Skip to main content

ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 เดือนกันยายน 2549

จากรายงานเหตุการณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึง 30 มิถุนายน 2549 ความรุนแรง 32 เดือน แห่งความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา -นครินทร์ ปัตตานี ทำให้สังคมไทยได้ทบทวนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในห้วงยามที่เกิดขึ้นอย่างไร
 
ความรุนแรงที่ต่อเนื่องและยาวนานดังกล่าว สื่อให้สังคมรับรู้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย ในความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับความหลากหลายของวัฒนธรรมและชาติพันธุ์  อีกทั้งความสามารถในการจัดการของรัฐบาล ตลอดจนการต่อสู้บนความเชื่อและศรัทธา การก่อเหตุความรุนแรงดังกล่าวมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตรวม 1,730 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2,513 คน กล่าวโดยภาพรวม มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 4,243 คน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา การยิงดูจะเป็นยุทธวิธีหลักที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุด โดยเฉพาะการยิงรายวันตามพื้นที่ต่างๆ กระจายไปในวงกว้างทุกพื้นที่ สอดคล้องกับรายงานที่ว่ายุทธวิธีหลักที่ใช้ในการก่อเหตุความรุนแรงก็คือการยิงหรือการสังหารด้วยกระบวนการที่มือสังหารใช้วิธีขี่ซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์ประกบยิงเหยื่อผู้บริสุทธิ์ ส่วนการใช้การวางเพลิงเป็นยุทธวิธีที่ใช้มากเป็นอันดับสองในช่วงปี พ.ศ. 2547 นับตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา การใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือของการก่อเหตุมีสถิติสูงกว่าระดับของความรุนแรงชนิดอื่นๆ จนน่าผิดสังเกต

พลเรือนหรือประชาชนดูจะเป็นเป้าหมายของการก่อความไม่สงบอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2549 พบว่า มีราษฎรที่เป็นเหยื่อหรือเป้าของการทำร้ายสูงมากถึง 1,462 คนหรือร้อยละ 47 ของเหยื่อแห่งความรุนแรงทั้งหมด ลักษณะพิเศษเช่นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ในปี พ.ศ. 2547 เป้าการโจมตีที่สำคัญตามมาก็คือตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ(นปพ.) หรือ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ร้อยละ 16 ของเป้าหมายการก่อความรุนแรงทั้งหมด ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เป็นเป้าหมายลำดับที่สามหรือร้อยละ 12 ของเป้าหรือเหยื่อที่ถูกโจมตีทั้งหมด เป็นที่น่าสนใจที่ข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ว่าตำรวจมีแนวโน้มจะเป็นเป้าการถูกโจมตีมากกว่าทหาร อาจเพราะตำรวจมีบทบาทมากกว่าทหารในการลงพื้นที่และอยู่ใกล้ประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ที่ตำรวจเป็นเป้าทางการเมืองที่ได้รับการมองด้วยความไม่พอใจมากกว่าทหาร

นอกจากนี้แล้วเป้าหมายการโจมตียังเป็นคนงาน ลูกจ้างทางราชการหรือผู้ที่ทำงานให้รัฐ  รวมทั้งพวกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งตามปกติก็จะเป็นเป้าของการก่อความรุนแรงอยู่เสมอ

ท่ามกลางความสับสน คำถามที่ตามมาคือรัฐล้มเหลวหรือไม่ ทุกคนคงเฝ้ารอคำตอบ  การแก้ปัญหาภาคใต้ยังไม่มีใครสามารถชี้ชัดได้ว่าควรจะเป็นเช่นใด ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะไขข้อข้องใจได้ดีที่สุด  นักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้มีการเก็บข้อมูลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่อง "ค่านิยมประชาธิปไตย" เป็นความร่วมมือระหว่างนักรัฐศาสตร์จากต่างประเทศชื่อ Dr. Robert Albritton จากมหาวิทยาลัย Mississippi แห่งสหรัฐอเมริกากับนักรัฐศาสตร์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตัวอย่างประชากร 1,500 คนจากการสุ่ม ในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือคะแนนความรู้สึก "ไม่ไว้วางใจ" อย่างสูง ต่อนักการเมืองโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี (65%) พรรคการเมือง (68 %) รัฐบาล (62 %) รัฐสภา (57 %) ในส่วนของสถาบันฝ่ายข้าราชการ ทหาร ตำรวจนั้น เป็นที่น่าสนใจว่าความไม่เชื่อมั่นไว้วางใจต่อตำรวจ (56 %) มีระดับสูงสุด รองลงมาคือความไม่ไว้วางใจต่อทหาร (51%) และข้าราชการพลเรือน (48 %) รวมทั้งไม่ไว้วางใจต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง (48%)
 
แต่ที่น่าสนใจก็คือคะแนน "ความไว้วางใจ" ที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีต่อสถาบันยุติธรรมหรือศาล เช่นคะแนนความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อศาลรัฐธรรมนูญมีระดับสูงที่สุด (50 %) ศาลปกครองก็ได้รับความไว้วางใจค่อนข้างสูง (49 %) ศาลยุติธรรมก็ได้รับความไว้วางใจมาก (42 %) นอกจากนี้สื่อทางโทรทัศน์ก็ได้รับความไว้วางใจ (47 %) ประเด็นที่น่าให้ความสำคัญก็คือองค์กรการปกครองท้องถิ่นถูกจัดให้อยู่ในประเภทที่ได้รับความไว้วางใจค่อนข้างสูงด้วย (45 %)

กล่าวโดยสรุป ประชาชนจำนวนไม่น้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความเชื่อมั่นต่อสถาบันและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้น แม้ว่ารัฐจะไม่ล้มเหลว แต่รัฐก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนักเพราะเจ้าหน้าที่สายบริหารและปราบปราม ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนอย่างใกล้ชิด เช่น ตำรวจและทหาร รวมทั้งข้าราชการพลเรือนไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน บทบาทของนักการเมืองในระดับชาติก็ไม่ได้รับการยอมรับ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของพรรคการเมืองในการสนองตอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อ่าน alert : ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 เดือนกันยายน 2549