Skip to main content
  
หมายเหตุ เรามักจะกล่าวจนกลายเป็นเรื่องคุ้นชินว่า การสร้างพื้นที่กลางหรือ “พื้นที่สาธารณะ” นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแสวงหาทางออกของความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ เพราะพื้นที่กลางช่วยเผยให้เห็นความคิดของความขัดแย้งต่างๆ ได้ปรากฎตัวต่อที่สาธารณะ ให้เกิดกระบวนการสื่อสาร เกิดการพูดคุย ยอมรับฟัง การหาฉันทามติที่พอเพียงเพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้ รายงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสรุปความจากการบรรยายสาธารณะ “เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส: การเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ" โดยดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทาวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) อดีตผู้อำนวยการองค์การสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ หนึ่งในงานกิจกรรมวิชาการใน "งานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้" ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555

 

การสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อหาทางออกของความรุนแรง:
ความคาดหวัง บทบาทสื่อทางเลือกชายแดนใต้ 

 

อารีดา สาเม๊าะ
ฐิตินบ โกมลนิมิ


ในสังคมที่มีเสรีภาพ คนทุกกลุ่มควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์จากมิติต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน และกลไกทางสังคมกลไกหนึ่งที่จะสร้างสมดุลระหว่างมิติต่างๆ นั้นก็คือ “พื้นที่สาธารณะ” (public sphere) นั่นเอง เนื่องจากคุณสมบัติประการหนึ่งของ “ความเป็นพื้นที่สาธารณะ” ก็คือ ในพื้นที่ดังกล่าว คนทุกคนจะสามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่ และพื้นที่สาธารณะจะต้องทำหน้าที่เป็นกลไกที่เข้มแข็งพอที่จะไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์ส่วนตัวของคนบางคน/คนบางกลุ่มเข้ามาครอบงำได้ ส่วนพื้นที่สาธารณะจะเข้มแข็งได้หรือไม่นั้น ก็ต้องมีเงื่อนไขทางสังคมบางประการมารองรับ คือ การมีเสรีภาพทางความคิดและข้อถกเถียงกันบนหลักเหตุและผลหลายๆ ประเภท ซึ่งปัจจุบัน สังคมยังขาดเงื่อนไขดังกล่าวอยู่

“พื้นที่สาธารณะ” คืออะไร สัมพันธ์กับชีวิตเราและชีวิตการเมืองอย่างไร?

            “พื้นที่สาธารณะ” ตามทัศนะของฮาเบอร์มาส นิยามว่า พื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 'ความรู้สึกเป็นส่วนรวม' (sense of public) พื้นที่เช่นนี้มีความสำคัญมากสำหรับสังคมประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่บุคคลเข้าไปในปริมณฑลนั้นจะมีสถานะเป็น 'ผู้กระทำการ' (actor) ที่มีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในการตัดสินใจ โดยผ่านกระบวนการสื่อสารแบบอภิปรายโต้แย้งกันด้วยการใช้เหตุใช้ผลเชิงการสื่อสาร (communication rationality) เพื่อตัดสินใจหาคำตอบที่ดีที่สุดร่วมกัน มิใช่การตัดสินใจบนฐานอำนาจของบุคคลใดบุุคคลหนึ่งหรือตัดสินใจตามแบบประเพณีที่เคยๆ ทำ ๆ กันมา

            ฮาเบอร์มาส อธิบายพื้นที่สาธารณะต่อยอดแนวคิดจากนักปรัชญารุ่นดั้งเดิม เช่น จอร์จ ฟรีดริช เฮเกล, คาร์ล มาร์กซ์, อันโทนิโอ กรัมชี ฯลฯ ที่แยกพื้นที่ในสังคมออกเป็น 2 ส่วน โดยในแต่ละพื้นที่นั้นมีกลไกวิธีทำงานกันคนละแบบและมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน

            นักปรัชญาเช่นเฮเกลได้แบ่งพื้นที่ในสังคมออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้เกณฑ์เรื่องความเป็นส่วนรวมและส่วนตัว เรื่องราวที่เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมนั้นจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่เรียกว่า 'political society' เช่น เรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งในชั้นต่อมา กรัมชีได้ขยายว่าการทำงานของกลไกรัฐใน political society นี้ ได้แก่ กลไกรัฐด้านการควบคุมปราบปราม (repressive apparatus) เช่น ศาล กฎหมาย ตำรวจ ทหาร รัฐสภา พรรคการเมือง คุก เป็นต้น 

            อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ที่ปัจเจกใช้อย่างเป็นส่วนตัว เรียกว่า 'civil society' เช่น ชีวิตในครอบครัว การทำงาน ชีวิตวัฒนธรรมของบุุคคล ฯลฯ พื้นที่ส่วนนี้ทำงานด้วยกลไกรัฐด้านอุดมการณ์ (ideological apparatus) เช่น การสั่งสอนของศาสนา การปลูกฝังค่านิยมผ่านสื่อมวลชน การอบรมจากพ่อแม่ เป็นต้น

            ขณะที่ ฮาเบอร์มาสเสนอสิ่งที่เรียกว่า 'พื้นที่สาธารณะ' ในศตวรรษที่ 17 นั้น หมายถึง พื้นที่ที่อยู่กึ่งกลาง/เชื่อมต่อระหว่าง political society และ civil society ตัวอย่างรูปธรรมก็คือ ในร้านการกาแฟ ร้านน้ำชา ที่เรารู้จักกันในนาม 'สภากาแฟ' มีการพูดคุยถกเถียงเรื่องราวต่างของสังคม หรือในห้องรับแขก โรงเหล้า เพื่อการพูดคุยถกเถียงกันอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17-18ในยุโรป ซึ่งดูเป็น 'พื้นที่ส่วนตัว' แต่ในพื้นที่เหล่านี้จะมีกลุ่มบุคคลมานั่งพูดคุยถกเถียงกันในเรื่องราวของ 'สาธารณะ' เช่น ปัญหาบ้านเมือง และหากยึดตามความหมายนี้บรรดารายการโทรทัศน์ ในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็สามารถถือได้ว่าเป็น 'พื้นที่สาธารณะ' ตามทัศนะของฮาเบอร์มาสด้วย 

            ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส ระบุว่าเนื้อหาหลักกว่าครึ่งเล่มแรกของหนังสือ The Structural Transformation of the Public Sphere ฮาเบอร์มาสให้น้ำหนักอธิบายถึงพัฒนาการของ 'พื้นที่สาธารณะ' และให้ความสำคัญแก่ยุคสมัยศตวรรษที่ 17-18 เมื่อชนชั้นกลางกระฎุมพีต่อสู้ช่วงชิงอำนาจรัฐได้และครอบครองอำนาจรัฐในช่วงศตวรรษที่ 19 และการค่อยๆ เสื่อมลงมาในเวลาต่อมา โดยสรุปนั้นฮาเบอร์มาสกล่าวถึงในศตวรรษที่ 18 กลุ่มชนชั้นกลาง ปัญญาชนได้สถาปนาตนเองเป็น 'พลเมือง' (citizen) และได้เริ่มสร้าง 'พื้นที่สาธารณะแบบใหม่' ที่เป็นของชนชั้นตนเองขึ้นมา ที่ใช้มากคือ ร้านกาแฟ โรงเหล้า ห้องรับแขก พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตปลอดจากอำนาจของกษัตริย์และศาสนา เนื่องจากสังกัดอยู่ใน civil society 

            เมื่อเวลาผ่านมา หน้าที่ของพื้นที่สาธารณะในยุคนี้ การพบปะพูดคุยของกลุ่มผู้สนทนาต้องการให้ผลลัพธ์จากการพูดคุยนั้นแปรออกไปเป็นการกระทำด้วย ดังนั้น พื้นที่สาธารณะจึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลางไปด้วย เพราะเป็นช่องทางหนึ่งให้ชนชั้นกลางได้เข้ามามีส่วนร่วมมีสิทธิ์เสียงในชีวิตสาธารณะ (public life) และยังสามารถเป็นช่องทางการตรวจสอบ/การคานอำนาจรัฐบาลในขณะนั้นด้วย และเงื่อนไขการเกิดและใช้พื้นที่สาธารณะแบบใหม่นี้มีปัจจัยสำคัญกับการเกิดขึ้นของสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์และขยายตัวในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 หนังสือพิมพ์กลายเป็นศูนย์กลางของการป้อนข่าวสาร (ขาเข้า) รวมทั้งเป็นเวทีการแสดงออก (ขาออก) ของกลุ่มด้วย ทำให้มีลักษณะของการสื่อสารแบบสองทาง และกระจายตัวรอบทิศ

            ฮาเบอร์มาสสรุปว่า พื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางในศตวรรษที่ 17-18 ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นกลางในการโค่นล้มสังคมแบบศักดินาในหลายๆ ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เป็นต้น จนสามารถสร้างสังคมประชาธิปไตยขึ้นมาได้

ข้อจำกัดและ 'ความเสื่อม' ของพื้นที่สาธารณะ

            อย่างไรก็ตาม ดร.โรเปอร์ส ชี้ให้เห็นข้อจำกัดบางประการเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากเป็นมุมของอุดมการณ์มากกว่าที่เป็นความคิด และกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ คือนายทุนหรือกลุ่มคนที่มีทรัพย์สิน มีการศึกษา รวมทั้งการขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ก็อยู่เพียงในมือของคนกลุ่มน้อย ที่มีบทบาทในการควบคุม เป็นเจ้าของ ดูแลเนื้อหาของสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ 

“ตอนต้นของงานเขียน ฮาเบอร์มาส ให้ความสำคัญเกี่ยวกับศตวรรษที่ 18ที่เป็นช่วงการขยายตัวของพื้นที่สาธารณะ แต่ตอนท้ายของงานเขียนจะกล่าวถึงความเสื่อมถอยของพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งมีข้อถกเถียงว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แล้วมีการตั้งคำถามในเวลาต่อมา จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการฟื้นคืนของพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมาให้ได้”

            ดร.โรเปอร์ส สรุปปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสื่อมของพื้นที่สาธารณะ ประการแรก คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะเอง กล่าวคือ ยิ่งมีความขยายตัวของพื้นที่สาธารณะเท่าใด ยิ่งมีผู้ที่เข้ามาร่วมใช้พื้นที่มากขึ้น ย่อมก่อเกิดสังคมการเมืองในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว อาทิ ชนชั้นกลางที่มีอำนาจรัฐในมือก็แปลงความหมายของพื้นที่สาธารณะที่เคยเป็น 'เขตพูดคุยเรื่องการเมือง' ให้กลายเป็น 'เขตปลอดการเมือง' แล้วเปลี่ยนพื้นที่จากมิติการเมืองสู่มิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เช่น การสร้างศูนย์การค้า สวนสนุก โรงภาพยนตร์ ฯลฯ ทำให้การรวมตัวจำนวนมากของผู้คนในพื้นที่สาธารณะกลายเป็นการหาความสนุกสนาน แสวงหาความรู้ การจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น 

            เมืื่อพื้นที่และวิธีคิดของการใช้พื้นที่ถูกตัดแต่งไปจากเดิมจนสิ้นสภาพ ย่อมทำให้ “ความเป็นพลเมือง” ที่เคยมีการส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน กลายเป็น “ผู้บริโภค (ทางการเมือง)” และผู้รับสารที่เฉื่อยชา แม้จะเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะต่างๆ แต่ก็ไม่มีการถกเถียง ไม่มีการเข้าไปร่วมในเหตุการณ์สาธารณะนั้นทั้ง 3 มิติ คือ มิติความเข้าใจ (ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้) มิติอารมณ์ความรู้สึก (ไม่รู้สึกอะไรในเรื่องนี้) และมิติการกระทำ (ไม่รู้จะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้) มากกว่านั้น ยังทำให้เกิด 'ระบบตัวแทน' หรือ 'ลัทธิรับทำแทน' ก็คือตัวแทนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง พวกมืออาชีพทางการเมืองเข้ายึดพื้นที่ ฮาเบอร์มาสเรียกว่า 'spatial-interest group' หรือ 'Knowledge broker' ตัวอย่างเช่น พวกนักการเมืองมืออาชีพ พวกล็อบบี้ยีสต์ ราษฎรอาวุโส นักวิเคราะห์ข่าวการเมืองของสื่อมวลชนประเภทต่างๆ[1] แง่นี้เอง การใช้พื้นท่ีสาธารณะเพื่อคุยกันแบบตัวต่อตัวหรือสื่อสารในแบบที่ใช้ในพื้นที่สาธารณะในแบบเก่าลดลงแทบไม่เหลือเค้าลางเดิม และคำถามต่อเรื่องนี้คือ ความคิดเห็นของกลุ่มมืออาชีพเหล่านี้สอดคล้องกับผลประโยชน์คนส่วนใหญ่หรือไม่ หรือในอีกด้านหนึ่ง พลังความคิดของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนี้มีน้ำหนักมากพอที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เป็นจริงหรือไม่

            ประการที่สอง การเกิดขึ้นของสื่อสารมวลชน (Mass media) ที่ช่วงหลังถูกบรรษัท ธุรกิจยึดครอง ประกอบการขยายตัวของนักวิชาการเกี่ยวกับการสื่อสารในช่วงหลังมีมากขึ้น ทำให้เกิดการแยกตัวเพื่อผลิตสื่อของตัวเอง ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป้าหมายหลักคือการมามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เรียกว่าเป็น 'political press' เมื่อสังคมเปลี่ยนไปสื่อก็เปลี่ยนแปลงตัวเองตามกัน โดยเปลี่ยนเป้าหมายไปเป็นเพื่อการค้าที่เรียกว่า 'commercial press' ทำให้หนังสือพิมพ์และสื่มวลชนหมดบทบาทในการสร้างพื้นที่สาธารณะไปทีละเล็กละน้อย

            ประการที่สาม พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ทางความคิดเห็นหรือประชามติความคิดเห็น โดยผ่าน 'เครื่องมือ' การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้เป็นพื้นที่ความคิดเห็นของสาธารณะ ต่างจากเดิมที่เกิดจากการพูดจา หารือตัวต่อตัว คนต่อคน แต่แบบใหม่คือการใช้ 'แบบสำรวจความคิดเห็นโดยทั่วไป' ซึ่งมาจากการถามรายบุคคลแล้วนำมาอธิบายเป็นแบบส่วนรวม

คำถามที่หาคำตอบยาก “ทำอย่างไรให้เกิดสังคมประชาธิปไตย?”

            ข้อสรุปของฮาเบอร์มาสมีเยอะมาก แต่ ดร.โรเปอร์สได้สรุปส่วนที่สำคัญที่สุด คือ คำถามของฮาเบอร์มาสที่ทิ้งค้างไว้เป็นเวลานานแล้ว “ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดสังคมที่ดี สังคมประชาธิปไตย ให้เหมือนที่เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 18”

            หากกลับไปอ่านแนวคิดของ 'เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส' ดร.โรเปอร์ส ระบุว่ามีคำตอบบางประการแต่ไม่ทั้งหมดคือ ขึ้นอยู่กับทักษะของประชาชนที่จะสร้างพื้นที่ให้คนมีส่วนร่วมหลากหลายฝ่าย และการเข้าร่วมอย่างมีอิสระ สำหรับการสร้างพื้นที่สาธารณะและสร้างวาทกรรมทางการเมืองให้เกิดขึ้นใหม่ การสร้างพื้นที่เหล่านี้ขึ้นมา มาจากการอาศัยการพูดคุยตัวต่อตัว คนต่อคน และใช้การกระทำเชิงการสื่อสาร (communication actions) เข้ามาประกอบด้วย ทั้งสองส่วนจึงจะสามารถสร้างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เพื่อเกิดสังคมประชาธิปไตยได้ 

            “แล้วโอกาสเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นไปได้หรือไม่?”

             ดร.โรเปอร์ส อธิปรายสรุปว่า ความเห็นส่วนใหญ่มีความขัดแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งมองว่า การสื่อสารในปัจจุบันมีความฉาบฉวย รายงานข่าวสารเพียงผิวเผิน ทำให้สังคมเกิดการย้อนกลับไปสู่ระบบศักดินาในพื้นที่สาธารณะ ทำให้เกิดปัญหาต่อสังคมเป็นอย่างมาก อีกฝ่ายมองว่าsocial media new mediaและalternative mediaสื่อออนไลน์ ทั้งหลาย กำลังสร้างชัยชนะ ยึดพื้นที่คืนมาได้ และสร้างการเมืองใหม่ในพื้นที่สาธารณะขึ้นมา ซึ่งทั้งสองเป็นความเห็นที่มีการถกเถียงและขัดแย้งกันอยู่

            งานของฮาเบอร์มาส ตอบโจทย์ข้อถกเถียงเรื่องพื้นที่สาธารณะอย่างไรบ้าง ซึ่งมี 3ประการ

  1. จากทฤษีการกระทำเชิงการสื่อสาร (Therory communication action) เป็นแนวทางชี้นำให้เกิดการปกป้องพื้นที่สาธารณะได้ สำหรับฮาเบอร์มาสแล้ว คำถามที่จำเป็นสำหรับการจัดระบบสังคม การเมือง และประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ คือ การกระทำเชิงสื่อสารที่สามารถจัดวางความสัมพันธ์ระหว่าง “ระบบ” (system) ของอำนาจและทุน กับ “โลกแห่งชีวิต” (lifeworld) ที่รวมเอาทั้งปริมณฑลส่วนตัวและส่วนรวมที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว สังคม วัฒนธรรม ศาสนาของบุคคลเอาไว้ด้วยกันได้อย่างไร? ทำอย่างไร “พื้นที่สาธารณะ” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่กึ่งกลาง/เชื่อมต่อระหว่าง political society และ civil society ไม่ถูกครอบงำโดย “ระบบ” ทว่ายังรักษาความเป็นอิสระของปัจเจกไว้ได้


      

  2. การทำให้ความเป็นสมัยใหม่สมบูรณ์ขึ้น การสืบทอดแนวคิดของอิมมานูเอล คานท์ และนักปรัชญาสำนักแสงสว่างทางปัญญา (Endlightenment) ซึ่งฮาเบอร์มาสตีความว่า กระบวนการความเป็นสมัยใหม่ การจะปลดปล่อยมนุษย์ออกจากค่านิยมแบบเก่าสู่โลกใหม่ และอยู่ร่วมกันในโลกที่หลากหลายทางวัฒนธรรม จำเป็นต้องเรียนรู้ 'เหตุผลของการกระทำ' และให้ความสำคัญเรื่องความเชื่อมโยงระหว่าง 'การทำงานของสถาบันทางสังคม' (เช่น สถาบันรัฐ กฎหมาย การเมือง) กับ 'การก่อรูปอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล' โดยผ่านการทำงานของตัวกลางต่างๆ โดยเฉพาะ 'การสื่อสาร' 
     
  3. วาทกรรมแห่งจริยธรรม ส่วนประกอบขั้นพื้นฐานหนทางแก้ไขความขัดแย้ง สืบต่อจากแนวคิดของคานท์  ฮาเบอร์มาส เห็นว่า เรื่องการใช้เหตุผลได้เข้าทะลุทะลวงแม้แต่คำอธิบายเกี่ยวกับจริยธรรมมนุษย์ เขาจึงประสานแนวคิดเรื่องจริยธรรมเข้ากับเรื่องการใช้ภาษาด้วย

สื่อทางเลือกชายแดนภาคใต้สร้างพื้นที่สาธารณะหาทางออกของความรุนแรง? 

            จากแนวคิดฮาเบอร์มาสสู่การวิพากษ์สื่อทางเลือกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.โรเปอร์ส ระบุว่า หากอ้างอิงหลักคิดสำคัญของฮาเบอร์มาสก็จำเป็นต้องพูดถึงการส่งเสริมการเกิดสันติภาพ ความยุติธรรมในพื้นที่ โดยสร้างพื้นที่สาธารณะ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกคน เพื่อให้หลุดพ้นจากการใช้ความรุนแรงหรือการใช้อำนาจบังคับ ครอบงำ ผู้คนในพื้นที่มีอิสระ เสรีภาพในการออกแบบพื้นที่ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดอนาคตในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ จึงเชื่อมั่นว่า ฮาเบอร์มาสกำลังอวยพรให้สื่อทางเลือกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบความสำเร็จ ในการสร้างพื้นที่สาธารณะให้เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ และสามารถกำหนดวาระข่าวสารได้!

            คำพูดสุดท้ายของฮาเบอร์มาสคือ “No one is free ,Until we are all Free” (จากหนังสือ Religion and Modernity: Essays on Reason, God and Modernity. Cambridge 2002) อธิบายความได้ว่า "ไม่มีใครเป็นอิสระ จนกว่าเราทุกคนเป็นอิสระ”

            ผู้เข้าร่วมฟังบรรยายสาธารณะมีคำถามแลกเปลี่ยน อาทิ “พื้นที่สาธารณะจากแนวคิดของฮาเบอร์มาส คือ สื่อเป็นหนึ่งเดี่ยว (Single Public Sphere) แต่ในโลกยุคสมัยใหม่ที่ สื่อทางเลือกมากขึ้น จะทำให้การมีพื้นที่เดียวแตกกระจายหรือไม่ 

            ดร.โรเปอร์ส กล่าวว่า “การเกิดของสื่อใหม่ไปเสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่สาธารณะ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่ใช่ความกระจัดกระจายไม่เป็นเอกภาพ แต่เป็นการให้พื้นที่แก่ปัจเจกบุคคลมากขึ้นที่จะมาร่วมกันใช้พื้นที่สาธารณะโดยตรง เป็นการเสริมสร้างความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะมากกว่า และในยุโรปก็มีกระบวนการทางพรรคการเมืองที่มีความสนใจในเครือข่ายสังหรือSocial mediaมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีความสำคัญในสังคมมากขึ้น”

            อีกคำถามที่น่าสนใจ “สื่อกับคนชายขอบ ช่องว่างระหว่างเทคโนโลยี จะทำให้เกิดความห่างระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนชนบทมากขึ้นหรือไม่ พื้นที่สาธารณะจะเข้ามีส่วนในแก้ปัญหาหรือเชื่อมต่อระหว่างกันอย่างไร เมื่อต้องมีการจ่ายเพื่อการเข้าถึงระดับหนึ่ง?”

            ดร.โรเปอร์ส อธิบายว่าน่าจะต่างกันอย่างมาก “ในประการแรก การมีส่วนร่วมของsocial mediaที่มีบทบาทอย่างมากในกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย คนเข้ามาดูเป็นล้านคลิก เข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 21ความเป็นประชาธิปไตยมีสูงกว่ามาก อีกส่วนคือ ความเป็นโลกาภิวัฒน์ ที่มีกระบวนการขับเคลื่อนระดับโลกSocial mediaจึงทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมมากกว่าแต่ก่อน พูดได้ว่าSocial mediaมีส่วนร่วมมากกว่า” อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่อง 'พื้นที่สาธารณะ' แบบที่ต้องมีลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ที่จะมาพบปะกันในโลกจริงๆ นั้น อาจจะคลี่คลายออกไปเป็นการโต้แย้งอภิปรายกันใน 'พื้นที่สาธารณะในโลกเสมือน' (virtual public sphere) [2]

            และคำถามสำคัญ “สังคมที่แตกต่างระหว่างความคิดเห็นของคนมุสลิมและพุทธที่ จะสร้างcritical massอย่างไร?” ดร.โรเปอร์ ยืนยันว่า เรายิ่งต้องการพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้นำไปสู่การสร้างพื้นที่ก้าวพ้นวาทกรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเอกเทศ พื้นที่สาธารณะต้องสร้างพื้นที่เพื่อให้เกิดการก้าวข้าม ต้องมีการสร้างพื้นที่แบบร่วมกันสร้างวาทกรรมโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจ หรือการควบคุมหรือการสั่งการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฮาเบอร์มาสยืนยันเป็นอย่างยิ่ง และจากไดอาแกรมที่แสดงอยู่นั้น เห็นได้ว่า พื้นที่กลางคือพื้นที่สังคมจะสร้างความสมดุละหว่างพื้นที่อื่นๆ คือ พื้นที่ของรัฐ พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สังคมวัฒนธรรม ศาสนา ฯ กระบวนการเหล่านี้ จะสามารถทำให้เกิดความสมดุลของพื้นที่อื่นๆ ต่อสาธารณะได้

......................

 

ภาพประกอบโดย อิบรอเฮ็ม มะโซ๊ะ

 อ้างอิง
[1] อธิบายความประกอบจากสายธารนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับสื่อสารศึกษา, น.381. 
[2] อ้างอิงคำอธิบายประกอบจากหนังสือสายธารนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับสื่อสารศึกษา, น.388.