Skip to main content
ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้
 
บทความชิ้นนี้เป็นสรุปผลการเสวนาโต๊ะกลมสันติภาพชายแดนใต้ที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม เวทีครั้งนั้นจัดขึ้นโดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (CSCD) ณ  ห้องประชุมขวัญจุฑา  3  โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี วันที่  13  สิงหาคม  2556
1. ความรู้และแง่คิดจากสถานการณความไม่สงบ
 
1.1    ความรู้
1.1.1 เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่เดือน  มกราคม  2547  ถึงสิ้นเดือน  มิถุนายน  2556  รวมระยะเวลา 114  เดือน  มีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้น  13,434  เหตุ  เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต  5,755  ราย  บาดเจ็บ  10,201  ราย  รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น  15,956  ราย
1.1.2 เมื่อแยกผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตามภูมิหลังการนับถือศาสนาก็พบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิต 5,755 ราย เป็นมุสลิม  3,394  ราย  คิดเป็นร้อยละ  58.97  เป็นพุทธ  2,213  ราย คิดเป็นร้อยละ  38.45  และในจำนวนผู้บาดเจ็บ  10,201  ราย  เป็นมุสลิม  3,211  ราย คิดเป็นร้อยละ  31.47  เป็นพุทธ  6,024  ราย  คิดเป็นร้อยละ  59.05  ราย
1.2  แง่คิดจากสถานการณ์ความรุนแรง
1.2.1 แม้ตัวเลขคนตายและบาดเจ็บจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามภูมิหลังการนับถือศาสนาจะต่างกัน กล่าวคือ ส่วนที่ตายเป็นมุสลิมมากกว่าพุทธ และส่วนที่บาดเจ็บจะเป็นพุทธมากกว่ามุสลิม แต่เมื่อเฉลี่ยจำนวนคนเจ็บคนตาย ทั้งหมดก็พบว่าคนทั้งสองศาสนาต่างก็ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
จึงกล่าวได้ว่าปัญหาการได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงเป็นปัญหาร่วมของทั้งคนที่เป็นพุทธและเป็นมุสลิมจึงเป็นภาระหน้าที่ร่วมของคนทั้งสองศาสนาอีกเช่นกันที่จะต้องช่วยกันหาทางออก ลดเหตุรุนแรงไปจนถึงขั้นยุติอย่างยั่งยืนให้เร็วที่สุด
1.2.2 จำนวนคนเจ็บคนตายจากเหตุไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีปริมาณคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงความรุนแรงจึงเป็นลักษณะยืดเยื้อ ความหมายก็คือ จะมีคนบาดเจ็บล้มตายจากเหตุความไม่สงบ จำนวน  68  คน ในทุกๆ 15 วัน  หรือในทุกๆ  1 วัน  จะมีคนเจ็บและตายประมาณ  5 ราย  ค่านี้คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2547-2556 ไม่ว่าความถี่ของการเกิดเหตุ จะมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม
1.2.3 ผู้ก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มเปลี่ยนเป้าหมายการโจมตีจากเป้าหมายอ่อน (Soft Tarqet) เป็นเป้าหมายแข็ง (Hard  Tarqet)  กล่าวคือ จากที่เคยโจมตีประชาชนและพลเรือนที่ไม่ติดอาวุธเป็นโจมตีเป้าหมายติดอาวุธ เช่น ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครทหารพราน นอกจากนี้ยังมีความพยายามโจมตีเป้าหมายที่เป็นข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูง ชุมชนเมืองด้วยปฏิบัติการขนาดใหญ่ ที่อาจทำให้วงจรทางเศรษฐกิจระสำระส่าย และทำลายขวัญผู้ประกอบการ  มุ่งทำให้เกิดผลสะเทือนต่อความรู้สึกของสังคมโดยรวมมากกว่าความรู้สึกของปัจเฉกชนทั่วๆ ไป  แนวโน้มดังกล่าวทำให้มวลชนและแนวร่วมของผู้ก่อเหตุรุนแรงเกิดความรู้สึกว่า กองกำลังของฝ่ายก่อเหตุมีความเข้มแข็งและปฏิบัติการเป็นลักษณะสากลมากขึ้น
1.2.4 ความรุนแรงในระดับจุลภาค (Micro-Level Violenes) หรือการก่อเหตุย่อยๆ ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นอาชญกรรมไม่เกี่ยวกับเหตุรุนแรงระดับมหภาคหรือความมั่นคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 
การแยกแยะเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและเป้าหมายของความรุนแรงย่อยในแต่ละกรณี จึงเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดความกระจ่างและอธิบายต่อสาธารณชนให้ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาพของความรุนแรงที่เกี่ยวกับความมั่นคงเกินจริง
2.   ภาพรวมของความไม่สงบในห้องปี 2547-2556
2.1  ภาพรวมพื้นที่ความรุนแรงในห้วงปี 2547-2556 (10 ปี) ความรุนแรงสูงสุดแยกตามลำดับ 10 อำเภอ คือ เมืองยะลา รามัน ระแงะ ยะรัง รือเสาะ บันนังสตา เมืองปัตตานี สายบุรี หนองจิก  และสุไหงปาดี  แต่ในห้วงเวลา  1  ปี  6  เดือนล่าสุด (มกราคม 2555 -มิถุนายน 2556) ปรากฏว่า พลวัตรความรุนแรงในแต่ละพื้นที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ  ในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้กลายเป็นพื้นที่เกิดเหตุรุนแรง อันดับ  1  ตามด้วยยะรัง สายบุรี  รือเสาะ  และหนองจิก ตามลำดับ
การเปลี่ยนพื้นที่ความรุนแรงดังกล่าวมีลักษณะน่าสนใจ เพราะจะเกี่ยวข้องกับสภาพการคุมและการจัดวางกำลังของแต่ละฝ่ายในพื้นที่ ตลอดถึงสภาพความขัดแย้งเฉพาะในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
3.   จุดเปลี่ยนของสถานการณ์เมื่อกลุ่มพลังที่ต้องการสันติภาพเริ่มเข้ามามีบทบาทถ่วงดุลความรุนแรง
ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นและลดลงคล้ายลูกคลื่นสลับกันไปในแต่ละห้วงเวลา นับตั้งแต่ปี 2547-2556 คล้ายกับว่าความรุนแรงในเชิงคุณภาพไม่ได้ลดลง เนื่องจากจำนวนคนเจ็บคนตายยังคงที่ แต่ในสภาพการณ์ดังกล่าว ก็มีปรากฏการณ์ที่ชวนให้เป็นที่สังเกตอยู่  2  ด้าน  คือ
3.1  หากดูในแง่ของความสูญเสียที่มีอัตราคงที่ก็อาจมองได้ว่าฝ่ายก่อเหตุรุนแรงยังมีศักยภาพในการริเริ่มปฏิบัติการทางทหารเพื่อรักษาจุดมุ่งหมายทางการเมืองของตน ส่วนกลไกอำนาจรัฐด้านความมั่นคงที่มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตย  ตลอดถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนก็จำเป็นต้องดำเนินยุทธการปิดล้อมตรวจค้นเพื่อจับกุมหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายกลายเป็นความรุนแรงตอบโต้กันไปมา ความรุนแรงประเภทนี้เองที่มีลักษณะคงที่เป็นสงครามยืดเยื้อ
3.2  เมื่อสังเกตดูในสภาพการต่อสู้ด้วยความรุนแรงที่ยืดเยื้อดังกล่าว เราจะเห็นพลังอีกด้านหนึ่งที่เรียกร้องให้ยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรงแต่สนับสนุนให้ต่อสู้ด้วยเหตุผล ใช้พลังวิชาการและหาทางออกให้กับปัญหาด้วยท่าทีสมานฉันท์  พลังส่วนนี้ประกอบด้วย กลุ่มมวลชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมการต่อสู้แต่อย่างใด เครือข่ายภาคประชาสังคม ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนาที่น้อมนำศาสนามาเป็นทางนำของชีวิตอย่างแท้จริง กลุ่มพลังดังกล่าวเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพ ที่เอื้อประโยชน์สำหรับการพูดคุยและตกลงกันในประเด็นต่างๆ อย่างสันติวิธี
กลุ่มที่ว่านี้ในระยะหลังๆ มีแนวโน้มที่จะขยายเครือข่ายไปยัง กลุ่มอื่นๆ  เพื่อเพิ่มน้ำหนักของการต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีให้มีสัดส่วนมากขึ้น ในสนามการต่อสู้นั้นเอง หลักฐานที่ชี้ว่าพลังแห่งสันติวิธี กำลังจะกลายเป็นพลังนำ ในเส้นทางแห่งสันติภาพก็คือ สัญญาณทางบวกจากการประมาณค่าทางสถิติการที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในวงรอบ  15 วัน ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547 – เดือนมิถุนายน  2556 ลดลงจากประมาณ  30  คน  มาเป็นประมาณ 20 คน  ในรอบ  15 วัน หรือจากประมาณ 2 คนต่อวัน  มาเป็นประมาณ 1.3 คน ต่อวัน  และหากพิจารณาเฉพาะกรณีผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบอย่างเดียวแล้วก็จะเห็นแนวโน้มที่ลดลงอย่างชัดเจน
พลังแห่งสันติวิธีที่จะมาถ่วงดุลความรุนแรงก็คือกระบวนการสันติภาพซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมในทุกระดับมีพลวัตหลายขั้นตอนและมีองค์ประกอบย่อยๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังทางสังคมในพื้นที่ทั้งในทางเศรษฐกิจ  สังคม วัฒนธรรมการเมืองและการสื่อสารสาธารณะกระบวนการสันติภาพ มีจุดเชื่อมโยงประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างกลุ่มคนทั้งในระดับสูง ระดับกลาง และระดับรากหญ้า  ห้วงเวลาที่ผ่านมาทั้ง 3 ระดับต่างก็ได้พยายามสร้างพื้นที่ให้แก่กระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ตลอดเวลา พลังของเครือข่ายสันติภาพดังกล่าวเป็นพลังทางบวกที่ช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้งและความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ในสัดส่วนที่ค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ
4.   ข้อสังเกตของผู้เข้าร่วมเสวนา
4.1  ตัวแสดงสำคัญในพื้นที่ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ รัฐบาลกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและประชาชน ที่ประชุมเสวนาเห็นว่า การหนุนเสริมให้ประชาชนได้จัดตั้งองค์กรภาคประชาชนให้เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญเพราะองค์กรประชาชนจะเป็นพลังในการผลักดันการแก้ไขปัญหาในแนวทางสันติวิธีและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ
4.2  การปรากฏตัวของกลุ่มผู้ขัดขวางกระบวนการสันติภาพเป็นปรากฏการณ์ที่มีทิศทางสวนกระแสมติมหาชน ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจทั้งในทางความคิดและทิศทางการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับกระแสโลกซึ่งต้องการแนวทางสันติวิธี
4.3  จากการรับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบปี 2556 พบว่าประชาชนเบื่อหน่ายความไม่สงบ อยากให้เกิดสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่โดยเร็ว
4.4  อยากให้ฝ่ายรัฐและฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐได้เร่งพัฒนาระดับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจกันให้มากขึ้นทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ยกระดับ การพูดคุย เป็นการเจรจาในประเด็นที่เห็นต่างกันอย่างจริงจัง เพื่อเป็นทางออกของความขัดแย้งและนำไปสู้การสร้างสันติภาพและสันติสุขอย่างเป็นรูปธรรม
4.5  รัฐบาลและกลไกของรัฐทุกระดับควรเพิ่มน้ำหนักการให้ความสำคัญกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่โดยการเร่งกำหนดยุทธศาสตร์สันติภาพที่ปฏิบัติได้จริง และมีความมีความเห็นที่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานสำคัญคือ กอ.รมน. สภาความมั่นคงแห่งชาติ และ ศอ.บต. ทั้งนี้ก็เพื่อวางพื้นฐานทายุทธศาสตร์ การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมให้มั่นคง กลไก ของรัฐแต่ละส่วนก็จะได้มีแนวปฏิบัติที่เป็นเอกภาพและชัดเจน  การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจะได้มีลักษณะพลวัต  มีชีวิตชีวา ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ถ้าเป็นเช่นนี้ได้เชื่อว่าการแก้ปัญหาจะได้ผลสำเร็จเสร็จสิ้นเร็วขึ้นอย่างแน่นอน
5.   แนวโน้มของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในวงเสวนาได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มของสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนี้
5.1  การพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยกับตัวแทนของกลุ่ม B.R.N. จะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังดำรงความมุ่งหมายที่จะให้เกิดความเป็นธรรม และสันติสุขขึ้นในพื้นที่แม้ว่าความหมายจะต่างกันอยู่บ้างก็ตามซึ่งเชื่อว่าเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันจนเกิดความไว้วางใจต่อกันเพิ่มมากขึ้นแล้ว ความเข้าใจในมุมมองเดียวกันก็จะเกิดขึ้นและทำให้ทุกอย่างลงตัวได้อย่างแน่นอน
5.2  กระบวนการสันติภาพในพื้นที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยองค์กรภาคประชาชนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นการสร้างเครือข่ายทางความคิดแนวสันติวิธีจะถูกยกระดับขึ้นเป็นระดับชาติเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียและอินโดนีเซียต่างก็ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะให้การสนับสนุนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของไทยด้วยสันติวิธี
5.3  ปัจจุบันสภาวการณ์ในกลุ่มประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางและเอเซียตะวันออกใต้ส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจข้อมูลความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเพิ่มมากขึ้นและประเทศเหล่านั้นล้วนสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธีของไทยทั้งสิ้น
5.4  สถานการณ์ในขณะนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่ม B.R.N.ได้ใช้ความพยายามริเริ่มกระบวนการควบคุมการใช้ความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เห็นได้จากความรุนแรงขนาดใหญ่ในตัวเมืองเริ่มหายไป การใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อนแอลงหรือแม้แต่การโจมตีต่อการกำลังของฝ่ายรัฐก็ดูเหมือนจะจำกัดพื้นที่ปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ฝ่ายมั่นคงของรัฐบาลจึงควรที่จะขานรับแนวโน้มที่ดีดังกล่าวนี้ให้จริงจังโดยการเริ่มพิจารณาข้อเสนอของฝ่าย B.R.N. อย่างเป็นทางการได้ข้อสรุปอย่างไรควรเร่งแจ้งให้ผู้อำนวยความสะดวกคือมาเลเซียได้รับทราบเพื่อจะได้ประสานความเข้าใจกับฝ่ายกลุ่ม B.R.N. ต่อไป
5.5  ความก้าวหน้าเชิงบวกของสถานการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมากรัฐบาลไทยจึงควรเร่งพิจารณาดำเนินการหนุนเสริมเติมต่อเงื่อนไขที่มีลักษณะสร้างสรรค์ดังกล่าวโดยทันทีด้วยการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่ม B.R.N. ให้ได้ข้อสรุปว่าประเด็นไหนรับได้หรือไม่ได้อย่างไร เพื่อจะได้เป็นสาระสำคัญในการพูดคุยครั้งต่อไปอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือการส่งเสริมกระบวนการสันติภาพของภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็งและขยายเครือข่ายกว้างขวางครอบคลุมไปถึงระดับชาติและนานาชาติให้เร็วขึ้นทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้แก่กระบวนการสันติภาพในปัจจุบันและอนาคต