Skip to main content
กษมา  จิตร์ภิรมย์ศรี
ผู้ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

บทนำ

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ได้จัด ”การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในจังหวัดชายแดนใต้ รุ่นที่ 6” ที่ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท จังหวัดปัตตานีในวันที่ 9 - 13 มิถุนายน 2556 เพื่อการสร้างความเข้าใจของ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านใน3จังหวัดชายแดนใต้ กับ กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมกับเตรียมความพร้อมของกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะเป็นตัวแสดงที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพในพื้นที่

บทความฉบับนี้จะกล่าวถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะวิทยากรจากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ดำเนินการอบรมในหัวข้อ “กระบวนการแก้ไขปัญหาในทางสันติวิธี” ในวันที่ 12 มิถุนายน 2556 โดยแบ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็น 2 ช่วง  ช่วงแรก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จะเป็นการบรรยายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้  ซึ่ง ผศ.ดร. ศรีสมภพได้นำเสนอเรื่องสถิติความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่กลุ่มบุคคลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมกันการวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเป็นไปในอนาคต และวิเคราะห์ความแตกต่างของเหตุการณ์ในช่วงก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ (คลิกอ่านบทวิเคราะห์สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้หลังจากที่ผศ.ดร.ศรีสมภพได้ให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์ในเบื้องต้นแล้ว จะเข่าสู่ช่วงการอบรมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นของผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 5 มาจากอำเภอ ยี่งอ, บาเจาะ, เจาะไอร้อง, ปะนาเระ, แม่ลาน, มายอ และอำเภอเมืองยะลา (หน้าถ้ำ, บันนังสาเรง, และ เปาะเส้ง) โดยจะแสดงความคิดเห็นในรูปแบบคำถามเชิงทัศนคติที่ถามถึง ความคาดหวัง, ความกังวล และบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้

บทความฉบับนี้จะแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อย่อย โดยจะมีบทนำ, บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในกระบวนการสันติภาพ, บทสะท้อนความคิดเห็นจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 6, ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในระหว่างอบรมปฏิบัติการ และ บทสรุปของบทความ ซึ่งจะแสดงถึงบทบาทกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในสถานการณ์ขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแสดงที่บทบาทสำคัญใน Track ที่ 3 รวมไปถึงบทบาทในการเชื่อมต่อกับ Track ที่ 1 และ Track ที่ 2 ในกระบวนสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ที่เริ่มการพูดคุยสันติภาพไปแล้วในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 และครั้งที่ 3 วันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในกระบวนการสันติภาพ

การฝึกอบรมในหัวข้อ “กระบวนการแก้ไขปัญหาในแนวสันติวิธี” เป็นการให้ความรู้แก่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ทราบถึงจุดยืน (Position) ของตนเองในการบวนการสันติภาพ และบทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะหนุนเสริม (Support) กระบวนการสันติภาพได้อย่างไร เพราะว่ากำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญอย่างมากในการบวนการสันติภาพในฐานะที่เป็นตัวแสดง (Actor) ที่สามารถสร้างการพูดคุยสันติภาพภายในประชาชนรากหญ้า ใน Track 3 ซึ่งเป็นประชากรในพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัดชายแดนใต้พร้อมกับเชื่อมต่อ หรือ ประสานกับองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งอยู่ในTrack 2 และ เจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตนเอง อย่างเช่น ปลัดอำเภอ หรือ นายอำเภอ ไปสู่ ศอ.บต. เพื่อส่งต่อความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ไปสู่พื้นที่การพูดคุยใน Track 1 ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ และ ตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาล ที่ดำเนินการพูดคุยสันติภาพ กับ ตัวแทน BRN (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ไปแล้วในครั้งแรกวันที่ 28 มีนาคม 2556 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29 เมษายน 2556 และครั้งที่ 3 วันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นบทบาทที่สำคัญต่อกระบวนการสันติภาพใน Track 3 ที่สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้อย่างแท้จริง และ เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนในระดับหมู่บ้านและตำบล ความสำคัญของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อการพูดคุยถูกยกระดับไปสู่ขั้นเจรจา (Negotiation) อย่างเช่น ถ้าทางตัวแทนฝ่ายรัฐไทยเจรจาหยุดยิงหรือกำหนดพื้นที่ปลอดภัยกับตัวแทนBRN (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ในพื้นที่ที่กำหนดร่วมกันในจังหวัดชายแดนใต้ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่นั้นต้องเป็นคณะกรรมการในการเฝ้าระวังในข้อตกลงการหยุดยิงหรือพื้นที่ปลอดภัยด้วยเพื่อเป็นสักขีพยานในข้อตกลงดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปได้

 

แผนภาพที่ 1 กระบวนการสันติภาพในระดับต่างๆ ที่มีตัวแสดงหรือผู้เกี่ยวข้องแนวทางการทำงานแตกต่างกัน

ที่มา: ริเริ่มพูดคุย: บทประเมินกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีหลังการลงนามในฉันทามติทั่วไปฯ

 

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นตัวแสดง ที่สำคัญมากในเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ เพราะในตัวตนของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเองก็เป็นหนึ่งในองคาพยพของรัฐไทยในการใช้ปกครองพื้นที่ มีสายการบังคับบัญชามาจากกระทรวงมหาดไทยตามการปกครองแบบรวมศูนย์ของรัฐไทย ในทางกลับกัน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็เป็นตัวแทนของประชาชนในชุมชนที่มาจากการเลือกตั้งภายในชุมชน บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจึงมีบทบาทสำคัญในการถึง 2 Track ในเวลาเดียวกัน (Track 2 กับ Track 3) กล่าวคือ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นทั้งคนคอยประสานภายนอก (ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่ตน) และประสานภายใน (ระหว่างประชาชนทุกคนในชุมชนตนเอง)

 

บทสะท้อนความคิดเห็นจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 6

          หลังจากจบการบรรยายจาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ก็เข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการ นำโดย มูฮำมัดอายุบ  ปาทาน และ คณะวิทยากรจากศูนย์วิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  การอบรบเชิงปฏิบัติการณ์นี้ได้แบ่งผู้เข้าร่วมที่เป็นกำนันผู้ใหญ่เป็นกลุ่มย่อยคละทุกอำเภอที่เข้าร่วมในการอบรมเพื่อให้เกิดการพูดคุยระหว่างกันในกลุ่มภายใต้ประเด็นคำถามดังนี้

1. ท่านมีความคาดหวังอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. ท่านมีความกังวลอะไรต่อกระบวนการสันติภาพ

3. ในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจะทำอะไรให้กับกระบวนการสันติภาพได้บ้าง

ประเด็นคำถามนี้ได้นำกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเข้าสู่การระดมความคิดเห็นกันภายในกลุ่มตนเองพร้อมกับการนำเสนอและอภิปรายความคิดเห็นของกลุ่มตนเองให้ทุกกลุ่มฟัง

ความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ

ประเด็นคำถามแรก กำนัน-ผู้ใหญ่ความคาดหวังอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้

·         ความยุติธรรมในพื้นที่

·         การพูดคุยทั้งสองฝ่ายพอใจ

·         ได้พูดคุยกับทุกคนทุกฝ่ายที่มีส่วนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น(ตัวจริง)

·         ข้อเสนอกำนัน,ผู้ใหญ่บ้านถูกนำไปใช้บ้าง

·         ความสงบสุขถาวรจงเกิดขึ้นใน3จังหวัดชายแดนใต้

·         ลดสถานการณ์ความรุนแรง

 

·         ให้มีการพูดคุยเจรจาระหว่าง BRN กับ รัฐไทย ได้ประสบผลสำเร็จในการเจรจา

 

·         สงบสุข, เกิดสันติภาพ

 

·         เกิดสันติภาพในอนาคตแต่ต้องใช้ระยะเวลา, อยากให้สองศาสนา(อิสลาม – พุทธ)อยู่ร่วมกันเหมือนเดิม

 

ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ

ประเด็นคำถามที่ 2 กำนัน-ผู้ใหญ่มีความกังวลอะไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้

·         การพูดคุยจะสูญเปล่าเพราะไม่ทราบว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจทั้ง2ฝ่ายคือใคร ( ไทย / BRN)

 

·         การเจรจาไม่สำเร็จ เหตุการณ์จะรุนแรงมากกว่าเดิม, กลัวรัฐเจรจาเพียงกลุ่ม BRN อย่างเดียว กลุ่มอื่นไม่เจรจา( กลัวกลุ่ม Pemuda (เยาวชน)ในหมู่บ้าน)

 

·         ปัญหาจะตกอยู่กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน

 

·         BRN กับ รัฐไทย ของจริงหรือเปล่า

 

·         BRN ไม่สามารถควบคุมในพื้นที่ทั้งหมด  ยังมีอีกหลายกลุ่ม

 

บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพ

ประเด็นคำถามที่3 กำนันในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ท่านจะทำอะไรให้กับกระบวนการสันติภาพได้บ้างจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น ได้ความคิดเห็นดังนี้

·         1 สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ให้กับประชาชน, 2 ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่, 3 สร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนโดยเฉพาะผู้นำ 4เสาหลักเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่

 

·         อยากจะให้ตัวแทนเจรจาต้องนำปัญหาของระดับรากหญ้า นำเสนอในการดำเนินการปฏิบัติในพื้นที่ ตามความเป็นจริง

 

·         นำข้อเสนอจากหมู่บ้าน สู่โต๊ะเจรจา

 

·         ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในกระบวนการสันติภาพ (การเจรจา)

 

จากความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม  ทางคณะวิทยากรได้ทำการจัดหมวดหมู่และทำรวมกลุ่มความคิดเห็นที่คล้ายกันจากการนำเสนอของทุกกลุ่มในแต่ละประเด็นคำถามข้างต้น เป็นหัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นคำถาม  เพื่อนำสู่กระบวนให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ลงความเห็น ร่วมกันว่า  หัวข้อย่อยในแต่ละประเด็นคำถามอย่าง ความคาดหวัง, ความกังวล, และ บทบาทกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพในหัวข้อย่อยใดควรจะเป็นหัวข้อที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ผลการลงคะแนนมีดังนี้

ความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพ

1

ความยุติธรรมเกิดขึ้นในพื้นที่

22

2

อยากให้มีการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง

7

3

การเจรจาสำเร็จ /ความรุนแรงลดลง จนเกิดภาวะสันติสุข

3

4

ความสงบสุขเกิดขึ้นแต่ต้องอาศัยเวลา

1

 

กำนันและผู้ใหญ่บ้านในการอบรมรุ่นที่6 ได้ลงคะแนนเลือก “ความยุติธรรมเกิดขึ้นในพื้นที่”เป็นอันดับแรกในข้อความคาดหวัง ความยุติธรรมในพื้นที่นี้สอดคล้องกับข้อเสนอ5 ข้อของ BRN จะนำไปสู่สันติภาพเชิงบวกที่จะเป็นการสร้างความยุติธรรมในพื้นที่ เพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างถาวร ซึ่งแตกต่างกับสันติภาพในเชิงลบ ที่นำไปสู่การลดความรุนแรง ลดจำนวนเหตุการณ์ ดังที่รัฐไทยเรียกร้องต่อ BRN 

ความไม่ยุติธรรมในพื้นที่ ที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านพูดถึงมีมากมาย เช่น การตรวจค้นแบบเลือกปฏิบัติ, พื้นที่นี้มีประชาชนที่เป็นมุสลิมถึง 80% แต่อัตราได้ทำงานราชการมีแต่ 15.2% เท่านั้น รวมไปถึงเรื่องโรงเรียนปอเนาะที่รัฐให้อิสระในการเปิดแต่พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ไม่ตรวจค้นหรือปิดปอเนาะ อีกทั้งไม่มีการสนับสนุนทางงบประมาณให้โรงเรียนปอเนาะ

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นนี้ยังได้วามเห็นเพิ่มเติมอีกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องให้ความยุติธรรมกับพื้นที่เสียก่อน ดูอย่างเช่นปืนใหญ่พญาตานีที่นำลงมาให้ ยังเป็นของจำลองเลย นี้เองเป็นสาตุหนึ่งที่ทำให้ปืนใหญ่ถูกวางระเบิด

ความกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ

1

การพูดคุยเฉพาะกลุ่มBRNไม่เพียงพอ เพราะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงมีหลายกลุ่ม

25

2

ความรุนแรงเพิ่มขึ้นหากการเจรจาไม่สำเร็จ

5

3

ไม่มั่นใจในตัวแทนการพูดคุยว่ามีอำนาจใจอย่างแท้จริง

4

 

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่6 ได้เลือกความกังวลที่สำคัญที่สุดคือ “การพูดคุยเฉพาะกลุ่มBRNไม่เพียงพอ เพราะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงมีหลายกลุ่ม” เป็นดารสะท้อนความกังวลของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ออกมาว่า การคุยกับ BRNกลุ่มเดียว เพียงพอหรือไม่กับการพูดคุยสันติภาพ เพราะว่าต่อให้ BRN หยุดการปฏิบัติการ แต่ยังมีกลุ่มอื่นยังปฏิบัติการอยู่กระบวนการสันติภาพก็ต้องหยุดชะงัก เพราะฉะนั้นรัฐไทยจะต้องดำเนินการพูดคุยกับทุกกลุ่มที่ปฏิบัติการก่อเหตุในพื้นที่3จังกวัดชายแดนใต้

ความกังวลจากอันดับหนึ่งนี้ได้สะท้อนไปยังอีกสองตัวเลือกที่ได้คะแนนสูสีกันคือ “ความรุนแรงเพิ่มขึ้นหากการเจรจาไม่สำเร็จ” และ “ไม่มั่นใจในตัวแทนการพูดคุยว่ามีอำนาจใจอย่างแท้จริง”  ซึ่งจะเป็นผลที่ตามมา ในกรณีที่พูดคุยไม่สำเร็จ เพราะพูดคุยกับ BRN เพียงกลุ่มเดียว

แต่แท้จริงแล้ว ในข้อเสนอ 5 ข้อของ BRN ข้อที่1ได้บอกชัดเจนถึงการเป็นตัวแทนของนักต่อสู้มลายูปาตานี โดยนัยยะความหมายนี้รวมไปถึงการเป็นตัวแทนของกลุ่มนักต่อสู้เพื่อปาตานี อย่าง PULO, BIPP ด้วย

บทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านต่อกระบวนการสันติภาพ

1

เป็นตัวเชื่อมประสานการทำงานระหว่างรัฐกับหมู่บ้านในเรื่องกระบวนการสันติภาพ

23

2

นำข้อเสนอจากหมู่บ้านเข้าสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพ

11

 

          กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้เลือกบทบาทที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือ “เป็นตัวเชื่อมประสานการทำงานระหว่างรัฐกับหมู่บ้านในเรื่องกระบวนการสันติภาพ” สิ่งที่สะท้อนออกมาจากการเลือกข้อนี้คือ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้รู้ถึงบทบาทของตัวเองใน Track ที่3 เป็นอย่างดี กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะต้องทำงานสอดประสานกับ Track ที่1ก็คือ ศอ.บต. และทำงานความคิดในเรื่องกระบวนการสันติภาพกับชาวบ้านที่อยู่ใน Trackที่3ด้วยกัน เพื่อดึงข้อเสนอจากหมู่บ้านให้ “นูน”ขึ้นมา และประสานให้ ศอ.บต. นำเอาข้อเสนอนั้นไปสู่การพูดคุยต่อไป โดยการเอาข้อเสนอไปสู่การพูดคุยนั้น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้เลือกเป็นอันดับถัดมา

          แต่ความเป็นจริงที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านสะท้อนออกมาคือ มีแต่การสั่งการลงมาตามลำดับขั้นของกระทรวงมหาดไทย ไม่มีการสนใจที่จะฟังเสียงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นตัวแทนชาวบ้านอย่างแท้จริง  ด้วยเหตุนี้การทำงาน

ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในระหว่างอบรมปฏิบัติการ

          น่าสังเกตว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นนี้เป็น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที่สีแดง เป็นไปได้ว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านรุ่นนี้เลยสัมผัสได้ถึงปัญหาใจกลางของพื้นที่ ซึ่งก็คือ ความยุติธรรม ความไม่เป็นธรรม ดังนั้น การแก้ปัญหานี้เป็นการแก้ปัญหากันในเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพในพื้นที่อย่างยั่งยืน

          กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้เสนอว่าการทำเวทีควรจะต้องทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย อย่างเช่นเวทีที่ทำการสำรวจความเห็นข้อเสนอ5ข้อของBRN กับกลุ่มผู้นำทางศาสนา จะทำให้พวกเขากล้าพูดความจริงในบางเรื่องมากกว่านี้

          กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในรุ่นที่ 6 มีข้อเสนอ ขอให้หยุดการใช้ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน เพราะเป็นเดือนที่มุสลิมทุกคนต้องถือศีลอดและต้องปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ อย่างเคร่งครัด เพราะฉะนั้นการหยุดใช้ความรุนแรงในเดือนนี้จะเป็นการส่งเสริมให้มุสลิมทุกได้ออกไปปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่

บทสรุป

          โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นการฝึกอบรมที่เป็นการเตรียมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้พร้อมสำหรับกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน  การเตรียมพร้อมนี้ทำกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ตระหนักถึงบทบาทของ และตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในกระบวนการสันติภาพ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านตัวแสดงความสำคัญมากต่อกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินอยู่และต่อไปในอนาคต กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยภายในประชาชนระดับรากหญ้า (Track 3) ในพื้นที่ และยังเชื่อมต่อกับ Track ที่ 2 (องค์กรภาคประชาสังคม)โดยการประสานงานระหว่างกัน พร้อมกับมีบทบาทเชื่อมต่อกับ Track ที่ 1 โดยตำแหน่งหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านตามระเบียบของกรมการปกครอง ซึ่งการทำกระบวนการสันติภาพของกำนันผู้ใหญ่บ้านจะเป็นตาข่ายนิรภัย ที่ช่วยโอบอุ้มกระบวนการสันติภาพใน Track 1 (ตัวแทนรัฐไทยกับตัวแทนBRN) โดยทำการพูดคุยคู่ขนานในTrack 2 กับ 3 ควบคู่กันไป โดยมีข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องที่มาจากประชาชนในพื้นที่ ในกรณีการพูดคุยล้มเหลวหรือประสบอุปสรรคไม่สามารถไปต่อได้ ในกรณีประสบปัญหาเช่นนั้น กระบวนการสันติภาพใน Track 1 สามารถนำข้อเสนอที่ Track 2-3 ที่ได้ทำกระบวนการคู่ขนานมาใช้หรือนำมาประกอบการตัดสินใจได้ทันท่วงที (คลิกอ่านเรื่องตาข่ายนิรภัย)  เพราะฉะนั้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ทราบถึงกระบวนการสันติภาพจึงสิ่งที่จำเป็นและได้รับการหนุนเสริมทั้งจากทางรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่  เพื่อเป็นการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ในภาพรวมที่ได้ดำเนินอยู่ในขณะนี้