Skip to main content

คลื่นมหาชนและยอดบริจาคสูงลิ่วแสดงนัยยะอะไรทางการเมืองเรื่องกระบวนการสันติภาพ

 

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก ดินอะ) 

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้, ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา [email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur

 

          สถาบันข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.58 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง ฟ.26/2556 ให้ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือปอเนาะญิฮาด เลขที่ 699 หมู่ 4 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย เพราะใช้เป็นสถานที่ฝึกของนักรบในขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยที่ นายดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่ของโรงเรียน ถูกทางการฟ้องร้องกล่าวหาในคดีก่อการร้ายและกบฏแบ่งแยกดินแดน

          ผลของคำพิพากษาได้สร้างความไม่เข้าใจให้กับฝ่ายครอบครัวแวมะนอ นำโดย นางยาวาฮี ภรรยาของนายดูนเลาะ และ นายบัลยาน ลูกชาย รวมทั้งศิษย์เก่าของโรงเรียน และประชาชนในพื้นที่ เพราะเห็นว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของปอเนาะญิฮาดซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 นั้น เป็นมรดกที่ตกทอดถึงยาวาฮีและพี่น้องรวม 5 คน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของนายดูนเลาะซึ่งเป็นเขยเข้ามาแต่งงานกับนางยาวาฮี และนางยาวาฮีกับพี่น้องคนอื่นๆ ที่มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก็ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีก่อการร้ายด้วย

          กระทั่ง 14 ก.พ. 59 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดขยายเวลายื่นอุทธรณ์คดี ทางครอบครัวแวมะนอตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ และเก็บข้าวของออกจากปอเนาะไปอาศัยอยู่ที่มัสยิดบ้านท่าด่านซึ่งอยู่ห่างจากปอเนาะราวๆ 1 กิโลเมตรเป็นการชั่วคราว ทั้งๆ ที่ตลอดมาหน่วยงานรัฐในพื้นที่พยายามประสานขอให้ครอบครัวสู้คดีให้ถึงที่สุดก่อน จากนั้นหากแพ้ โดนยึดที่ดินจริงๆ ก็จะพัฒนาปอเนาะญิฮาดให้เป็นสถานศึกษาของชุมชน และให้ครอบครัวได้อาศัยอยู่ต่อไป

          ทว่าครอบครัวแวมะนอไม่ยินยอม...

          ตลอดช่วงเวลาเดือนเศษที่ทางครอบครัวย้ายไปอาศัยที่มัสยิดบ้านท่าด่าน มีประชาชนในพื้นที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจกันเป็นจำนวนมาก กระทั่งมีการจัดกิจกรรมกินข้าวยำ หรือ "มาแกนาซิกราบู" สมทบทุนให้ได้ 4 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดิน สร้างปอเนาะญิฮาดใหม่ พร้อมสร้างที่อยู่ให้กับครอบครัวแวมะนอ และซ่อมแซมมัสยิดบ้านท่าด่าน

          งานเลี้ยงจัดขึ้นที่สนามกีฬาประจำหมู่บ้านท่าด่าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีประชาชน ตัวแทนองค์กรภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ และหน่วยงานรัฐ เข้าร่วมหลายพันคน รถราติดเป็นแถวยาว

          งานนี้มีคลื่นมหาชนทุกภาคส่วนบอกปากต่อปาก ใกล้จบงาน (เวลา21.00 น.ได้ยอดบริจาค กว่า สามล้านบาท)

 

 

ขอบคุณภาพจาก FacebookGebriel David

 

มันย่อมแสดงนัยยะทางการเมืองเรื่องกระบวนการสันติภาพหลายเรื่องมากเช่น

1.    ความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐไทยยึดตัวบทมากกว่ารัฐศาสตร์ทำให้ชุมชนทุกภาคส่วนมองว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ยิ่งต่อสู้ก็ยิ่งไม่มีความหวัง  ดังนั้นชุมชนทุกภาคส่วนร่วมใจใช้กระบวนการสันติวิธีต้านอำนาจรัฐด้วยการยืนด้วยลำแข้งของชุมชนถึงแม้รัฐจะพยายามใช้รัฐศาสตร์เข้าแก้ภายหลัง

2.    การต่อสู้ทางสันติวิธีอย่างนี้รัฐจะต้องปรับกระบวนการทำงานด้านมวลชนอีกมากถึงแม้จะทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านตลอด 12 ปี

3.    การใช้ผู้นำศาสนาออกมาเถลงที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ชุมชนมองว่าทหารอยู่เบื้องหลังเเละออกมาเคลื่อนไหวช้า

ข้อเสนอแนะต่อการร่วมบริจาคครั้งนี้

          หวังว่าเงินสาธารณกุศลจะทำให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามและมีนิติกรรมเพื่อชุมชนยอมรับเพราะมิฉะนั้นคนที่ถูกอธรรมท้ายที่สุดคือประชาชนที่มีจิตใจบริสุทธิเพื่อสาธารณประโยชน์ครั้งนี้  และอยากให้ศึกษาวิจัยการบริหารทรัพย์สินสาธารณประโยชน์จากประเทศมุสลิมที่ประสบความสำเร็จและหวังว่าการร่วมแรงร่วมใจเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ปอเนาะญีฮาดจะเป็นโมเดลแบบอย่างต่อที่อื่นโดยเฉพาะแผ่นดินปตานี/ชายแดนใต้

 

 

 

ภาพจาก Facebook : Imron Sahoh Binmustofa

 

หมายเหตุ อ่านเพิ่มเติมเรื่องทรัพย์สาธารณประโยชน์ตามหลักการอิสลามใน http://www.deepsouthwatch.org/dsj/8196