อันวาร์ กอมะ
 
            ในขณะที่ความตึงเครียดเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีที่ท่าว่าจะหยุดชะงักในเร็ววัน การทำงานของกลุ่มตัวแทนของรัฐไทยที่นำโดย สมช. ก็ต้องดำเนินต่อไปด้วยกับความสงสัย คำถามใหม่ๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน รัฐไทยอาจจะตั้งคำถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอบสนองข้อเสนอฯ มากน้อยเพียงใด ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของทางตัวแทนไทยคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ (ต่อเป้าหมายอ่อนแอ, Soft Target) เป็นสำคัญ[1] และเป็นวาทกรรมทางวิชาการที่ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันต์ และอาจารย์ท่านอื่นๆ พยายามนำเสนอและผลัดดันเพื่อแก้ใขปัญหาชายแดนภาคใต้ตลอดมา[2]
 
            ความรุนแรงอาจจะเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ต้องการการแก้ใขอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างเร่งด่วน เพราะสามารถวัดและประเมินผลได้ง่ายด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ และเป็นการกำหนดจุดเริ่มต้นที่ดีและชัดเจนในการทำวิจัย การวิเคราะห์และศึกษาความขัดแย้งฯ ด้วยการกำหนดความรุนแรงเป็นปัญหาสำคัญจึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดประการหนึ่งทางวิชาการ
 
แต่โดยลึกๆ ความรุนแรงคือประเด็นหลักของการถกเถียงของปัญหานี้หรือ? สถานการณ์ที่สร้างความเสียหายทั้งชีิวิตและทรัพย์สินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลากว่าเก้าปีจะจบลงได้ด้วยการลดความรุนแรงหรือ? ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือปัญหาความรุนแรงเป็นสำคัญกระนั้นหรือ? การต่อสู้ของนักสู้ปาตานีถูกลดคุณค่าลงมาเหลือแค่การสร้างความรุนแรงแค่นั้นหรือ? ความรุนแรงเป็นวิธีการหรือว่าเป้าหมายของการต่อสู้/การสร้างความไม่สงบกันแน่?
 
หากเรามองว่าความรุนแรงคือเป้าหมาย การลดความรุนแรงอาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับการแก้ใขปัญหาฯ แต่หากความรุนแรงเป็นแค่การแสดงออกในการส่งสัญญานหรือวิธีการเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย (เช่นแก้แค้น, ความยุติธรรม, ท้าทายอำนาจรัฐ, หรืออธิปไตย) การมุ่งเป้าไปที่การลดความรุนแรงเป็นสำคัญคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดในระยะยาว[3] เพราะวิธีการนั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมายเป็นสำคัญ
 
เมื่อใดที่เป้าหมายเปลี่ยนวิธีการอาจจะเปลี่ยนไปด้วย ความรุนแรงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเป้าหมายบางข้อจำเป็นต้องได้รับการเติมเต็ม ดังนั้นหากความรุนแรงไม่ใช่เป้าหมาย มันจึงเป็นแค่วิธีการหนึ่งในการบรรลุจุดประสงค์เท่านั้น นั้นหมายความว่าความรุนแรงนั้นเปลี่ยนแปลงตาม (สถานะของ) เป้าหมายของมัน ในทางตรงกันข้ามเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลงตาม (ระดับ) ความรุนแรง หากนี่คือสมมุติฐานในการหาทางออกเชิงปทัสถาน การมุ่งเน้นไปที่ความสัมพัทธ์ระหว่างวิธีการและเป้าหมายจึงน่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ใขปัญหาที่ยั่งยืน
 
            อาจารย์บางท่านให้ทัศนะว่าความกลัวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรงและภาวะวิกฤตความชอบธรรมหรือ (ในทางตรงกันข้าม) การหาทางออกด้วยการพูดคุย (สันติวิธี) แต่ อ.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง มีความเห็นว่าเมื่อคนเรามีภาวะเหตุผลมากขึ้นความกลัวก็จะหายไป เพราะความกลัวไม่มีอยู่จริง มันถูกสร้างขึ้นมาชั่วขณะจากภาวะการขาดความมีเหตุผล เมื่อใดที่ความมีเหตุผลครอบคลุม ความกลัว (ความมืด) ก็มลายหายไปเอง ดังนั้น ความรุนแรงจะลดลงได้ก็ต่อเมื่อความมีเหตุผลประจักษ์ขึ้นในระดับปัจเจก องค์กร และสังคม และในเมื่อคนมีเหตุผลกันมากขึ้น ปัญหาก็จะชัดเจนขึ้นและแก้ง่ายขึ้นตามไปด้วย แต่เราจะศึกษาและวัดระดับของความกลัวและความมีเหตุผลกันด้วยวิธีเชิงประจักษ์อย่างไร หากทั้งสองปัจจัยเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยยะสำคัญ หรือมันอาจจะเป็นแค่การตั้งสมมุติฐานเชิงปทัสทานเท่านั้น[4]
 
            อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการถกเถียงประเด็นข้างต้นจะลงเอยอย่างไร การเปิดพื้นที่ทางสังคมสำหรับทุกภาคส่วนเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่าขึ้นทุกวัน นี่อาจจะเป็นหนึ่งในความสำเร็จของผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน (เช่น ศอ.บต, Deep South Watch, PERMAS, และนักวิชาการ) ที่ได้ริเริ่มกระบวนการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง[5] การเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ก็ยังมีมิติที่สำคัญอีกมิติหนึ่งยังไม่ปรากฏเด่นชัดนักนั่นคือ การถกเถียงประเด็น “การอยู่ร่วมกัน” ภายใต้ระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ (สำหรับมุสลิม) โดยมี “หลักเจตนารมณ์” ของกฏหมายอิสลามเป็นหลักการชี้นำ (guiding principles)[6] จาก “บรรดานักวิชาการอิสลาม” (อุละมาฮ์) ที่ช่ำชองในประเด็นกฏหมายอิสลาม (Maqasid al-Shariah) ความคิดอิสลาม ปรัชญาอิสลาม สังคมอิสลาม อารยธรรมอิสลาม รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อิสลาม เพื่อค้นหาฉันทมติที่ซ้อนทับกันของคนในสังคมและในสาขาวิชาต่างๆ (Search for overlapping consensus) และสร้างความเข้าใจกันภายใต้ฉันทมตินั้น[7]
 
อีกนัยหนึ่งคือการสร้างกระบวนการทางวิชาการในการแสวงหา “เป้าหมายร่วมกัน” ระหว่างรัฐและกลุ่มที่เห็นต่าง (ประชาชน, พลเมือง) เพื่อบริบทใหม่แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ[8]  การริเริ่มกระบวนการนี้จำเป็นต้องมาจากการร่วมมือกันของนักวิชาการอิสลามและสาขาอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันเพื่อหาคำตอบเชิงปทัสถานและสร้างกรอบหรือหนทางในการบรรลุถึงการค้นพบ “คุณค่า” ของกลุ่มคนที่มีความคิด อุดมการณ์ ปรัชญา โลกทัศน์และแหล่งอ้างอิงความรู้ไม่เหมือนกัน[9]  ต้องตอบคำถามและให้ความหมายใหม่ของการเป็นพลเมืองไทยและมุสลิมในเวลาเดียวกัน (Citizenship) ในบริบทของการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความลงตัวของกฏหมายอิสลาม (ชะรีอะฮ์) ในบริบทแห่งยุคสมัยใหม่ ระหว่างรัฐธรรมนูญไทยและธรรมนูญอิสลาม (ชะรีอะฮ์) และสิทธิหน้าที่ของการเป็นพลเมืองไทยภายใต้ธรรมนูญอิสลามหรือการเป็นมุสลิมภายใต้รัฐธรรมนูญไทย
 
สิ่งเหล่านี้ล้วนรอเวลาในการสร้าง “ปรากฎการณ์ตื่นรู้” (enlightenment phenomenon)ให้กับสังคมมุสลิมไทยในบริบทใหม่ในการสร้างความหมายใหม่ของคำว่า “เรา”[10]  ที่ีมีศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม โอกาสและมีอิสรภาพเหมือนกันภายใต้ระบอบประชาธิปใตยแบบไทยๆ ดังนั้น การถกเถียงในประเด็นเหล่านี้จากนักวิชาการอิสลามชั้นนำอย่างเช่น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกิยา ดร.อิสมาแอ อาลี ดร. ยูซุฟ อิมติยาส ดร.วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมัน ดร.จรัญ มะลูลีม ดร. อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข ดร.อนัส อมาตยกุล ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง ดร.วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ อุสตาสอิสมาแอล สปันยัง อ.อับดุลสุโก ดินอะ เชครีฏอ อะหมัด สมะดี อ.อับดุลมายิด อุปมา รวมถึงจุฬาราชมนตรีอาศิส พิทักษ์คุมพลและท่านอื่นๆ[11]  น่าจะเป็นความหวังสำหรับมุสลิมไทยยุคใหม่ในการหาคำตอบเกี่ยวกับความหมายใหม่ของความเป็น “เรา” และแสวงหาฉันทมติที่ซ้อนทับกันระหว่างคุณค่าต่างๆ ในบริบทใหม่ ผลลัพท์จากกระบวนการนี้ควรเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายรัฐที่มีเอกภาพและสะท้อนถึงคุณค่าความเป็นคนไทย (new WE) ทุกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่คือบทบาทที่ยังขาดหาย (หรือยังไม่มีพลังพอ) ไปในสังคมของเราแห่งยุคศตวรรษที่ 21
 
            หากกล่าวสั้นๆ บทความชิ้นนี้เรียกร้องไปสู่การแสวงหาฉันทมติที่ทับซ้อนกัน การเข้าใจบริบทใหม่ (new WE and new reality) ภายใต้ความเข้าใจ “หลักเจตนารมณ์” แห่งกฏหมายอิสลาม[12] สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดเด่นของข้อเรียกร้องนี้คือ การตระหนักถึงความเป็นสากลของ “หลักเจตนารมณ์” ที่อยู่เหนือความแตกต่างทางความเชื่อ อุดมการณ์ โลกทัศน์และแหล่งที่มาของความรู้ ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาใด หรือพูดภาษาอะไร เราล้วนดำรงอยู่ภายใต้กฏธรรมชาติและคุณธรรมสากลเดียวกันที่ไม่สามารถปฎิเสธ (ซุนนะตุล อีลาฮียาฮ์/ซุนนะตุลลอฮ์/ซุนนะตุลลอฮ์ เกานียะฮ์)ได้เช่น กฎการหมุนของจักรวาล กฎการหมุนเวียนของเลือด กฏการเกิดและตาย กฏแห่งความเชื่อมถึง (Law of connectivity)[13]  หรือคุณค่าแห่งความดี คุณค่าแห่งความรัก คุณค่าแห่งความสงบสุข คุณค่าแห่งความยุติธรรม คุณค่าแห่งสันติภาพ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าเป็นคุณค่าหรือมรดกตกทอดมากจากศาสนาหรือหลักปรัชญาของตนเท่านั้น นี่คือคุณค่าที่ไม่เพียงแต่เราทุกคนยึดถือ แต่ทุกกฏหมายที่มุ่งสู่ความเป็นธรรมและการจรรโลงทุกสังคมดำรงไว้เช่นกัน และหากเรามองไปที่สังคมมุสลิมยุโรป เราคงไม่ไปแปลกใจว่าทำใมนักวิชาการอิสลามในยุโรปจึงนำประเด็น “หลักเจตนารมณ์” เป็นข้อถกเถียงหลักในวงวิชาการโลกตะวันตกหรือสังคมชนกลุ่มน้อยมุสลิม หากไม่เพราะความเป็นสากลและความเป็นพลวัตของสิ่งที่เรียกว่า “ชะรีอะฮ์”[14]  นักปราชญ์เลื่องชื่อท่านหนึ่งนามว่า อิบนูกอยยิม ได้อธิบายไว้อย่างรวบรัดว่า
 
“กฎหมายอิสลาม (อัชชะรีอะฮ์) คือทุกอย่างที่เกี่ยวกับวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) และการบรรลุถึงความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า คือทุกอย่างที่เกี่ยวกับความยุติธรรม ความเมตตา วิทยปัญญา และความดี ดังนั้น กฎข้อบังคับใดๆ ก็แล้วแต่ที่เข้ามาเปลี่ยนความยุติธรรมด้วยกับความอธรรม ความเมตตาด้วยกับสิ่งที่ตรงข้ามกับความเมตตา ผลประโยชน์สาธารณะด้วยกับการก่อความเสียหาย หรือวิทยปัญญาด้วยกับความไม่มีเหตุผล คือข้อกฏหมายที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมายอิสลามถึงแม้ว่าจะถูกอ้างตามการอรรถาธิบายของผู้ใดก็ตาม” [15]
 
            ดังนั้น การดำรงอยู่ร่วมกันภายใต้การเข้าใจ “หลักเจตนารมณ์” แห่งกฏหมายอิสลาม (Maqasid al-Shariah) น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญและน่าถกเถียงในวงวิชาการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง[16] เนื่องจากแนวทางหลักเจตนารมณ์ฯ ให้ความสำคัญไปสู่การถกเถียงทางด้านปรัชญา คุณธรรมจริยธรรม การแสวงหาฉันทมติร่วมกัน และยอมรับในความหลากหลายของคุณค่าที่มีที่มาต่างกัน อันถือเป็นพื้นฐานของกฎหมายและหลักปฎิบัติในสังคมของทุกสังคม[17] 
 
นอกจากนั้น มุมมองเชิงหลักเจตนารมณ์ยังยึดการวิเคราะห์แบบองค์ประกอบรวม (holistic)[18]  และให้ความสำคัญถึงถึงตระหนักถึงเป้าหมายร่วมกันอันมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นบรรทัดฐานหลักซึ่งเป้าหมายร่วมนี้อาจจะสร้างขึ้นมาใหม่ในบริบทที่แตกต่างกันโดยไม่ขัดกับหลักการส่งเสริมความดีและห้ามปรามความชั่ว (มะศอลิฮ์)[19] นักปราชญ์อิสลามมักจะกล่าวถึงหลักเจตนารมณ์ฯ (Maqasid) ในฐานะกรอบ (normative framework) สะท้อนความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้คนอีกด้วย[20]  ดังนั้นทฤษฏีหลักเจตนารมณ์ฯ (Maqasid) น่าจะเป็นประเด็นหลักในการสร้างฐานการอยู่ร่วมกันให้กับรัฐไทยและฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรมในสภาวะการณ์ที่กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ความเป็นจริงในบริบทใหม่ แต่การนำประเด็นนี้ขึ้นมาอยู่บนดินเป็นเรื่องที่ท้าท้ายไม่น้อยสำหรับนักวิชาการชาวไทยทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่หวังเห็นการฟื้นฟูทางด้านความคิดอย่างเป็นรูปธรรม
 
 
คำขอบคุณ
ขอขอบคุณ ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อฉบับร่างของบทความชิ้นนี้ คุณรอมฎอน ปันจอร์ สำหรับการตรวจทานและแก้ใขบทความฉบับร่าง การเปิดโอกาสและพื้นที่ทางความคิด และกัลยาณมิตรทุกท่านที่ช่วยอ่านและแนะนำ
 




[1] ฮัสซัน โตะดง, ‘“ขอให้อดทนรับฟังพวกเรา” ข้อเสนอจาก BRN ในวงถกสันติภาพชายแดนใต้ | DeepSouthWatch’, 2013 http://www.deepsouthwatch.org/dsj/4103> [accessed 6 April 2013].; Deep South Journalism, ‘Hard Target พื้นที่ขัดแย้ง ถูกโจมตีพุ่งสูงที่สุดในรอบเดือนสันติภาพ’, 2013 http://www.deepsouthwatch.org/dsj/4115> [accessed 6 April 2013].
[2] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ‘สันติสนทนาในบริบทของความรุนแรงที่ภาคใต้ | DeepSouthWatch’, trans. by รอมฎอน ปันจอร์, 2013 http://www.deepsouthwatch.org/node/3107> [accessed 5 April 2013].
[3] การลดความรุนแรงอาจจะเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการแก้ใขปัญหาความขัดแย้งโดยการใช้อาวุธในระยะแรก ไม่ได้หมายความว่าไม่มีนัยยะสำคัญแต่พยายามวางในกรอบเชิงวิชาการและการศึกษาเชิงประจักษ์ และตามทัศนะของ Johan Galtung  การลดความรุนแรงหรือภาวะไร้สงคราม (absence of war) ถือเป็น “สันติภาพเชิงลบ” (negative peace) หากแต่ความร่วมมือกันหรือการแลกเปลี่ยนการสื่อสาร/บริการ ภายใต้ความเข้าใจในคุณค่าของกันและกันจะนำไปสู่สันติภาพเชิงบวก (positive peace) ดู J. Galtung, “Introduction: Peace by Peaceful Conflict Transformation – the TRANSCEND Approach,” in Handbook of Peace and Conflict Studies, ed. Johan Galtung and Charles Webel, 1st ed. (Routledge, 2007).
[4] มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง, ‘ปฏิรูป บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional: BRN) | DeepSouthWatch’ http://www.deepsouthwatch.org/node/4076> [accessed 5 April 2013].; บัณฑิต ไกรวิจิตร, ‘บทสะท้อนต่อ “ปฏิรูปบีอาร์เอ็น” | DeepSouthWatch’ [accessed 5 April 2013].;มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง, ‘บทสะท้อนของความกลัว | DeepSouthWatch’, 2013 http://www.deepsouthwatch.org/node/4113> [accessed 5 April 2013].
[5] เช่น อิสมาอีล บิน มูฮำหมัด ฮายีแวจิ, ‘เครือข่ายประชาชนปาตานี สนับสนุนการเจรจา แต่ต้องสากล ยื่นหนังสือแก่รัฐไทยและมาเลย์ ทบทวนบทบาท | DeepSouthWatch’, 2013 http://www.deepsouthwatch.org/node/4086> [accessed 5 April 2013].; 1. จามาล อับดุลเราะห์มาน กีไร, “การปฏิวัติประชาชนปาตานี (Patanian Power Revolution) ต้องเกิดขึ้นได้แล้ว เพื่อให้พวกเขาได้เลือกทางเดินเอง | DeepSouthWatch,” 2013, http://www.deepsouthwatch.org/node/4105.
[6] หลักเจตนารมณ์แห่งกฏหมายอิสลาม ในภาษาอาหรับคือ มะกอศิด อัชชะรีอะฮ์ (مقاصد الشريعة) ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Purposes of Islamic Law, (Higher) Objectives of Islamic Law, Spirit of Islam เป็นต้น ในบทความนี้ใช้คำว่า หลักเจตนารมณ์ฯ หรือ หลักเจตนารมณ์ เป็นคำย่อ
[7] ความตระหนักในลักษณะเดียวกัน ดู ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, ‘ตำแหน่งแห่งที่ของมานุษยวิทยาในสามจังหวัดภาคใต้? | DeepSouthWatch’ http://www.deepsouthwatch.org/node/4102> [accessed 5 April 2013].
[8] John Rawls, A Theory of Justice: Original Edition (Belknap Press of Harvard University Press, 2005).;Andrew March, Liberal Citizenship and the Search for Overlapping Consensus: The Case of Muslim Minorities (Rochester, NY: Social Science Research Network, 22 July 2008) http://papers.ssrn.com/abstract=1168682> [accessed 5 April 2013].
[9] John Rawls is of the view that “the point of the idea of an overlapping consensus on a political conception is to …[search for], despite a diversity of doctrines, convergence on a political conception of justice may be achieved and social unity sustained in long-run equilibrium, that is, over time from one generation to the next” (5). John Rawls, ‘The Idea of An Overlapping Consensus’, Oxford Journal of Legal Studies, 7 (1987), 1–25 . การแสวงหาฉันทมติในอีกระดับ/ลักษณะหนึ่งคือการนำเสนอทางเลือกในอนาคตที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกัน ดูได้จาก นภาพร แจ่มทับทิม, “บทสัมภาษณ์: ก่อนถึง ‘เจรจาสันติภาพ’ เส้นทาง ‘สันติสนทนา’ ยังยาวไกลในมุมคิด ‘รอมฎอน ปันจอร์’ | DeepSouthWatch,” 2013, http://www.deepsouthwatch.org/node/4101.
[10] Tariq Ramadan, ‘Manifesto for a New “WE”’, 2006 [accessed 5 April 2013].
[11] ดร.อิมติยาซ ยูซุฟให้ทัศนะว่าบทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของจุฬาราชมนตรีคือการสร้างความเข้าใจ (กับรัฐและประชาชน) เกี่ยวกับการเป็นพลเมืองไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและระบบการเมืองการปกครองแบบรัฐชาติไทยสมัยใหม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมาจุฬาฯ ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยเฉพาะในกรณีความขัดแย้ง (ความรุนแรง) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดู Imtiyaz Yusuf, ‘The Role of the Chularajmontri (Shaykh al-Islam) in Resolving Ethno-religious Conflict in Southern Thailand’, The American Journal of Islamic Social Sciences, 27, 1 (2010), pp. 31-53.
[12] ผู้เขียนขอย้ำว่า การเข้าใจ “หลักเจตนารมณ์” เป็นสำคัญ นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญไปสู่ระบบแห่งคุณค่า (values system) ไม่น้อยไปกว่าการมองถึงข้อกฎหมาย (set of rulings) แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความสำคัญกับข้อกฏหมายหรือหูก่มเลย
[13] เช่น จิตวิญญานของเรามีความรู้สึกถึงกันแม้จะไม่ได้เจอกันก็ตาม เราสามารถรู้สึกถึงกันได้ไม่ว่าเราจะอยุ่ใกล้หรือไกล หรือนับถือศาสนาหรือความเชื่ออะไรก็ตาม
[14] ชะรีอะฮ์ อีกนัยหนึ่งมีความหมายว่า “หนทางที่นำไปสู่ความยุติธรรม (แหล่งน้ำ, แหล่งที่มา)” การใช้คำว่า “กฏหมายอิสลาม” เป็นการแปลความหมายแบบกว้างๆ ของคำว่าชะรีอะฮ์ ดู Tariq Ramadan, To Be a European Muslim (Islamic Foundation, 1999).
[15] Shamsuddin Ibn al-Qayyim, Ilam Al-Muwaqieen, ed. Taha Abdul Rauf Saad (Beirut: Dar Al-Jeel, 1973) vol.1, p. 333.; ญาซิร เอาดาฮ์, ‘หลักเจตนารมณ์แห่งกฏหมายอิสลาม: คู่มือเบื้องต้นศึกษา’, trans by นัศรุลลอฮ์ หมัดตะพงศ์และอันวาร์ กอมะ (2013, มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา).
[16] นอกจากนั้นประเด็นการนำ “หลักเจตนารมณ์ฯ” มาเป็นหลักการสำคัญด้านการนโยบายของพรรคการเมืองในโลกมุสลิมเริ่มเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น ดู Halim Rane, ‘EMERGING TRENDS IN ISLAMIST POLITICAL THOUGHT Implications for Islam-West Relations’ http://apsa2010.com.au/full-papers/pdf/APSA2010_0053.pdf> [accessed 24 February 2013]; Robert Crane, ‘Strategy of Harmony and Justice’ http://www.peacefromharmony.org/?cat=en_c&key=516> [accessed 30 December 2012].
[17] John Rawls, ‘The Idea Of An Overlapping Consensus’, Oxford Journal of Legal Studies, 7 (1987), 1–25 .
[18] J. Auda, Maqasid Al-Shariah as Philosophy of Islamic Law: A Systems Approach (IIIT, 2007)
[19] ญาซิร เอาดาฮ์, ‘หลักเจตนารมณ์แห่งกฏหมายอิสลาม: คู่มือเบื้องต้นศึกษา’, trans by นัศรุลลอฮ์ หมัดตะพงศ์และอันวาร์ กอมะ (2013, มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา)
[20] Tariq Ramadan, Radical Reform: Islamic Ethics and Liberation (Oxford: Oxford University Press, 2009).