Skip to main content
อิมรอน  โสะสัน 
อาจารย์สถาบันสันติศึกษา   มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

 

            ผมถามตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่า ถ้าวันหนึ่งคนรอบๆตัวของเราลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นด้วยคำถาม “ทำไม” “อย่างไร” และพร้อมที่จะหาวิธีการในการเข้าใจต่อปรากฎการณ์อย่างถ่องแท้ ทุกมุม จากนั้นจึงเริ่มต้นที่จะถกเถียง พูดคุย เสนอข้อคิด และยอมรับข้อสรุปที่เกิดจากความเห็นต่าง แต่ทุกคนก็ยินยอมและพร้อมจะทำตาม ผมว่าเราก็ไม่ควรจะต้องมานั่งกังวลกับเหตุการณ์ต่างๆหรือประเด็นปัญหาที่รายล้อม กัดกร่อนสังคมของเราอย่างเช่นทุกวันนี้ 

            ที่ยกข้อความยืดยาวมาข้างต้น ผมต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่า กว่าคนเราจะสรุปได้ว่าสิ่งใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา (หรือภายในตัวเรา) ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าที่เราจะเข้าใจ บางครั้งเราคิดว่าความคิดของเราเป็นแบบนี้ ไม่ต้องแคร์ใคร สนใจใคร และการแสดงออกของเราก็มีสิทธิทำได้ไม่เดือดร้อนใคร ทัศนคตินี้คือความจริงที่มีและดำรงอยู่ ซึ่งยากนักที่จะปฏิเสธ ส่วนใครจะรับได้หรือรับไม่ได้อันนี้สุดแล้วแต่ส่วนบุคคลไป

            ในมุมที่ต่างออกไป ถ้าเรากำลังจะถกกันในประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมที่เราอยู่และอาจสะเทือนขยายวงจนเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาท ข้อขัดแย้งในอนาคตข้างหน้าอย่างรุนแรงกับลูกหลานของเรา ผมคิดว่าเราคงจะไม่นิ่งดูดายที่จะต้องกระวนกระวายใจรีบเร่งหาทางแก้ไขให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ประเด็นใดคือสิ่งที่จะเกิดผลกระทบอย่างที่ว่ามา (ในที่นี้ทุกคนอาจเห็นประเด็นในลักษณะนี้ต่างกันออกไป)

                ผมอาจจะมีความคิดในแง่บวกอยู่บ้างว่า ปัญหาอะไรก็ตามแต่ สามารถแยกแยะออกได้เป็นส่วนๆขึ้นอยู่กับว่าถ้าเรามีสติพอ มีความปรารถนาพอที่จะบริหารจัดการและหาทางออกให้กับปัญหา ถ้าเราสามารถคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหาออกเป็นชิ้นเล็กๆและเข้าใจว่าแต่ละส่วนมีองค์ประกอบอะไรบ้าง มูลเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ปัจจัยอะไรบ้างที่กระตุ้นให้ปัญหาลุกลาม และทิศทางของปัญหาจะไปในทางใด ผลกระทบระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวเป็นอย่างไร และตัวของเราเองอยู่ในส่วนใดของปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าคิดเป็นระบบได้ก็ทำให้การมองเห็นปัญหาง่ายและชัดขึ้น

            ต้องไม่ลืมว่าปัญหาบางอย่างเราต้องรู้ด้วยว่า ที่ผ่านมาปัญหานั้นคนรุ่นเก่าเขาคิดแก้ไขกันอย่างไร เขาใช้วิธีใด เครื่องมืออะไรที่ทำให้ลดข้อระแวง ข้อสงสัยหรือจำกัดให้ปัญหานั้นอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม หรือเขาใช้เครื่องมืออะไรที่ทำให้ปัญหานั้นดำรงอยู่ได้มาถึงรุ่นเรา และยิ่งมีความสลับซับซ้อนเกินกวาที่เราจะรับมือ เรื่องนี้เราต้องอาศัยการเรียนรู้ การถอดบทเรียนอย่างสุขุมและรอบด้าน

            พอมาถึงยุคสมัยของเรา คำถามที่เกิดขึ้นคือ เรามีเครื่องมือ วิธีการ มาตรการ อะไรบ้างที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นเก่า (ซึ่งสิ่งที่คนรุ่นเก่าเขาทำเราได้เอามาคิดและประยุกต์ใช้กันอย่างไร) อันนี้อาจเรียกว่า “นวัตกรรม” ของการแสวงหาทางออกของปัญหา หรือเรายังคงวนเวียนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาที่หมักหมมมานานทุเลาเบาบางลงไป หรือว่า เราอาจจะมีข้อจำกัดมากเกินไปที่จะนั่งคิด ทบทวน เร่งหา นวัตกรรมในการแก้ปัญหาที่กัดเซาะ บ่นทำลายสังคมทีละเล็กละน้อย

            อันที่จริง “บริบท” ของปัญหาในสังคมของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจนกระทั่งเราไม่สามารถเชื่อมโยงกับวิธีการและเครื่องมือที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่ในยุคก่อนหน้าเรา อาจมีบ้างบางอย่างที่เกิดขึ้นมาใหม่จนเชื่อมโยงกับอดีตไม่ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันคือผลพวงของสิ่งที่มีในอดีต ตัดขาดจากกันไม่ได้เสียทีเดียว

            ความน่ากังวลก็คือ “การไม่สามารถเชื่อมโยงต่อกัน” ของ “กระบวนการแก้ปัญหา” ที่มีอยู่แล้วและนำมันมาสานต่อเพื่อให้แนวทางที่ยังคงมีพลังอยู่ ให้สามารถทำงานต่อกันได้ทันท่วงที ไม่ชะงัก ขาดตอนจนต่อกันไม่ติด

            ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่มนุษย์กำลังเผชิญคือปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต  ยิ่งเป็นปัญหาที่เกิดมาจากความไม่ลงรอยกันของ “การตีความทางความเชื่อ” “คำสอน” หรือการเกิดขึ้นของ “กลุ่มต่างๆ” ซึ่งอดีต สิ่งเหล่านี้ก็เคยมีมาก่อนทั้งสิ้น แต่มันถูกวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงสมัยของเรา เราอาจจะไม่เข้าใจมันมากนักว่ามันส่งต่อมาถึงรุ่นเราได้อย่างไร แต่เราก็รับ “มรดกปัญหาต่างๆ” นั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ชุมชน กลุ่มของเรา และสังคมของเราด้วยความไม่ลังเล สงสัย โดยธรรมชาติของปัญหาคือ บางอย่างแก้ได้ บางอย่างแก้ไม่ได้ บางอย่างอาจปล่อยไปโดยให้เวลาเป็นตัวแก้ไข ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรเป็นเหมารวมว่าปัญหาทุกอย่างเหมือนกันและยิ่งคิดว่าวิธีการ เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต้องเหมือนกัน นั่นอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างน่าตกใจ

            ความไม่สบายใจของผมที่มีต่อปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “ตัวปัญหา” โดยตรงนัก แต่ผมมองว่าปัญหาของเราอยู่ที่ “การขาดกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ต่อปัญหา” ขาดการตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ “ทำไม” “อย่างไร” เราไม่ได้มีเจตนาอย่างมุ่งมั่นเพียงพอที่จะหาทางออกให้กับปัญหา เราขาดแม้กระทั่งการตั้งเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการแก้ไข เพราะถ้าเรามีความมุ่งมั่นมากพอมันจะกลายเป็น “พลัง” ที่จะทำให้เราวิเคราะห์ ต้นตอปัญหา ตัวละคร ปัจจัย ผลกระทบ ค้นหาวิธีการ เครื่องมือที่เหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาที่เรากำลังเผชิญ   

.....เราอาจกำลังสาละวนอยู่กับ “ปรากฏการณ์” ที่เกิดจาก “ผลของปัญหา” จนลืม “กระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างมีสติ วิทยปัญญา และการเชื่อมโยงที่จะแก้ไข” เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่เราได้ละเลยมันทุกครั้งเมื่อปรากฏการณ์ของปัญหาเกิดขึ้น...... 

 

*หมายเหตุบทความชิ้นนี้เคยเผยแพร่มาแล้วในเว็บไซต์สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น