Skip to main content

ผมไม่เคยคิดเลยว่า จะได้มีโอกาสได้จับต้องหุ่นยนต์ และได้ประกอบมันจริงๆ  เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์จริงๆครั  นายอัดฮา เจ๊ะมะ  อายุ 15 ปี  นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา  กล่าวด้วยความตื่นเต้น หลังจากได้เป็นตัวแทนของโรงเรียน เข้าแข่งขันหุ่นยนต์โรบอท ในงาน ยะลา ยาลัน มหัศจรรย์เด็กใต้

 

ปัญหาทางด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนในพื้นที่  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือยะลา ปัตตานี และนราธิวาส  หลังจากได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 5 ปี  ที่ล่าสุดพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กในพื้นที่อยู่ใน 3 อันดับสุดท้ายของประเทศไทย

 

การศึกษาที่ด้อยโอกาสของเด็กในพื้นที่ เนื่องจากผลพวงของความรุนแรง เริ่มที่จะส่งผลให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่  ทำให้นายอรรถสิทธิ์  รัตนแคล้ว ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 1  เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาที่กำลังตกต่ำ จึงได้เชิญผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 2 และ เขต 3 มาประชุมร่วมเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพของเด็กนักเรียนในพื้นที่ จ.ยะลา  จนเกิดงาน ยะลา ยาลัน มหัศจรรย์เด็กใต้ ขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

 

ภายในงานได้จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาของเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านทักษะในวิชาต่างๆ  ทักษะทางด้านอาชีพ รวมถึงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ที่นำมาให้เด็กได้เรียนรู้ เพื่อจุดประกายทางด้านความคิด เช่น การแข่งขันหุ่นยนต์โรบอท ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก และได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

 

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมชาย  เอี่ยวสกุล  หัวหน้ากลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 ได้จัดงาน ยะลายาลัน มหัศจรรย์เด็กใต้ เป็นครั้งที่  2 ในปีนี้  กิจกรรมหลักๆก็จะเป็นกิจกรรมด้านวิชาการ การแข่งขันทางด้านวิชาการ ในทุกๆด้าน  ส่วนโรบอท หรือหุ่นยนต์นั้น ถือเป็นเทคโนโลยีอีเลคทรอนิคสมัยใหม่ ที่เข้ามา ซึ่งในอนาคตเด็กนักเรียน ก็จะต้องได้พบและสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอน และสอดคล้องจากเสียงเรียกร้องของเด็กนักเรียนในพื้นที่ และผู้ปกครอง ที่เสนอว่าน่าจะมีการแข่งขันในเรื่องโรบอทบ้าง หลังจากที่พบว่ามีการแข่งขันในส่วนกลางบ่อยครั้ง

 

ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 ในฐานะเจ้าภาพการจัดงานหลัก ในครั้งนี้  จึงได้จัดการแข่งขันโรบอทขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมสิ่งที่ผู้ปกครอง เด็กและครู สนใจ   ได้มีการจัดหาโรบอทเหล่านี้มาให้เด็กได้ศึกษา  ก็ได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก การแข่งขันที่จัดขึ้นในงาน ก็จะมีเด็กนักเรียนให้ความสนใจเข้ามาสมัครเพื่อแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก โดยในเบื้องต้นก็จะเป็นหุ่นยนต์โรบอท ที่สำเร็จรูป โดยเด็กจะเป็นผู้ประกอบเองเท่านั้น ที่นำมาแข่งขัน โดยแบ่งออกเป็นทีมๆละ3 คน และแบ่งแข่งขันเป็นระดับช่วงชั้  นายสมชาย กล่าว

 

หัวหน้ากลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1  ยังกล่าวอีกว่า หลังจากได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียนในพื้นที่ค่อนข้างมาก เกี่ยวกับหุ่นโรบอทนี้  ปัจจุบันในหลักสูตรของระดับมัธยมปลายก็มีอยู่บ้างแล้ว แต่ในอนาคตนั้น ก็จะมีการผลักดันให้เป็นหลักสูตรหนึ่งในทางเลือกของเด็กนักเรียนต่อไป   และเป็นการจุดประกายความคิดให้เด็กนักเรียนในพื้นที่  ที่พบว่าเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นความด้อยโอกาสในเรื่องนี้อยู่มาก  แต่งต่างจากเด็กในส่วนกลางที่มีโอกาสมากกว่า ซึ่งทางสำนักงานก็จะผลักดันและสนับสนุนในเรื่องนี้ต่อไป และมีการจัดเวทีการแข่งขันอย่างทั่วถึง

 

ด้านครูผู้ซึ่งดูแลและให้คำปรึกษากับเด็กนักเรียน อย่างนายนภดล  คงสุวรรณ  ครูโรงเรียนบ้านโกตาบารู กล่าวว่า  สำหรับโรงเรียนบ้านโกตาบารูนั้น ทางเด็กนักเรียนได้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อเรียนรู้การทำโรบอท  ซึ่งเด็กให้ความสนใจในเรื่องการประกอบหุ่นยนต์โรบอท เป็นอย่างมาก ซึ่งทางโรงเรียนก็จะมีการสนับสนุนในการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ เท่าที่มี มาสนับสนุนให้ และเมื่อทางเด็กนักเรียนมีความสามารถที่จะประกอบหุ่นโรบอทได้ ก็ส่งไปแข่งขันประกอบหุ่นโรบอท ชุดมอเตอร์หุ่นยนต์  ก็ได้รับรางวัลชมเชยกลับมา 

 

เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนมากในขณะนี้ที่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะเรียนรู้ในเรื่องโรบอท แต่ยังขาดอุปกรณ์สนับสนุน  หากทางกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญ มีอุปกรณ์ต่างๆมาให้กับเด็กๆนักเรียนในพื้นที่ ตนเองเชื่อว่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก รวมถึงในอนาคตก็อยากให้มีการบรรจุเป็นชั่วโมงการเรียนการสอนให้กับเด็กด้วย นายนภดล  กล่าว

 

ส่วนทางด้าน นายอัดฮา  เจ๊ะมะ  อายุ 15 ปี  นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา เปิดเผยว่า ตนเองมีความสนใจในการประดิษฐ์หุ่นยนต์เป็นอย่างมาก  การประดิษฐ์หุ่นยนต์จะต้องใช้ความคิด มีความอดทน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็จะประกอบหุ่นยนต์ไม่สำเร็จ   เคยเห็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในโทรทัศน์ แล้วก็รู้สึกว่าอยากจะได้ทำบ้าง แต่ก็ไม่ทราบว่าจะไปหาความรู้ได้ที่ใด  ซึ่งหลังจากที่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 จัดงานยะลา ยาลัน ขึ้น แล้วมีการแข่งขันการประกอบหุ่นยนต์โรบอท ขึ้น จึงมีความสนใจและได้สมัครเข้าแข่งขัน  และรู้สึกดีใจที่ได้แข่ง ส่วนอนาคตนั้นก็ฝันไว้ว่าอยากจะศึกษาเรื่องประดิษฐ์หุ่นยนต์ต่อไป ถ้าตนเองมีโอกาส

 

ผมไม่เคยคิดเลยว่า จะได้มีโอกาสได้จับต้องหุ่นยนต์ และได้ประกอบมันจริงๆ  เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์จริงๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยดูแต่ในทีวี เห็นเค้าจัดการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ ก็อยากที่จะได้ลองประกอบ ลองประดิษฐ์ดูบ้าง   แต่ก็ดูว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว เนื่องจากเด็กนักเรียนในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  มักจะไม่ได้รับโอกาส แต่หลังจากที่ทางโรงเรียนได้ทราบว่าทางเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 จะมีการแข่งขัน  จึงได้มีการตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อเตรียมความพร้อม ศึกษาในเรื่องการประกอบหุ่นโรบอท  ซึ่งก็มีเพื่อนๆที่โรงเรียนหลายคนให้ความสนใจ เข้ามาร่วมกลุ่มศึกษากัน  และหวังว่าจะได้รับการส่งเสริม และให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย  นายอัดฮา  กล่าว

 

ถึงแม้หุ่นยนต์โรบอทเหล่านี้  เป็นเรื่องที่เด็กนักเรียนในส่วนกลางได้สัมผัสกันมาก่อนแล้ว   แต่สำหรับเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  หุ่นยนต์โรบอท ถือว่าเป็นการจุดประกาย และทำให้ต่อยอดทางด้านความคิดของพวกเขา  ที่ทางรัฐบาลควรให้การสนับสนุน