Skip to main content

บทบาทสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ[1]

The role of civil society council of southernmost provinces of Thailand in supporting peace building process

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก  ดินอะ) [2]

"มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน"

การศึกษาบทบาทสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการคือ เพื่อทราบพัฒนาการการเกิดสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และบทบาทสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในการหนุนเสริมกระบวนการสนติภาพ

โดยใช้วิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสัมมนา การสนทนากลุ่ม (focus group) และการประชุมประจำเดือนของสภาประชาสังคมและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับตัวแทนสภาประชาสังคม

ผลการศึกษาพบว่า:

1.      สภาประชาสังคมชายแดนใต้  เป็นการรวมขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา อาชีพ กลุ่มและองค์กร  เพื่อขับเคลื่อนทางสังคมให้ได้มาซึ่งสันติภาพของพื้นที่ซึ่งมาจากผลจากการการสัมมนาหัวข้อ ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ : การขยายพื้นที่ประชาชนเพื่อแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้[3]

2.     บทบาทสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในการหนุนเสริมกระบวนการสนติภาพนั้นได้กำหนดยุทธศาสคร์และกิจกรรมต่างๆในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพทั้งสันติภาพเชิงลบและเชิงบวกบวก

บทนำ

บทบาทภาคประชาสังคมท่ามกลางความขัดแย้งกับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้มีความสำคัญทำให้เกิดกลุ่มต่างๆมากมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานด้านต่างๆไม่ว่าการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  ศาสนา  วัฒนธรรม  เยียวยา  ทรัพยากรและอื่นๆอีกมากมายโดยเฉพาะด้านพัฒนาสู่ผู้คนในชุมชนต่างๆและได้รับความไว้วางใจมากกว่าคนของรัฐไม่หน่วยความมั่นคง หรือจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในเรื่องการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นองค์กรหนึ่งที่ทำงานในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

ความหมายประชาสังคม

คำว่า "ประชาสังคม" มาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society และมีผู้ใช้คำภาษาไทยเทียบเคียงกันหลายคำ อาทิ "สังคมประชาธรรม" (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) "สังคมราษฎร์" (เสน่ห์ จามริก) "วีถีประชา"(ชัยอนันต์ สมุทวณิช ใช้คำนี้โดยมีนัยยะของคำว่า Civic movement) "อารยสังคม" (อเนก เหล่าธรรมทัศน์) และ"สังคมเข้มแข็ง"(ธีรยุทธ บุญมี) เป็นต้น ทั้งนี้ นักคิดสำคัญ ๆ ของสังคมไทยได้อธิบายขยายความคำว่า "ประชาสังคม" หรือ Civil Society นี้ในบริบทเงื่อนไขและการให้น้ำหนักที่แตกต่างกัน อันพอรวบรวมในเบื้องต้นได้ดังนี้

ศ.นพ.ประเวศ วะสี นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจุดประกายการคิดถกเถียง ในเรื่อง "ประชาสังคม" ให้มีความเข้มข้นอย่างมากในช่วงระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยผ่านงานเขียนชิ้นสำคัญคือ "สังคมสมานุภาพและวิชชา" โดยในงานเขียนดังกล่าวประกอบกับบทความย่อย ๆ และการแสดงปาฐกถาและ การอภิปรายในที่ต่าง ๆ พอประมวลเป็นความคิดรวบยอดได้ว่า ในสภาพของสังคมไทยปัจจุบัน ภาคส่วนหลัก (Sectors) ของสังคมที่มีความเข้มแข็ง และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมากคือ ภาครัฐ หรือ "รัฐานุภาพ" และภาคธุรกิจเอกชนหรือ "ธนานุภาพ" ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลทำให้สังคม ขาดดุลยภาพและเกิดความล้าหลังในการพัฒนา ของฝ่ายประชาชนหรือ ภาคสังคม ซึ่งเรียกว่า "สังคมานุภาพ" 

ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี จึงมุ่งไปที่การทำอย่างไรที่จะเกื้อหนุนให้ภาคสังคมหรือภาคประชาชนมีความเข้มแข็งและเกิดดุลภาพทางสังคมขึ้น ที่เรียกว่าเป็น "สังคมสมานุภาพ" โดยนัยยะนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เชื่อว่าจะต้องพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งที่ชุมชน(Community Strengthening) (ประเวศ วะสี 2536) จนเกิดคำขยายความตามมา อาทิ ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นชุมชน เป็นต้น ดังการให้ความหมายของการเป็น "ชุมชน" ในที่นี้ ว่าหมายถึง "การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมี วัตถุประสงค์ร่วมกัน มีอุดมคติร่วมกันหรือมีความเชื่อร่วมกันในบางเรื่อง มีการติดต่อสื่อสารกัน หรือมีการรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความรัก มีมิตรภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกันในการ ปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างและมีระบบการจัดการในระดับกลุ่ม" (ประเวศ วะสี 2539) ซึ่งโดยนัยยะนี้ประชาสังคมที่เข้มแข็ง ต้องมีรากฐานที่เกิดจากการมีชุมชนที่หลากหลายและเข้มแข็งด้วย[4] ซึ่งสอดคล้องกับหลักการอิสลามให้มีการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องการทำความดี ละเว้นความชั่วดั่งดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ความว่า “และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดี และใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบ และชนเหล่านั้นแหละพวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ” อัลกุรอาน 3 : 104

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ในสภาประชาสังคมชายแดนใต้ให้เงื่อนไขในคำนิยามเพิ่มเติมของประชาสังคม  คือองค์ภรที่ทำงานที่ไม่ใช้ปืนหรืออาวุธในการแก้ปัญหาและต้องไม่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐหรือกลุ่มก่อการร้าย

ความเป็นจริงการขับเคลื่อนของประชาสังคมท่ามกลางความรุนแรงเริ่มมีการกล่าวถึงในช่วงกลางปี 2552  ซึ่งจำได้มีการสัมมนาหัวข้อ ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ : การขยายพื้นที่ประชาชนเพื่อแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้[5] การประชุมสัมมนาในครั้งนั้นได้มีองค์กรทั้งในและพื้นที่เข้าร่วมไม่น้อยที่เดียว  พร้อมทั้งได้สรุปผลของการสัมมนาระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย 12 กลุ่มและสามารถสรุปได้สามประเด็นด้วยกันคือ

ประเด็นที่ 1: ทบทวนบทบาทการทำงานภาคประชาสังคมกับการเปลี่ยนแปลงสู่สันติภาพ

การทบทวนบทบาทการทำงานของภาคประชาสังคมกับการเปลี่ยนแปลงสู่สันติภาพนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น2 ประเด็นหลักที่ได้มีการพูดคุยกัน คือ ความสำเร็จที่ผ่านมา และปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่ 2: การเสริมพลังและสร้างศักยภาพภาคประชาสังคม

ประเด็นที่ 3: 1) การทำงานในระยะต่อไปและการสร้างเครือข่ายเพื่อสันติภาพ (Peace Net) 2) ตั้งองค์กรหรือเครือข่ายระหว่างภาคประชาสังคมด้วยกันเอง 3) กิจกรรมบางส่วนที่อาจจะดำเนินการได้

จากการจัดเวทีในครั้งนี้ทำให้ วันที่ 31 กรกฎาคม  2554 มีการจัดตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้

บทบาทสภาประชาสังคมชายแดนใต้

ประวัติความเป็นมาและวัตถุประสงค์

สภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นการรวมขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา อาชีพ กลุ่มและองค์กร เพื่อขับเคลื่อนทางสังคมให้ได้มาซึ่งสันติสุขของพื้นที่สภามิใช่เป็นองค์กรที่เหมือนกับสมาคม หรือมูลนิธิ  แต่เป็นการรวมตัวกันของ หลายองค์กร ที่มีภารกิจหลักของตนเองและใช้เวลาส่วนหนึ่งเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานเพื่อสังคม โดยการให้เกียรติ เคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน  เป็นการทำงานที่เห็นว่ามีความจำเป็นและสามารถทำได้ ด้วยตัวแทนองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน 20 องค์กร (ซึ่งจะกล่าวภายหลังพร้อมทั้กรรมการ) เบื้องต้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หารือร่วมกันและมีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม  2554 ให้ก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ขึ้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและพลังอำนาจของภาคประชาชน  กำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงานและสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างองค์กรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน มีการสื่อสารและสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สังคม

วิสัยทัศน์ /ยุทธศาสตร์/โครงการ/กิจกรรม

สภาได้กำหนด วิสัยทัศน์ว่าภายในปี 2563 จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีระบบบริหารจัดการโดยรูปแบบปกครองพิเศษที่เข้มแข็ง  มีความเจริญรุ่งเรือง  ทุกชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข

ในขณะเดียวกันได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์ด้วยกันคือการขยายประชาธิปไตย  การดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม  การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน  ส่งเสริมและสนับสนุนด้านอัตลักษณ์ ศาสนาและวัฒนธรรม แก่ประชาชนทุกชุมชน  และยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ  การหาทางยุติความรุนแรง

แต่หลังจากสภาประชาสังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จนกระทั่งต้นปี 2556 ได้ปรับยุทธศาสตร์เป็นสี่ด้านด้วยกัน  ดังต่อไปนี้

1.     การขยายประชาธิปไตยและดำรงความยุติธรรม

2.     การยุติความรุนแรงทางตรงและสันติภาพ

3.     สนับสนุนยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการส่งเสริมด้านอัตลักษณ์ ศาสนา วัฒนธรรมแก่ประชาชน

4.     การพัฒนากลไกความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม

ในแต่ละด้านก็จะมีโครงการ/กิจกรรมรองรับทั้งการหนุนเสริมกระบวนการ “สันติภาพเชิงลบ (Negative Peace)” (ไม่มีความรุนแรง) และ “สันติภาพเชิงบวก(Positive Peace)” (เช่นความยุติธรรม  การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ความเท่าเทียมและสิทธิในการปกครองตนเอง )

การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพทั้งเชิงลบ (Negative Peace)

การผลักดันพื้นที่นำร่องการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จัดทำ Road Map กระบวนการสันติภาพร่วมกัน (จากภาคีประชาสังคมในพื้นที่)[6] สร้าง Safety Net เพื่อหนุนเสริมกระบวนสันติภาพ สร้างมวลชนและผลักดันแนวคิด “ฝ่ายที่ 3”  จัดวงหารือแนวทางสนับสนุนกระบวนสันติภาพจากภาคีประชาสังคม ภาคประชาชนในพื้นที่ และนอกพื้นที่ จัดสมัชชาปฏิรูป  2  ครั้ง ในประเด็น “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน และเสียงเพรียกเพื่อสันติภาพ” พัฒนาเวบไซท์ (update และจ้าง webmaster) ทำรายการวิทยุ/โทรทัศน์

การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพเชิงบวก (Positive Peace ) เช่น จัดเวทีเรียนรู้เรื่องกระจายอำนาจ ในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายยุทธศาสตร์จนสามารถ รวบรวมความเห็นต่อเรื่องการกระจายอำนาจและยกร่างกฎหมายกระจายอำนาจผลักดันเข้าสู่สภาฯ นำเสนอการจัดตั้งและพัฒนากองทุนชายแดนใต้ พัฒนาประสิทธิภาพการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้สึกร่วมของความเป็นสภาฯ ขยายฐานองค์กรสมาชิกเครือข่ายสนับสนุนองค์กรสมาชิกให้ดำเนินการเชิงพื้นที่เพื่อสร้างรูปธรรมการทำงานที่สอดคล้องภายใต้ยุทธศาสตร์ของสภาฯ สร้างองค์ความรู้ พัฒนาและผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ร่วมกับองค์กรสมาชิกและเครือข่าย เช่น ร่างพรฎ.การจัดตั้งองค์การมหาชน สถาบันการส่งเสริมฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น / การใช้ภาษามลายู / การศึกษา / การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน / การแก้ปัญหายาเสพติด จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กร เครือข่ายที่ทำงานพัฒนาในพื้นที่ (5 ประเด็นการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ทรัพยากร ผู้หญิงและเยาวน)  พัฒนาเวบไซท์ (update และจ้างweb master)   ทำรายการวิทยุ/โทรทัศน์

 จัดสมัชชาปฏิรูป 2 ครั้ง ในประเด็น “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน และเสียงเพรียกเพื่อสันติภาพ”

ปัญหาและอุปสรรค

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานนั้น หากดูในภาพรวมแล้วจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก  แต่หากพิจารณาในเชิงรายละเอียด  พบว่า  ในการดำเนินงานของสภานั้นมีปัญหาอยู่บ้าง  อาทิ 

1. ความพร้อมในเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการ ซึ่งพบว่า  ในการประชุมแต่ละครั้งคณะกรรมการมาไม่ตรงเวลาบ้าง  ในขณะที่สภามีประเด็นที่ต้องการหารือในแต่ละครั้งของการประชุมหลายประเด็น  ทำให้ได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ 

2. คณะกรรมการสภาโดยส่วนใหญ่มีภารกิจหลายด้าน ดังนั้น  เมื่อทางสภามีการมอบภารกิจให้คณะกรรมการไปดำเนินการต่อ  ส่งผลให้ภารกิจที่ได้มอบหมายไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้  จะต้องทำการติดตามและขยายเวลาการทำงานออกไป 

3. การทำงานของสภาเป็นการทำงานเชิงนโยบาย ดั้งนั้น เมื่อมีการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายก็ต้องนำข้อเสนอดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางหน่วยงานก็ให้ความสนใจต่อข้อเสนอ  บางหน่วยงานก็ไม่ให้ความสำคัญ ทางสภาก็ไม่สามารถบังคับให้หน่วยงานดำเนินการตามที่ทางสภาร้องขอได้ 

4. การประสานงานทางกองเลขาของสภาทำการประสานงานผ่านช่องทาง E-mail   ในขณะที่กรรมการบางท่านไม่สะดวกในการที่เปิด E-mail  ทุกวัน  ทำให้คณะกรรมการบางท่านเข้าไม่ถึงข้อมูลหรือเข้าถึงช้า 

5.  ศักยภาพของเจ้าหน้าที่กับบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  เจ้าหน้าที่ของสภามีคนเดียวในขณะที่ภารกิจที่ต้องรับผิดชอบมากทำให้ผลงานที่ออกมายังไม่ดีเท่าที่ควร

6. งบประมาณในการดำเนินงานในการดำเนินงานที่ผ่านมาทางสภาฯได้รับงบประมาณสนับสนุนเฉพาะกิจกรรม  ทำให้สภาฯไม่สามารถดำเนินกิจกรรมกิจกรรมบางอย่างที่เป็นข้อเสนอของสมาชิกสภาหรือข้อเรียกร้องจากชุมชนให้ดำเนินการได้ 

บทเรียนจากการดำเนินงาน

1. ความสำเร็จในการดำเนินงานของสภา : สมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้  ทุกท่านมีงานประจำของตัวเองและจะเสียสละเวลาส่วนหนึ่งให้กับการเข้าร่วมประชุมสภา หรือกิจกรรมอื่นๆ ของสภา  เพื่อให้ความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ดังนั้น  ถ้าจะให้เกิดพร้อมเพรียงในการประชุมสภาแต่ละครั้ง   เจ้าหน้าที่ของสภาจะต้องแจ้งวาระการประชุมหรือแจ้งถึงความสำคัญของของกิจกรรมนั้นให้ทราบล่วงหน้าและทำการประสานงานเพื่อขอคำยืนยันในหลายวิธี เช่น ทางโทรศัพท์ อีเมล์  และทางการส่งข้อความ  เป็นต้น

2. การเปิดโอกาสและการรับฟังความคิดเห็น  :  สภา  เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการได้แสดงความคิด ความเห็น  และกระทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งตามที่ถนัดของแต่ละคนโดยมีคณะกรรมการคนอื่นๆ คอยให้การช่วยเหลือ  ซึ่งการเปิดโอกาสดังกล่าวส่งผลให้เกิดความสำเร็จและเกิดกำลังใจในการทำงานซึ่งกันและกัน

3. ศักยภาพของสภาฯ : สภาเป็นการรวมกลุ่มขององค์กรหลายองค์กร  และแต่ละองค์กรที่มารวมกลุ่มกันก็เป็นที่รู้จักของสังคมใน  จังหวัดชายแดนใต้  เมื่อมีการประชาสัมพันธ์องค์กร  และคณะกรรมการทุกคนช่วยกันประชาสัมพันธ์องค์กร  ทำให้องค์กรสภาฯเป็นที่รู้จักของกลุ่มคน องค์กรและหน่วยงานในพื้นที่

4. การมีงบประมาณในการดำเนินงาน : การที่ทางสภาฯได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้เกิดการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้ง  ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเอื้อที่สำคัญที่ทำให้สภาเกิดการพบปะหรือประชุมอย่างต่อเนื่อง  และยังส่งผลต่อการดำเนินงานหรือการมีกิจกรรมร่วมกันในหลายกิจกรรม                        

ข้อเสนอแนะ

 

1.    ให้มีการขยายฐานสมาชิก ให้ครอบกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอาทิ ภาคเยาวชน องค์ศาสนาต่างๆ สิทธิมนุษยชน นักธุรกิจ เพื่อเป็นแนวร่วมในการดำเนินงานในอนาคต

2.    การสร้างพื้นที่รูปธรรมทางการเมือง การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การแก้ปัญหายาเสพติดและอื่นๆเชิงพื้นที่ เช่นชุมชนจัดการตนเอง

3.     การขยายการทำงานสู่ฐานล่าง คือฐานสมาขิกขององค์กรเองเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ

4.     อันเนื่องมาจากสภาประชาสังคมชายแดนใต้มิใช่องค์กรเดียวที่หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพดังนั้นควรทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพูดคุยสันติภาพ การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

5.     ควรมีเครือข่ายทางวิชาการอาทิ สมาคมรัฐศาสตร์ สันติศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยเข้ามาหนุนการทำงานให้มากขึ้น

 

สรุป

สภาประชาสังคมชายแดนใต้  เป็นการรวมขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา อาชีพ กลุ่มและองค์กร  เพื่อขับเคลื่อนทางสังคมให้ได้มาซึ่งสันติสุขของพื้นที่  มี  วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสภาฯ ก็เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการระดมความคิดความเห็นจากภาคประชาชนในการเพิ่มศักยภาพและพลังอำนาจของภาคประชาชน   การกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน   การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงานและสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างองค์กรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน การสื่อสารและสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สังคมซึ่งสิ่งเหล่านี้มีพลวัตตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายในการสร้างเป้าหมายสูงสุดสันติภาพ และสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี

หมายเหตุ

รายชื่อคณะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

ประธานสภา   อาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ

เลขาธิการสภา  นายรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล

คณะกรรมการสภา

(1)          นายปิยะพร มณีรัตน์ (สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้)

(2)          นายอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ (มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร)

(3)          นางสาวมาเรียม ชัยสันทนะ (ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา)

(4)          ผศ.นุกูล รัตนดากูล (โครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)

(5)          นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ (สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย)

(6)          นายมันโซร์ สาและ (มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้/เครือข่ายพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองจังหวัดชายแดนใต้)

(7)          นายวศิน สาเมาะ (มูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ)

(8)          นายสมพร สังข์สมบูรณ์ (กองทุนเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมชายแดนใต้)

(9)          นายสมชาย กุลคีรีรัตนา (ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล)

(10)     นายอับดุลการีม อัสมาแอ (สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา)

(11)     นายพิศิษฐ์ วิริยสกุล (ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด “บ้านชีวิตใหม่”)

(12)     นายอับดุลสุโก ดินอะ (ศูนย์อัลกุรอานและภาษา โรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ)

(13)     นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน (ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้)

(14)    นางโซรยา จามจุรี (เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้)

(15)    นางกัลยา เอี่ยวสกุล (ศูนย์ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี)

(16)    นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ (เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้)

(17)    นายแวรอมลี แวบูละ (เครือข่ายชุมชนศรัทธา)

(18)    นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร (สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ปัตตานี)

(19)    นายสมนึก ระฆัง (ศูนย์ประชาสังคมจังหวัดยะลา)

(20)    นายมูฮำมัด บิลหะยีอาบูบากา (เครือข่ายวิทยุชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้)



[1] เผยแผ่ครั้งแรกใน Proceedings “ The International Conference on Peace and Conflict Resolution , 15-16 Dec,2014 at Pullman Hotel, Khonkaen,Thailand. หน้า158-166

[email protected],  http://www.oknation.net/blog/shukur

[2] กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณและผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา

[email protected],  http://www.oknation.net/blog/shukur

[3] จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน  2552 โดย ศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   สำนักงานสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า  และ มูลนิธิเฟรดดริก   ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์รีสอร์ท   หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

[4] ประชาสังคม. สืบค้นเมื่อ 30 สิหาคม 2557 จาก http://www.thaicivinet.com http://www.vijai.org/articles_data/show_topic.asp?Topicid=108

[5] จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน  2552 โดย ศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   สำนักงานสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า  และ มูลนิธิเฟรดดริก   ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์รีสอร์ท   หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

[6] อับดุลสุโก ดินอะ. 2556. ชูรอกุญแจสู่พลเมือง. นราธิวาส : หสม.พงษ์นราการพิมพ์. หน้า 81-84