Skip to main content

            บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นหลังจากการได้อ่านหนังสือ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และการจัดการความขัดแย้งในชุมชนมุสลิม” ของนายมูฮำหมัดรอฟีอี มูซอ ที่พยายามแสดงให้เห็นถึง แนวความคิด วิธีการ การจัดการความขัดแย้งในชุมชนมุสลิม โดยการศึกษากรณีบ้านสลาม จ.ปัตตานี 

             ซึ่งงานชิ้นนี้ได้แบ่งออกเป็น 6 บทด้วยกัน 1 บทนำ 2 ชุมชนมุสลิม: จากศรัทธาสู่การรวมตัว 3 อีบาดะอฺ: การผูกโยงความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนมุสลิมเพื่อการป้องกันความขัดแย้ง 4 มูชาวาเราะฮฺ: กระบวนวิธีในการจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์ในชุมชนมุสลิม 5 อภิปรายผลการวิจัย 6 สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ หากกล่าวโดยสรุปในงานชิ้นนี้จากเนื้อหา 6 บท ได้ศึกษาและให้ความสำคัญกับแนวคิดหลัก 3 ประการ 1 แนวคิดเรื่องความขัดแย้ง2 แนวคิดเรื่องการจัดการความขัดแย้ง (แนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์) และ (แนวคิดยุติธรรมชุมชน) 3 แนวคิดเกี่ยวกับระบอบชีวิตอิสลามในฐานะทุนทางสังคม

              การที่วิจัยได้เข้าทำการศึกษาในชุมชนหมู่บ้านสลามนั้น พบว่าการจัดการความขัดแย้งภายในชุมชนนั้นมีกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและรูปแบบการไกล่เกลี่ยของคนในชุมชนเอง ซึ่งได้ใช้หลักการศาสนา โดยมีผู้นำศาสนา สถานที่มัสยิด และสภาชูรอ ทั้ง 3 กรณีตัวอย่างที่ผู้วิจัยได้เข้าไปศึกษานั้นสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชุมชนได้ และการผู้วิจัยพยายามที่จะยกตัวอย่างว่ากระบวนการยุติความขัดแย้งโดยชุมชนนั้นสามารถกระทำได้โดยคนในชุมชน ก่อนที่จะนำไปการจัดการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

              ในหนังสือเล่มนี้ผู้วิจัยเองก็ได้พยายามนำเสนอเรื่องของหลักการคำสอนของศาสนาอิสลาม ที่มีความเชื่อมโยงกับการปฏิบัติตัวของคนในชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐานบางส่วนของการเรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ถือว่าเป็นการอธิบายให้เห็นภาพได้ดี อาจจะเนื่องจากผู้เขียนเป็นมุสลิมด้วยทำให้งานของทางด้านหลักคำสอนที่มีความละเอียดอ่อน ได้รับการถ่ายทอดให้มีความกระชับและเข้าใจง่ายมากขึ้น

                หนังสือเล่มนี้ได้พยายามทำให้เห็นถึงการจัดการความขัดแย้งที่มีผลสำเร็จเท่านั้น โดยที่ไม่นำเสนอให้เห็นถึงการจัดการความขัดแย้งของชุมชนที่ล้มเหลว เพื่อที่จะให้เห็นถึงความแตกต่างของกระบวนการ และบริบท ของเนื้อหา ที่ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จ หากเพ่งมองตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้ว คำถามก็คือ แล้วชุมชุนอื่นๆนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเพราะอะไร ทั้งๆที่เป็นชุมชนมุสลิมเหมือนกัน หากมองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะทำให้เรายิ่งมีคำถามกับวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้มากขึ้นว่าชุมชนต่างๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีการจัดการความขัดแย้งอย่างที่งานชิ้นนี้นำเสนอมากน้อยเพียงใด

             สิ่งที่ผู้วิจัยไม่ได้กล่าวใว้ในงานชิ้นนี้ก็คือ การใช้หลักการศาสนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแนวคิดของกลุ่มใด แล้วมีการยอมรับแนวคิดนี้มากน้อยเพียงใดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมมีความเข้าใจว่า ในพื้นที่นั้นมีทรรศนะที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น มุสลิมที่มีแนวคิดสายซุนนะฮฺ แนวคิดสายวะฮาบี แนวคิดแนวมัซฮับชาฟีอี สายซูฟี สายดะวะห์ หากการจัดการความขัดแย้งภายในชุมชนนั้น กลุ่มต่างๆนั้นมีความยอมรับมากน้อยเพียงใด ในการที่อ้างอิงคัมภีร์อัลกรุอาน หรือ ซุนนะห์นบี (ซ.ล.) (แบบฉบับของท่านนบีมูฮำหมัดในการปฎิบัติศาสนากิจ ) เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวมุสลิมมลายูด้วยกัน ก็คือแนวการยึดถือทางด้านศาสนา

            หากพิจารณางานชิ้นนี้ในทีทรรศน์ของผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านสังคมมุสลิมก็ทำให้งานชิ้นนี้ยากต่อการตั้งคำถามในสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับหลักคำสอน แต่หากมีผู้ที่รู้ทางด้านสังคมมุสลิมก็จะพบว่างานชิ้นนี้ไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ๆ แก่คนมุสลิม แต่จะพบว่าเป็นงานที่ทำให้สังคมมุสลิมต้องทบทวนในบทบัญญัติและหลักการศาสนามากขึ้นในการที่จะต้องประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลง ที่นำไปสู่ความขัดแย้งในชุมชน ซึ่งการประยุกต์หลักคำสอนนั้นถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชุมชนมุสลิม

              สรุป งานชิ้นนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัด ซึ่งหมายถึงจะทำอย่างไรให้การแก้ไขปัญหาด้วยชุมชนนั้นสามารถกระทำได้มากขึ้น และเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในทรรศนะของทางเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่รัฐได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ไขความรุนแรงโดยสนใจการมีบทบาทของชุมชน หากใช้หลักกฎหมายอย่างเดียวในการแก้ไขความสับสนของเรื่องราวในสังคมก็มิอาจจะแก้ไขปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนได้ ซึ่งในบางครั้งกฎหมายบางฉบับก็ทำให้คนสังคมเดือนร้อน หรือสร้างความขัดแย้งให้แก่ของคนในชุมชน สิ่งที่มีความสำคัญอีกประการ ก็คือศาสนา สิ่งที่เป็นปัญหาในโลกมุสลิมปัจจุบันก็คือการตีความทางด้านศาสนา เพราะเรื่องราวของการตีความนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งกับคนในสังคม