Skip to main content

4 เงื่อนไขโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากับภัยแทรกซ้อนใหม่ต่อสันติสุขชายแดนใต้

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

คำถามสำคัญมากสำหรับชายแดนใต้ในวันนี้คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นเงื่อนไขใหม่ที่กระทบต่อสันติภาพสันติสุขชายแดนใต้หรือไม่ ขบวนธงเขียวกว่า 1,000 คนที่แสดงออกคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559  โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มอ.ปัตตานี และ มหาวิทลัยฟาฏอนี รวมทั้งภาคประชาชนที่ร่วมเดินรณรงค์อย่างสันติจากรั้วมหาวิทยาลัยมุ่งหน้าสู่ลานวัฒนธรรมหน้าศาลากลางปัตตานี นับเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่ทุกฝ่ายควรต้องใส่ใจ

จากการหารือในหลายรอบ กลุ่มนักศึกษา ภาคประชาสังคม ปัญญาชนมุสลิม และผู้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กระทบต่อสันติสุขชายแดนใต้ ทั้งนี้อย่างน้อยก็มี 4 เงื่อนไขของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่จะเป็นภัยแทรกซ้อนต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

  1. ความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ไม่จริงใจ ไม่โปร่งใสที่ทาง กฟผ.และบริษัทรับจ้างทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ขีดเส้นศึกษาเพียงระยะ 5 กิโลเมตร โดยไม่ศึกษาผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนคนปัตตานีเลย ทั้งๆที่เขตจังหวัดปัตตานีห่างจากรั้วโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเพียง 6 กิโลเมตรเท่านั้น
  2. การไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมใดๆเลยสำหรับคนปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้มีส่วนรับรู้ แสดงความเห็น และกำหนดอนาคตของชุมชนเอง ทั้งๆที่เรื่องการกำหนดอนาคตตนเองของคนชายแดนใต้นั้นเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนของประชาสังคมชายแดนใต้เพื่อสันติสุขในพื้นที่ แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากลับปิดกั้นการมีส่วนร่วม  ไม่เคยมีการเปิดเวทีสร้างการรับรู้รับฟังจาก กฟผ.หรือทางราชการแม้แต่ครั้งเดียว
  3. โครงการโรงไฟฟ้ามีขนาดใหญ่มากถึง 2,200 เมกาวัตต์ จึงต้องใช้พื้นที่ถึง 3,000 ไร่ ซึ่งภายในพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนประชาชนกว่า 240 หลังคาเรือน มีมัสยิด 2 แห่ง วัด 1 แห่ง กุโบร์ 2 แห่ง และโรงเรียนปอเน๊าะอิติซอมวิทยาอีก 1 แห่ง รวมทั้งยังมีกุโบร์โบราณของชุมชนบางราพาและปากบางเทพาอยู่ด้วยอีก 1 แห่ง ที่ยังไม่ได้มีการสำรวจว่าตำแหน่งแน่นอนอยู่ ณ จุดใด ซึ่งทั้งหมดนี้คือที่ดินวากัฟ หรือที่ดินที่มีการอุทิศให้เป็นศาสนสมบัติอันไม่อาจเวนคืนหรือซื้อคืนได้ ความละเอียดของประเด็นในการย้ายหรือไม่ย้าย หรือจะอนุรักษ์ไว้โดยไม่ทำลายแต่รอบข้างต้องถมดินสร้างโรงงานสูง 4-8 เมตร นับเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนยิ่ง
  4. มลพิษทางอากาศที่จะลอยไปไกลตามทิศทางลม มลพิษทางน้ำที่ไปกับน้ำทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ป่าชายเลนและแผ่นดินเทพา-หนองจิก-ปัตตานีที่จะลดลง ย่อมจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ยากลำบากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขต่อการเกิดความรุนแรงซ้ำซากได้ทั้งสิ้น

ทั้ง 4 เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนบั่นทอนสันติสุขในพื้นที่ และกระทบต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ดังนั้น ทุกฝ่ายทั้ง กอ.รมน. ศอ.บต. สภาประชาสังคมชายแดนใต้ องค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา สื่อสาธารณะ ควรต้องร่วมมือกันลดเงื่อนไขอันไม่เข้าเรื่องนี้ ลำพังเหตุความไม่สงบก็สร้างความลำบากให้กับผู้คนมากพอแล้ว ทำไมต้องเอาถ่านหินสกปรกมาซ้ำเติมคนชายแดนใต้อีก