Skip to main content

รอมือละห์  แซเยะ

            เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ดิฉันได้เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ “พาสู่อ้อมกอด รอมฎอนการีม” ซึ่งจัดขึ้นที่ค่ายกัลยาณิวัฒนา ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยมีคนเข้าร่วมหลายร้อยคน กิจกรรมดังกล่าวเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากจากการสื่อสารผ่านเจ้าหน้าที่ทหารว่า ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ส่วนดิฉันเองตกเป็นประเด็นในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เนื่องจากดิฉันได้แสดงความกังวลและข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงถูกจัดให้เป็นหนี่งใน “ปาร์ตี้บี” สำหรับงานในวันนั้น ดิฉันขอเขียนเล่าเหตุการณ์และสิ่งที่สรุปได้จากวันนั้น ดังนี้

 

เมื่อดิฉันได้รับการติดต่อ

            ดิฉันถูกเชิญเข้าร่วมงานด้วยเพราะมีผู้ใหญ่ใจดีคนหนึ่งแจ้งมาว่า นายกรัฐมนตรีจะเข้ามารับฟังปัญหาด้วยตัวเองและจะรับแก้ปัญหาทันที ให้ชวนผู้คนที่เดือดร้อนอยากให้ช่วยเหลือมาด้วย 10 คน ชาย 5 คน หญิง 5 คน และให้เราเป็นตัวแทนเตรียมประเด็นที่จะร้องเรียน 3-5 นาที โดยมีหัวข้อที่อยากให้ช่วยเหลือดังนี้

1.     ทำบัตรประชาชนใหม่

2.     ทำพาสปอร์ตใหม่

3.     หาอาชีพ

4.     หาที่ดินทำกิน

5.     หาพื้นที่ปลอดภัย

6.     ทำบัตรอำนวยความสะดวก

7.     หาทุนประกอบอาชีพ

8.     ช่วยเหลือด้านกฎหมาย

9.     ต้องการไกล่เกลี่ยคู่ขัดแย้ง

10.  เข้าถึงการดูแลสุขภาพ

            ก่อนเข้าร่วมงานได้ส่งชื่อนามสกุลและเลขที่บัตรประชาชนเพื่อแจ้งจำนงเข้าร่วมงาน แต่ไม่สามารถหาคนในจำนวน 10 คนได้ เพราะช่วงประสานงานกระชั้นชิด และหลายคนที่ประสานไปไม่สะดวกเข้าร่วมงาน ดังนั้นจึงได้มีโอกาสเช็คหาผู้คนเข้าร่วมงานจากคนใกล้ตัวจึงทราบว่า ก๊ะแยนะ สะแลแม (ที่หลายคนรู้จักดี) ถูกเชิญเข้าร่วมงานด้วย จึงรู้สึกอุ่นใจที่มีคนรู้จักกันเข้าร่วมงาน เพราะคนประสานงานบอกว่า งานนี้เป็นวงปิด เราจึงไม่ได้ปรึกษาและบอกกล่าวใครนอกจากครอบครัว

            วันงานดิฉันเดินทางไปกับน้องสาว และได้นัดเจอกับก๊ะแยนะหน้าประตูค่ายกัลยาณิวัฒนา แต่ด้วยความที่ไม่เคยไปค่ายฯ ก็เลยประสานกับก๊ะแยนะเรื่อยๆ จนมาเห็นป้ายหน้าทางเข้าประตูใหญ่ ก็เห็นผู้คนกำลังขับรถทยอยเข้าไปขับตามๆ กัน แต่ไม่เห็นก๊ะแยนะ ระหว่างที่ดิฉันกำลังขับรถจะเข้าประตูค่ายฯ

            มีเจ้าหน้าทหารมาถามว่า “เป็นเจ้าหน้าที่หรือพลเรือนครับ?”

            ดิฉันตอบกลับไปว่า “เป็นพลเรือนค่ะ”

            เจ้าหน้าทหาร “พลเรือนเข้าประตู 2 ครับ”

            ดิฉันกลับรถและโทรหาก๊ะแยนะ ก็ได้ทราบว่า ก๊ะแยนะรออยู่หน้าประตู 2 อยู่แล้ว ซึ่งอยู่ห่างจากประตูใหญ่หน้าค่ายประมาณ 300 เมตร พอไปถึงเห็นชาวบ้านที่ทยอยกันมา ทั้งมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ และรถตู้

            ทันทีที่มาถึงหน้าประตู 2 แซวกันเองเลยว่า “ประตูทางเข้าเราสองมาตรฐานเนอะ คนละเรื่องเลย ประตูไม่มีป้ายบอก แถมเหมือนประตูร้างเลย แต่นายกฯ มา เพื่อความปลอดภัยมั้ง!!”

            มีการขอบัตรประชาชนเพื่อกรอกข้อมูล ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และเลขที่บัตรประชาชน เห็นว่า 8 โมงกว่าแล้ว เลยเวลานัดกับคนที่ประสานแต่ไม่สามารถติดต่อได้ คิดว่างานคงเริ่มแล้ว ก็เลยอาสาช่วยเจ้าหน้าที่เขียนข้อมูลดังกล่าว แต่เอกสารที่ใช้เขียนเป็นพียงกระดาษ A4 เปล่าๆ

            เมื่อเขียนเสร็จแล้ว บัตรประชาชนยังคงฝากไว้กับเจ้าหน้าที่และรับป้ายแขวนคอเพื่อเข้างาน เจ้าหน้าที่แนะนำให้เราไปตามทางที่มีเจ้าหน้าที่คอยบอกทาง ได้ป้ายไม่ได้เอะใจอะไร เพราะเข้าใจว่าเป็นเพียงบัตรผ่านประตู แต่ยังแซวกันเองอยู่ว่าทำไมถึงเขียนว่า “ปาร์ตี้บี” นะ?

            ขับรถไปจอดในโรงจอดรถและมีรถบัสมารับเพื่อไปที่อาคารจัดงาน ทันทีที่มาถึงอาคารจัดงาน มีเจ้าหน้าที่มารับและบอกให้ไปตามทาง ทางที่เดินผ่านเป็นทางเลียบข้างๆ อาคารที่มีสินค้าวางจำหน่าย และได้พบผู้ใหญ่คนหนึ่งที่คุ้นหน้าคุ้นตาเจอตามเวทีประชุมบ่อยๆ แต่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ก็เลยทักทาย “พี่มางานนี้ด้วยรึค่ะ” “อ้าวน้องมางานนี้ด้วยรึ” ก็เลยเดินเข้าไปประตูข้างหลังอาคาร มีเจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋าก่อนเข้างาน และได้เจอเจ้าหน้าที่ทหารที่รู้จักคนหนึ่ง ก็เลยเข้าไปทักทาย “อ้าวน้องมาด้วยรึ อ่ะ เชิญๆ ไปนั่งครับ”

            ขณะที่จะนั่งได้หันไปเห็นเพื่อนทำงานภาคประชาสังคม คนทำงานสื่อ ทั้งที่นั่งอยู่แล้ว และเพิ่งทยอยมาถึง “เอะ คนรู้จักเยอะแยะเลย ไหนบอกว่าวงปิด คนมาเยอะน่ะเนี้ยะ” วางกระเป๋าไว้แล้วเดินไปทักทาย  ระหว่างนั้นผู้ดำเนินรายการและล่ามก็พูดไปเรื่อยๆ คล้ายๆ กับบรรยากาศในงานพร้อมเริ่ม

            เรา (ก๊ะแยนะ น้องสาว และดิฉัน) เลยกลับไปนั่งที่เดิม เพราะเข้าใจว่าคนที่จะต้องพูดต้องไปนั่งจุดที่วางไว้เท่านั้น  ตรงข้ามที่เรานั่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใส่ชุดสีกากีเป็นส่วนใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่นั่งอยู่ข้างหลังที่เป็นที่นั่งคล้ายอัศจรรย์เชียร์กีฬา ทั้งสองฝั่งเต็มพอๆ กัน

            งานเริ่ม ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่วางไว้ฝั่งปาร์ตี้ A เริ่มพูดก่อน แต่ไม่มีใครพูด ก็เลยให้ฝั่งปาร์ตี้ B พูดก่อน ดิฉันสังเกตว่า แม้จะมีการสลับกันพูดอยู่บ้าง แต่ฝั่งปาร์ตี้ A ไม่ค่อยได้พูดเท่าไหร่ คือพูดหนึ่งคนก็สลับกลับมาฝั่งปาร์ตี้ B ซึ่งก็พูดไปถึง 2 คน สลับไปมาอย่างนี้ฝั่งละไม่เกิน 5 นาที 

 

เมื่อดิฉันถึงคราวต้องพูด

            ดิฉันได้เตรียมประเด็นปัญหาในการพูดคุยประมาณ 1 หน้ากระดาษราวๆ 5 นาที แต่กำลังดูจังหวะและท่าที่ของผู้คนที่นำเสนอทั้งฝั่งปาร์ตี้ A และปาร์ตี้ B จนรู้สึกเวลาล่วงเลยผ่านไปเกรงจะไม่ทันได้นำเสนอจึงรีบยกมือเพื่อแสดงประสงค์ในการนำเสนอ  สิ่งที่ดิฉันได้พูดในวันนั้น ดิฉันบันทึกไว้ดังนี้ :-

ขอความสันติจงมีแด่ทุกท่าน           

ดิฉันรอมือละห์  แซเยะ เป็นคนทำงานภาคประชาสังคมและถูกผลักดันให้กลายพันธุ์เป็นปาร์ตี้บี อาจเนื่องจากสามีนายมูฮาหมัดอัณวัร  หะยีเต๊ะ ถูกกล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ซ่องโจรและก่อการร้าย ต้องคดีความมั่นคงชายแดนใต้ ตอนนี้อยู่เรือนจำปัตตานี จะเห็นว่าภาพที่กำกวมเกิดขึ้นจากที่เราอยากเป็นเด็กคนหนึ่งที่ต้องการพัฒนาศักยภาพชีวิตและครอบครัวให้ดีขึ้นแต่กลับต้องมาสู้รบปรบมือกับความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ ดังนั้นวันนี้จึงเป็นตัวแทนปาร์ตี้บีที่ถูกวางไว้อย่างชัดเจน แม้ไม่อยากเป็นก็ตามที

มาที่นี่ เลือกที่จะก้าวขาเข้ามาเพราะเชื่อมั่นระดับหนึ่งว่ารัฐและเจ้าหน้าที่ทหารจะปกป้องมากกว่าปราบปราม  เรารู้สึกเสี่ยงแต่เราไม่รู้ว่าที่ไหนปลอดภัยที่ไหนอันตราย ซึ่งในเวลานี้บอกได้เลยว่า เรากลัวเจ้าหน้าที่ทหารเพราะมีอาวุธครบมือ และเรากลัวอำนาจมืดที่เรามองไม่เห็น เพราะมันเกิดอันตรายขึ้นได้ทุกเมื่อ ยิ่งมีเรื่องราวเกิดขึ้นกับสามีทำให้ชัดเจนมากขึ้น ณ เวลานี้ความไม่ปลอดภัยและความไม่เป็นธรรมได้มาเยือนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างชัดเจนแล้ว

อันวาร์เป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยหนีประกัน ไม่เคยไปอยู่มาเลเซียและไม่เคยหนีไปไหน แต่เป็นคนหนึ่งที่พยายามด้วยตัวเองในทุกขั้นตอนโดยไม่ต้องเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านหรือกลับบ้านเพื่อเป็นคนดี แต่ความพยายามกับตัวเองที่ทำงานในด้านต่างๆ กับการทำงานด้านสันติวิธี แต่แล้วก็ไม่รอด สุดท้ายก็ถูกตัดสินอยู่ที่เรือนจำปัตตานีเป็นเวลา 12 ปี ด้วยข้อหาถูกซัดทอดเป็นอั้งยี่ซ่องโจรและก่อการร้าย แต่ไม่มีการก่อเหตุใดๆ โดยหน้าที่ภรรยาตอนนี้ก็คือในขณะที่ช่วยเหลือครอบครัวและเพื่อนร่วมชะตากรรม จะบอกว่า แม้ไม่หนีก็ไม่ปลอดภัย แต่จะทำอย่างไรให้ผู้คนยังคงเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย จะหนีหรือไม่หนีจะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ไหนก็แล้วแต่เมื่อเขาเผชิญหน้าสู้คดีแล้วได้รับความเป็นธรรม และทางการได้อัพเดทชีวิตผู้คนที่ตกอยู่ในแบล็กลิส(บัญชีดำ) ที่ตกอยู่ในลิสต์คดีความมั่นคงทั้งหลาย ไม่ว่าเป็นผู้ก่อเหตุหรือไม่ก่อเหตุก็ตามแต่  แต่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบหาหลักฐานได้อย่างชัดแจ้งก่อนจะตรวจจับใครสักคน

“ขออภัยที่ตื่นเต้น ไม่เคยเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้เห็นต่างมากขนาดนี้”

ข้อเสนอ 5 ข้อดังนี้ :-

1.     รัฐบาลควรเร่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากประชาชนไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม

2.     ขอเสนอให้เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นแก่ผู้ที่เห็นต่างอย่างจริงจัง รัฐต้องไม่มองผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากทางการเมืองในพื้นที่ด้วยสายตาที่หวาดระแวงเสมือนเป็นศัตรู

3.     ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ทุกฉบับ เพราะการใช้กฎหมายพิเศษทำให้เกิดการซ้อมทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ หวาดระแวง จิตหลอน เช่น มีการตรวจค้นบ้าน ข้าวของหายไปไม่ได้รับการบันทึกและไม่ได้ส่งคืน และอีกหลายกรณีเจ้าหน้าที่กระทำผิดแต่ไม่สามารถเอาผิด เพราะถูกอ้างได้รับสิทธิการใช้อำนาจพิเศษ

4.     ขอให้ดำเนินคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง ในการดำเนินคดีแต่ละคดีให้ตระหนักถึงพยานหลักฐานที่ชัดเจน ไม่ควรอายัดคดีซ้ำซ้อนกับผู้คนที่กำลังจะได้รับอิสรภาพ

5.     ขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน

หลังร่วมงาน

             หลังจากกลับมาจากค่ายทหารในวันนั้นและได้นั่งทบทวนตัวเอง ช่วงค่ำๆ วันนั้นเอง ดิฉันได้โพสท์ความรู้สึกผ่านหน้าเฟสบุ๊คของตนเองในชื่อ Romlah Narathiwas ว่า “รู้สึกได้ถึงการเป็นตัวประกอบของละครสมจริง #เล่นอะไรกัน” นี่เป็นความรู้สึกที่สะท้อนออกมาเพื่อให้รู้ว่า ตอนนั่งงงๆ ในห้องประชุมใหญ่ที่ค่ายฯ นั้น สังเกตเห็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ค่อยพูด และมานั่งรับฟังแบบงงๆ มีเพียงไม่กี่คนที่พูดจาฉะฉาน แต่ส่วนใหญ่ไม่กล้าพูดคุย ทำให้กลับมานึกถึงตัวเองด้วยว่า

            เรามานั่งทำอะไรตรงนี้

            แล้วสิ่งที่ร้องเรียนถูกบันทึกนำไปแก้ไขหรือเปล่า?

            เรื่องราวที่เป็นปัญหาทุกข์ร้อนของชาวบ้านถูกนำไปแก้ไขหรือไม่??

            แล้วทำไมนายกไม่มา ทำไมแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่มา?

            แล้วคนที่มาทั้งหมดเขามาอย่างไร?

            เขาถูกเชิญร่วมงานแบบที่เราถูกเชิญหรือเปล่า?

            หรือทุกคนล้วนเป็นตัวประกอบที่ถูกจัดให้มานั่งร่วมเป็นสักขีพยานบางอย่าง?

            คำถามโลดแล่นวิ่งไปมาในสมอง จึงประมวลภาพจากความคิด ทำให้โพสท์ลงไปเพื่ออยากรู้ว่า เพื่อนพี่น้องทั้งที่ไปร่วมงานและไม่ได้ไปร่วมงานคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

            มีหลายคนแชร์ผ่านข้อความของดิฉัน และแชร์ไปในเผจกลุ่มติดตามกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี และก็พบว่า.....

สิ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์

            ในโลกของโซเชียลเน็ตที่ไม่ได้มีการเผชิญหน้ากันนั้น หลายคนมักแสดงให้เห็นความรู้สึก ความเป็นตัวตน โดยเฉพาะแนวคิดมุมมองของความรู้สึกตนเอง มีถ้อยคำที่นุ่มนวลบ้าง รุนแรงบ้าง ปลอบใจบ้าง คลุกเคล้ากันไป บางคนก็สะท้อนมีเหตุมีผล และบางคนก็ใช้อารมณ์ล้วนๆ ส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนจากมุมเดียว

            ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาดิฉันเลือกที่จะนิ่งเงียบสงบสติ เพื่อหวังให้ทุกการทำงานของทุกบทบาทหน้าที่ได้ใคร่ครวญกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เปล่าเลย ยิ่งนิ่งยิ่งถูกคุกคาม ยิ่งเงียบยิ่งถูกรังควาน เลยทำให้นึกถึงชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสโต้ตอบชี้แจงอะไรใดๆ มักจะตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดาย แต่จงรู้ไว้ว่าสันติภาพและความชอบธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการพูดบอกอยู่ฝ่ายเดียว

            และฝากถึงผู้หวังดีทั้งหลายที่อยากให้พื้นที่ชายแดนใต้สงบสุข อย่าเพียงแค่บอกเล่าให้ใครต่อใครฟังว่า เห็นใจ สงสาร รู้จักพื้นที่ชายแดนใต้ดี จึงอยากช่วยให้สงบสุข แต่การกระทำกลับไม่สอดคล้องกับถ้อยคำที่ใช้บอกใครต่อใคร เชื่อว่าเรื่องนี้ตัวตนรู้ดีอยู่แก่ใจและพระเจ้ารู้ดีกว่า (หากเจ้าเป็นผู้ศรัทธา)

            มีเรื่องที่น่าบังเอิญอีกประการหนึ่ง เมื่อวันอังคาร ที่ 16 มิถุนายน 2558 Facebook ในนาม Romlah Narathiwas ของดิฉันไม่สามารถเปิดใช้งานได้ หน้าเฟสฟ้องมาว่า ได้ทำการเปลี่ยนรหัสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เป็นประการฉะนี้ดิฉันจึงไม่สามารถไปตอบอะไร แต่มาคิดอีกที พระเจ้าคงประสงค์ให้เป็นไปเฟสบุ๊คใช้งานไม่ได้ช่วงที่ภาวะอารมณ์ไม่คงที่พอดี ดังนั้นจึงเป็นเวลาแห่งการใคร่ครวญเป็นการต้อนรับรอมฎอนการีมที่เป็นเดือนแห่งปรารถนาความสงบสุขยิ่ง

            เมื่อดิฉันได้ทำการพยายามที่จะกลับไปใช้เฟสบุ๊ค Romlah Narathiwas ไม่ได้ จึงได้ทำการร้องเรียนกับเฟสบุ๊คเพื่อทำการบล็อก เพื่อไม่ให้มีใครมาแอบอ้างการใช้งานในอนาคตได้ วันนี้ดิฉันจึงขอไว้อาลัยกับเฟสบุ๊คเก่า หากมีการเปิดใช้เฟสบุ๊คอันใหม่ดิฉันจะแจ้งให้เพื่อนพี่น้องที่จริงใจและหวังดีมาร่วมเป็นเพื่อนกันอีก

สิ่งที่คาดหวัง

            ไม่ว่าวันนี้ในสังคมบ้านเราจะมีหลากหลายกลุ่มก้อน หลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายแนวคิด ขอเพียงให้สิ่งเหล่าขัดแย้งแค่เพียงความคิดหรือความต่าง แต่อย่านำมาซึ่งความหายนะใดเลย วาทะเด็ดความคิด คำเขียนเด็ดอิสรภาพ การพิพากษาเด็ดชีวิตมนุษย์ ที่ผ่านมาหลายคนตกเป็นเหยื่อของการถูกเด็ดจิตวิญญาณความเป็นมนุษยชาติจากความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มากพอแล้ว ณ วันนี้ถึงเวลาที่เราเหล่าเพื่อนมนุษยชาติควรหันมาทบทวนใคร่ครวญบทบาทของตนเอง จะทำอย่างไรให้เรามีสติอยู่กับตัว มีศรัทธาอยู่กับใจ และเพื่อนที่ดีของเพื่อนมนุษยชาติด้วยกันได้ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” 

            คาดหวังไม่นานเกินรอ โลกเราจะสงบสุขได้ด้วยน้ำมือของพวกเราทุกคน

 

Selamat Romadon Karim ^^

23 มิถุนายน 2558