Skip to main content

 
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

 

                คลื่นความรุนแรงยุคใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 38 เดือนแล้ว นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 พื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของจังหวัดสงขลาได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่รวมทั้งการฆ่ารายวัน การวางระเบิด การวางเพลิงและการก่อเหตุก่อกวนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบจำนวนรวมทั้งสิ้น 6,214 ครั้ง ในเหตุการณ์ทางเมืองดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บประมาณ 5,378 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต 2,088 คนและผู้บาดเจ็บ 3,290 คน

                จุดเด่นของสถานการณ์ความรุนแรงในขณะนี้ก็คือ เหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจาก 5 เดือนของการรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 และการตั้งรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นับเป็นคลื่นความรุนแรงรอบใหม่ที่เริ่มไต่ระดับนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากระดับความรุนแรงหลังการรัฐประหารเดือนกันยายนที่ลดลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 เหลือ 86 ครั้งในเดือนดังกล่าว จากนั้นก็สูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคมกลายเป็น 104 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายนกระแสคลื่นเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มพุ่งสูงโด่งอีกครั้งประมาณ 208 ครั้ง และในเดือนธันวาคมปี 2549 เหตุการณ์ความรุนแรงยังอยู่ในระดับสูง 193 ครั้ง เมื่อเริมศักราชใหม่ปี พ.ศ. 2550 เหตุการณ์ในเดือนมกราคม แม้จะลดลงเล็กน้อยแต่เหตุการณ์ยังนับว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงถึง 132 ครั้ง ซึ่งนับว่ายังสูงมากสำหรับเหตุการณ์ในช่วงต้นปี ก่อนหน้านี้ในช่วงปี พ.ศ. 2547-2549 ช่วงต้นปีเหตุการณ์จะไม่สูงมากเท่านี้ แสดงให้เห็นพลังของการใช้ความรุนแรงที่น่าจะมีระดับสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2550 เหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายืนยันให้เห็นแนวโน้มดังกล่าวโดยกระแสความรุนแรงของเหตุการณ์ที่สูงมากถึง 210 ครั้ง

               

ผลกระทบจากเหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์นับว่าสูงมากเมื่อพิจารณาจากความเสียหายในด้านผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งมีรายงานรวมกันแล้วเป็นจำนวนประมาณ 243 ราย เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งกว่า จำนวนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์สูงถึงประมาณ 189 ราย เสียชีวิต 54 ราย นับว่ายอดผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์รายเดือนดังกล่าวมีจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับสถิติรายเดือนในรอบ 3 ปีกว่าที่ผ่านมา การที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์อาจมีนัยสำคัญสองประการคือ ด้านหนึ่งการปฏิบัติการของฝ่ายก่อเหตุมีจำนวนมากขึ้นและมีการใช้เทคนิคการโจมตีด้วยระเบิดมากขึ้นอันเป็นสิ่งบอกเหตุถึงสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายลงในช่วงนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งการที่มีผู้บาดเจ็บมากขึ้นและมีผู้เสียชีวิตในจำนวนไม่สูงมากอาจจะเป็นผลมาจากเป้าหมายการโจมตีที่เป็นเป้าทางการทหารที่มีการป้องกันตนเองได้ดีกว่าพลเรือนซึ่งเป็นเป้าหมายที่อ่อนกว่าในการป้องกัน ลักษณะดังกล่าวชี้ให้เห็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นการปะทะกันอย่างเปิดเผยมากขึ้นระหว่างกำลังของทั้งสองฝ่าย ดังจะเห็นได้จากสถิติการโจมตีด้วยการยิง (ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายพลเรือน) และการโจมตีด้วยระเบิดในเดือนกุมภาพันธ์สูงเท่าๆกันกล่าวคือ มีรายงานว่าเกิดโจมตีด้วยการยิงประมาณ 80 ครั้งและการวางระเบิด 81 ครั้ง ดังนั้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้จึงมีเหตุการณ์ระเบิดที่มากที่สุดในรอบ 38 เดือนที่ผ่านมา จะมีการสถิติการวางระเบิดสูงมากในระดับใกล้เคียงกันเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา

       

               

เมื่อพิจารณาในด้านเป้าของการโจมตีและความเสียหายที่เกิดขึ้นในรอบ 38 เดือนที่ผ่านมา ราษฏรทั่วไปหรือพลเรือนเป็นเหยื่อของการโจมตีมากที่สุดจำนวน 1810 ครั้ง รองลงมาคือเป้าหมายที่เป็นทหาร 750 ครั้งและตำรวจซึ่งรวมทั้งตำรวจ หน่วยปฎิบัติการพิเศษ และตำรวจตระเวนชายแดนรวม 638 ครั้ง อย่างไรก็ดีเมื่อรวมสถิติที่ตำรวจและพลเรือนทั่วไปซึ่งถูกโจมตีพร้อมกันอีกประมาณ 750 ครั้ง อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มตำรวจเป็นเป้าการถูกโจมตีมากเป็นลำดับที่สอง มากกว่าทหาร ลำดับต่อมาก็คือคนงานและลูกจ้างราชการ ซึ่งเป็นเป้าการโจมตีรวมประมาณ 318 ครั้ง กลุ่มที่ถูกกระทำมากอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านถูกโจมตีประมาณ 228 ครั้ง ถึงแม้ว่าในระยะหลังมีการวางเป้าหมายการโจมตีทำร้ายคนไทยพุทธมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในภาพรวม จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเทียบระหว่างคนสองศาสนาในรอบ 38 เดือนที่ผ่านมา คนมุสลิมจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิตในจำนวนมากกว่า ผู้เสียชีวิตที่เป็นมุสลิมมีจำนวน 1061 ราย และเป็นคนพุทธ 918 ราย อย่างไรก็ดี ผู้ได้รับบาดเจ็บที่เป็นคนพุทธจะเป็นจำนวนที่สูงกว่ามาก ผู้บาดเจ็บที่เป็นคนพุทธมีจำนวนสูงมากถึง 1988 คน เป็นมุสลิม 893 คน ในท่ามกลางความรุนแรงภาคใต้คนมุสลิมและคนพุทธต่างก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากพอๆกัน แต่คนพุทธจะได้รับบาดเจ็บมากกว่า การก่อเหตุน่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างความหวาดกลัวทั้งในกลุ่มคนพุทธและมุสลิม แม้ว่าในระยะหลังคนพุทธจะมีแนวโน้มถูกคุกคามมากขึ้นแต่คนมุสลิมเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามด้วยเช่นเดียวกัน การพุ่งเป้าการโจมตีไปที่กลุ่มคนไทยพุทธจึงเป็นการมุ่งก่อความรู้สึกปฏิปักษ์ขัดแย้งกันระหว่างชาติพันธุ์และศาสนาซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเปราะบางมากในสถานการณ์นี้

                กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน หลังการรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ผ่านมาเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว สถานการณ์ในพื้นที่ยังมีแนวโน้มไปในทางรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั้งๆที่นโยบายรัฐบาลในปัจจุบันมุ่งเน้นการส่งสัญญาณเชิงสมานฉันท์ไปสู่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และใช้ความประนีประนอมกับการแก้ปัญหาในด้านชาติพันธุ์และศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลยังคงจะต้องมุ่งหน้าแก้ปัญหาตามแนวทางดังกล่าวต่อไปโดยเฉพาะการตั้งโครงสร้าง ศอ.บต. ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนโยบายการเมืองนำการทหารในการแก้ปัญหาภาคใต้ และให้การสนับสนุนด้ายงบประมาณและบุคลากรอย่างเต็มที่เพื่อการทำงานแก้ปัญหาเชิงรุกทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี การที่ระดับความรุนแรงยังไม่ลดลง อาจจะเป็นเพราะการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ในตัวของมันเองมีตรรกะเหตุผลรองรับ โดยเฉพาะในด้านการคุกคามความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเพื่อให้เกิดความกลัว และทำลายอำนาจการควบคุมของรัฐและระบบบริหารราชการในทุกระดับ การกระทำดังกล่าวยังมีผลในด้านการขยายตัวขององค์กรเครือข่ายและผู้สนับสนุนในพื้นที่ แม้ว่าประชาชนส่วนมากจะไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง แต่การก่อความรุนแรงสะเทือนขวัญมีจุดมุ่งหมายการเมืองของตนที่ไม่เปิดเผย การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการดำเนินนโยบายปฏิรูปการบริหารและการปกครอง และเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาสังคมอย่างรอบด้าน การที่เหตุการณ์ยังขยายตัวออกไปยืนยันให้เห็นปฏิบัติการความรุนแรงเองมีระบบ มีการจัดการ การเตรียมการและกำหนดเป้าหมายและการเตือนล่วงหน้าอย่างค่อนข้างชัดเจนและเป็นระบบ รวมทั้งมีชุดของแนวความคิดรองรับอยู่ด้วย การแก้ปัญหาจึงยังคงต้องระมัดระวังและเน้นการทำงานบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาปมใหญ่คืออัตลักษณ์และความเป็นธรรมอย่างเป็นระบบและขจัดเงื่อนไขสงครามให้ได้