Skip to main content
 
คณะทำงานสร้างพื้นที่สันติภาพจากคนใน
[Insider Peacebuilders Platform, IPP]
28 กุมภาพันธ์2557
 
 
 
การลงนามในเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process)  ระหว่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยและขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani -- BRN ) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยืดเยื้อมากว่า 10 ปี การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนสำคัญของรัฐบาลมาเลเซียซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) พัฒนาการนี้ทำให้แม้แต่คนในพื้นที่เองก็ยังประหลาดใจ มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ตลอดระยะเวลาหลายเดือนต่อจากนั้นถึงข้อบกพร่องและอุปสรรคนานัปการที่อาจทำให้กระบวนการดังกล่าวต้องล้มเหลวไป แต่ในอีกด้านหนึ่งพลวัตของกระบวนการพูดคุยสันติภาพยังส่งผลให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่ทางการเมืองที่เพิ่มการถกเถียงในประเด็นใจกลางของความขัดแย้งที่ชายแดนใต้มากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้จากการจัดกิจกรรมของภาครัฐและภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่  ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกอย่างสันติ
 
นับตั้งแต่มีการลงนามเป็นต้นมา ตัวแทนของรัฐบาลไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นได้พบปะกันอย่างเป็นทางการสามครั้งที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และมิถุนายน  นอกจากนี้ยังได้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการผ่านผู้อำนวยความสะดวกอีกหลายครั้ง ในช่วงแรกๆ สื่อมวลชนและสาธารณชนให้การตอบรับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพไปในทางบวก แต่ต่อมาก็เริ่มเกิดความคลางแคลงใจ เมื่อกระบวนการดังกล่าวดูจะไม่สามารถส่งผลให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงได้ คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างออกมาสื่อสารกับสาธารณชนมากกว่าจะพูดคุยกับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างจริงจัง ความคลางแคลงใจยิ่งพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน หลังจากที่ผู้อำนวยความสะดวกได้แถลงถึงความเข้าใจร่วมกันในการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน (Ramadan Peace Initiative) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ซึ่งแม้จะเป็นสัญญาณที่ดีในตอนเริ่มแรก แต่กลับต้องประสบกับความล้มเหลวในเวลาต่อมา
 
แต่กระนั้นก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงเจตจำนงที่จะเดินหน้ากระบวนการสันติภาพต่อไป  โดยต่างแสดงท่าทีว่าต้องการที่จะแสวงหาโอกาสและวิธีการที่จะผลักดันให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริงให้ได้  ในขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็สะท้อนความจริงจังของตนเองผ่านการจัดทำเอกสารเพื่ออธิบายข้อเรียกร้องเบื้องต้นห้าประการและเรียกร้องที่จะได้รับการตอบรับจากฝ่ายทางการไทย “ในหลักการ” ก่อนที่จะเดินหน้าพูดคุยและเจรจาสันติภาพต่อไป  ส่วนฝ่ายรัฐไทยก็พยายามรักษาช่องทางการพูดคุยที่เป็นทางการดังกล่าวให้มีความต่อเนื่องมากที่สุด พร้อมกับการเรียกร้องหลักประกันผ่านข้อเสนอลดความรุนแรงอย่างจริงจัง แม้ว่าสถานการณ์ในรอบหนึ่งปีหลังการลงนามจะได้เดินมาถึงสภาวะชะงักงัน โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถจะนัดหมายให้มีการพูดคุยได้อีกมาเป็นระยะเวลา 7 เดือนแล้ว  โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือปัญหาวิกฤตการณ์การชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การชุมนุมได้กดดันให้รัฐบาลต้องตัดสินใจยุบสภา และการเคลื่อนไหวต่อต้านและขัดขวางการเลือกตั้งทำให้ผลของการเลือกตั้งยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้ตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น วิกฤตทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ซึ่งกินระยะเวลายาวนานได้ส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของสถาบันทางการเมืองหลักๆ ของรัฐไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าฝ่ายขบวนการมลายูปาตานีเองก็มีความคิดเห็นขัดแย้งภายในต่อการใช้แนวทางการเมืองโดยผ่านการพูดคุยเจรจากับรัฐ  แต่ถึงกระนั้นก็ยังถือได้ว่ายังมิได้มีการยุติการพูดคุยในช่องทางที่เป็นทางการ เพราะยังมิได้มีการสื่อสารให้ยกเลิกการพูดคุยอย่างเป็นทางการผ่านผู้อำนวยความสะดวกตามข้อตกลงที่กำหนดร่วมกันในช่วงแรกของการพูดคุย แม้ว่าสภาพแวดล้อมต่างๆ จะดูเหมือนไม่เอื้ออำนวยต่อการพูดคุยสันติภาพในช่วงนี้ แต่เราก็หวังว่ากระบวนการสันติภาพจะดำเนินต่อไป เมื่อการเมืองในกรุงเทพฯ มีเสถียรภาพมากขึ้น การสรุปบทเรียนของการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมาจะมีส่วนสำคัญในการทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้ในอนาคตกระทำได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
 
เราจึงขอใช้โอกาสนี้สะท้อนภาพของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมาและสถานการณ์ในปัจจุบันผ่านเอกสารเชิงนโยบาย เพื่อวิเคราะห์ถึงประเด็นที่กำลังท้าทายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและนำเสนอแนวความคิดเพื่อผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกเราเป็นนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสันติภาพซึ่งต้องการเสนอแนะแนวทางเพื่อเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ  ตลอดจนทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งได้รับความเป็นธรรม เราเชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้ ดังที่ได้เห็นจากบทเรียนจากพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆ เช่น กรณีไอร์แลนด์เหนือ อาเจะห์ และมินดาเนา
 
ในส่วนแรกของเอกสารเชิงนโยบายนี้จะอธิบายถึงความสำเร็จที่ผ่านมาและข้อบกพร่องของกระบวนการสันติภาพ   ส่วนที่สองจะเป็นการวิเคราะห์แปดประเด็นสำคัญที่มักเป็นอุปสรรคต่อความพยายามสร้างสันติภาพในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศ (Subnational Conflicts) ซึ่งความรุนแรงภาคใต้นับว่าเข้าข่ายความขัดแย้งประเภทนี้ ส่วนที่สามเป็นข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่นี้ให้เป็นระบบและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นทั้งจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายและสาธารณชน เพื่อที่จะทำให้กระบวนการนี้แข็งแกร่งและสามารถจัดการและรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะต้องเผชิญในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น 
 
 
1. คุณประโยชน์และอุปสรรคของกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา
 
 
ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมานับเป็นเอกสารฉบับแรกที่ประกาศอย่างชัดเจนว่ารัฐไทยและขบวนการปลดปล่อยมลายูปาตานีพร้อมที่จะแสวงหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน รัฐบาลไทยได้รับรองความปลอดภัยกับตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นในการเข้าร่วมการพูดคุยครั้งนี้  ในขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยอมรับว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้น “ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” โดยที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมให้มาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก   
 
การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่ามีสิ่งที่คุณประโยชน์ (assets) เจ็ดประการ ดังต่อไปนี้
 
(1) ข้อมูลที่ทางฝ่ายตัวแทนของขบวนการปลดปล่อยมลายูปาตานีได้สื่อสารกับสาธารณะได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็น พูโล และบีไอพีพี จำนวนหนึ่งซึ่งมีนัยสำคัญได้ให้การสนับสนุนการพูดคุยอย่างชัดเจน การแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนของกลุ่มติดอาวุธในครั้งนี้นับเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ
 
(2) การยอมรับให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกเป็นการสร้างหลักประกันว่าหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของความขัดแย้งในฐานะที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในฐานะฝ่ายที่สาม (third party) ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายจะยังไม่มั่นใจในความเป็นกลางที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (impartiality) ของผู้อำนวยความสะดวก และอาจมองว่ามาเลเซียเข้ามากำหนดเรื่องต่างๆ มากไป แต่การมีฝ่ายที่สามเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการสามารถดำเนินไปได้
 
(3) การกำหนดองค์ประกอบของสมาชิกที่เข้าร่วมการพูดคุยมีความยืดหยุ่น เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถเพิ่มเติมผู้เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญในบางสาขาด้วย
 
(4) ตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นได้แสดงให้เห็นว่าสามารถประสานกับสภาองค์กรนำ (Dewan Pimpinan Parti - DPP) และควบคุมสั่งการกลุ่มปฏิบัติการทางการทหารในพื้นที่ได้ในระดับที่มีนัยสำคัญ ดังจะเห็นได้จากสถิติของความรุนแรงต่อเป้าหมายพลเรือนผู้ได้ลดลง ภายหลังจากที่คณะผู้แทนพูดคุยฝ่ายไทยเสนอให้กลุ่มบีอาร์เอ็นหลีกเลี่ยงการโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์  หรือ “เป้าหมายอ่อน (soft targets)” และเขตพื้นที่ชุมชนเมืองในการพูดคุยครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2556 นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าเหตุความรุนแรงได้ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงประมาณสิบวันหลังจากที่คู่ขัดแย้งได้มีการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอนในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556  แม้ว่าความรุนแรงจะพุ่งสูงขึ้นในภายหลัง เมื่อฝ่ายบีอาร์เอ็นร้องเรียนว่าฝ่ายรัฐไทยได้ละเมิดข้อตกลง
 
(5) พื้นที่ของบทสนทนาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้เปิดกว้างขึ้นอย่างสำคัญ ประเด็นที่เคยเป็นเรื่องต้องห้าม เช่น เรื่องการปกครองตนเองและ “เอกราช” (Merdeka) ได้ถูกหยิบยกมาอภิปรายในพื้นที่สาธารณะ  การอภิปรายในเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องเอกราช อย่างเปิดเผยนับเป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงหลังการพูดคุยเปิดฉากขึ้น  บทสนทนาเหล่านี้เกิดขึ้นผ่านรูปแบบของวิดีโอบนยูทูบที่เผยแพร่โดยฝ่ายบีอาร์เอ็น และเวทีอภิปรายสาธารณะ ได้มีการถกเถียงถึง “ทางออก” จากความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ การขยายตัวของบทสนทนาเหลานี้ได้สร้างให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง พวกเขากล้าที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่มีความอ่อนไหวมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นผลดีต่อการเตรียมพร้อมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมหาหาทางออกจากความขัดแย้งรุนแรงนี้ในอนาคตข้างหน้า แม้บางคนอาจมองด้วยสายตาที่คลางแคลงสงสัยหรือห่วงกังวลว่าการกระทำเหล่านี้อาจจะขัดรัฐธรรมนูญไทย แต่บทเรียนของกระบวนการสันติภาพในที่อื่นๆ ชี้ให้เห็นว่าการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงในเรื่องเหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะเอื้อให้เกิดการพูดคุยถึงใจกลางของความขัดแย้งอย่างจริงจังได้  ทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องปกปิดว่าสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นในอนาคตคืออะไร สิ่งที่เราควรได้เรียนรู้จากกระบวนการสันติภาพที่ประสบความสำเร็จก็คือ ในท้ายที่สุดแล้วทุกฝ่ายต่างจำเป็นต้องยอมถอยและพร้อมที่จะยอมรับแนวทางประนีประนอม
 
(6) การลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนนั้นถือเป็นครั้งแรกที่การริเริ่มลดการใช้ความรุนแรงได้เปิดเผยต่อสาธารณชน แม้ดูเหมือนว่าข้อตกลงจะได้ผลในช่วงแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เกิดการพลิกผันในช่วงเวลาต่อมาที่ความรุนแรงได้พุ่งสูงมากขึ้น นำไปสู่การกล่าวโทษกันไปมาว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อความล้มเหลวดังกล่าว
 
(7) แม้คู่ขัดแย้งได้แสดงความผิดหวังต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีความต้องการที่จะให้กระบวนการสันติภาพดำเนินต่อไป ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการริเริ่มกระบวนการสันติภาพที่ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่แม้ยังคงเผชิญอุปสรรคมากมาย ซึ่งรวมไปถึงความรุนแรงที่ยังคงดำรงอยู่ แต่การแสดงเจตจำนงที่จะพูดคุยต่อไปแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายตระหนักดีว่าความขัดแย้งจะต้องยุติด้วยการเจรจา เพราะไม่อาจมีฝ่ายใดที่จะชนะด้วยการทหารอย่างเบ็ดเสร็จ  นอกจากนี้ นักการเมืองบางคนยังเห็นว่าหากความขัดแย้งยังดำเนินต่อไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อรัฐเมื่อประเทศไทยต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558  
 
ข้อบกพร่องของกระบวนการสันติภาพสามารถสรุปได้เก้าประเด็น ดังนี้
   
(1) ข้อห่วงใยสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดตั้งแต่แรกคือเรื่องการนำเอาฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพูดคุยอย่างครอบคลุม (Inclusivity of the parties) คำถามคือ ผู้เข้าร่วมการพูดคุยได้รับฉันทานุมัติจากทุกกลุ่มเพียงพอจะทำให้เชื่อได้ว่าข้อตกลงใดๆ ในการพูดคุยจะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงหรือไม่  ในส่วนของรัฐไทย คำถามนี้สัมพันธ์กับเรื่องบทบาทของกองทัพในกระบวนการพูดคุย  เพราะที่ผ่านมากองทัพไม่ได้เข้าไปมีบทบาทหลักในการกำหนดท่าทีการพูดคุยของฝ่ายไทย แต่ทว่าการดำเนินการในทางปฏิบัติหลายๆ อย่าง เช่น การปรับกำลังทหารในพื้นที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกองทัพ ขณะที่คำถามในฝ่ายขบวนการปลดปล่อยมลายูปาตานีคือ สมาชิกบางส่วนในกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ยังไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพจะกระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือทำลายบรรยากาศของการพูดคุยหรือไม่
 
(2) ทั้งสองฝ่ายต่างมีความเข้าใจในสาระสำคัญและวิธีการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ตัวแทนฝ่ายรัฐไทยมุ่งเน้นไปที่การลดและยุติเหตุการณ์ความรุนแรง (หรือที่เรียกว่า “สันติภาพเชิงลบ” [negative peace]) ตัวแทนฝ่ายขบวนการปลดปล่อยมลายูปาตานีเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องยอมรับรากเหง้าของความขัดแย้งที่หยั่งลึกในประวัติศาสตร์การเมืองของพื้นที่เสียก่อน แล้วจึงค่อยพัฒนาวาระไปสู่การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (หรือที่เรียกว่า “สันติภาพเชิงบวก” [positive peace])   
 
(3) ทั้งสองฝ่ายต่างอึดอัดต่อวิธีการที่อีกฝ่ายสื่อสารและอธิบายเนื้อหาการพูดคุยสันติภาพกับผู้สนับสนุนของฝ่ายตนเองและสาธารณชน ฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่พอใจที่ฝ่ายรัฐไทยนำรายละเอียดของการพูดคุยในห้องประชุมที่ปิดลับไปสื่อสารต่อสาธารณะ  รวมถึงการกล่าวย้ำถึงถึงประเด็นที่ “ไม่อาจต่อรองกันได้” (non-negotiables) ในขณะที่ฝ่ายรัฐไทยเองก็ไม่พอใจที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นออกมาเสนอข้อเรียกร้องอันแข็งกร้าวผ่านทางยูทูป โดยมิได้สื่อสารผ่านการพูดคุยภายในเสียก่อน บทเรียนของกระบวนการสันติภาพในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าปัจจัยสำเร็จที่สำคัญอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความเข้าใจร่วมกันถึงกติกาในการสื่อสารเนื้อหาการพูดคุยต่อสาธารณะ  ในด้านหนึ่ง กระบวนการสันติภาพจะต้องมีพื้นที่ปิดเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นระหว่างกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะต้องมีพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพูดคุยเพื่อมิให้พวกเขาหวาดระแวงสงสัย การหาจุดสมดุลระหว่างพื้นที่ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและจำเป็นที่ทั้งสองฝ่าย รวมถึงผู้อำนวยความสะดวกจะต้องคิดหา “แนวทางปฏิบัติในการสื่อสาร (Code of Communication)” ร่วมกัน
 
(4) จนถึงขณะนี้ กระบวนการพูดคุยสันติภาพยังคงดำเนินการในวงแคบๆ โดยมีผู้เข้าร่วมไม่กี่คน และยังคงมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ในแต่ละครั้ง ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายได้พบปะกันเพียงระยะเวลาสั้นๆ กลไกที่ปรึกษาของทั้งสองฝ่ายก็ยังแยกกันเป็นคนละส่วน ไม่มีการจัดตั้งกลไกสนับสนุนร่วมกันและไม่มีการประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ การสนับสนุนของสาธารณชนต่อกระบวนการสันติภาพยังคงมีอยู่อย่างจำกัด
 
(5) มุมมองของสาธารณชนและสื่อมวลชนต่อปัญหาชายแดนใต้/ปาตานียังคงไม่ค่อยเอื้อต่อการพัฒนากระบวนการสันติภาพ ที่ผ่านมามักใช้เรื่องของระดับความรุนแรงเป็นเกณฑ์การวัดความสำเร็จ วิธีคิดเช่นนี้มิได้ส่งผลเชิงบวกต่อกระบวนการสันติภาพเท่าใดนัก แม้ว่าจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรวมได้ลดลงและมีการเปลี่ยนเป้าโจมตีไปเน้น “เป้าหมายแข็ง” มากขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการในเชิงบวก แต่ทว่าพัฒนาการดังกล่าวกลับไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนทัศนคติของสาธารณชนและสื่อมวลชนเท่าใดนัก
 
(6) ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนทำให้สังคมไทยในกระแสหลักเกิดความคลางแคลงสงสัยต่อกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ สื่อมวลชนมีส่วนในการกำหนดมุมมองของสังคม  สื่อมักจะรายงานข่าวด้วยการมองว่าฝ่ายรัฐไทยเป็น “ผู้ชนะ” หรือ “ผู้แพ้” และมักจะเสนอภาพว่าบีอาร์เอ็นเป็นฝ่ายรุกในการพูดคุย ในขณะที่ฝ่ายรัฐไทยดูเหมือนจะเป็นฝ่ายตั้งรับ ในขณะที่ทัศนคติของคนมลายูมุสลิมในภาคใต้ต่อกลุ่มบีอาร์เอ็นค่อนข้างหลากหลาย แต่หลายคนก็มีข้อสงสัยถึงความจริงใจของฝ่ายรัฐไทย พวกเขามองว่ารัฐบาลไทยคงจะไม่ยอมสูญเสียอะไรในการเจรจาเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมือง
 
(7) นอกจากนี้ คนไทยพุทธและคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ก็มีความวิตกกังวลต่อกระบวนการสันติภาพเช่นกัน พวกเขาเกรงว่าเสรีภาพและความมั่นคงปลอดภัยของพวกเขาจะถูกกระทบ บางคนไม่พอใจที่รัฐบาลเปิดการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการซึ่งเข้าใจกันว่ามีส่วนในการสังหารคนไทยพุทธจำนวนมาก ผู้คนจำนวนไม่น้อยหวาดกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนของตน หากรัฐบาลไทยอนุญาตให้คนมลายูมุสลิมซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่มีสิทธิในการปกครองตนเอง
 
(8) ประสบการณ์ของกระบวนการสันติภาพที่ประสบความสำเร็จล้วนระบุว่าความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมือง ความมุ่งมั่นและความพร้อมของผู้นำที่จะยอมแลกและประนีประนอมเพียงเท่านั้น แต่ยังจะต้องอาศัยแรงหนุนจากมวลชนของแต่ละฝ่ายอย่างหนักแน่นด้วย ที่ผ่านมา แรงหนุนจากทั้งสองฝ่ายยังค่อนข้างน้อย แม้ว่าภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้จะออกมาขานรับกระบวนการนี้อย่างเต็มที่ และพยายามที่จะทำให้สังคมส่วนใหญ่เข้าใจกระบวนการและจุดประสงค์ของกระบวนการสันติภาพก็ตาม 
 
(9) สุดท้าย ทุกฝ่ายจะต้องตอบคำถามสำคัญว่าการประนีประนอมที่แท้จริงซึ่งได้พิจารณาถึงประโยชน์ ความต้องการ และข้อห่วงใยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดแล้วนั้นจะมีหน้าตาอย่างไร ดังที่กล่าวแล้วว่า กระบวนการสันติภาพที่ประสบความสำเร็จนั้น แต่ละฝ่ายจะต้องยอมถอยให้แก่กันและกัน 
 
หลังจากเดือนรอมฎอน การพูดคุยสันติภาพมุ่งประเด็นไปที่ข้อเรียกร้องห้าประการ ซึ่งฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ยื่นให้กับรัฐไทยผ่านผู้อำนวยความสะดวก ทั้งนี้ ฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องการให้ฝ่ายไทยตอบสนองต่อข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการก่อนที่จะมีการพูดคุยรอบต่อไป ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้มีความชอบธรรมหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
 
ดังนั้น หากจะมีการนำข้อเรียกร้องเหล่านี้มาพิจารณาในบริบทที่กว้างขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ทำกันในกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐกับขบวนการต่อต้านที่เรียกร้องเรื่องสิทธิในการกำหนดชีวิตตนเอง (Self-Determination)
 
 
2. ข้อท้าทายแปดประการสำหรับการสร้างสันติภาพในความขัดแย้งภายในประเทศ
 
 
ข้อท้าทายแปดประการซึ่งมักเกิดขึ้นในแทบทุกกระบวนการสันติภาพสำหรับพื้นที่ที่มีความขัดแย้งภายในของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเรียกร้องการกำหนดใจตนเอง มีดังต่อไปนี้
 
(1) จะคัดเลือกว่าใครมีความชอบธรรมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพอย่างไร?
(2) จะกำหนดบทบาทและหน้าที่ของฝ่ายที่สามในกระบวนการสันติภาพอย่างไร?
(3) นอกเหนือจากฝ่ายที่สามแล้ว จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างไร?  
(4) จะจัดการกับความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วอย่างไร?
(5) จะแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมและสร้างความสมานฉันท์อย่างไร?
(6) จะจัดการกับความแตกต่างภายในของฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพอย่างไร?
(7) เมื่อความไว้วางใจอยู่ในระดับต่ำมาก จะใช้วิธีใดเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพ?
(8) จะเผชิญกับสภาวะไร้เสถียรภาพในระดับประเทศที่ส่งผลต่ออนาคตของกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร?
 
ในส่วนของข้อท้าทายห้าประการแรกนั้นมีความเชื่อมโยงกับข้อเรียกร้องห้าข้อของบีอาร์เอ็น แต่เราได้นำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อเน้นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นข้อท้าทายพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการนำเสนอนี้เป็นอิสระจากสิ่งที่บีอาร์เอ็นเสนอ ข้อถกเถียงของเราก็คือ ความพยายามตอบคำถามเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐไทย รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เองด้วยเช่นกัน ส่วนประเด็นเพิ่มเติมอีกสองประการที่ว่าด้วยความแตกต่างภายในและการบรรลุข้อตกลงครั้งแรกภายใต้ภาวะที่มีความไม่ไว้ใจสูงนั้น ก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีภาคใต้โดยตรง
 
(1) จะคัดเลือกว่าใครมีความชอบธรรมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพอย่างไร?
 
โดยปกติแล้วรัฐบาลและหน่วยงานหลักๆ ของรัฐย่อมเป็นตัวแทนในการพูดคุยสันติภาพ ความท้าทายจึงอยู่ที่การคัดเลือกฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐมากกว่า หากมองการเมืองตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ฝ่ายรัฐนั้นย่อมต้องการที่จะสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจสั่งการในการก่อเหตุรุนแรงและผู้ที่เชื่อว่า “เป็นตัวแทน” ของมวลชนจำนวนหนึ่งที่มีนัยสำคัญ ในบางครั้ง ฝ่ายรัฐก็อาจจะเชิญผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาร่วมพูดคุย โดยถือว่าเป็น “การมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม (inclusivity)” ซึ่งแท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงกลยุทธในการสร้างความแตกแยกในฝ่ายตรงกันข้าม ในทางกลับกัน ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยมลายูปาตานีเองก็อาจจะอ้างสถานะความเป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวเพื่อป้องกันมิให้เกิดคู่แข่งขันในฝ่ายเดียวกัน
 
เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพเริ่มต้นได้ ฝ่ายต่างๆ จะต้องตกลงกันให้ได้ว่าใครบ้างที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยบ้าง  ประสบการณ์จากกระบวนการสันติภาพในต่างประเทศแสดงให้เห็นแนวโน้มว่ายิ่งกระบวนการสามารถดึงฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมได้อย่างครอบคลุมมากเท่าไร ตัวแทนการพูดคุยก็จะมีความชอบธรรมในสายตาของผู้สนับสนุนของตนมากขึ้นเท่านั้น กลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มพูโลในปีกต่างๆ และกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควรจะต้องทำการตกลงกันภายใน นอกจากนี้ ประชาชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่จะต้องเข้าไปมีร่วมส่วนอย่างแท้จริง ฝ่ายขบวนการควรจะพัฒนาฝ่ายการเมืองให้มีศักยภาพ เพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมเจรจาเพื่อสร้างข้อตกลงทางการเมืองกับรัฐไทย
 
สิ่งที่สำคัญคือพึงระลึกไว้เสมอว่า กระบวนการสันติภาพที่ประสบความสำเร็จจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ของคู่ขัดแย้งทังสองฝ่ายด้วย 
 
(2) จะกำหนดบทบาทและหน้าที่ของฝ่ายที่สาม (third parties) ในกระบวนการสันติภาพอย่างไร?
 
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายที่สามได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยระงับข้อพิพาทในความขัดแย้งทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ บทบาทของฝ่ายที่สามมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การทูตแบบเงียบๆ  (discrete shuttle diplomacy), การประชุมผ่านช่องทางอื่นที่ไม่เป็นทางการ (back-channel meetings), การเป็นสักขีพยานและติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงจัดการ ออกแบบ และเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการเจรจา กระทั่ง ในบางครั้งอาจมีบทบาทในการร่างข้อตกลงด้วย  หนังสือวิชาการเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการสันติภาพมักวาดภาพบทบาทฝ่ายที่สามว่าเป็น “การไกล่เกลี่ยที่บริสุทธิ์ (pure mediation)” เป็นตัวแสดงที่เป็นกลาง ปราศจากซึ่งผลประโยชน์และอำนาจ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เราพบว่าผู้ไกล่เกลี่ยจะทำงานได้ผลมากกว่าเมื่อพวกเขามีเดิมพันอยู่ในการยุติความขัดแย้งนั้นด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องได้รับการยอมรับจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายว่ามีความเป็นกลางที่มากพอ
 
บทบาทที่เหมาะสมของฝ่ายที่สามเป็นเรื่องที่คู่ขัดแย้งในแต่ละกรณีสามารถเจรจาต่อรองกันได้ ในบางสถานการณ์ อาจจะต้องมีการปรับบทบาทของฝ่ายที่สามให้สอดคล้องกับความจำเป็นที่เปลี่ยนไป แม้ว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญมักจะแยกบทบาทของผู้อำนวยความสะดวก (facilitators) และผู้ไกล่เกลี่ย (mediators) ออกจากกัน แต่ในทางปฏิบัติ หน้าที่สองอย่างนี้มักจะเหลื่อมซ้อนกัน  ดังนั้น จึงควรทีจะหาข้อตกลงร่วมกันในเรื่องของขอบเขตหน้าที่ (Term of References - TORs) มากกว่าที่จะโต้เถียงว่าจะเรียกฝ่ายที่สามว่าอย่างไร ทั้งนี้ อาจจะพิจารณาถึงการรวมองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายที่สามซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพเข้าด้วยกัน ดังเช่นในกรณีของการจัดตั้งกลุ่มติดต่อประสานงานระหว่างประเทศ (International Contact Group— ICG) ในกรณีของมินดาเนา  โดยสมาชิกของฝ่ายที่สามบางคนอาจมีบทบาทในการพูดคุยนอกกรอบการพูดคุยอย่างเป็นทางการ (ดูข้อท้าทายประการที่ 3)   
 
(3)  นอกเหนือจากฝ่ายที่สามแล้ว จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างไร?  
 
แรงผลักที่ทำให้กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยตรงเรียกร้องการมีส่วนร่วมมาจากสามปัจจัยหลักดังต่อไปนี้ ประการแรก ข้อเรียกร้องเช่นนี้มักมาจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากผลของการพูดคุยสันติภาพโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง คำเรียกร้องของพวกเขามีความชอบธรรมอย่างยิ่ง เพราะพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นคนมลายูมุสลิม คนไทยพุทธ หรือคนไทยเชื้อสายจีน ล้วนเป็นผู้ที่จะต้องได้รับผลกระทบที่เกิดจากการพูดคุยทั้งสิ้น การสนับสนุนจากพวกเขาจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างข้อตกลงการเจรจาที่มีความชอบธรรมและยั่งยืน
 
ประการที่สอง เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการสันติภาพมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงได้ในที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเจตจำนงทางการเมืองที่จริงจังจากทั้งสองฝ่ายในการที่จะเดินหน้า แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้ ควรจะต้องสร้างกระบวนการสันติภาพในหลายช่องทาง (multi-track peace process) ขึ้นมา เพื่อช่วยให้กระบวนการสันติภาพกว้างและลึกมากไปกว่าขอบเขตการพูดคุยที่เป็นทางการ กระบวนการสันติภาพที่ดำเนินการผ่านการพูดคุยระดับสูงทุกๆ 2 – 3 เดือนนั้นเป็นกระบวนการยังอ่อนไหวอยู่สูง ซึ่งพร้อมที่จะถูกขัดขวางหรือถูกยุติลงได้ไม่ยากนัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างช่องทางการสื่อสารและสนทนาในหลากหลายช่องทางระหว่างฝ่ายต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้สื่อสารถึงความคาดหวังและความต้องการของพวกเขาต่อกระบวนการสันติภาพ   
 
ปัจจัยอีกประการที่จะเป็นประโยชน์ คือ การจัดให้มีโครงสร้างการทำงานเพื่อส่งเสริมสันติภาพ (infrastructure for peace support) ที่จะผลักดันและแปรเปลี่ยนเจตจำนงทางการเมืองไปสู่ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม โครงสร้างที่ว่านี้อาจจะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาสำหรับคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายและสำหรับฝ่ายที่สาม  ทั้งนี้จะต้องมีองค์กรที่เป็นอิสระทำหน้าที่ในการเป็นพื้นที่กลางและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด  กลไกเช่นนี้เป็นที่แพร่หลายอย่างมากในการจัดตั้งกระบวนการสันติภาพหลายแห่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ สำนักเลขาธิการสันติภาพ ศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ จุดประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรเหล่านี้ก็เพื่อดึงเอาผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาเข้ามาร่วมกระบวนการ เพื่อศึกษาประสบการณ์และบทเรียนจากพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆ สร้างแรงบันดาลใจ ทักษะ ตลอดจนข้อเสนอทางเลือกสำหรับการหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด   
 
การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องระดมพลังและการมีส่วนร่วมของผู้สร้างสันติภาพที่เป็นคนใน (insider peacebuilders) และพลังของมวลชนผู้สนับสนุนสันติภาพ (peace constituency) จากทุกภาคส่วนของสังคม นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการพูดคุยอย่างเป็นทางการนี้ก็มีความสัมพันธ์และสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพ ข้อเรียกร้องทำนองนี้มักจะมาจากฝ่ายขบวนการต่อต้านรัฐ ดังจะเห็นได้จากข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็น แรงผลักที่ทำให้เกิดข้อเรียกร้องเหล่านี้มาจากความต้องการจะถ่วงดุลอำนาจอันมหาศาลของฝ่ายรัฐซึ่งมีฐานะทางกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ขบวนการต่อต้านรัฐจึงมักจะเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นสักขีพยานในกระบวนการสันติภาพ
 
รัฐหลายแห่งมักไม่ต้องการให้มีการยกระดับความขัดแย้งให้เป็น “ประเด็นสากล”  (internationalization) แต่ความคิดของรัฐก็มักเปลี่ยนไปเมื่อมีการนำข้อตกลงไปปฏิบัติ เมื่อได้เห็นว่าการเข้ามาสังเกตการณ์ของฝ่ายที่สามนั้นเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้ การเสริมสร้างศักยภาพให้กับกลไกภายในให้มากที่สุดเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น
 
(4) จะจัดการกับความเห็นที่แตกต่างสุดขั้วอย่างไร?
 
จากประสบการณ์ของกระบวนการสันติภาพในที่อื่นๆ มักพบว่าในช่วงแรกนั้นฝ่ายรัฐจะไม่พอใจต่อท่าทีของฝ่ายตรงกันข้ามในประเด็นเรื่องรากเหง้าของความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์ และหลักการของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง เนื้อหาประการที่ 4 ในข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นซึ่งระบุถึงเรื่อง “สิทธิความเป็นเจ้าของ/อำนาจอธิปไตย” และ “สิทธิในการกำหนดชีวิตของตนเอง” ของ “ประชาชาติมลายูปาตานี” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ดังนั้น การทำความเข้าใจหรือหาจุดร่วมในเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยเวลา
 
ประสบการณ์ของกระบวนการสันติภาพอื่นๆ ที่เผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันสะท้อนว่าเราควรจะมองข้อเสนอเหล่านี้ว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของกลุ่มชาติพันธุ์ แทนที่จะมุ่งพูดคุยถึงใจกลางของปัญหาความขัดแย้งทันที อาจจะดีกว่าหากจะมีการพิจารณาจังหวะก้าวที่เหมาะสมเพื่อแสดงการยอมรับและเคารพศักดิ์ศรีของอีกฝ่ายหนึ่ง การยอมรับในเรื่องภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความไว้วางใจ  ทางเลือกอีกอย่างหนึ่งก็คือการเสนอตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าเหตุใดคู่ขัดแย้งจึงมองปัญหาจากมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
 
บทเรียนอีกประการหนึ่งจากกระบวนการสันติภาพในต่างประเทศก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ถึงทางตันหรือเผชิญกับประเด็นที่ “ไม่สามารถต่อรองกันได้” ต่างฝ่ายต่างเริ่มเกิดความไม่พอใจและมีแนวโน้มที่กระบวนการสันติภาพจะสะดุดลง ในสภาวะเช่นนี้ แต่ละฝ่ายควรถอยไปคนละก้าวและพิจารณาว่าจะปรับปรุงกระบวนการนี้ได้อย่างไร แทนที่จะจดจ่ออยู่กับประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพียงอย่างเดียว กระบวนการสันติภาพในที่ต่างๆ เช่น ในไอร์แลนด์เหนือ อาเจะห์ หรือมินดาเนา ล้วนต้องเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายกันนี้ ซึ่งในท้ายที่สุด ทุกกระบวนการต่างก็พบทางออกที่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายหลักๆ ที่เกี่ยวข้องได้
 
นักการเมืองและฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพที่ยืดเยื้อมานานมักพบว่าตอนที่เริ่มพูดคุย พวกเขาไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าจะสามารถประนีประนอมในเรื่องจุดยืนที่สำคัญได้ แต่การได้เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยกับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเวลานานและมีความเข้าใจในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้งมากขึ้น รวมถึงการผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดระหว่างทางร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาเริ่มทบทวนจุดยืนและคิดถึงทางเลือกอื่นๆ นอกจากนี้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลให้กับการพูดคุยสันติภาพก็คือการสับเปลี่ยนประเด็นการพูดคุยอยู่เสมอเสมือนกันการซูมภาพระหว่างเรื่องที่เป็นเป้าหมายระยะยาวกับเรื่องเล็กๆ ซึ่งสามารถประนีประนอมกันได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีและช่วยลดระดับของความขัดแย้งในพื้นที่
 
(5)  จะแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมและสร้างความสมานฉันท์อย่างไร?
 
ในข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น  ประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงกับเรื่องการปล่อยตัว “นักโทษการเมือง” ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับรัฐไทย แต่รัฐไทยอาจจะมีข้อจำกัดในการยอมรับข้อเรียกร้องนี้  โดยเฉพาะเงื่อนไขทางกฎหมาย แต่ว่าก็สิ่งที่เป็นไปได้และก็ได้มีการดำเนินการในประเด็นนี้อยู่ นอกเหนือจากข้อเรียกร้องของฝ่ายบีอาร์เอ็นในเรื่องนี้แล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่ง กระบวนการสันติภาพจะต้องพิจารณาถึงปัญหาความยุติธรรมและการสร้างความสมานฉันท์ในหลายประเด็น เราจะสร้างสังคมใหม่ร่วมกันอย่างไรหลังผ่านการสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก  เราจะฟื้นฟูความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างไร ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละฝ่ายจะถูกพิจารณาโดยกระบวนการยุติธรรมหรือไม่อย่างไร จะป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดลอยนวลและจะสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์ได้อย่างไร
 
อันที่จริงมีการตอบประเด็นเหล่านี้ไว้บ้างแล้วในกรณีความขัดแย้งอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีความยากลำบากว่าจะสร้างสมดุลอย่างไรระหว่างความจำเป็นที่จะต้องนำ (อดีต) ผู้ก่อความรุนแรงมาเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพ ความพยายามที่จะเริ่มต้นใหม่และความจำเป็นในการยอมรับอดีต ในภาวะเช่นนี้ มีบทเรียนจากที่อื่นๆ อย่างน้อยสองประการ ซึ่งอาจช่วยตอบคำถามที่ยากๆ เหล่านี้ได้
 
ประเด็นแรก การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) มาใช้ในพื้นที่ความขัดแย้งแทนกระบวนการยุติธรรมปกติ  ซึ่งประกอบไปด้วย การตอบสนองต่อความต้องการของผู้เสียหายจากความรุนแรงและความอยุติธรรมด้วยการแสวงหาและยอมรับความจริง รวมทั้งพยายามเยียวยาพวกเขาในหลายๆ มิติ  (ซึ่งอาจหมายรวมถึงการลงโทษผู้กระทำความรุนแรงต่อพวกเขา) ความพยายามเช่นนี้ได้เกิดขึ้นบ้างแล้วในภาคใต้  ประเด็นที่สอง  การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนและการรับฟังความจริงจากผู้ที่อยู่ในความขัดแย้งเป็นเรื่องสำคัญ วิธีการนี้มักจะพัฒนาไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง (Truth Commissions) แต่กลไกนี้จะเกิดขึ้นได้  เมื่อฝ่ายต่างๆ มีความเข้าใจพื้นฐานตรงกันระดับหนึ่งในเรื่องข้อตกลงในทางการเมือง
 
(6)  จะจัดการกับความแตกต่างภายในฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพอย่างไร?
 
ไม่มีกระบวนการสันติภาพใดที่ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาความแตกต่างภายในของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย และเป็นเรื่องปกติที่กระบวนการนี้มักจะถูกท้าทายโดยผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วม ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการกระบวนการสันติภาพและผู้ที่คัดค้านการใช้หลักการสันติวิธีในการแสวงหาทางออก บางครั้งกลุ่มคนทั้งสามกลุ่มดังกล่าวนี้จะถูกเรียกขานว่าเป็น “พวกบ่อนทำลาย” (spoiler) แต่อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มคนที่คัดค้านหลักการแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธีเท่านั้นที่สมควรจะถูกเรียกว่าเป็นพวกบ่อนทำลาย
 
หากมองจากสภาพความจริงทางการเมือง เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คู่ขัดแย้งมีความเห็นพ้องต้องกันตั้งแต่แรกในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงไปสู่การแสวงหาข้อตกลงทางการเมืองอย่างสันติ แต่ในหลายกรณี แรงจูงใจหลักที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งอยากเริ่มก่อนคือความต้องการสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่อยู่ในฝ่ายเดียวกัน ในหลายแห่ง กระบวนการสันติภาพจึงเป็นการผสมผสานกันอย่างน่าประหลาดใจระหว่างความพยายามลดความรุนแรงระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งกัน (inter-party de-escalation) กับการลดความเป็นปฏิปักษ์กันเองของผู้ที่อยู่ภายในฝ่ายเดียวกัน (intra-party rivalry)
 
นอกจากนั้น สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพก็คือประเด็นความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องการเมืองที่อยู่ในกระแสความสนใจของสาธารณชนมากขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีกระบวนการสันติภาพ  หลายฝ่ายมักจะไม่กล้าพูดถึงความคับข้องหมองใจและข้อเรียกร้องต่างๆ อย่างเปิดเผยเต็มที่ แต่การริเริ่มกระบวนการสันติภาพทำให้พวกเขาเห็นถึงความจำเป็นและโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย ส่วนคนที่พอใจกับสภาวะที่เป็นอยู่อาจจะกังวลว่าข้อตกลงทางการเมืองใหม่อาจทำให้ตนตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็เกิดขึ้นกับกรณีภาคใต้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงควรหาวิธีการจัดการกับประเด็นเหล่านี้ให้กลายเป็นประเด็นการเมือง (politicization) ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ 
 
บทเรียนจากที่อื่นสะท้อนให้เห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้ การสร้างสันติภาพไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะการพูดคุยระหว่างคู่ขัดแย้งเท่านั้น แต่ยังต้องสนับสนุนให้มีการพูดคุยกันเพื่อจัดการกับความขัดแย้งภายในแต่ละฝ่ายด้วย  เราต้องหาวิธีการในการนำเอาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยกันและสร้างพื้นที่กลางขึ้นมา ซึ่งสามารถจะจัดขึ้นได้ในรูปแบบของการปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมในหลายระดับ (ดังที่ได้ทำเป็นแนวทางไว้ในส่วนที่ 3)
 
(7) เมื่อความไว้วางใจอยู่ในระดับต่ำสุด จะใช้วิธีใดเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในตอนเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพ?   
 
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า  ผู้คนส่วนใหญ่มักประเมินความก้าวหน้าของกระบวนการสันติภาพจากการลดลงของความรุนแรง  ดังนั้น ความผิดหวังต่อความล้มเหลวในการลดระดับความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฏอนภายหลังการมีข้อตกลงร่วมกันจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือสถานการณ์อาจทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างรู้สึกหวาดกลัวในเรื่องความปลอดภัย
 
ฝ่ายกองทัพอาจกังวลว่ารัฐไทยจะยอมอ่อนข้อทางการเมืองให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นโดยไม่มีหลักประกันว่าขบวนการจะยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ในขณะที่บีอาร์เอ็นเองก็กังวลว่าเมื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธแล้ว จะไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐไทย ซึ่งความหวาดระแวงต่อกันเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นในกระบวนการสันติภาพ  วิธีการที่เป็นที่นิยมก็คือการนำเอากองกำลังของแต่ละฝ่ายมาร่วมในกระบวนการสันติภาพและส่งเสริมให้มีการจัดทำกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมไปถึงการวางกรอบเพื่อนำไปสู่การลดกำลังทหารและสร้างหลักประกันในเรืองความปลอดภัยร่วมกัน โดยต้องทำควบคู่ไปพร้อมๆ กับการผลักให้การเจรจาในประเด็นทางการเมืองเดินหน้าไป
 
อีกวิธีการหนึ่งในการมองความท้าทายในเรื่องนี้ก็คือการตระหนักว่าการสร้างสันติภาพในความขัดแย้งที่เกี่ยวกับการอ้างสิทธิในการกำหนดใจตนเองนั้นต้องอาศัยการก้าวเดินคู่ขนานกันไประหว่างสันติภาพ “เชิงลบ”  และ “เชิงบวก” การสร้างสันติภาพเชิงบวกจะสัมฤทธิ์ผลได้จริง หากสามารถแก้ปัญหาสำคัญในเรื่องการยอมรับและเคารพศักดิ์ศรี โดยเฉพาะในบริบทเรื่องภาษา วัฒนธรรมและการศึกษา
 
(8) จะเผชิญกับสภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในระดับประเทศที่ส่งผลต่ออนาคตกระบวนการสันติภาพอย่างไร?
 
ภาวะการนำและเจตนารมณ์ทางการเมืองของคู่ขัดแย้งในการมุ่งมั่นผลักดันกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จและความยั่งยืนของกระบวนการสันติภาพ และทำให้ สันติภาพที่จะบรรลุในตอนท้ายนั้นมีความหมายมากพอสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้ส่งผลให้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐไทยสั่นคลอน  ซึ่งส่งผลให้ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยมลายูปาตานีมีความกังขาว่ากระบวนการสันติภาพจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไรภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ วิกฤตการเมืองที่กรุงเทพฯ ได้ทำให้เสียงคัดค้านการเดินหน้าพูดคุยกับฝ่ายรัฐไทยภายในขบวนการยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น
 
การชุมนุมโดยมวลชนนับแสนก่อตั้วขึ้นในปลายเดือนตุลาคม  โดยเริ่มต้นจากคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2547 ผู้ชุมนุมภายใต้การนำของกลุ่ม “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”  (กปปส.) ยังได้เรียกร้องกดดันอย่างต่อเนื่องเพื่อขับไล่รัฐบาล พร้อมกับเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศในหลายแง่มุมก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แรงกดดันของสถานการณ์การชุมนุมยังผลให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ต้องประกาศยุบสภา การเคลื่อนไหวคัดค้านและขัดขวางของการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ของ กปปส. ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถจัดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาและเลือกนายกรัฐมนตรี ตลอดจนจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาได้ ในระหว่างนี้การนัดหมายเพื่อพบปะพูดคุยระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด สภาวะความชะงักงันทางการเมืองเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินการพูดคุยสันติภาพอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การเรียกร้องของบีอาร์เอ็นที่ต้องการให้ข้อตกลงใดๆ ได้รับการรับรองจากรัฐสภานั้น จึงมิอาจกระทำได้ในภาวะที่ประเทศไมมีรัฐสภาและรัฐบาลก็อยู่ในสถานะรักษาการณ์เพียงเท่านั้น
 
ในขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 สถานการณ์ในพื้นที่กลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  โดยเฉพาะการโจมตีเป้าหมายอ่อน อันได้แก่ เด็ก สตรีและบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา ซึ่งพบว่าการก่อเหตุมีลักษณะของการล้างแค้นเอาคืนที่เชื่อได้ว่าอาจเป็นการกระทำจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ซึ่งส่งผลให้ขยายความตึงเครียดระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นไปอีก  ปรากฏการณ์นี้ก็มีความคล้ายคลึงกับประสบการณ์จากความขัดแย้งในที่อื่นๆ ที่เมื่อช่องทางการพูดคุยสันติภาพหยุดชะงัก ความรุนแรงมักจะมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
 
ในสถานการณ์เช่นนี้  จีงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเรียกร้องให้มีการดำเนินการพูดคุยสันติภาพต่อไปอย่างเร่งด่วน โดยควรจะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของความรุนแรงที่หนักหน่วงมากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ได้ติดอาวุธ ในโอกาสเช่นนี้ ควรผลักดันให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกันในวิกฤตการเมืองระดับประเทศ ในฐานะที่เป็นสาระสำคัญของนโยบายพรรคการเมืองหรือรัฐบาล ตลอดจนเป็นวาระของการผลักดันการปฏิรูปประเทศที่ได้มีการเรียกร้องกันอยู่ในเวลานี้ การยกระดับให้กระบวนการสันติภาพที่ชายแดนใต้/ปาตานีเป็นวาระแห่งชาติจะเป็นการสร้างความมั่นใจที่สำคัญโดยเฉพาะกับฝ่ายขบวนการมลายูปาตานีให้เข้าร่วมในกระบวนการนี้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นในอนาคต
 
 
3. ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ: การทำให้กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี [Pa(t)tani Peace Process] มีมิติที่กว้างและลึกมากขึ้น และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว
 
 
หากพิจารณาจากความสำเร็จและความล้มเหลว รวมทั้งความท้าทายหลักๆ แล้ว เรามีข้อเสนอแนะ 3 มิติ ดังนี้
 
(1)   อนาคตการพูดคุยสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ (Track 1) ซึ่งได้รับมอบหมาย (mandate) อย่างเป็นทางการ
(2)   การสร้างกระบวนการสันติภาพแบบหลากหลายช่องทาง (Multi-Track)  
(3)   การสร้างโครงสร้างรองรับกระบวนการสันติภาพ
 
(1) อนาคตการพูดคุยสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ (Track 1)
 
(1.1) คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายและผู้อำนวยความสะดวกควรพิจารณาตั้งสำนักเลขาธิการเพื่อสันติภาพ (Peace Secretariats) ขึ้น  โดยมีเจ้าหน้าที่ทำงานประจำ ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานและสื่อสารระหว่างกัน เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
 
(1.2) คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายและผู้อำนวยความสะดวกควรพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานร่วมในประเด็นต่างๆ ที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและเสนอทางเลือกที่เห็นตรงกันแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น รูปแบบการเมืองการปกครองที่เหมาะสม การศึกษา ภาษา วัฒนธรรม การตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นต้น ตลอดจนสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับความท้าทายที่จะต้องเผชิญในอนาคต
 
(1.3) คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายและผู้อำนวยความสะดวกควรพิจารณาขยายระยะเวลาของการพูดคุยสันติภาพในแต่ละครั้งเพื่อให้มีโอกาสพูดคุยและใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น และควรมีการตกลงกันล่วงหน้าถึงวาระของการพูดคุยอย่างละเอียด  ตลอดจนมีการวางแผนเพื่อสร้าง “แผนที่เดินทางเพื่อสันติภาพ” (roadmap for peace) ร่วมกัน
 
(1.4) คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายและผู้อำนวยความสะดวกควรมีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการสื่อสารและทำงานกับสื่อมวลชนนอกเหนือไปจากโต๊ะการพูดคุยสันติภาพที่เป็นการดำเนินการแบบปิดลับ เช่น การออกแถลงการณ์เกี่ยวกับผลการประชุมจะต้องได้รับฉันทานุมัติร่วมกันและมอบหมายให้ผู้อำนวยความสะดวกเป็นผู้แถลง โดยมีการเผยแพร่ในภาษาไทย มลายู และอังกฤษ เป็นต้น
 
(1.5) คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายควรพิจารณายกระดับการพูดคุยสันติภาพไปสู่การเจรจาสันติภาพ  โดยมีคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ที่ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ควรจะมีผู้สังเกตการณ์และสักขีพยาน  ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย  ทั้งนี้ เพื่อช่วยทำให้กระบวนการสันติภาพมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
 
(1.6) คณะพูดคุยในแต่ละฝ่ายควรต้องพูดคุยและสื่อสารภายใน (intra-dialogue) ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในฝ่ายของตนเอง เพื่อสร้างความคิดเห็นร่วมกันและเตรียมความพร้อมในการพูดคุย
 
(1.7) คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายควรผลักดันให้เกิดการสร้างและพัฒนาช่องทางการพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ หรือช่องทางที่ 1.5 (Track 1.5) เพื่อเปิดพื้นที่ในการแสวงหาหนทางประนีประนอมเมื่อเผชิญอุปสรรค พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นเครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ (safety net)ให้กับกระบวนการพูดคุย/เจรจาสันติภาพในช่องทางที่เป็นทางการ (Track 1) ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
 
(2) กระบวนการสันติภาพแบบหลายช่องทาง (Multi-Track)
 
(2.1) องค์กรประชาสังคมควรร่วมกันทำงานเพื่อสร้างความตื่นตัวของสาธารณชนเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ข้อเสนอหนึ่งที่ปฏิบัติได้จริงก็คือการจัดเวทีสาธารณะเรื่องสันติภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ และเครือข่ายสามารถริเริ่มและดำเนินการได้เอง แต่ควรมีการประสานงานกันในเรื่องจังหวะเวลาและประเด็นเพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน ทั้งนี้ ในการทำงานควรจะให้ความสำคัญกับการทำงานกับสื่อมวลชนทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น  เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และความเข้าใจในเรื่องกระบวนการสันติภาพ
 
(2.2) วงการวิชาการและการศึกษาควรจะร่วมกันทำงานเพื่อหนุนเสริมในการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ
 
(2.3) สื่อมวลชนทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นควรจะมีบทบาทสำคัญในการรายงานความเคลื่อนไหวเรื่องกระบวนการสันติภาพอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อร่วมผลักดันให้ประเด็นเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ
 
(2.4) เพื่อเป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ควรเปิดพื้นที่ทางการเมืองและให้โอกาสคนกลุ่มต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยพุทธและคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ ได้แสดงความคิดเห็นและข้อห่วงใยของพวกเขาที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ   
 
 (3) โครงสร้างรองรับกระบวนการสันติภาพ
 
(3.1) นอกเหนือจากโครงสร้างรองรับที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการ (Track 1) เช่น สำนักเลขาธิการเพื่อสันติภาพ  คณะทำงานร่วมแต่ละประเด็น ฯลฯ แล้ว การสร้างโครงสร้างเฉพาะสำหรับช่องทางที่ 2 (Track 2) และช่องทางที่ 1.5 (Track1.5) ก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ความริเริ่มที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่งคือศูนย์ทรัพยากรสันติ (Peace Resource Center) ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นที่ปัตตานีและกรุงเทพฯ วัตถุประสงค์ของศูนย์ก็คือการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพกับทุกฝ่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย และเพื่อสร้าง “ตาข่ายนิรภัย” (safety net) ขึ้นเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมาร่วมกันหาทางออกและติดตามกระบวนการสันติภาพ รวมทั้งจัดทำ “แบบสำรวจสันติภาพ” (peace poll) เพื่อช่วยประเมินความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ศูนย์จะได้พิจารณาในการทำงานเพื่อผลิตสื่อเพื่อสันติภาพด้วย
 
(3.2) จัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพชุมชนเพื่อทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพในภาพรวมและแสวงหากลไกในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งในอนาคต
 
(3.3) จัดตั้งสภาพลเมืองสนทนา (Council for People’s Dialogue) เพื่อทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางเพื่อให้กลุ่มต่างๆ มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่มีการพูดคุยกันในช่องทางที่เป็นทางการ (Track 1)
 
 
Bahasa Melayu
 
 
English
 
 
หมายเหตุ: คณะทำงานสร้างพื้นที่สันติภาพจากคนใน เป็นความร่วมมือของคณะผู้อำนวยความสะดวกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่าสองปี เอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายชิ้นนี้เริ่มจัดทำขึ้นมาตั้งแต่กลางปี 2556 และเผยแพร่ครั้งแรกในงานมหกรรมสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ในวาระครบรอบ 1 ปี การริเริ่มพูดคุยสันติภาพอย่างเปิดเผยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ [ดูใบแถลงข่าวประกอบ ที่นี่ และ ที่นี่]