Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

แนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้กลายเป็นคำถามที่หลายฝ่ายพยายามร่วมกันค้นหา ท่ามกลางสถาน การณ์ความไม่สงบยังคงดำเนินด้วยอัตราเร่งที่ต่อเนื่อง  การถกเถียงในประเด็นดังกล่าวบนเวทีสัมมนา "ความรุนแรงชายแดนใต้กับรัฐบาลใหม่" ซึ่งจัดโดยศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ ร่วมกับสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ หอประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งในเวทีนี้หลายฝ่ายได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ ด้วยการหยิบยกประเด็น "การฟื้นฟู" อำนาจและความเข้มแข็งของชุมชนออกมาเพ่งพินิจกันใหม่

ประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชน ซึ่งชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ได้ถูกรัฐเข้าไปแทรกแซงและบั่นทอนอำนาจชุมชนลง ดังจะพบในลักษณะของอำนาจจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องเฉี่ยวชนกับของอำนาจของผู้นำทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิมในแต่ละชุมชน ปัจจัยขั้นต้นเหล่านี้ ได้ค่อยๆ แปลงสภาพมาเป็นสนิมร้ายที่คอยกัดเซาะให้ชุมชนเกิดความอ่อนแอลง จนนำไปสู่การแพร่ขยายแนวคิดการใช้ความรุนแรงขึ้นในพื้นที่เพื่อเป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐ

ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา (มอย.)  เปิดเผยว่าการเสื่อมถอยของอำนาจชุมชน ชัดเจนที่สุดเมื่อหลังเหตุปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม 2547 ทำให้ชุนชนหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตกเป็นพื้นที่เป้าหมายของฝ่ายทางการและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ จากประสบการณ์ที่ตนเคยทำวิจัยเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับทาง ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ทำให้พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 3 จังหวัดจะใช้คำว่าถูกทำลาย ถูกสลายหรือเสียหายไปแล้วก็ได้ เพราะปัจจุบันไม่สามารถให้การปกป้องหรือชี้นำสังคมได้ เพราะว่ารัฐเข้าไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในลักษณะของการตั้งโจทย์ว่า ไม่ต้องการชุมชนที่มีผู้นำท้องถิ่นของ 3 จังหวัด 

"แต่ขณะนั้นชาวบ้านยังมีโต๊ะครู มีอิหม่าม มีคอเต็บ มีบาบอ แต่หลังจากเหตุปล้นปืน คนเหล่านี้มีชื่ออยู่ในทะเบียนของทางการแทบหมด เขาเลยไม่กล้าออกมาเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านได้ เพราะตนเองยังเอาตัวไม่รอด แต่จะหาว่าเขาผิดก็ไม่ได้และในสภาวะที่ทหารลงไป เสมือนหนึ่งว่าทหารที่ลงไป มีการสอดแทรกอะไรบางอย่างลงไปด้วย ที่ส่งผลต่อการสูญเสียอำนาจการปกครองของผู้นำท้องถิ่นไป" 

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีแสดงความเห็นว่า ประเด็นที่มองเห็นชัดมากขึ้น จะเห็นว่าอำนาจการควบคุมของสังคม (Social Control) นั้นล้มเหลว ผู้นำศาสนาก็กุม -ห้ามปรามเด็กๆ หรือคนรุ่นหนุ่มไม่ได้ กำนันผู้ใหญ่บ้านก็ล้มเหลว อบต.ก็ล้มเหลว คำถามสำคัญก็คือว่า อะไรที่ทำให้อำนาจชุมชนล้มเหลว คำตอบก็คือรัฐนี่เอง เพราะรัฐได้ละเลยหรือข้ามข้อเรียกร้องในเชิงอัตลักษณ์และความยุติธรรม รัฐไม่สามารถจัดการความต้องการในเชิง วัฒนธรรม ภาษา  ศาสนา ให้กับชุมชนได้

"มันก็เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่หลังปี 2547 ปัญหาก็คือจะแก้ปัญหากับมันอย่างไร ไม่ใช่การส่งกำลังเข้าไปมากกว่านี้ แต่อยู่ที่การฟื้นกำลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กลับมา ให้เขาจัดระบบดูแลกันเอง เพราะหากไม่แก้ปัญหามันจะมีปัญหาอื่นตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงหรือยาเสพติด"

นักรัฐศาสตร์จาก มอ.ปัตตานีวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่อำนาจของชุมชนต้องสูญเสียไปว่า เป็นเพราะไม่ไว้วางใจคนของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อผู้นำของชาวบ้านหรือผู้นำชุมชน หรือแม้แต่ผู้นำองค์กรประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง หากดูช่วงเวลาที่มองเห็นภาพการเสื่อมเสียของอำนาจชุมชนจะพบว่า ยิ่งสถานการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้น อำนาจของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือผู้นำธรรมชาติอย่างโต๊ะอิหม่าม, โต๊ะครู, บาบอ, คอเต็บ จะยิ่งมองไม่เห็นการเคลื่อนไหวทางอำนาจของกลุ่มคนเหล่านี้เลย

"วิธีการก็คือ หลังจากที่รัฐไม่เข้าใจและไม่ไว้วางใจแล้ว ก็จะเข้าไปแทรกแซงหรือเข้าไปบั่นทอนกระบวนการสรรหาผู้นำเหล่านี้ เช่นการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต.หรือแม้แต่การเลือกตั้งกรรมการอิสลาม โดยเฉพาะ พ.ร.บ.อิสลาม ปี2540 จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า นำมาสู่ความแตกแยก ทำให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่ตอนนี้ก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้อยู่ ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ก็ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น เกิดการปะทะกันระหว่างคนแพ้และคนชนะ ประชาชนที่อยู่ตรงกลางก็เกิดความอ่อนแอ โครงสร้างของชุมชนก็ยิ่งอ่อนลง" ผศ.ดร.ศรีสมภพ อธิบาย

ทัศนะกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพนำเสนอ  สอดคล้องกับความเห็นของ พล.ต.จำลอง คุณสงค์ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค4) ที่ว่า ความหวังสุดท้ายของการแก้ปัญหาก็คือ หากฟื้นฟูผู้ปกครองท้องถิ่นไม่ได้ การแก้ปัญหาอื่นๆ ทั้งหมดไม่มีวันจะประสบความสำเร็จ แล้วการจัดการอำนาจท้องถิ่นก็มีปัญหา สิ่งที่ยกตัวอย่างให้เห็นชัดก็คือหลังจากมี อบต. การเลือกตั้งผู้นำอย่างกำนันผู้ใหญ่บ้านแทบจะหมดความสำคัญ ส่วนการเลือกตั้ง อบต.ก็จะมีผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้แพ้ก็จะไปตีสนิทกับเจ้าหน้าที่ เข้าหาฝ่ายข่าวไปบอกว่านายก อบต.รายนี้อยู่ฝ่ายขบวนการ เจ้าหน้าที่ก็ส่งกำลังไปล้อม ตนเองเคยเจอกรณีนี้และเคยท้วงติงเจ้าหน้าที่ไปหลายครั้งให้ระมัดระวังในประเด็นดังกล่าว เพราะเจ้าหน้าที่จะตกเป็นเครื่องมือของอำนาจอิทธิพลท้องถิ่นได้

พล.ต.จำลองยังกล่าวอีกว่า กรณีการเสื่อมถอยของอำนาจชุมชน หากโทษฝ่ายทหารก็ต้องบอกว่าฝ่ายทหารมีปัญหา ไม่สามารถแบกรับภาระตรงจุดนั้นทั้งหมดได้ เพราะทหารอาชีพแทบทั้งหมดเป็นคนนอกพื้นที่ เข้ามาประจำการอยู่ในพื้นที่ได้เพียง 3-4 เดือน ก็ถึงวาระผลัดเปลี่ยนกำลัง ถามว่า 3-4 เดือนนั้น ทหารจะทำอะไรได้บ้าง แค่จะเข้าใจและเข้าถึงยังเป็นไปได้ยากเลย เรื่องการพัฒนานั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อถามว่าอะไรคือปัญหา ก็ต้องโทษ "ระบบราชการ" อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การที่สถาบันสังคมหรือชุมชนไม่มีความเข้มแข็งอยู่ในตัวเองก็ทำให้มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการของทหารหรือคนนอกที่จะเข้าไปสร้างพื้นที่การเรียนรู้ การสร้างความเข้มแข้งต่างๆ ก็เป็นเพียงปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในที่แท้จริงก็คือชาวบ้านในชุมชนทุกคน แต่ทุกวันนี้ประชาชนเองก็มีความอ่อนแอ ไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่จะเข้าไปบั่นทอนชุมชนของตนเองได้ อย่างเช่น ยาเสพติด การหลงผิดหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กำลังกัดเซาะโครงสร้างของชุมชนเอง

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ศรีสมภพ ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้รัฐจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบั่นทอนอำนาจ แต่จะโทษรัฐฝ่ายเดียวคงไม่ได้เพราะชุมชนเองก็มีความอ่อนแอลง การบริหารจัดการได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อมองตามสภาพความเป็นจริงจะเห็นว่า ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีจุดแข็งของตนเอง คือมีความเป็นชาตินิยม มีอัตลักษณ์ของตนเองที่ชัดเจน ทั้งในแง่ของชาติพันธุ์และศาสนา แต่สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นดาบสองคมได้ เพราะเมื่อสังคมอ่อนแอลงกลุ่มคนบางกลุ่มได้เข้าไปแพร่ขยายแนวคิด ทำให้เกิดการนิยมใช้ความรุนแรงได้ง่าย
 
"สิ่งที่จะช่วยปกป้องได้ คืออำนาจของผู้นำชุมชนท้องถิ่น มีการพูดว่า อบต.ไว้ใจไม่ได้เพราะเป็นพวกแนวร่วม ก็ยิ่งทำให้เกิดความอ่อนแอมากขึ้น นโยบายของรัฐก็จะกระโดดข้ามหัวผู้นำท้องถิ่นตรงไปหาประชาชนโดยตรงเลย ไปต่อสายกับชาวบ้านให้ปลูกผัก ขุดบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งอำนาจชุมชนจะไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวบ้านเลย" ผศ.ศรีสมภพอธิบาย

เขายังบอกว่าวิธีแก้ไขปัญหาคือให้เขามีส่วนรับรู้ปัญหาของตัวเอง ต้องจัดการให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมกับทุกกระบวนการของชุมชน เพราะเขาเองก็ใช่ว่าจะเห็นด้วยกับความรุนแรง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมาทำงานรับใช้รัฐเพียงอย่างเดียวในทางกลับกัน รัฐต้องช่วยกระจายอำนาจให้เขาอย่างเต็มที่และต้องปฏิรูปกันไปพร้อมๆกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจชุมชนและการศึกษาชุมชน