Skip to main content
 
จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม
มูลนิธิเบิร์กฮอฟ (Berghof Foundation, BF)
ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Collaborative, PRC)
           

หากเปรียบความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเด็ก ปีนี้เด็กคนนี้กำลังจะมีอายุครบ 12 ปี เป็นช่วงวัยของการเปลี่ยนแปลงจากเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นทั้งในแง่ร่างกาย พฤติกรรม และความรู้สึกนึกคิด เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ บางคนเรียกว่า เป็นวัยแห่งการไขว่คว้าหาอิสรภาพ เป็นช่วงวัยที่เริ่มแสวงหาความเปลี่ยนแปลง กว่า 12 ปีของความรุนแรงในพื้นที่ (แม้หลายคนจะบอกว่า ความรุนแรงในภาคใต้จะยาวนานกว่านั้น แต่ผู้เขียนถือเอาปี 2547 เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงระลอกใหม่ที่กำลังเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน) มีพัฒนาการที่ปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยและเงื่อนไขของฝ่ายต่างๆ จนทำให้คนในพื้นที่ก็ต้องปรับตัวไปตามสภาพของความรุนแรง เกิดความคุ้นชิน และเป็นข่าวในหน้าสื่อกระแสหลักน้อยลง เว้นเสียแต่มีการก่อเหตุใหญ่ก็ทำให้เรื่องภาคใต้ช่วงชิงพื้นที่ในสื่อกระแสหลักกลับมาได้บ้างเป็นครั้งคราว

แม้ลักษณะของการใช้ความรุนแรงจะน่าสนใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ความตื่นตัวของประชาชนที่ต่างก็ส่งสัญญาณเป็นเสียงเดียวกันว่า พอได้แล้วสำหรับความรุนแรง พอกันทีเสียงระเบิดและกลิ่นควันปืน และแน่นอนคำว่า “กระบวนการสันติภาพ” กลายเป็นวาทกรรมใหม่ที่ถูกกล่าวถึงอย่างน่าจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ขึ้นและถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการ จนมาถึงสันติสนทนาแบบปิด(ไม่)ลับระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทยกับกลุ่มมาราปาตานีที่มีอยู่เป็นระยะๆ ตลอดปี 2558

ความเคลื่อนไหวบวกกับแรงกระตุ้นของภาคประชาสังคมในสามจังหวัดทำให้งานด้าน “สันติภาพ” ยังคงดำเนินต่อไปได้ แม้จะล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่นั่นก็เพราะกระบวนการสันติภาพนั้นเพิ่งเริ่มต้นตั้งไข่และกำลังจะครบ 3 ขวบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

กระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนานและไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง มีขึ้นมีลง และมีหยุดชะงักเป็นเรื่องปกติ บรรดานักวิชาการ นักยุทธศาสตร์ นักวิเคราะห์และนักปฏิบัติการด้านสันติภาพมีข้อถกเถียงกันว่า การตัดสินใจเพื่อยุติความรุนแรง และสร้างสันติภาพเกิดขึ้นที่ไหน ใครเป็นฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจ ใครจะรับผิดชอบหากมีการละเมิดข้อตกลง จะแก้ปัญหาทางตันที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยอย่างไร และจะจัดการกับสังคมหลังความรุนแรงยุติลงได้อย่างไร และอื่นๆ อีกมากมาย

คำถามเหล่านี้สำคัญเพราะนอกจากจะทำให้เราเห็นความซับซ้อนของกระบวนการสันติภาพแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่า กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องรูปธรรมจับต้องได้ไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่สิ่งที่พูดออกมาลอยๆ นักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพจึงเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้สันติภาพได้มีที่อยู่ (give peace an address) คำถามต่อมาคือ ให้ได้มีอยู่นั้นควรมีลักษณะอย่างไร คำถามดังกล่าวนำไปสู่ความเห็นที่ว่า ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสันติภาพ (Peace Infrastructure หรือ Infrastructure for Peace เรียกย่อๆ ว่า I4P) บทความนี้จะเน้นไปที่แนวคิดเรื่อง I4P การเกิดขึ้นของศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Collaborative – PRC) ตลอดจนข้อท้าทายของ I4P

หลายพื้นที่ในโลกมีศักยภาพอย่างมากที่จะก่อความขัดแย้งรุนแรง แต่ขาดการวิเคราะห์ ขาดกลไกและโครงสร้างที่จะรองรับเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอ รัฐบาลมักใช้กฎหมายและระเบียบของรัฐในการจัดการกับปัญหา แต่หลายครั้งไม่ได้สร้างความเป็นธรรมและความมั่นคงที่ดีพอให้กับประชาชน รัฐบาลในหลายประเทศก็มีลักษณะเปราะบางและแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายสูง ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ก็เพิ่มสูงขึ้น แต่ศักยภาพและทรัพยากร (ไม่ได้หมายถึงงบประมาณเพียงอย่างเดียวแต่รวมถึง ทรัพยากรในเชิงความรู้) กลับขาดแคลน แนวคิดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสันติภาพและ/หรือกระบวนการสันติภาพจึงเป็นกลไกที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ (เช่น รัฐบาล ขบวนการเคลื่อนไหว ประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ได้มาร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาและเป็นสถาบันเชิงกลไกตอบสนองต่อความขัดแย้งรุนแรงเพื่อแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้ง

แนวคิดนี้ถูกพัฒนาโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) จุดเน้นสำคัญของ I4P คือ การสร้างศักยภาพเชิงโครงสร้างเป็นองค์กรหรือสถาบันที่ไม่ได้เน้นย้ำเฉพาะเรื่องการพูดคุยหรือการเจรจาเท่านั้น แต่รวมไปถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสันติภาพในทุกระยะ โครงสร้างที่ว่านี้ อาจจะมีได้ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และจะริเริ่มอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาล (เช่น สำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิบดีเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ประเทศฟิลิปปินส์ – Office of the Presidential Adviser on the Peace Process หรือการตั้งกระทรวงสันติภาพและการฟื้นฟู ประเทศเนปาล) หรือไม่เป็นทางการโดยภาคประชาสังคม รวมทั้งอาจริเริ่มโดยองค์กรชุมชนท้องถิ่น (เช่น คณะกรรมการสันติภาพเพื่อสันติภาพท้องถิ่นขึ้นในเคนย่าและกาน่า ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จเพราะสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากการเลือกตั้งได้) กิจกรรมที่เกิดขึ้นใน I4P จึงมีหลายรูปแบบหลายระดับ เช่น การจัดการพูดคุยระดับชาติ การจัดตั้งเครือข่ายผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อบรรเทาความตึงเครียดในชุมชน ให้การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการให้กับหน่วยงานของรัฐเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการรณรงค์เพื่อสันติภาพ หรือการตั้งคณะกรรมการสันติภาพในระดับท้องถิ่น เป็นต้น

แนวคิดของ I4P จึงกว้างขวาง มีหลายระดับ บางกรณีมีความซับซ้อนและใช้เวลานานกว่าที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในเคนย่าใช้เวลาถึง 20 ปี และในกาน่า 8 ปี เป็นต้น

ลักษณะสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสันติภาพ

1.   การริเริ่มก่อตั้งมาจากในประเทศนั้นๆ องค์กรระหว่างประเทศทำหน้าที่เพียงให้การสนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ เช่น การติดตามตรวจสอบการหยุดยิง หรือการให้ความช่วยเหลือในเชิงความรู้ที่เกี่ยวข้อง

2.    I4P สามารถตั้งขึ้นได้ทุกระดับและทุกช่วงเวลาของสันติภาพ/กระบวนการสันติภาพ เช่น ตั้งคณะกรรมการสันติภาพท้องถิ่น ตั้งกลไกเพื่อเตือนภัยล่วงหน้าในช่วงต้นของความรุนแรง ตั้งกลุ่มติดตามตรวจสอบการหยุดยิง เมื่อความรุนแรงเริ่มสูงขึ้น ตั้งคณะเลขาธิการเพื่อการเจรจาสันติภาพ สร้างพื้นที่สนทนาระดับชาติ (National Dialogue) ในกรณีทีเริ่มมีการพูดคุย ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ หลังจากการความขัดแย้งรุนแรงทุเลาหรือยุติลง

3.    องค์ประกอบของ I4P พบได้ในหลายระดับ/แทรค ทั้งระดับระหว่างแทรคต่างๆ ที่มาจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหว นักวิชาการ ข้าราชการ ประชาสังคม ตลอดจนประชาชน รวมไปถึงในกิจกรรมต่างๆด้านสันติภาพ

4.    ในแง่ของกลุ่มคนหรือฝ่ายต่างๆที่อยู่ใน I4P ก็มีความแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบ รูปแบบแรกคือ การริเริ่มโดยคู่ขัดแย้งหลักซึ่งให้ฝ่ายที่ขัดแย้งเป็นเจ้าของ I4P นั้นๆเอง รูปแบบที่สองคือ การที่คู่ขัดแย้งถูกรับเชิญให้เข้าไปร่วมอยู่ใน I4P นั้นๆ I4P ส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วยฝ่ายที่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การเข้าไปมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆมีหลากหลายกันไป ได้แก่ แบบที่มีเพียงแค่คู่ขัดแย้งเท่านั้น เช่น การเจรจาสันติภาพ คณะเลขาธิการเพื่อสันติภาพ และคณะทำงานการพูดคุยสันติภาพ แบบที่เป็น รัฐบาล-ภาคประชาสังคม เช่น กรณีการจัดทำเวทีที่ปรึกษา แบบที่เป็นรัฐบาล-ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เช่นที่พบเห็นได้ในกรมหรือกระทรวงสันติภาพ หรือรูปแบบที่ทุกๆฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สภาสันติภาพท้องถิ่น การประชุมเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์

5.    รูปแบบที่แตกต่างกันของ I4P นี้เองทำให้ I4P แต่ละแบบมีวัตถุประสงค์และหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ประกอบด้วย

-          การสร้างเสริมศักยภาพ การให้คำแนะนำปรึกษาให้กับคู่ขัดแย้ง – ระดับของความร่วมมือของคู่ขัดแย้งต่ำ

-          การสื่อสาร การอำนวยความสะดวกในการพูดคุย ตลอดจนการไกล่เกลี่ยระหว่างฝ่ายต่างๆ – I4P เป็นเหมือนสะพานเชื่อมทั้งสองฝ่ายเข้าหากัน

-          การนำภารกิจที่ฝ่ายคู่ขัดแย้งและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆตกลงกันไปปฏิบัติ ติดตามตรวจสอบ ตลอดจนช่วยประสานงาน อำนวยความสะดวกต่างๆ – จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและความยินยอมจากฝ่ายที่ขัดแย้งสูง

การริเริ่มการพูดคุยอย่างเป็นทางการในปี 2556 สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย เพราะรัฐบาลไทยไม่เคยมีประสบการณ์ในการขึ้นโต๊ะพูดคุยหรือเจรจากับฝ่ายขบวนการต่อสู้มาก่อน ในเวลาเดียวกันสิ่งนี้ก็เป็นของใหม่สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวติดอาวุธ และการทิ้งปืนมาจับปากกาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ดังนั้น ในระดับแทรค 1 กระบวนการนี้ก็เป็นของใหม่สำหรับฝ่ายคู่ขัดแย้งด้วย 

หลังจากการการพูดคุยสะดุดลงเมื่อปลายปี 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงปลายปี 2557 เพราะปัญหาการเมืองในกรุงเทพและการเปลี่ยนจากรัฐบาลพลเรือนเป็นรัฐบาลทหาร แต่เมื่อกระบวนการได้เริ่มต้นไปแล้วก็ยากที่จะหันหลังกลับ สิ่งที่เราเห็นคือ การพยายามทำให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสนทนา มีโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น นั่นคือ การเกิดคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ เหตุผลก็เพื่อ “เปิดพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี สร้างหลักประกันความต่อเนื่อง และสร้างความเชื่อมั่นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนใต้” ด้วยการจัดตั้งโครงสร้าง 3 ระดับทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างเป็นทางการ[1]

ในฝ่ายของขบวนการต่อสู้เราก็เห็นการเตรียมความพร้อมที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดคุย การออกเอกสารเพื่ออธิบาย 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น การจัดตั้งองค์กรร่วมอย่างมาราปาตานี การตั้งเงื่อนไข 3 ข้อให้กับฝ่ายไทย รวมไปถึงการทำงานเอกสารหลายอย่างภายในของขบวนการฯเอง ทำให้ดูประหนึ่งว่ามีโครงสร้างการทำงานย่อยๆเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยอยู่ด้วย

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวในแทรค 1 ความตื่นตัวของภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง พวกเขาลุกขึ้นมาตั้งคำถามอย่างกระตือรือร้นว่า การพูดคุยคืออะไร เป็นอย่างไร กระบวนการจะเป็นเช่นไรต่อไป ในที่อื่นๆเขาทำกันอย่างไร ใช้เวลาอีกนานแค่ไหน จะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร ทำไมข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นจึงออกมาเป็นเช่นนี้ และอื่นๆ อีกมากมาย ข้อคำถามดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คนในพื้นที่กำลังสงสัยและต้องการความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่ปรากฏตัวในพื้นที่อย่างเฉียบพลัน การเกิดขึ้นของฟอรั่มต่างๆ ในพื้นที่ การเกิดเครือข่ายใหม่ๆ เช่น เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ตลอดจนกิจกรรมของกลุ่มต่างๆในพื้นที่ก็หันมาให้ความสนใจเรื่องสันติภาพและกระบวนการสันติภาพมากมาย การพูดคุยแลกเปลี่ยนถกเถียงกันหลายครั้งในวงประชุมเชิงปฏิบัติการพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน (Insider Peacebuilders’ Platform – IPP[2]) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมเล็กๆเครือข่ายหนึ่งที่ให้ความสนใจ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดได้สร้างสภาวะแวดล้อมเอื้อให้เกิดโครงสร้างเพื่อรองรับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ นั่นคือ การเกิดศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Collaborative – PRC)

PRC เป็นหน่วยงานวิชาการ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 8 สถาบันทั้งจากกรุงเทพฯและในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี[3] โดยมีจุดเริ่มต้นจากการให้การสนับสนุนทางวิชาการแก่วงประชุมเชิงปฏิบัติการพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน (Insider Peacebuilders’ Platform – IPP) เพื่อสนับสนุนความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงปฏิบัติการที่ก้าวหน้าและรอบด้านเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ โดยการสนับสนุนนี้วางอยู่บนฐานของข้อมูลวิชาการ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในทางปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน รวมถึงเครือข่าย IPP และประชาคมสันติภาพระหว่างประเทศ และเชื่อมต่อกับฝ่ายต่างๆในการติดตามสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ PRC ทำงานอยู่บนหลักการ 3 ข้อ นั่นคือ ทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ไม่มีอคติเข้าข้างฝ่ายใด มีมาตรฐานและความซื่อตรงทางวิชาการ และมีความเป็นอิสระทางวิชาการและปฏิบัติงาน

กล่าวโดยง่ายคือ PRC เกิดขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพให้กับทุกฝ่าย เสมือนเป็นองค์กรเฉพาะกิจที่อาศัยฐานความรู้และประสบการณ์ในการให้ความหนุนเสริมให้เกิดสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี จากการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งและสันติภาพในพื้นที่ว่า มีประเด็นอะไรที่บ้างน่าจะเสนอให้กับฝ่ายต่างๆ ในแง่นี้ PRC จึงเป็นเพียงหนึ่งในโครงสร้างรองรับกระบวนการสันติภาพในแง่ของการเสริมสร้างศักยภาพและให้คำแนะนำปรึกษาให้กับฝ่ายต่างๆ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการสันติภาพ แต่การเป็นโครงสร้างเพื่อรองรับกระบวนการสันติภาพยังมีข้อท้าทายหลัก 4 ประการที่ต้องพิจารณา

1.     เจตจำนงทางการเมืองของผู้ที่เกี่ยวข้องและคู่ขัดแย้ง – แม้จะมีโครงสร้างรองรับกระบวนการที่เข้มแข็งเพียงใด แต่หากฝ่ายที่ขัดแย้งไม่ได้มีเจตจำนงที่แท้จริงเพื่อจะแก้ปัญหาก็ไม่สามารถจะยุติความขัดแย้งรุนแรง ในบางกรณีระดับชุมชนตื่นตัวและพยายามอย่างมากที่จะจัดการปัญหา แต่กลับไม่สามารถส่งผลต่อคู่กรณีได้ เพราะสองฝ่ายไม่ได้ต้องการยุติปัญหาอย่างแท้จริง นักสร้างสันติภาพบางคนจึงเสนอว่า I4P ที่ดีควรมีผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอำนาจมากเพียงพอมาร่วมออกแบบและสร้างโครงสร้างดังกล่าว

2.     การทำงานร่วมกับทุกฝ่ายและการเชื่อมโยงทุกระดับ – แม้จะมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งเข้ามาร่วมออกแบบโครงสร้าง แต่หากภารกิจของ I4P เน้นไปที่การช่วยเหลือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการเฉพาะก็อาจทำให้ความน่าเชื่อถือต่อคู่กรณีลดลง จนทำให้ความพยายามในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพยากขึ้น ที่สำคัญ I4P ควรต้องสามารถเชื่อมโยงตัวแสดงระหว่างแทรค นั่นหมายถึง ทำงานกับคู่ขัดแย้ง ภาคประชาสังคม ราชการ และประชาชนให้ครอบคลุมทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง และเชื่อมโยงในทุกระดับ เพราะในบางกรณีแม้จะมีโครงสร้างรองรับทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ความขัดแย้ง แต่การทำงานที่แยกขาดจากกัน จะส่งผลให้โครงสร้างดังกล่าวทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพหรือล้มเหลวได้ในอนาคต

3.     ความชอบธรรม – I4P จำเป็นต้องได้รับความชอบธรรมจากทุกฝ่าย ในระยะเริ่มต้นของ I4P นั้นมักจะเริ่มจากกลุ่มที่มีความคิดไปในทำนองเดียวกัน โดยไม่ได้เอาฝ่ายที่คัดค้านเข้ามามีส่วนร่วม ส่งผลให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหันมาทำลายหรือทำให้การทำงานของ I4P สะดุดลง การที่ I4P สามารถรวบเอาทุกฝ่ายเข้ามาจะทำให้ความชอบธรรมเพิ่มสูงขึ้น

4.     การได้รับทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง – I4P ที่มีรัฐบาลของประเทศนั้นให้การสนับสนุนมักจะไม่ค่อยประสบกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนเงินทุนมากนัก แต่ I4P ที่เกิดจากประชาชนหรือภาคประชาสังคมนั้นมักจะประสบปัญหาการขาดเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยใหญ่สองประการที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสนับสนุนเงินทุน ประการแรก คือ การจัดลำดับความสำคัญความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ของแหล่งทุน ในกรณีภาคใต้ของไทย อาจจะเป็นกรณีความขัดแย้งรุนแรงที่เล็กมากหากเทียบกับปัญหาความรุนแรงในพื้นที่อื่นเช่น ในซีเรีย ยูเครน ประการที่สอง คือ สัญญาณเชิงบวกในความพยายามสร้างสันติภาพในที่ต่างๆ หมายความว่า หากแหล่งทุนประเมินแล้วว่า กระบวนการสันติภาพในพื้นที่นี้มีสัญญาณทางบวก การสนับสนุนจะมากกว่า ในกรณีที่ดูจะเป็นสัญญาณเชิงลบ ยกตัวอย่างเช่น เงินสนับสนุนจำนวนมหาศาลในประเทศเมียนมาร์เพราะแหล่งทุนเห็นแนวโน้มว่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตรงกันข้ามกับประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทหารที่ทำให้แหล่งทุนจากต่างชาติลดการสนับสนุนเพราะไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะมีความตั้งใจหรือจริงจังกับการแก้ปัญหามากแค่ไหน

ความท้าทายที่กล่าวมาข้างต้นเป็นความท้าทายของโครงสร้างรองรับกระบวนการสันติภาพ ดังนั้น ไม่ว่า I4P นั้นๆจะริเริ่มโดยฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายต่อต้านรัฐ หรือ จากภาคประชาชน จำเป็นต้องพิจารณาความท้าทายดังกล่าว เพื่อทำให้การริเริ่มนั้นดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีโครงสร้างรองรับกระบวนการสันติภาพไม่ได้หมายถึงการจัดตั้งเป็นองค์กรอย่าง PRC หรือการตั้งโครงสร้าง 3 ระดับเพื่อการพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทยเท่านั้น หากแต่ยังมีวิธีการที่สร้างสรรค์อีกมากมายในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Infrastructure for Peace หรือ Peace Infrastructure” เพื่อทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การริเริ่มต้องมาจากคนใน หากการให้ที่อยู่กับสันติภาพคือ การสร้างบ้านหนึ่งหลัง บ้านหลังนั้นจะมีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแกร่งเพียงใด จำเป็นต้องมาจากการริเริ่มและสนับสนุนโดยคนในพื้นที่และในประเทศนั้น แม้อำนาจการตัดสินใจส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของคู่ขัดแย้ง แต่การมีโครงสร้างหนุนเสริมจากคนในพื้นที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

 

อ้างอิง

-        Barbara Unger, Stina Lundstrom, Katrin Planta, and Beatrix Austin (eds.). Peace Infrastructures: Assessing Concept and Practice. (Berlin: Berghof Foundation, 2013).

-        Chetan Kumar and Jos De la Haye. “Hybrid Peacemaking: Building National “Infrastructures for Peace.” In Global Governance. 18:2011, pp.13-20.

-        John Paul Lederach. Building Peace: Sustainable Reconciliation in Divided Societies. (Washington, D.C.: United States Institute of Peace Press, 1997.)

-        United Nations Development Programme. Issue Brief: Infrastructure for Peace. February 2013. http://www.un.org/en/land-natural-resources-conflict/pdfs/Issue_brief_infrastructure_for_peace.pdf

-        คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/pm_order_230_2557_peace_dialogue_mechanism_plus.pdf



[1] ดูรายละเอียดคำสั่ง 230/2557 เพิ่มเติมได้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/pm_order_230_2557_peace_dialogue_mechanism_plus.pdf

[2] IPP เป็นพื้นที่กลางในการปฏิบัติการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มซึ่งครอบคลุมตัวแทนความคิดเห็นที่หลากหลายซึ่งต้องการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เรื่อง กระบวนการสันติภาพที่มีประสิทธิผลเพื่อสร้างศักยภาพสู่การเป็นพลังทางสังคมที่ขับเคลือนจากความรุนแรงสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย/ปาตานี

[3] ประกอบด้วยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (CSCD), สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (IPS), ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW), สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (IHRP), ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IPCS), ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (PIC), สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า (KPI), และ มูลนิธิเบิร์คฮอฟ (Berghof Foundation) ทั้ง 8 องค์กรนี้ยังเป็นองค์กรริเริ่ม IPP อีกด้วย