Skip to main content

พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีข้อสรุป 2 ประการคือ 1) สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะคงตัวในระดับที่เป็นอยู่และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น 2) การแก้ปัญหาของรัฐยังไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมซึ่งต้องรักษาความปลอดภัยในชีวิต (Human Security) เป็นหลักสำคัญจึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน แต่เนื่องจากยุทธศาสตร์ของรัฐยังมีจุดอ่อนหลายประการ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่สามารถรับมือกับความรุนแรงในพื้นที่ได้

 

สมาชิกสนช. กล่าวต่อว่า ข้อจำกัดที่ทำให้รัฐไม่สามารถบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรงลงได้คือ มาตรการรัฐเปลี่ยนตามไม่ทันสถานการณ์และการกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงของภาครัฐ ยังยึดติดกับวิชาการสงคามสงครามแบบเดิมๆ ในสมัยสงครามเย็น ซึ่งแตกต่างจากสภาพการณ์ปัจจุบันที่มีปัจจัยใหม่ๆ ต้องนำมาพิจารณามากว่าเดิมและในการแก้ปัญหายุทธศาสตร์และยุทธวิธีจะต้องประสานควบคู่กันไป โดยผู้กำหนดยุทธศาสตร์ต้องเข้าใจในยุทธวิธีและผู้ใช้ยุทธวิธีต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ด้วย

"นโยบายที่บรรจุอยู่ในรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.) นั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีแต่ถ้าจะให้สมบูรณ์ควรเพิ่มเติมไปด้วยว่าเป็น นโยบายสมานฉันท์และการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจะลดความสับสนของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติได้มาก" พล.อ.ไวพจน์กล่าวและว่า

ภาคประชาสังคมจะต้องร่วมกันพิจารณาว่าจะมีส่วนร่วมกับรัฐได้อย่างไรและถ้ายังเห็นว่า รัฐบาลไม่มียุทธศาสตร์ที่ดี ก็ต้องกดดันให้การแก้ปัญหาของรัฐสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมและต้องมีมาตรการที่ทำให้ประชาชนมีความคาดหวังในชีวิตที่ดีกว่านี้

รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า การสมานฉันท์และความใช้เหตุผล ยังจำเป็นแม้จะมีความยากลำบาก แต่จะเป็นสุด "ปลายขอบ" หรือไม่นั้นเป็นเรื่องท้าทายที่พลังประชาชนจะเป็นตัวชี้ขาดที่สำคัญและเป็นตัวที่จะทำให้เหตุการณ์คลี่คลายได้ในระยะยาว

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน ม.อ. กล่าวต่อว่า พลังประชาสังคมจะมีบทบาทมากขึ้นในการแก้ปัญหา โดยตนข้อสังเกตส่วนตัวว่า ระยะหลังที่มีการพูดคุยกันในพื้นที่นั้นจะมีประชาชนโดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชนเข้าร่วมมากขึ้น อย่างหลากหลายมากขึ้น ซึ่งในท่ามกลางความรุนแรงกลไกภาคประชาสังคมมีบทบาทมากขึ้นในการประสานงานทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็ถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างแนวทางสันติหรือความรุนแรง เช่น กลุ่มชาวบ้านที่ตันหยงเปาว์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ทำงานร่วมกับรัฐ ก็ถูกเผาทำลายเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าภาคประชาสังคมก็ถูกบังคับให้เลือกว่าจะอยู่แนวทางไหน  แต่ส่วนใหญ่ยังยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีซึ่งภาครัฐก็ควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐยังล้มเหลวในการใช้ "ความจริง" เป็นแนวทางแก้ปัญหาหากแต่รัฐอ่อนแอในการใช้ความจริงและความเป็นธรรม ซึ่งหากกล้าเผชิญหน้ากับความจริงจะทำให้สังคมแข็งแรงขึ้น แม้บางครั้งจะสร้างความเจ็บปวด แต่จะยั่งยืนในระยะยาวและในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ทำอย่างไร ภาคประชาชนจะยืนอยู่ตรงกลางได้โดยไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

"ดิฉันพยายามไม่เป็นเครื่องมือของ ศอ.บต., กอ.รมน. และฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ เช่นเดียวกับคนทำงานอีกหลายคน" อังคณากล่าวและว่า

ตนเชื่อในการใช้กระบวนการยุติธรรมแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหา สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การต้องยอมรับกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีสิทธิในการดำเนินการตามกฎหมาย ประชาชนต้องยอมรับและนี่คือสิ่งที่บอกกับชาวบ้าน แต่อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมานี้ มีเรื่องน่าวิตกและมักพบว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ยังมีการใช้ความรุนแรงและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นการจับตามองของภาคประชาสังคมในการใช้อำนาจของรัฐ จะทำให้รัฐระวังในการใช้อำนาจให้อยู่ในขอบเขตมากขึ้น ซึ่งหวังว่ารัฐจะเป็นผู้เริ่มก่อนในการสร้างความรับผิดชอบ (Accountability)

นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ สถาบันอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความพยายามควบคุมสื่อในพื้นที่ ด้วยการตั้ง "ชมรมสื่อใต้สันติ" โดยภาครัฐ สิ่งนี้ทำให้เห็นถึงมุมมองที่เจ้าหน้าที่รัฐมีต่อสื่อมวลชน ซึ่งสะท้อนความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมการเสนอข่าวให้เป็นไปในทางเดียวกันและหลายครั้งเห็นถึงการบิดเบือนข่าว เช่น การบอกว่าเหตุนั้นๆ เป็นการกระทำของคนร้าย ทั้งที่ชาวบ้านก็รู้กันว่าเป็นฝีมือคนของรัฐ การพยายามบิดเบือนข่าวสารในลักษณะดังกล่าว ยังไม่มีการตรวจสอบพิสูจน์ว่าความจริงที่เกิดขึ้นคืออะไร

นายเสริมสุข กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ แนวทางสมานฉันท์นั้น ผู้นำมุสลิมในพื้นที่ก็ออกมาขานรับ แต่จากการขานรับแล้วยังไม่มีแนวทางการผลักดันและสานต่อ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีความผิดพลาดขึ้นแล้ว ไม่มีความพยายามจากเจ้าหน้าที่รัฐเลยที่จะเข้ามาชี้แจงและเสนอความจริงแต่อย่างใด

ด้านนายพิชัย รัตนพล อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาวิกฤตอัตลักษณ์ คือ ความเป็นตัวตนของมลายูปัตตานีที่ถูกละเลยมองข้าม เพราะรู้สึกตัวเองไม่มีตัวตนในสังคมนี้ มันไม่มีความหมาย นี่คือเรื่องจริงวิธีแก้ก็ไม่ยากก็คืนอัตลักษณ์ให้เขากลับไป เขาอยากเห็นบ้านเมืองเป็นอย่างไรก็ให้เขาคิด เขาอยากปกครองอย่างไร ไม่ต้องไปคิดแทนเขาว่าจะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบไหน เพราะเขาคิดเองได้

"ปัญหาทุกวันนี้ไม่มีคำว่าสายสำหรับสันติวิธี ไม่มีคำว่าสายสำหรับการมองเพื่อนร่วมชาติเสียใหม่ ซึ่งภาคประชาสังคมต้องช่วยให้กำลังใจกับแนวทางอยู่ร่วมกันใหม่ ซึ่งแท้จริงแล้วจุดแข็งสังคมไทยมีอยู่คือการให้อภัย" นายพิชัย กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : สมัชชา นิลปัทม์  สำนักข่าวชาวบ้าน 
         รายงานพิเศษ 6 เดือน ปี 50 สถานการณ์ใต้ยังทรง สนช.-นักวิชาการแนะดึงภาคปชช.ร่วมดับ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาเรื่อง "บทบาทภาคประชาสังคมกับปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้" ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย