Skip to main content
รอมฎอน ปันจอร์
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

หากจะให้สรุปสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ “ปาตานี” อย่างสั้นกระชับ คนส่วนใหญ่มักพิจารณาไปที่เหตุการณ์ความรุนแรง สถานการณ์ดีขึ้นแล้วหรือยัง? จะ “สงบ” เมื่อไหร่? มักเป็นคำถามที่เริ่มต้นและทิ้งท้ายบทสนทนาที่เรียบง่ายเสมอ เราคงต้องไม่ลืมว่าตัวเลขของสถิติความรุนแรงนั้นบอก “ข้อมูล” กับเราได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เรื่องสำคัญคือการตีความ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลและกรอบการมองที่หลากหลาย เพื่อใช้วิเคราะห์และประเมินให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แง่มุมที่ว่านี้เตือนให้เราตระหนักว่าการตีความนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราเลือกใช้ข้อมูลและ “แว่นตา” ที่เราใช้สวมใส่ยามพินิจพิเคราะห์

ที่สำคัญ เมื่อเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำการหรือผู้ถูกกระทำ เรามีแนวโน้มที่จะมองเห็นข้อมูลและตีความมันจากจุดยืนที่มองอยู่อย่างไม่รู้ตัว และด้วยเหตุนี้นี่เอง “การสนทนา” กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้คนที่คิดเห็นแตกต่างกันเราจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่เราจะเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นเท่านั้น หากแต่เราจะตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองคิดและเป็นอยู่ด้วยเช่นกัน มากไปกว่านั้นหากโชคดีเราจะมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่อาจไม่เคยมองเห็นหรือให้ความสำคัญมาก่อน

บทความนี้ต้องการเปิดการสนทนาดังกล่าวข้างต้น

 

000

ว่าด้วยความรุนแรง

 

กับคำถามที่ว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วหรือ? คำตอบจากหน่วยงานราชการนั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ใช้เวลานานนับปีในระยะหลังนี้ชูภาพว่า “ชายแดนใต้ดีขึ้นแล้ว” ในขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ตีความ “จำนวน” เหตุการณ์ที่ลดลงไปในทางบวก พวกเขาเชื่อมั่นว่ามาตรการต่างๆ ที่ทางฝ่ายรัฐทุ่มเททำในรอบหลายปีนั้นสัมฤทธิ์ผล นโยบายที่ชัดเจนและเอกภาพทางความคิดระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติก่อรูปสร้างผลให้สามารถจำกัดการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง” ไว้ได้ ในหลายพื้นที่สามารถขยายงานพัฒนาได้กว้างไกลตามเป้าหมาย ยอดของผู้ที่เข้าร่วมใน “โครงการพาคนกลับบ้าน” เพิ่มเข้ามามากขึ้นตามห้วงเวลา สะท้อนความอ่อนล้าอ่อนแรงของฝ่ายตรงกันข้าม ในขณะที่การพูดคุยเพื่อ “สันติสุข” ก็เดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีความหวัง

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นประปรายสำหรับ “แว่นตา” คู่นี้จึงไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากไปกว่าเป็นเพียงปฏิกริยาโต้ตอบอย่างฉับพลันเฉพาะหน้าเท่านั้นเอง

มองอย่างผิวเผิน ดูเหมือนว่า “ฝ่ายรัฐไทย” จะเป็นเอกภาพมากกว่าที่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งในรัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหารด้วยแล้ว โอกาสที่ข้อขัดแย้งภายในจะขัดขวางมาตรการต่างๆ ดูจะน้อยลง เอกภาพและความจริงจังในฝ่ายรัฐนี่เองที่ทำให้แนวโน้มความรุนแรงลดน้อยถอยลงตามที่พึงประสงค์ ถือเป็นการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการสร้างสันติสุขอย่างแท้จริง

ผมคงต้องย้ำเตือนว่านี่เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาการตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น สมมติฐานที่หน่วยงานราชการสะท้อนออกมาข้างต้นนั้น แม้จะมีน้ำหนักพอรับฟังได้ แต่ก็มีเหตุผลอยู่พอสมควรที่พวกเขาจำเป็นต้อง “ฉายภาพ” ออกมาในรูปการณ์ดังกล่าว เพราะต้องไม่ลืมว่าภารกิจในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยนั้นเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับความรุนแรงทางตรงอย่างแยกไม่ออก เมื่อเหตุการณ์ลด พวกเขาย่อมตีความว่าความเหนื่อยยากตามภารกิจก่อนหน้านี้ได้บรรลุผลแล้ว

คงต้องหมายเหตุในที่นี้ด้วยว่า “เสียงของทางการ” นั้นมีภาษีสูงกว่าในการโน้มน้าวสังคมไทยโดยรวม แต่ภาษีที่ว่านี้อาจใช้ไม่ได้เสมอไปใน “สังคมปาตานี” ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาตลอดกว่าสิบปี

คำถามที่ว่าหากมองจากจุดยืนของฝ่ายต่อต้านรัฐและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมจะสอดคล้องต้องกันกับแนววิเคราะห์ดังกล่าวหรือไม่? ผมพบว่าการตีความไม่สอดคล้องไปเสียทีเดียว สมมติฐานที่ได้รับมาอีกด้านหนึ่งพยายามบ่งชี้ไปในทิศทางที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ แม้มาตรการภาครัฐอาจได้รับการปรับปรุงอยู่บ้าง แต่ทัศนะที่ตรงกันข้ามชี้ไปที่ว่า “เหตุการณ์ความรุนแรง” ในฐานะที่เป็นอำนาจต่อรองทาง “การทหาร” ของขบวนการต่อสู้ปาตานีนั้นไม่ได้ถูกจำกัด พวกเขาเพียงแต่ตั้งใจ “ผ่อนแรงลง” ในบางห้วงขณะเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการปรับขบวนกันเป็นการภายใน รวมไปถึงการรุกคืบมากขึ้นในแง่ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง กรอบวิเคราะห์แนวทางนี้มองว่าหากรุกทางการทหารมากจะเป็นการปิดกั้นโอกาสและพื้นที่สำหรับการขยายงานการเมือง

นอกจากนี้ บางคนก็ว่าจำนวนเหตุการณ์ที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีขีดความสามารถจะก่อการใดๆ เหมือนดังที่แล้วมา แต่ความรุนแรงที่เราเคยเผชิญในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้นพิสูจน์ให้เห็นว่ามีผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง เดิมพันในปฏิบัติการเช่นนี้จึงสูงขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ การซ้ำเติมผู้คนในพื้นที่ทำให้เหตุผลรองรับในการปฏิบัติการมีน้ำหนักลดน้อยลง เพราะนี่ไม่ใช่ “สงคราม” ที่ก่อโดยแก็งค์อาชญากรที่ไร้เหตุผลทางการเมืองและไม่สนใจมวลชนสนับสนุน

ที่น่าสนใจที่สุดคือการผ่อนแรงดังกล่าวเป็นผลมาจากความจำเป็นที่ต้องเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากพลวัตที่เปลี่ยนไปของกระบวนการสันติภาพ ซึ่งคงต้องแจกแจงอย่างละเอียดต่อจากนี้

แน่นอนว่าต้องมีคำอธิบายที่ว่า “ชายแดนใต้ไม่ได้ดีขึ้นจริง” อยู่ด้วยเช่นกัน เพราะหาก “ความรุนแรง” ถูกวางกรอบการมองไว้แค่เพียงการพิจารณาถึง “จำนวน” เหตุการณ์ที่ปรากฎผ่านปฏิบัติการทางการทหาร (อย่างการสุ่มยิง วางระเบิด วางเพลิง หรือแม้แต่เหตุการณ์ก่อกวนอย่างเผายางรถยนต์และตะปูเรือใบ) หรือ “จำนวน” ของผู้ที่กลับเนื้อกลับตัวเข้ามารายงานตัวตามโครงการพาคนกลับบ้าน ก็คงไม่สามารถอธิบายความรู้สึกไม่ปลอดภัยอีกด้านหนึ่งที่ผู้คนในพื้นที่ประสบ

ไม่กี่วันมานี้มีการเปิดเผยรายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานในสถานที่ราชการ 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) และอีกฉบับหนึ่งเป็นของ 3 องค์กรสิทธิมนุษยชน อันได้แก่ กลุ่มด้วยใจ กลุ่มสิทธิมนุษยธรรมปาตานี (HAP) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) รายงานทั้งสองฉบับเปิดเผยข้อเท็จจริงอันน่ารันทดหดหู่จากปากคำของผู้คนจำนวนหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ ปฏิกริยาโต้ตอบจาก กอ.รมน. ในหน้าสื่อมวลชนอย่างแข็งกร้าวไม่แยแส ซึ่งพอจะเป็นที่คาดการณ์ได้ก่อนหน้า กอ.รมน.ตั้งข้อกังขาว่า “ข้อมูล” ที่บรรจุอยู่ในรายงานเหล่านั้นน่าจะไม่ถูกต้องและล้าสมัย รวมทั้ง “ตีความ” ว่าผู้ที่จัดทำรายงานนั้นมีเจตนาที่ไม่ดีและมุ่งทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ

ปัญหาไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น “เป็นจริง” มากน้อยเพียงใด (อันที่จริงแล้ว ต่อให้มีเพียงหนึ่งกรณีที่จริง ก็น่าเศร้าใจแล้ว) แต่ถ้าเราตีความให้การซ้อมทรมานไปไกลกว่าเรื่องการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษชนดังที่เคยรณรงค์กันมาตลอดหลายปี โดยจัดให้อยู่ในกรอบคิดที่ว่าเป็น “ความรุนแรง” ที่ต้องลดลงด้วยแล้ว การซ้อมทรมานก็ควรต้องถูกทำให้ยุติลงพอๆ กับเหตุผลที่ต้องลดความรุนแรงจากปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายเช่นกัน ทั้งนี้ การลดความรุนแรงในที่นี้ก็ไม่ได้เพื่ออะไรอื่น นอกเสียจากเป็นการเพิ่มความไว้วางใจระหว่างรัฐกับชุมชน ส่งสัญญาณเชิงบวกต่อ “ผู้เห็นต่าง” ในกระบวนการพูดคุยเพื่อ “สันติสุข” อีกด้วย

การพลิกมุมมองในการตีความสถานการณ์อาจใช้ได้ในกรณีที่แหลมคมอื่นๆ เช่นกัน หากพิจารณาชะตากรรมของครอบครัว “แวมะนอ” ที่เผชิญกับคำสั่งศาลแพ่งให้ยึดเอาทรัพย์สินและที่ดินของปอเนาะญิฮาดวิทยาเป็นของรัฐภายใต้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การไม่อุทธรณ์คดีของครอบครัวเพื่อยุติความกังวลใจที่มีมาตลอดหลายปีและเลือกที่จะโยกย้ายมาปักหลักยืนหยัดเพื่อสร้างปอเนาะแห่งใหม่ก็เป็นข้อสะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นไม่สามารถให้คำตอบต่อข้อขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนมลายูมุสลิมได้อย่างครอบคลุม การใช้กฎหมายที่แข็งกร้าวกลับกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขบ่อนทำลายบรรยากาศ “สันติสุข” ไปเสียเอง ในกรณีที่อาจดูไม่เกี่ยวข้องกันอย่างการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาก็อาจสะท้อนแนวโน้มเช่นนี้ เมื่อสถานการณ์เริ่ม “สงบ” โครงการพัฒนาใน “พื้นที่ความมั่นคง” ก็ถูกผลักดันอย่างเร่งรีบ โดยละเลยความกังวลใจของชุมชนท้องถิ่น คำถามก็คือว่าเงื่อนไขเผชิญหน้าเช่นนี้จะถูกจัดวางอย่างไรในแนวทางการสร้างความไว้วางใจของภาครัฐ

 

000

ว่าด้วยกระบวนการสันติภาพ

 

ในรอบปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่คืบหน้าของกระบวนการสันติภาพในทุกระดับ ทั้งการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทยกับสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA Patani) ที่เริ่มขยับอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสานต่อ “จิตวิญญาณ” ของการพูดคุยในรอบแรกหลังการลงนามในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และทั้งการผลักดันวาระสันติภาพในมิติต่างๆ จากองค์กรและหน่วยงานในพื้นที่ก็ดำเนินอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นก้าวย่างเล็กๆ แต่ก็มีความคืบหน้าขยายตัว เป็นไปตามเงื่อนไขที่จำกัดแตกต่างไปจากสามปีที่แล้ว ผู้คนในพื้นที่ตื่นตัวที่จะคิดเรื่องอนาคตมากขึ้น ในขณะที่ประชาคมนานาชาติก็จับตามองพัฒนาการของการแสวงหาทางออกทางการเมืองอย่างใกล้ชิด ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ข่าวร้ายก็คือเรายังคงอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พื้นที่ทางการเมืองยังคงหดแคบ สิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงถูกจำกัด อำนาจของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงมีอยู่ล้นฟ้า แต่เรื่องประหลาดก็คือ ถึงจะเป็นอย่างที่กล่าวข้างต้น คสช. และรัฐบาลประยุทธ์ก็ได้ประกาศสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มขบวนการต่อสู้ปาตานีในแทบจะทันทีที่เข้ายึดอำนาจ แต่ก็เป็นการสานต่อภายใต้ “การควบคุม” ทิศทางของกระบวนการให้เป็นไปตามที่พึงประสงค์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สิ่งที่ดูจะเป็นฉันทามติในแวดวงผู้นำของรัฐไทยก็คือการจำกัดกรอบให้ปัญหาความรุนแรงที่ชายแดนใต้เป็นเพียงประเด็นภายในประเทศ ผู้นำบางส่วนวางธงเอาไว้ว่าจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างการบริหารปกครองใดๆ ทั้งสิ้น เพดานของข้อเสนอทางการเมืองที่รัฐบาลทหารจะยอมรับได้นั้นต่ำมาก และด้วยทั้งหมดนี้ ปรากฎออกมาผ่านความจริงจังกับเรื่องถ้อยคำนานาที่เกี่ยวข้อง ดังเช่นคำที่แปลกประหลาดพิศดารตระการตาอย่าง “การพูดคุยเพื่อสันติสุข”

หนึ่งในคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทยยอมรับกับผมครั้งหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากแสนเข็ญที่ต้องเข็นให้การพูดคุยกับ “ผู้เห็นต่าง” มีความคืบหน้าไปพร้อมๆ กับการให้น้ำหนักกับกรอบการทำงานที่ถูกวางเอาไว้

รัฐบาลประยุทธ์เก็บรับบทเรียนในการพูดคุย “แบบมวยวัด” ในรัฐบาลที่แล้ว พวกเขาออกแบบกลไกของอำนาจรัฐให้มีความพร้อมสำหรับการควบคุมทิศทางและการประสานงานทั้งในระดับพื้นที่และคณะพูดคุย กลไกสามชั้นถูกออกแบบมาภายใต้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 230/2557 เป็นส่วนผสมระหว่างการวางคนที่ท่านผู้นำไว้ใจให้ทำงานสำคัญและการมอบหมายภารกิจให้กับหน่วยงานตามโครงสร้างปกติให้เดินไปด้วยกันให้ได้ แต่การคาดหวังว่าโครงสร้าง “แบบมวยสากล” ที่เป็นระบบระเบียบเช่นนี้จะทำงานได้ดีขึ้นนั้นยังต้องเผชิญกับความท้าทายเมื่อต้องนั่งลงพูดคุยกับ “ข้าศึก” อย่างจริงจัง ไปพร้อมๆ กับการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในระดับพื้นที่ เพราะความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพสำหรับคนทำงานในภาครัฐนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ตีความแตกต่างกันอยู่

กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐราชการไทย ผู้นำและข้าราชการในแทบทุกระดับส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ใน “การแก้ไขความขัดแย้ง” ในลักษณะนี้มาก่อน จะมีก็แต่ประสบการณ์ของการปราบปรามหรือไม่ก็ใช้ “การเมืองนำการทหาร” ในความหมายที่เปิดทางอ้าแขนรับ “อดีตข้าศึก” ให้กลับคืนสู่สังคมด้วยความกรุณา คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขที่นำโดย พล.อ.อักษรา ก็กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติอย่างระมัดระวัง สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่อย่าง กอ.รมน.ภาค 4 สน. และ ศอ.บต. ก็ไม่แตกต่างกัน พวกเขาถนัดที่จะใช้กรอบคิดและวิธีปฏิบัติเดิมๆ ในงานเก่าๆ มาตีความเข้ากรอบการทำงานสันติภาพเพื่อสร้าง “สันติสุข” ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกอะไรที่ “โครงการพาคนกลับบ้าน” หรือโครงการเดิมๆ หลายอย่างจะถูกจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในงานสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสันติสุข ทั้งๆ ที่ควรต้องพิจารณามันใหม่อย่างถี่ถ้วนมากกว่านี้

รัฐบาลประยุทธ์เริ่มต้นภารกิจสานต่อการพูดคุยโดยการยกคณะบินไปนั่งคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ยืนยันเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มาเลเซียร่วมแก้ปัญหาในฐานะผู้อำนวยความสะดวกเช่นเดิม วันดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นการพูดคุยรอบใหม่ที่เรียกขานกันในแวดวงว่า “Dialogue 2” เงื่อนไขประการหนึ่งที่ทางการไทยเรียกร้องให้มาเลเซียช่วยเหลือคือการรวบรวม “ฝ่ายผู้เห็นต่าง” กลุ่มต่างๆ ให้มาร่วมกันสร้างข้อเสนอเดียวเพื่อพูดคุยกับรัฐบาลไทย ในความเป็นทางการแล้ว นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มที่เรารู้จักในเวลาต่อมาว่า MARA Patani

แต่พัฒนาการในฝ่ายขบวนการต่อสู้ปาตานีนั้นแตกต่างกันออกไป กวาดตามองอย่างผิวเผินแล้ว ข้อเสนอแนะจากทางการไทยต่อทางการมาเลเซียข้างต้นดูเหมือนจะกลายเป็นที่มาของการสร้าง “องค์กรร่ม” ที่ชื่อเดียวกันกับหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งของมาเลเซีย (MARA Malaysia) จนดูเหมือนว่างานนี้เป็นเกมที่ถูกจัดวางอย่างสมคบคิดจากทั้งสองรัฐบาล แต่ข้อมูลจากอีกด้านชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องบังเอิญประจวบเหมาะ เพราะก่อนหน้านั้นไม่นาน กลุ่มคนทำงานใน “ปีกการเมือง” ของบีอาร์เอ็น 10 คน ได้ “ริเริ่ม” จัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่าสภาอามานะห์ประชาชนปาตานี หรือ Majelis Amanah Rakyat Patani ใช้ชื่อย่อว่า MARA Patani ในวันที่ 25 ตุลาคม 2557 โดยเป็นวันเดียวกันกับการครบรอบเหตุโศกนาฏกรรมที่ตากใบอย่างตั้งใจ (เรื่องบังเอิญอีกประการคือวันเริ่มต้นฮิจเราะห์ศักราช 1436) โดยมุ่งหวังจะให้เป็น “สภาชูรอ” หรือสภาที่รวบรวมทุกเสียงของประชาคมปาตานี และเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย

หลังการพบปะกันของนายกรัฐมนตรี การรวมเป็น “เสียงเดียว” กลายเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญภายในแวดวงของนักต่อสู้พรรคต่างๆ นี่คือที่มาของการยกระดับไปเป็น Majlis Syura Patani หรือสภาชูรอแห่งปาตานี ในระหว่างการพบปะกันกลางเดือนมีนาคมปีถัดมา ภายใต้ความเห็นชอบของกลุ่มต่อสู้ 6 กลุ่มที่นำโดยบีอาร์เอ็น พวกเขาตั้งใจจะใช้ชื่อย่อว่า MARA Patani เหมือนเดิม เพื่อให้เกียรติต่อการริเริ่มของ “บีอาร์เอ็น” ก่อนหน้านั้น ราวหนึ่งเดือนต่อมาก็เริ่มมีการพบปะอย่างไม่เป็นทางการและไม่เต็มคณะของผู้แทนทั้งสองฝ่ายในกัวลาลัมเปอร์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการพบปะกันที่ดำเนินอยู่อย่างลับๆ และไม่เป็นทางการมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ภายใต้การอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องของทางการมาเลเซียที่จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาอย่างเป็นจริงเป็นจังในชื่อ Joint Working Group for Peace Dialogue Process หรือ JWG-PDP ที่รวมหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องจาก 5 หน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาคำถามสำคัญที่พุ่งตรงต่อ MARA Patani ก็คือปัญหาในเรื่องความชอบธรรม กล่าวคือพวกเขามีสิทธิที่จะพูดแทนกลุ่มนักต่อสู้และประชาชนปาตานีได้มากน้อยเพียงใด ได้รับฉันทานุมัติจากคณะผู้นำระดับสูงของ “บีอาร์เอ็น” (ซึ่งเป็นกลุ่มที่บทบาทและแข็งแกร่งที่สุดในด้านการทหารในยุคปัจจุบัน) ในการเข้าร่วมการพูดคุยหรือไม่ ทั้งยังมีความสามารถในการบังคับบัญชากลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด คำถามเหล่านี้สำคัญเพราะจะชี้วัดว่าการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นมีหลักประกันที่มากพอว่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ข้อท้าทายนี้ต้องการการพิสูจน์ และภารกิจในการพิสูจน์ของ MARA Patani นั้นก็น่าจะมีอยู่หลายด้าน พวกเขาต้องโน้มน้าวให้รัฐบาลไทยเชื่อว่าพวกเขาคือตัวจริงที่มีน้ำหนัก ซึ่งคลี่คลายไปบ้างแล้วจากฐานข้อมูลข่าวกรองที่ทางการไทยมีอยุ่ แต่ก็จำต้องพิสูจน์น้ำหนักจากความสามารถในการควบคุมกำลังในโครงการหยุดยิงเฉพาะพื้นที่ต่อไปในอนาคต นี่ถือเป็นแบบแผนปกติทั่วไปในช่วงเริ่มแรกของการพูดคุยสันติภาพ

แต่ความท้าทายอีกด้านหนึ่ง MARA Patani ต้องพิสูจน์ให้ผู้คนในสังคมปาตานีที่หนุนการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยมองเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นเป็น “ประโยชน์” ต่อการต่อสู้โดยรวม นี่คือเรื่องที่ท้าทายพอๆ กับการต่อรองกับรัฐบาลไทย พวกเขาจะโน้มน้าวใจกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมปาตานีให้สนับสนุน MARA Patani หรืออย่างน้อยที่สุดคือหนุนกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่อย่างไร และที่สำคัญที่สุดจะทำให้สมาชิกบีอาร์เอ็นที่ยังคลางแคลงสงสัยต่อ “แนวทางการเมือง” ภายใต้การนำของ MARA Patani นี้หันกลับมาสนับสนุนได้อย่างไร แต่ข่าวดีที่ยังพอมีอยู่บ้างก็คือแม้ว่าพวกเขาบางส่วนจะไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยในยุครัฐบาลทหาร แต่บีอาร์เอ็นปีกดังกล่าวก็ส่งสัญญาณเชิงบวกผ่านการให้สัมภาษณ์และถ้อยแถลงเมื่อปลายปีที่แล้วว่าพวกเขาเองก็ยังคงต้องการการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ “มีมาตรฐาน” และมี “วิธีการที่สากล” มากกว่านี้

สมาชิกของ MARA Patani บอกกับผมว่า พวกเขาพยายามพบปะกับกลุ่มคนหลากหลายจากในพื้นที่ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของปาตานีและสิ่งที่ MARA Patani กำลังทำอยู่ เขาอ้างว่าแนวทางที่สร้างความเป็นเอกภาพนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แม้จะมีประเด็นที่เป็นที่กังขาอยู่บ้างก็ตาม ส่วนทัศนะที่แตกต่างกันภายในกลุ่มต่อสู้แต่ละกลุ่มนั้น พวกเขาถือว่าเป็นภาระที่สมาชิกในแต่ละ “พรรค” จะต้องหารือกันคลี่คลายเอาเอง “เป็นเรื่องที่ในแต่ละครอบครัวต้องจัดการกันเอง”

คนของบีอาร์เอ็นที่อยู่ใน MARA Patani มาตั้งแต่แรกยืนยันว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นเป็นการริเริ่มขึ้นมาจากสมาชิกทุกระดับภายในบีอาร์เอ็น เพื่อพิสูจน์ว่าแนวทางที่กำลังเดินอยู่คืออนาคตของการต่อสู้เพื่อปาตานี หลังจากที่ทบทวนบทเรียนของการเคลื่อนไหวที่มุ่งเน้นหนักด้านการทหารมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา พวกเขากำลังเดินก้าวไปข้างหน้าอย่างมีทิศทางและวางอยู่บนหลักการต่อสู้ที่สอดคล้องกับหลักคำสอนในแนวทาง “ปรัชญาญิฮาด” ของบีอาร์เอ็นในยุคที่ปรับตัวใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อน อันประกอบด้วย “รากฐาน, หลักคิดพื้นฐาน และจุดมุ่งหมาย” (ASAS, DASAR DAN TUJUAN) ซึ่งกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางของการสร้างความยุติธรรมผ่านการสร้างแนวร่วมประชาชาติที่มีเอกภาพ และด้วยโครงสร้างที่กระจายอำนาจสูงภายในองค์กรนี่เองที่อนุญาตให้นวัตกรรมทางการเมืองใหม่ๆ อย่างที่เป็นอยู่สามารถปรากฏขึ้นได้ ตราบใดที่ไม่เป็นการทำลายการต่อสู้ทั้งหมด ในทัศนะของพวกเขา การเจรจาต่อรองเป็นหนึ่งในวิธีการต่อสู้ด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่ามันต้องการการพิสูจน์ถึงผลสำเร็จ เหมือนกับการริเริ่มมากมายในประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมาของบีอาร์เอ็นเอง

สถานการณ์ในฝ่ายขบวนการต่อสู้ฯ คงไม่ต่างกับฝ่ายรัฐบาลไทยมากนัก พวกเขาเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ที่มากพอในการเริ่มนั่งลงพูดคุยกับ “เจ้าอาณานิคม” ในลักษณะที่เปิดเผยและเป็นทางการเช่นนี้ การเน้นไปที่การทหารในหลายปีที่ผ่านมาทำให้ละเลยการสร้างความเข้มแข็งให้กับ “ปีกการเมือง” อย่างที่ควรจะเป็น กระทั่งถูกจำกัดบทบาทลงไปตามสถานการณ์ แต่การริเริ่มทางการเมืองจะนำมาซึ่งความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาได้รับการยอมรับสถานภาพมากขึ้นจากทั้งรัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลเซีย องค์กรเอกชนระหว่างประเทศ หรือแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การความร่วมมือโลกมุสลิม หรือ “โอไอซี” แต่การมีตัวตนเหล่านี้ก็มาพร้อมๆ กับความพร้อมที่จะรับผิดชอบในทางการเมืองด้วยเช่นกัน สนามทางการเมืองได้เปิดตัวผู้เล่นใหม่ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงเกมต่อรองทั้งหมด

คงเร็วไปที่จะยืนยันว่าแนวทางของพวกเขานั้นถูกต้องที่สุด แต่การมีอยู่ของกระบวนการสันติภาพและการพูดคุยสันติภาพก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมหาศาลให้กับผู้คนในพื้นที่ งานสร้างสันติภาพในระดับพื้นที่ในห้วงสองสามปีที่ผ่านนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย กลุ่มประชาสังคมได้กลายมาเป็นตัวแสดงที่ “คู่สนทนา” ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ พวกเขาต่างแย่งชิงกันอ้างอิงถึงและต้องการดึงเข้าเป็นพวกให้สนับสนุนฝ่ายตน ในขณะที่ฝ่ายรัฐมองว่าองค์กรนอกภาครัฐเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมต่ออย่างดีให้กับประชาชนในพื้นที่ เพราะต่างได้รับความไว้วางใจสูงกว่าองค์กรภาครัฐ แต่ในด้านขบวนการต่อสู้ฯ เองก็ถือว่าองค์กรเหล่านี้ก็เป็นฐานความชอบธรรมที่จะทำให้พวกเขาเพิ่มอำนาจต่อรองกับรัฐบาลมากขึ้น

แต่ด้วยบรรยากาศอำนาจนิยมภายใต้รัฐบาลทหารนี่เองที่การทำงานของกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ต้องปรับตัวและระมัดระวังมากขึ้น งานสันติภาพที่พวกเขาบางส่วนมุ่งเน้นจึงลงไปสู่การทำงานเชิงลึกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งการทำงานความคิด การสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มคนทำงานและชาวบ้านในชุมชน รอบปีที่ผ่านมาจึงมีกิจกรรมที่หลากหลายทั้งที่เชื่อมต่อข้ามชุมชนและเครือข่ายและงานที่ลงลึกไปถึงระดับชุมชน ในขณะเดียวกันกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพก็ปรากฎอยู่ในหลายกลุ่มอย่างคึกคัก

รอบปีที่ผ่านมาเราอาจสามารถพิจารณาพลวัตที่เปลี่ยนไปได้จากกิจกรรมอย่างกระบวนการสานเสวนาในบางชุมชนที่ริเริ่มนำร่องโดยเครือข่ายผู่หญิงฯ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้สันติธรรมของกลุ่ม LEMPAR ในพื้นที่ซึ่งเคยเผชิญหน้ากันอย่างหนักระหว่างรัฐกับผู้คนในพื้นที่ ความต่อเนื่องในการจัดทำหลักสูตรเรียนรู้กระบวนการสันติภาพและการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงของวิทยาลัยประชาชน การพยายามจัดทำหลักสูตรเรียนรู้ของบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ หรือกลุ่มนักเคลื่อนไหวอดีตจำเลยคดีความมั่นคงอย่างกลุ่ม MERPATI ยังไม่รวมกิจกรรมย่อยๆ ที่ผลักดันขึ้นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่เปิดเวทีให้มีการเรียนรู้ความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพ กิจกรรมทำนองนี้ยังครอบคลุมไปถึงภายในเรือนจำบางแห่งที่คุมขังนักโทษในคดีความมั่นคงอีกด้วย

เรื่องที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นก็คือความพยายามจะทำความเข้าใจดังกล่าวยังมีอยู่บ้างในหน่วยงานภาครัฐบางหน่วย ขณะที่ฝ่ายขบวนการต่อสู้ฯ เองก็มองเห็นความสำคัญของสิ่งนี้ ผมเองยังได้ข่าวอยู่เป็นระยะว่า MARA Patani ก็พยายามจะจัดการศึกษาให้เรียนรู้ในประเด็นที่แหลมคมบางอย่าง เช่นว่าหลักการมนุษยธรรมสากล นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ควรต้องจับตามองอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่เราไม่อาจสัมผัสได้จากการพิจารณาเพียงถ้อยแถลงที่เป็นทางการของผู้นำของคู่ขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม แม้บรรยากาศจะไม่ใคร่เอื้ออำนวย แต่กิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวในประเด็นที่แหลมคมนั้นก็พอมีอยู่บ้าง แม้จะลดน้อยลงกว่าสามปีก่อน ดังเช่นการรณรงค์ในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยหรือการละเว้นความรุนแรงต่อพลเรือนตามหลักการมนุษยธรรมสากล รวมไปถึงการรณรงค์ของเครือข่ายนักศึกษา PerMAS ในการสร้างความตระหนักถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ในขณะที่สภาประชาสังคมชายแดนใต้ก็ผ่อนแรงลงไปในการเรียกร้องให้ผู้คนในพื้นที่พิจารณาทางเลือกของการกระจายอำนาจหรือการปกครองตนเองอย่างจริงจัง แต่ปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจซึ่งเพิ่งปรากฏจริงจังก็คือการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาซึ่งเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกกับสิทธิของผู้คนในพื้นที่ต่อการกำหนดอนาคตของตนเอง

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เมื่อการพูดคุยสันติภาพในระดับบนเดินหน้าไปทีละเล็กละน้อย ผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้งกำลังต้องการเรียนรู้ว่าจะสามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นได้อย่างไร ไม่ว่าพวกเขาในที่นี้จะมีความปรารถนาทางการเมืองที่แตกต่างกันหรือไม่ก็ตาม

หลังจากเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ผมและคณะทำงานใน DSW พบว่าในระหว่างทางของการเรียนรู้ในเรื่องความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพของบรรดากลุ่มองค์กรเหล่านี้ มีคำถามที่พวกเขามักตั้งประเด็นอยู่จำนวนหนึ่ง ในบรรดาโจทย์เหล่านั้นมีชุดคำถามอยู่ประมาณ 4 ชุด ที่ถือเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญในการประยุกต์ใช้กรอบการวิเคราะห์หรือ “แว่นตา” ชนิดใหม่ที่ใช้ในการตีความสถานการณ์ นั่นคือ

คำถามแรก กระบวนการสันติภาพ การพูดคุยสันติภาพ และการเจรจาสันติภาพนั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? สามสิ่งข้างต้นนี้สัมพันธ์กันอย่างไร? ใครจะมีและควรต้องมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการเหล่านั้น?

คำถามที่สอง ตกลงว่ากระบวนการสันติภาพนั้น ในตัวมันเองเป็น “เป้าหมาย” ที่ควรเดินไปให้ถึงหรือเป็น “วิธีการ” ที่เกี่ยวข้องสิ่งที่ผู้คนต้องทำระหว่างทาง? ที่สุดแล้ว เมื่อเผชิญกับความขัดแย้งเราควรมุ่งเน้นไปที่ “ผลลัพธ์” หรือยึดถือ “หลักการ” บางอย่างกันแน่?

คำถามที่สาม เหตุใดบทเรียนในกระบวนการสันติภาพของความขัดแย้งที่อื่นๆ ทั่วโลกจึงสามารถปรับใช้ได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้หรือ “ปาตานี” แห่งนี้? ที่จริงแล้วบริบทที่เราเผชิญนั้นมี “ความเป็นลักษณะเฉพาะ” ซึ่งแตกต่างกับที่อื่นมากน้อยเพียงใด?

และคำถามที่สี่ เป็นคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ว่าเราจะสามารถเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีความขัดแย้งอย่างที่เราเผชิญอยู่นี้ได้ด้วยวิธีการใด? และที่สำคัญ ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น “เรา” จะสามารถทำอะไรได้บ้าง?

คำตอบต่อคำถามเหล่านี้อาจไม่มีข้อสรุปที่เป็นฉันทามติที่ชัดเจน แต่การอภิปรายถกเถียงกันในประเด็นเหล่านี้ โดยเฉพาะกับผู้คนที่เห็นแตกต่างกับตนเองจะเปิดมุมมองให้กับผู้คนที่จมอยู่ในความขัดแย้งที่รุนแรงให้เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กรอบคิดหรือ “แว่นตา” แบบเดิมที่เคยทรงพลังอาจไม่ช่วยให้เรามองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้กระจ่างชัดอีกต่อไปแล้ว ประเด็นก็คือเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่กำลังเปลี่ยนแปลง กระบวนการสันติภาพกำลังเดินหน้าไปในทุกระดับอย่างช้าๆ ตามเงื่อนไขจำกัดที่มีอยู่ ผู้คนที่จะต้องมีชะตากรรมร่วมกันต่อไปในอนาคตจะเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้อย่างไร นี่คือความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้