Skip to main content

คืนร้องไห้หว่างเขาควาย ชะตากรรมประมงพื้นบ้านตันหยงเปาว์      

บทบาท "ระหว่างเขาควาย" ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ ของสมาคมชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี ได้กลายเป็นดาบสองคม เมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์ที่เรียกตนเองว่า "เหล่านักรบฟาฏอนี" ได้บุกเข้าไปจับคนในหมู่บ้าน และทำลายเครื่องมือประมง คนร้ายปล่อยตัวชาวบ้านหลังจากนั้น แต่ได้ทิ้งซากเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่เปรียบเสมือนลมหายใจแห่งชีวิตของชาวประมงบ้านตันหยงเปาว์ไว้เบื้องหลัง

เวลา 21.45 น. ของคืนวันที่ 18 เมษายน ศาลาที่ทำการของสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีมีอาสาสมัครผลัดเวรกันมาเฝ้าระวังอยู่เหมือนเช่นทุกคืนที่ผ่านมา และคืนนี้ก็เป็นหน้าที่ของอาสาสมัครชาวบ้านจำนวน 7 คนได้มาทำหน้าที่ พร้อมกับนั่งทำลอบปูเพื่อฆ่าเวลา ในห้วงขณะที่ทุกคนไม่ทันสังเกต ชายฉกรรจ์แต่งชุดดำสวมหมวกไหมพรมจำนวน 2 คนก็บุกขึ้นมาบนศาลา โดยชายอีกคนยืนคุมเชิงอยู่บริเวณบันไดทางขึ้น ส่วนอีก 3 คนได้อ้อมไปปีนขึ้นทางด้านทิศตะวันตกของศาลา พร้อมกับได้ประกาศเป็นภาษามลายูว่า "ให้ทุกคนยืนขึ้น ยกมือขึ้นไว้เหนือหัว อย่าขัดขืน ไม่ต้องการจะทำร้ายใคร" หลังจากนั้นก็ผลักอาสาสมัครชาวบ้านทั้ง 7 คนไปกองรวมกันไว้ที่หน้าประตู แล้วบังคับให้นอนราบกับพื้นแล้วก้มหน้า โดยใช้ปืนอาก้าจ่อศีรษะไว้ ในช่วงขณะนั้นอาสาสมัครชาวบ้าน 1คนได้สลัดหนีแล้ววิ่งกระโจนลงไปในลำคลอง พร้อมทั้งหลบหนีไป 

ภายหลังจากนั้นได้มีชายในชุดดำคนหนึ่ง ซึ่งอาสาสมัครในกลุ่มได้สังเกต และบอกในภายหลังว่าน่าจะเป็นหัวหน้าชุด อายุอยู่ในช่วงระหว่าง 20 - 25 ปี เดินลงมาแล้วบอกว่าขอคุยกับชาวบ้านที่นอนราบอยู่กับพื้นพร้อมทั้งประกาศว่าพวกเขาคือกลุ่ม "นักรบฟาฏอนี" ไม่ได้ต้องการทำร้ายใคร หากไม่มีผู้ขัดขืน พวกเขาต้องการทำลายทรัพย์สมบัติของโต๊ะนา (รัฐ) พวกเขามาจากบันนังสตา มาเพื่อแก้แค้นแทนพรรคพวกของเขาที่อยู่ที่บันนังสตา ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำอย่างหนักหนาสาหัส

เมื่อชายชุดดำผู้นี้กล่าวจบเขาก็เดินขึ้นไปบนศาลา สักพักหนึ่งอาสาสมัครชาวบ้านที่ถูกควบคุมตัวอยู่ก็ได้ยินเสียงโครมครามเหมือนกำลังพังทำลายข้าวของและกลับลงมาบอกว่าพวกเขาต้องการเพียงแค่ทำลายข้าวของ/ทรัพย์สมบัติที่เป็นของรัฐ และเข้าใจว่าอาสาสมัครชาวบ้านเหล่านี้มาทำหน้าที่เพียงแค่เฝ้าเท่านั้น ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นเงินของรัฐ เป็นเครื่องมือที่ใช้ร่วมมือกับรัฐทั้งสิ้น

ต่อมามีชายในชุดดำวิ่งมาถามอาสาสมัครชาวบ้านว่ามีใครมีอาวุธปืนอยู่หรือไม่ หากมีใครมีอาวุธปืนอยู่ ทุกคนจะต้องเจ็บตัวทั้งหมด ซึ่งอาสาสมัครชาวบ้านก็ตอบไปว่าไม่มีใครมีอาวุธปืน หลังจากนั้นมีชายชุดดำอีก 2 คนวิ่งมาจากศาลาที่ทำการกลุ่มมาถามอาสาสมัครชาวบ้านว่ามีข้าวของส่วนตัวอยู่หรือไม่ ซึ่งอาสาสมัครชาวบ้านตอบว่ามีลอบปู/ลอบปลาที่ใช้ในการทำมาหากิน มีเรือลำเล็ก ๆที่ใช้ออกทะเลหาเลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย พร้อมทั้งร้องขอไม่ให้เผา ชายชุดดำ 2 คนดังกล่าวก็วิ่งขึ้นไปบนศาลา ก่อนย้อนกลับลงมาถามอาสาสมัครชาวบ้านที่ถูกควบคุมตัวอยู่ว่า "อันไหนเรียกว่าลอบ" ภายหลังจากนั้นไม่กี่วินาที ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ตอบ พวกเขากลับไปบนศาลา และเริ่มจุดไฟเผา โดยเผาทั้งบนศาลา ,บนเรือตรวจการณ์ชายฝั่งทั้ง 2 ลำ และบนเรือไม้ตรวจการณ์ใกล้ฝั่งอีก 2 ลำ

เมื่อเพลิงโหมลุกไหม้ กลุ่มชายชุดดำก็ลงมาจากศาลาที่ทำการและมาบอกกับอาสาสมัครชาวบ้านว่าพวกเขาจะปล่อยตัวทุกคนกลับไป และเมื่อกลับไปถึงหมู่บ้านแล้ว ห้ามทุกคนไปพูดอะไรให้อยู่เงียบ ๆ ไม่ต้องไปบอกกล่าวอะไรไม่ต้องไปแจ้งความหรือให้ปากคำอะไรกับเจ้าหน้าที่ หากรู้ว่าใครไปแจ้ง/บอกอะไรกับเจ้าหน้าที่รัฐเขาจะตามมาเอาคืนและเมื่อเริ่มได้ยินเสียงเครื่องยนต์เรือของชาวบ้านในหมู่บ้านวิ่งตรงมาที่ทำการกลุ่มพวกชายชุดดำทั้ง 6 คนก็หลบหนีไปโดยใช้มอเตอร์ไซด์ จำนวน 3 คัน เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. ถัดจากนั้นไม่นานกลุ่มทหารที่ตั้งค่ายอยู่ท้ายหมู่บ้านห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร ก็มาถึงที่เกิดเหตุ

เพลิงยังคงโหมลุกไหม้อย่างรุนแรงเพราะบริเวณศาลาที่ทำการกลุ่มมีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเรือตรวจการณ์ไว้เตรียมพร้อมเพื่อลาดตระเวณร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพลิงค่อย ๆ สงบลงในช่วงสายของวันรุ่งขึ้น และเริ่มมีเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหน่วยดับเพลิง หน่วยพิสูจน์หลักฐาน , ทหาร , ตำรวจ ,ประมงอำเภอ , นายอำเภอหนองจิก ฯลฯ เข้ามาซักถามสอบถามเรื่องราวและเก็บพิสูจน์หลักฐานตามขั้นตอน

การทิ้งไว้เพียงซากของเรือตรวจการณ์สองลำ ได้สร้างความเจ็บปวดอย่างยิ่งให้กับชาวประมงพื้นบ้านแห่งนี้ เพราะการได้มาซึ่งเรือตรวจการณ์นำร่อง 01 และ นำร่อง 02 นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการร่วมกันทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องบทบาทชาวประมงพื้นบ้านกับการรักษาชายฝั่ง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และจากผลการวิจัยดังกล่าวทำให้ได้รับเรือตรวจการณ์ทั้งสองลำมาดำเนินงาน

ในอดีตทางสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี เคยชุมนุมเรียกร้อง ให้ทางจังหวัดและกรมประมงจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งมาประจำในพื้นที่จังหวัดปัตตานี แต่ก็พบกับอุปสรรคมากมาย จนกระทั่งได้นำไปสู่การเสนอไว้ในแผนงานของโครงการนำร่องการจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งจังหวัดปัตตานีเพื่อจัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่งไว้ในการบริหารจัดการขององค์กรชุมชน ซึ่งกว่าแผนงานดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติก็ต้องผ่านกระบวนการต่อสู้ทางความคิดอย่างยาวนานกับทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ การได้มาซึ่งเรือตรวจการณ์ชายฝั่งอย่างยากลำบากและใช้เวลาต่อสู้เรียกร้องอย่างยาวนาน จึงเป็นเสมือน "สมบัติอันมีค่า"ในเชิงจิตใจของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่ต้องการจะรักษาเรือตรวจการณ์ชายฝั่งดังกล่าวให้ดีที่สุด

ท่ามกลางความยากลำบากในการดำรงชีวิตที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและความขัดแย้งชาวประมง พื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มคนเล็กคนน้อยพยายามรวมกลุ่มกันปกป้องทรัพยากร แต่เนื่องจากพวกเขาไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการจับกุมผู้กระทำผิดจึงต้องร่วมมือกับภาครัฐในการออกลาดตระเวนเฝ้าระวังการทำลายทรัพยากรประมงของเรือประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำลายสูง เมื่อร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขาก็อยู่ไม่ได้ แต่หากไม่ร่วมมือกับรัฐ เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำลายสูงและผิดกฎหมายก็จะกวาดต้อนทรัพยากรไปจนไม่เหลือไว้ให้ชาวบ้านหากินเพื่อการยังชีพในแต่ละวัน ความเจ็บปวดที่พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีได้รับในท่ามกลางสถานการณ์ที่อยู่บน "เขาควาย" 2 ด้านเช่นนี้ดำเนินมาช้านาน ทั้งที่พยายามก้าวข้ามให้พ้นเสมอมา

แต่วันนี้ พวกเขาต้องมายืนร้องไห้กับซากเรือ ด้วยเหตุผลของชายชุดดำที่ว่า "เพราะพวกเขาไปร่วมมือกับรัฐ เรือตรวจการณ์ชายฝั่งนำร่องเป็นเครื่องมือในการร่วมมือกับรัฐ" เรือลำนี้ที่ได้ทำหน้าที่ในการพิทักษ์ ปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไว้ให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นกลุ่มคนยากจน และมีทางเลือกในการประกอบอาชีพไม่มากนักได้ทำมาหากิน

พวกเขาจะมีเครื่องมือใดอีกเล่า เพื่อต่อสู้รักษาทรัพยากรอันมีค่าไว้ให้ลูกหลานในวันข้างหน้า...