Skip to main content

เนื่องในวันครบรอบ 3 ปีการพูดคุยสันติภาพ 28 กุมภาฯ องค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันจัดงาน “วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016” ที่ ม.อ.ปัตตานี ชูแนวคิด “สันติภาพเดินหน้า” (Peace Moving Forward) เปิดโอกาสทุกฝ่ายบนโต๊ะพูดคุยรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณะ พร้อมรับ “วาระสันติภาพจากพื้นที่” (Agenda Damai Dari Rakyat) เป็นวาระในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

กองบรรณาธิการนักข่าวพลเมืองภาคใต้จึงถือโอกาสนี้สัมภาษณ์ ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ (อับดุลกอฮาร์ บิน ฮาญีอับดุลอาวัง) ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะผู้ที่ทำงานช่วยเหลือคดีความมั่นคงในพื้นที่มายาวนานนับตั้งแต่คดีตากใบต่อภาพรวมสถานการณ์ที่เกิดเกิดขึ้นและข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกของความขัดแย้งว่า ตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมาการทำงานขับเคลื่อนในประเด็น "สิทธิมนุษยชน" ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการลดความขัดแย้งในกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี มีความก้าวหน้าอย่างไร และควรมีจังหวะก้าวต่อไปอย่างไร



ทนายอับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า ถ้ามองในมุมของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจะเห็นได้ว่า การเติบโตของภาคประชาสังคมในด้านการเรียกร้องสิทธิเพื่อนำไปสู่สันติภาพก็ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการปกป้องสิทธิจะได้รับความสนใจมากขึ้นจากหน่วยงานของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันองค์กรภาคประชาสังคมเองที่ยังไม่มีวาระร่วมในการทำงานขับเคลื่อนในประเด็นนี้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คิดว่าส่วนหนึ่งอาจยังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้และยังขาดพื้นที่ร่วมในการทำงานของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่

สำหรับพื้นที่ความขัดแย้งที่นี่ แต่ละองค์กรพยายามที่จะทำงานในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น คืออาจจะมีองค์กรที่ทำงานหลายหน่วยงานหลายด้านด้วยกัน แต่ถ้าจะลงทำงานในพื้นที่จริงๆ มันจำเป็นที่จะต้องมียุทธสาสตร์ร่วมกันโดยเฉพาะพื้นที่ความแตกต่างทางศาสนา หรือในเรื่องของคนที่คิดเห็นต่างก็ดี ซึ่งคิดว่าในเรื่องนี้องค์กรภาคประชาสังคมทำงานได้ดีกว่าภาครัฐ

แม้ช่วงระยะหลังจากความเปลี่ยนแปลงภายในประทศไทย รัฐบาล คสช. ก็พยายามที่จะดูแลปัญหาความมั่นคงในพื้นที่และพยายามที่จะรักษาความสงบ ซึ่งสถานการณ์ก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ในส่วนของกลุ่มคนที่เห็นต่างเราจะเห็นได้ว่าพยายามที่จะใช้นโยบายด้วยการไปกดดัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่พาคนกลับบ้านอะไรต่างๆ ผมคิดว่าอยากให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ และถ้าเป็นไปได้การเชิญให้คนเข้าร่วมงานต่างๆ ผมคิดว่าน่าจะมีการเก็บข้อมูลในพื้นที่โดยที่ไม่ใช่จากหน่วยงานของภาครัฐ เพราะถ้าดำเนินการโดยรัฐก็เหมือนกับว่าชาวบ้านปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในพื้นที่ก็เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนแล้ว เคยถูกหมาย พรก. คือถ้ารัฐลงไปทำมันจะทำให้เห็นว่าเขาไม่กล้าที่จะปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้สมัครใจที่จะทำหรือเข้าร่วม เราอยากให้เกิดกระบวนการของภาคประชาชนในการที่จะสอบถามความเห็นหรือมีการพบปะกับชาวบ้านในเรื่องนี้ เพื่อถามหาความต้องการที่แท้จริงว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร อันนี้คิดว่าจำเป็นที่จะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้มากกว่านี้ในการทำงานของภาคประชาชน

ประเด็นของการละเมิดสิทธิมันมีผลกระทบในวงกว้างอย่างไร ปัญหาใหญ่ในพื้นที่คือคุณไม่รู้และไม่เข้าใจในเรื่องปัญหาของผลกรทบจากการถูกละเมิดสิทธิ โดยยังมองว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งความจริงแล้วเรื่องของการละเมิดสิทธิมันกระทบกับสังคมวงกว้าง ประการแรก การจะจัดวาระประเด็นนี้จำเป็นที่จะต้องมีสื่อเพื่อขยายประเด็นที่เป็นองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ ประการที่สอง จะต้องทำการรณรงค์ คือเวลามีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นสื่อจะทำหน้าที่ได้ดีมากในเรื่องนี้ แต่ว่าสถานการณ์ในสามจังหวัดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นบางทีมันแยกแยะไม่ได้ว่ามันเกิดจากอะไร เพราะรัฐเองก็ยอมรับว่าความรุนแรงส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุส่วนตัวบ้าง มันไม่ได้มากจากเหตุของความมั่นคงเพียงอย่างเดียว ซึ่งตราบใดที่ยังเดินไปอย่างนี้ มันจะเป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอไปสู่สื่อได้ มันกลายเป็นว่าต้องอาศัยรัฐในการที่จะให้ข้อมูล ซึ่งการให้ข้อมูลของรัฐบางทีมันก็ขาดความน่าเชื่อถือในแง่ของความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ ถ้าเป็นไปได้สื่อในพื้นที่จะต้องมีบทบาทในเชิงรุกบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมันจะคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ได้ เพราะที่เกิดขึ้นมา 12 ปี ก็ไม่มีฝ่ายใดที่จะรับผิดชอบ โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุกับผู้บริสุทธิ์ จำเป็นมากที่จะต้องแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ความขัดแย้งต้องไม่ขยายวงกว้าง มันควรจะเฉพาะคู่กรณีที่มีความขัดแย้งจริงๆ

ในส่วนการทำงานด้านสิทธิผมมองว่าปัญหาอยู่ที่การเรียกร้องสิทธิมากกว่า ผมคิดว่าสำหรับพื้นที่ในสามจังหวัดจำเป็นมากที่จะต้องสร้างวัฒนธรรมให้กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครือข่ายจากองค์กรภาคประชาชนที่หลากหลายมาช่วยให้ความรู้ความเข้าใจ แต่ด้วยความที่สังคมบ้านเรา ชาวบ้านจะพึ่งพาผู้นำ (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัล) ซึ่งกลไกนี้มันมีปัญหาในพื้นที่เวลามันเกิดเรื่องอย่างนี้ ดังนั้นองค์กรภาคประชาชนจะทำงานตรงนี้ได้ดีที่สุด โดยที่สามารถสร้างประเด็นและสร้างเครือข่ายให้ชาวบ้านได้ มันทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว ปัญหาของเขาได้รับการดูแล สิ่งเหล่านี้มันจะต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในพื้นที่ให้ได้ ก็คิดว่าการก้าวไปข้างหน้าของเหตุความขัดแย้งในพื้นที่องค์การภาคประชาชนจะต้องพัฒนาไปจนถึงระดับของการสร้างศักยภาพให้ชาวบ้านสามารถที่จะเรียกร้องสิทธิด้วยตัวของเขาเองโดยใช้องค์ความรู้ให้กับชาวบ้าน

ติดตามรายละเอียดการจัดงาน
“วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016”
http://www.citizenthaipbs.net/node/7912