Skip to main content

 

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม

     “ในทางโลก ไม่มีทางที่ความเกลียดชังจะดับลงได้ด้วยความเกลียดชัง  

ด้วยความรักเท่านั้นที่จะสงบความชังลงได้  

นี่คือกฎอันเป็นนิรันดร์

ชัยชนะ (การพิชิตยึดครอง) บ่มเพาะความเกลียดชัง        

ด้วยผู้แพ้นั้นฝังจมอยู่ในห้วงแห้งความระทมทุกข์      

อยู่เหนือชัยชนะหรือพ่ายแพ้ ผู้ที่มีความสงบสุขจะดำรงอยู่ในสันติ”

-Dhammapada,pp.3-5, p.201  อ้างใน Ainslie  Embree (Ed.) Sources of Indian Tradition, New York ; Columbia,1988,1;120-

         เมื่อสังคมได้กลายเป็นโลกไร้กรอบและแนวอาณาเขตแห่งอัตลักษณ์  การเบ่งบานของความเป็นพหุวัฒนธรรมก็ได้กระจัดกระจายไปยังภูมิประเทศเทศต่าง ๆ อย่างรวดเร็วราวกับป่าคอนกรีตงอกเงยในย่านมหานคร  ผู้คนที่อาศัยร่วมกันก็เต็มไปด้วยวิถีและกรอบคิดที่ต่างกัน  สังคมจึงเป็นเรือนเพาะชำอัตลักษณ์ของคนแต่ละกลุ่มได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน  

        จึงไม่ใช่เรื่องแปลก การงอกเงยของผู้เจริญรอยตามศาสนาต่าง ๆ ได้สะพรั่งไปทั่วทุกผืนดินทั้งโลก

สิ่งที่กลายเป็นคำถามสำหรับมุสลิม นั่นก็คือ “เราจะอยู่กับเพื่อนร่วมโลกได้อย่างไร ? แบบไหน ?”

สิ่งเหล่านี้ก็ยังกลายเป็นข้อกังขาที่ไม่เคยจบสิ้นใต้หมอกควันแห่งการลั่นไกของกระสุนและแรงระเบิดแสวงเครื่อง

ก็ไม่ต่างกัน สำหรับคำถามที่เพื่อนร่วมโลกต่างหานิยามร่วมกัน

                   นั่นก็คือ “เราจะอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมได้อย่างไร เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่พวกก่อการร้ายหรือผู้นิยมความรุนแรง ?”

ปัญหานี้ คือ ภาพสะท้อนที่ทำให้มุสลิมซึ่งเป็นประชากรอันดับ 2 ของโลก ราว ๆ 1600 กว่าล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 5 คนที่พวกท่านพบเจอพวกเขาระหว่างทาง ซึ่งเป็นมุสลิม (Jessica Jacobson, 1998;26)

             นักวิชาการอิสลามได้มองว่า มุสลิมเหล่านั้นที่โลกรับรู้กันโดยผิวเผิน คือ มุสลิม  2 แบบ ซึ่งภาพปรากฏเหล่านี้ทำให้การเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามอัตลักษณ์สำหรับมุสลิมที่ไปไม่ถึงไหน ซึ่ง ท่าน เอส เอ็ม หะสัน อัล-บันนา ได้กล่าวผ่านหมายเหตุบรรณาธิการในหนังสือ ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามกับการท้าทายของยุคสมัย ของ ยูสุฟ อัล-ก็อรฏอวี ซึ่งพอจะเป็นโจทย์ที่ทำให้นักอ่านและนักฟื้นฟูอิสลามหลายคนได้ตระหนัก

         “อุปสรรคในทางอุดมการณ์ที่มีต่อความเข้าใจอิสลามซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้น ในจิตใจของมุสลิมจำนวนมาก

 จำพวกแรก คือ บุคคลเหล่านั้น อิสลามเข้าได้กับลัทธิเซ็คคิวลาร์ อย่างสนิทแนบที่สุด

 จำพวกที่สอง คือ  บรรดาผู้ที่มีความจริงใจในการดะวะห์เพื่อเรียกร้องไปสู่อิสลาม ของพวกเขาอย่างถึงที่สุด  แต่พวกเขากลับหลงเข้าไปสู่ความสุดโต่ง หรือการละทิ้งในส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้อิสลามของพวกเขา บางคนไม่เข้าใจว่า ปัญหาที่ครอบคลุมกว้างขวางนั้น ต้องการวิธีการแก้ไขที่ครอบคลุมกว้างขวางด้วยเช่นกัน” (ยูสุฟ อัล-ก็อรฏอวี ,2546;2)

        ซึ่ง สถานการณ์ที่โลกมุสลิมเผชิญ ณ ตอนนี้ ผู้คน 2 จำพวกนี้ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะบอกคนอื่นว่า ตัวเองคือวิถีชีวิตแบบอิสลาม แต่ อิสลามจะอยู่ในอีกมุมหนึ่งของกลุ่มคนที่พวกเขาก็เป็นมุสลิมอย่าง  2 กลุ่มแรก

        กลุ่มนั่นก็คือ ผู้ที่สามารถนำหลักการอิสลามที่พวกเขาเชื่อและเรียนรู้มาเพื่อประยุกต์ใช้ซึ่งมองผ่านวิถีสังคมองค์รวมที่มนุษย์จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นหลัก ผ่านศาสตร์และศิลป์แห่งการสังเคราะห์และแยกแยะประเด็นต่าง ๆ ที่กำลังฉายซ้ำในสังคม

                                          เพราะเหนือสิ่งอื่นใด เราคือเพื่อนร่วมโลกที่ต้องอยู่ด้วยกัน

               การใช้อิสลามมาเป็นฐานในการดำเนินชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งในการจัดระบบทั้งหมดต้องอิงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อิสลามและพินัยกรรมของท่านศาสดา  ความรุนแรงและความขัดแย้งในสังคมสมัยนี้ เกิดจาก การ ไม่ เข้าใจในประวัติศาสตร์ของตัวเอง

       จนทั้งหมด คือปริศนาและภาพหลอนที่ฉายซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นปาเลสไตน์  ปากีสถาน อัฟกานิสถาน  อาเจะห์ รวมทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งเหล่านี้ คือหนึ่งในคำตอบเพื่อให้ภาพหลอนและปริศนาเหล่านั้นของพวกเขากระจ่างขึ้น

 (ทำราวกับไม่เคยมีการฆ่ากันในรวันดาของชนเผ่าฮูตูกับตุสซี่ หรือการปะทะกันของชาวไอร์แลนด์เพื่อปลดแอกของพลเมือง หรือการส่งทหารของอเมริกาเข้ามาสังหารผู้ต้องสงสัยในอัฟกานิสถานและอิรัก หรือการฆ่าพระของรัฐบาลทหารพม่า หรือ ปฏิบัติการสายฟ้าแลบของรัฐบาลฮินดูกับกลุ่มชาวซิกห์ในอินเดีย หรือ ยกพลขึ้นบกของรัสเซียในอัฟกานิสถาน  หรือ การเพาะพันธ์กองทัพของฮิตเลอร์เพื่อสังหารชาวยิว หรือการทับซ้อนบนรถบรรทุกของผู้มาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ณ ตากใบ)

       หากมุสลิมไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้ว พวกเขาเป็นแบบไหนกัน ? (แล้วคนที่ไม่ใช่มุสลิมหล่ะ เป็นแบบไหนกัน ?) เมื่อทั้งหมดก็อยู่ในวงโคจรและบนท้องถนนแห่งการนองเลือด ?

                                                       

                                                                    (1)

                           การจัดการสังคมอิสลามใต้ระบบของท่านศาสดา

            เมื่อสังคมเราได้ถูกอธิบายผ่านภาพ ความเชื่อ การผลิตซ้ำ อคติ มายาคติ สื่อ งานเขียน วรรณกรรม สิ่งพิมพ์ ตลอดจนโลกไซเบอร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหยื่อของความรุนแรงและผู้สร้างความรุนแรง คือ มุสลิม  และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม  จนกระทั่งสถานะของคนกลุ่มน้อยมักอยู่ภายใต้ชะตากรรมของการถูกกดทับ หรือการเอาเปรียบเสมอมา

             สำหรับมุมของอิสลาม ชนกลุ่มน้อยไม่ต่างอะไรไปจากคนกลุ่มใหญ่ ความเชื่อ เสรีภาพ สิทธิ ความเท่าเทียม ทั้งหมดคือ สิ่งที่ได้รับการปรนนิบัติอย่างดีภายใต้แบบฉบับของท่านศาสดา ที่ เมืองมาดีนะหฺ (ปัจจุบันประเทศซาอุดิอาราเบีย)  ประวัติศาสตร์ได้บอกเราอย่างละเอียดในสมัย คอลีฟะ ซัยยิด อาลี บิน อาบี ฏอลิบ เมื่อชายมุสลิมได้ฆ่าชายต่างศาสนิก ท่านอาลีได้บอกให้พี่น้องของชายต่างศาสนิกมาเพื่อเสนอโทษด้วยการฆ่าตอบ ท่านอาลี บิน อาบี ฏอลิบ กล่าวแก่ มุสลิมคนหนึ่งซึ่งเป็นอาชญากรว่า

        “เลือดของคนต่างศาสนิกก็ไม่ต่างไปจากเลือดของมุสลิม ซึ่งหากพวกเขาถูกฆ่า ค่าใช้จ่ายในการเป็นฆาตกรของพวกเขาก็ไม่ต่างกัน”

 ชายต่างศาสนิกที่สูญเสียพี่ชายของตัวเองได้บอกว่า “ฉันได้ยกโทษให้กับชายผู้นี้แล้ว”

ท่านซัยยิด อาลีไม่ยอมและได้กล่าวต่ออีกว่า “ชายมุสลิมฆาตกรไม่ได้ทำให้เจ้ารู้สึกถึงการสูญเสียเหรอ?”

ชายต่างศาสนิกตอบว่า “การที่ฉันฆ่าเขาเขา จะทำให้ฉันได้รับชีวิตของพี่ชายของฉันกลับมาอย่างนั้นเหรอ ? ฉันยกโทษให้กับชายฆาตกรผู้นี้” 

ท่านคอลีฟะหฺจึงปล่อยชายฆาตกรเป็นอิสรภาพ แล้วท่านอาลีได้กล่าว่า  “เลือดของพี่น้องต่างศาสนิก ไม่ต่างไปจากเลือดของฉันและเลือดของพวกท่านทั้งหลาย” (Ali Mahammad Nagvi, 2008;293)

            แม้ภาพสะท้อนวันนี้ จะปรากฏไปคนละรูปแบบก็ตาม กระนั้น  หน้าที่ของนักเขียน หรือ บรรณาธิการทางด้านประวัติศาสตร์ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อนำเสนอความเชื่อและอุดมคติที่พินัยกรรมของท่านศาสดามูฮัมหมัดได้ทิ้งไว้เป็นมรดกและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญในการมองประเด็นเหล่านี้เพื่อให้ผู้คนได้รับทราบ

            สำหรับชุมชนจินตกรรมของท่านศาสดาได้กลายเป็นชุมชนที่โลกต่างกล่าวขาน อย่างน้อย เป็นโลกของการอยู่ร่วมกันของผู้คนหลายอัตลักษณ์ ซึ่งการจัดการผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญมาดีนะห์ (The Constitution of Madinah) ซึ่งพินัยกรรมชิ้นนี้ ได้กลายเป็นหมุดประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ มันเป็นเครื่องมือที่บอกถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในเผ่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชาวมุฮฺมิน ประกอบด้วย ชาวมูฮาญิรีน (Muhajireen ; ผู้อพยพมาจากมักกะห์) และชาวอันศอร (Ansar ; ชนเผ่าเอาซ์และคอสรอจ) หรือเผ่าของชาวญาฮูดี (Yahudee  ; ชาวยิว) ซึ่งครอบคุลมไปยังสิทธิและหน้าที่ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม  รัฐสวัสดิการ การล้างแค้น การทำสงคราม การค้าขาย การใช้ชีวิตร่วมกัน  

           สำหรับการต่อสู้เพื่อตอบโต้ อิสลามไม่ได้สนับสนุนและทิ้งน้ำหนักไปในทิศทางนั้น ซึ่งดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บรรดาอัครสาวกของท่านศาสดามาร้องขอความเป็นธรรมจากท่านศาสดา

           กรณีที่พวกเขาได้ถูกรังแกด้วยการถูกทุบตีจนได้รับบาดแผล คำตอบของท่านศาสดาในห้วงยามนั้น คือ พวกท่านจงอดทนต่อไป

          จนทางเลือกสุดท้ายของพวกเขา คือ การอพยพไปอยู่ นครมะดีนะหฺ ซึ่ง การห้ามปรามเกี่ยวกับการต่อสู้และโต้ตอบกับผู้ที่คุกคามและสร้างความอธรรมนั้นได้ถูกห้ามมากกว่า 70 ครั้ง ก่อนการบัญญัติที่พูดถึง การอนุญาตให้เผชิญหน้ากับผู้ที่ข่มเหงรังแก ได้ถูกกำชับขึ้นผ่านบทบัญญัติที่ว่า

 “สำหรับบรรดาผู้ที่ถูกโจมตีนั้นได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขาถูกข่มเหง” (อัลกุรอ่าน 22;39)

นัยแห่งอายะอัลกุรอ่านบทนี้ได้บอกให้เราเห็นว่า "70 ครั้งสำหรับการใช้ให้มวลสาวกอดทนต่อการถูกกดขี่ และเมื่อพวกเขาทนไม่ไหว หลังจากคำสั่งให้อดทน ประมาณ 70 ครั้งนั้น พระเจ้าจึงอนุญาตให้พวกเขาตอบโต้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงและสร้างความอธมมแก่พวกเขา"

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่เพียงพอแล้วสำหรับผู้เจริญรอยตาม เพราะ สุดยอดของความศรัทธา คือ ความอดทน 

กระทั่ง มูฮัมหมัด อับดุฮฺ (Muhammad Abduh) มองว่า

“กฎหมายฉบับนี้ เป็นการหาทางออกร่วมกัน และเพื่อจัดการกับวัฒนธรรมป่าเถื่อนบางอย่างที่ทรงอิทธิพลต่อชาวยิว ชาวคริสต์และชาวมุสลิม และกฎหมายฉบับนี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานให้กับโลกร่วมสมัยในการหาทางออกเพื่ออยู่ร่วมกัน ผ่านความหลากหลายแห่งศาสนาและความสัมพันธ์ของมุสลิมกับเพื่อนร่วมโลก” (Gerhard Bowering , 2013;116)

             ในความหลากหลายที่อิสลามยอมรับและได้กล่าวถึงในอัลกุรอ่าน จะเป็นแนวทางให้เรามองเห็นมิติแห่งการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ การมองเพื่อนต่างศาสนิกเปรียบเสมือนเพื่อนร่วมโลกอีกคนหนึ่ง

            มันเป็นการเพียงพอแล้วที่พระเจ้าได้บอกเราว่า

“มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกท่านจากเพศชาย เพศหญิง และเราได้ให้พวกจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อพวกเจ้าจะได้รู้จักกัน

  แท้จริงผู้ที่มีเกียรติในหมู่พวกเจ้า คือ ผู้ย่ำเกรง” (อัลกุรอ่าน  49 ;13)

               ความสัมพันธ์ของมุสลิมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมภายใต้โลกใบเดียวกัน ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสิทธิและหน้าที่ระหว่างกัน ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การดำเนินตามจารีต วัฒนธรรม และ การศึกษา  (Ali Mahammad Nagvi, 2008;233)

              จนกระทั่งมุมมองของอิสลาม นิกายซุนนี มัซฮับอิหม่ามฮานาฟี มอง ว่า

              (ลาฮุม มา ลานา วา อาลัยฮิม มาอาลัยนา) 

           “ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ไม่แตกต่างกัน”

                อิสลามได้รับรองความมั่นคงในชีวิตของคนต่างศาสนิกกับการอยู่ในสังคมและชุมชนมุสลิม ซึ่งพวกเขาจะต้องได้รับการปกป้องร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน  อาหาร สิน ค้า รวมไปถึงอิสรภาพในการดำเนินชีวิต การเคารพในศักดิ์ศรี  เสรีภาพทางด้านศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจ  ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ได้รับการรับรองโดยกฏหมายอิสลาม   (Gerhard bowering, 2013; 425-426)

                ซึ่งสำหรับสถานภาพของคนต่างศาสนิกในชุมชนมุสลิม ในฐานะของคำว่า “ต่างศาสนิก” (The Dhimma) นั้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของนักบูรพาคดี  H.A.R. Gibb ได้ให้นิยามใน Shorter Encyclopaedia of Islam  ว่า

               “คนต่างศาสนิก คือ ผู้ที่อาศัยในแผ่นดินหรือชุมชนมุสลิม ซึ่งมุสลิมจะต้องให้ความมั่นคงทั้งทางด้านร่างกายและทรัพย์สินให้กับพวกเขา ตลอดจนการปฏิบัติทางด้านศาสนกิจของพวกเขา และจะต้องปกป้องพวกเขาจากการถูกรุกราน พวกเขาสมารถสร้าง โบสถ์ หรือ วัด หรือ สถานที่ในการปฏิบัติศาสนกิจของพวกเขาได้ตามหลักการและความเชื่อทางด้านศาสนาของพวกเขา  พวกเขาไม่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในสถานภาพแห่งรัฐอิสลาม แต่พวกเขา คือ พลเมืองแห่งรัฐที่มีองค์การในการรวมตัวของพวกเขาผ่านสถาบันศาสนาหรือผู้นำของพวกเขาเช่น บาทหลวง ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นเสมือนผู้ประวานงานให้กับชนกลุ่มน้อยของพวกเขา” (H.AR. Gibb and and J.H.  Kramers, 2008;108)

                   รัฐอิสลามหรือชุมชนมุสลิมสำหรับพลเมือง นั้นไม่ได้คับแคบเพียงมุสลิมอย่างเดียว แต่รวมไปถึงผู้คนต่างศาสนิกที่อาศัยอยู่ในชุมชนมุสลิมด้วย  ซึ่งคนต่างศาสนิกมีคามสัมพันธ์กับรัฐได้อย่างลงตัวและเป็นเสมือนหนึ่งในสมาชิกของรัฐที่มีสิทธิและเสรีภาพไม่ต่างจากพลเมืองคนอื่นของรัฐ อัตลักษณ์ทางการเมือง และศาสนากลายเป็นสิ่งสำคัญที่หลักการอิสลามไม่เคยมองข้าม (Gerhard bowering, 2013;95)

                 ซึ่งไม่ต่างจากมุสลิมที่ได้ใช้ชีวิตในสังคมคนต่างศาสนิก อย่างเช่น ยุโรป อเมริกา ซึ่งมุมมองของมุสลิมที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในแผ่นดินมุสลิมก็มองประเด็นเหล่านี้ เป็น สอง ขั้ว คือ  เราจะต้องแยกออกมาเป็นประชาคมมุสลิมให้ได้ หรือเราต้องเป็นมุสลิมที่ดีในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม 

                    อย่างไหน คือ  ทาง ออกที่ดีที่สุด สำหรับมุสลิมชนกลุ่มน้อยในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ?

              ตอริก รอมาดอน (Tarig Ramadon) นักวิชาการมุสลิม ได้มองถึงประเด็นเหล่านี้ ว่า

           “มุสลิมควรมีส่วนร่วมกับสังคมที่ไม่ใช่มุสลิมเพื่อยืนยันถึงสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาควรได้รับและพึงมีจากสังคมตะวันตกที่พวกเขาไม่สามารถแบ่งแยกและหลีกหนีได้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาต้องมีส่วนร่วมกับการเมืองในฐานะพลเมืองอิสลามในโลกตะวันตก” (Gerhard Bowering , 2013;95)

 

ติดตามตอนที่ 2 (เร็ว ๆ นี้)

 

อ่านเพิ่มเติม

Bahadur, Kalim, Democracy in Pakistan crises and conflict, New Delhi ; Har-Anand Publication, 1998.

Bowering, Gerhard, The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought, New jercy ;

Chopra Surendra and Kusum Lata Chadda, Islamic Fundamentalism, Pakistan and The Muslim World, New Delhi ; Kanishka Publisher, 2009.

Gabriel, Theodore, Christian Citizens in an Islamic State ; The Pakistan Experience, Hampshire ; Ashgate, 2007.

Gibb, H.A.R. และ Kramers, J.H. , Shorter Encyclopaedia of Islam (The Royal Netherlands Academy), New Delhi ; Pentagon Press,2008.

Jacobson Jassica , Islam in transition ; religion and identity among British Pakistan Youth, London ; Routledge, 1998.

Naqavi, Syed Ali Muhammad, Human Right in Islam and in the Sirah of Prophet Muhammad (P.B.U.H.), New Delhi ; Iran Culture House, 2008.

ยูสุฟ อัล-ก็อรฏอวีย์, มูฮัมหมัด ศิรอญุดดีน (แปล), ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามกับการท้าทายของยุคสมัย , กรุงเทพฯ ; สำนักพิมพ์อิสลามิค อะเคเดมี,2546.

 

ผู้เขียน ;  อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม  บ้านเกิดริมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เคยใช้ชีวิตในเมืองปัตตานีอยู่ 4 ปี  หลังจากสำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์ การปกครอง ก็ได้ย้ายรกรากมาอยู่ในแผ่นดินภารตะนคร แห่งประเทศดินเดีย ชอบการอ่านและการเขียน แต่ด้วยความเป็นแค่นักฝึกเขียน จึงไม่เคยมีผลงานตีพิมพ์รวมเล่มเป็นของตัวเอง  ปัจจุบัน ยังใช้ชีวิตอยู่ประเทศอินเดียด้วยการศึกษา  มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์  ประเทศอินเดีย  (เขียนเมื่อ 18  สิงหาคม 2557 ณ หอสมุดเมาลาอาซัด, เมืองอาลิการ์, ประเทศอินเดีย)