Skip to main content

ตอน 3 : หนุน "พื้นที่การเมือง" ต่อรองอำนาจรัฐ

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

 

          การอธิบายการชุมนุมที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำที่ปัตตานีเมื่อตอนต้นเดือน  อาจมีได้หลายแง่มุม บทสรุปจากการชุมนุมอาจจะยังต้องจับตาดูต่อไปว่าคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อคลี่คลายข้อเท็จจริงในกรณีที่ชาวบ้านไม่ได้รับความไม่เป็นธรรมจะนำไปสู่ผลอย่างไร เพราะนั่นเท่ากับเป็นการลดเงื่อนไขความหวาดระแวงในพื้นที่ได้ไม่น้อย

          ในขณะที่หน่วยข่าวกรองของทางการไทยก็จำต้องจับตาความเคลื่อนไหวของนักศึกษา ซึ่งเป็นตัวละครใหม่ที่เริ่มมีบทบาทต่อปัญหาชายแดนใต้เพิ่มมากขึ้น

          เพราะขณะนี้ พวกเขาในเด็กหนุ่มสาวที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ได้เผยตัวในพื้นที่สาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

          ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี ชี้ให้เห็นว่า การปรากฏตัวของนักศึกษาในที่ชุมนุมในบริบทสถานการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการประกาศตัวอย่างชัดเจนของกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าอาจมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงหรือมีอิทธิพลทางอ้อมต่อกลุ่มนักศึกษาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ทว่าการเผยตัวใน "พื้นที่สาธารณะ" เช่นนี้ เท่ากับเป็นการยกระดับจากเดิมที่เน้นเพียงเคลื่อนไหวปฏิบัติการด้านการทหารเพื่อปลุกกระแสและเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนในทางลับ

          การชุมนุมยังได้ประกาศหลักการ "สันติประชาธรรม" ในการเคลื่อนไหวต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย ซึ่งในอีกด้านหนึ่งเท่ากับเป็นการทำสัญญาประชาคมกับสังคม และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับผิดชอบต่อข้อเรียกร้องของพวกเขา ศรีสมภพ ยังระบุด้วยว่า ฝ่ายทางการเองก็จำต้องยอมรับกับลักษณะการเคลื่อนไหวดังกล่าว เพราะไม่แน่ว่าการเคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธีดังกล่าวอาจเป็นทางออกของการแก้ปัญหาที่ในขณะนี้ต่างก็มีความสูญเสียสะสมขึ้นทุกวัน

          เขาเห็นว่า การเคลื่อนไหวในพื้นที่เปิดจะนำมาสู่เวทีแลกเปลี่ยนและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า "พื้นที่สาธารณะ" นี่เองก็เป็นพื้นที่ที่ต่างฝ่ายในสังคมใช้สื่อสารแลกเปลี่ยนประเด็น ข้อหารือ ด้วยการใช้เหตุและผลบนพื้นฐานที่มีเสรีภาพทางความคิด ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก่อตัวเป็นกลุ่มประชาสังคมต่างๆ อย่างไรก็ตาม อีกแนวคิดหนึ่งชี้ว่าพื้นที่สาธารณะเองก็ยังคงมีการครอบงำโดยกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่างและหยิบใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองเป้าประสงค์ที่แท้จริงของกลุ่มตน

          ด้วยมุมมองเช่นนี้ พื้นที่สาธารณะจึงเป็นพื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงนิยามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความเป็นธรรมในพื้นที่ ความต้องการของผู้คนในพื้นที่ ทว่าอย่างน้อยก็เป็นพื้นที่ที่ถกเถียงกันโดยสันติ ไร้ความรุนแรง

          อย่างไรก็ตาม ศรีสมภพ วิเคราะห์การเคลื่อนไหวในลักษณะการชุมนุมว่า อาจมองได้หลายมุมมอง ในแง่ดีอาจหมายถึงการพยายามขับเคลื่อนเพื่อมุ่งหวังสะท้อนความต้องการของพวกเขาผ่านเวทีสาธารณะเพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง ทว่าหากมองในแง่ร้าย การเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่อาจคาดหวังจุดพลิกผันเพื่อนำไปสู่ภาวะจลาจลและทำให้สถานการณ์เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นในบอสเนียในช่วงเริ่มแรกของความขัดแย้งภายในที่จบลงด้วยการเข้ากุมสภาพของสงครามโดยกองกำลังนานาชาติ

          เขาชี้ว่า การส่งเสริมให้พื้นที่สาธารณะเติบโตอาจมีความเสี่ยงที่สังคมไทยจำต้องอดทนยอมรับและเรียนรู้ร่วมไปกับสถานการณ์ ที่สำคัญจะต้องไม่ปล่อยให้การช่วงชิงพื้นที่สาธารณะจำกัดอยู่ทีเฉพาะคู่ขัดแย้ง

          อาจกล่าวได้ว่า "พื้นที่สาธารณะ" ในประเด็นปัญหาชายแดนใต้ในปัจจุบันที่ถูกขับเคลื่อนผ่านสื่อมวลชนมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายได้อย่างรอบด้านและเสมอกัน ขณะที่การก่อตัวของพลังประชาสังคมเพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐและอีกฝ่ายที่มุ่งใช้ความรุนแรงครอบงำพื้นที่เองก็ยังไม่มีพลังชัดเจน

          การเผยตัวของ "นักศึกษา" ที่เคลื่อนไหวในการชุมนุมครั้งดังกล่าวจึงมีนัยสำคัญหลายประการที่ควรจับตามองอย่างยิ่ง เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ระยะใกล้ที่มีนักศึกษาและปัญญาชนเป็นตัวละครสำคัญ และในยุคสมัยที่สิ่งที่เรียกว่า "ภาคประชาสังคม" ยังไม่ได้ก่อตัวเป็นรูปธรรมมากนัก

          แหล่งข่าวนักธุรกิจรายหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นแกนนำกลุ่มพีเอ็นวายเอสในยุค 10 ปีแรก มองว่า กลุ่มนักศึกษาซึ่งมีพื้นเพเป็นคนเชื้อสายมลายู มีความรู้พื้นฐานด้านศาสนาบ้างแต่ไปต่อยอดกับความรู้สามัญในระดับอุดมศึกษาจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อปัญหาชายแดนใต้ อย่างน้อย ในอดีตนักศึกษาเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันขบวนการติดอาวุธให้หันมาให้ความสำคัญกับการต่อสู้ทางการเมืองแทนที่จะใช้ความรุนแรง

          เขายอมรับว่า ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนตให้ความสำคัญต่อกลุ่มเยาวชนอย่างยิ่งยวด การก่อตั้งกลุ่มพีเอ็นวายเอสในยุคแรกๆ ก็อยู่บนพื้นฐานแนวคิดของการจัดตั้งองค์กรเยาวชนเพื่อทำงานจัดตั้งทางความคิดให้กับเด็กหนุ่มสาวจากท้องถิ่นที่เดินทางร่ำเรียนในสายสามัญในกรุงเทพ โดยยึดโยงรูปแบบมาจากธรรมเนียมของพรรคคอมมิวนิสต์

หลังปี 2518 ซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ที่มัสยิดกลางปัตตานี ภาพของปัญญาชนจากกรุงเทพฯ ทั้งที่เป็นผู้ที่มีเชื้อสายมลายูในพื้นที่หรือปัญญาชนต่างศาสนิกที่ลงมาร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน สร้างกระแสให้มีการส่งบุตรหลานเข้าสู่ระบบการศึกษาสายสามัญมากขึ้นในเวลาต่อมา ทศวรรษที่ 2520 จึงเป็นเหมือนยุครุ่งเรืองของนักศึกษามลายูที่หลั่งไหลเข้ากรุงเทพจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายหลักคือ ม.รามคำแหง และในปี 2521 กลุ่มพีเอ็นวายเอสก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้น นอกจากเพื่อตอบสนองต่อภารกิจใต้ดินแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อดูแลเยาวชนพลัดถิ่นเหล่านี้ในสภาพแวดล้อมของเมืองหลวง

ทว่าในเวลาต่อมา นักศึกษาเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้ผลักดันจุดเปลี่ยนจากการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธใต้ดินมาสู่การต่อสู้ในระบบ ทั้งในรูปแบบของการต่อสู้ทางการเมืองในรัฐสภา รวมทั้งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นเพราะการได้เรียนรู้ ประกอบกับประสบการณ์ทางการเมืองในเมืองหลวงได้หล่อหลอมให้พวกเขาได้เห็นช่องทางเลือกในการต่อรองทางการเมือง นอกเหนือจากการติดอาวุธต่อสู้

          "แนวความคิดเรื่องกลุ่มการเมืองอย่างกลุ่มวาดะห์และชมรมนักกฏหมายมุสลิมก็เกิดขึ้นในช่วงนี้" และนั่นนำมาสู่การเชื่อมร้อยกับนักกิจกรรมมุสลิมอีกหลายคนในกรุงเทพฯ เพื่อก่อตัวกระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมในพื้นที่สาธารณะ

          เขาวิเคราะห์ว่า แนวร่วมในการต่อกรกับรัฐไทยเพื่อเป้าประสงค์แบ่งแยกดินแดนในอดีต ต่างสมาทานความคิด อุดมการณ์ กระทั่งยุทธวิธีมาจากบทเรียนที่เกิดขึ้นทั่วโลก "ลัทธิเอาอย่าง" เช่นนี้ ดำรงอยู่แม้แต่ในขบวนการนักศึกษาชายแดนใต้และนั่นนำมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ นอกเหนือจากความอ่อนแอภายในขบวนการที่เริ่มอ่อนแรงและเกิดความแตกแยกทางความคิดเมื่อ "อุซตาซการิม" หรือ ฮัจยีอับดุลการิม ฮัสซัน ผู้นำทางความคิดของขบวนการบีอาร์เอ็นเริ่มปฏิเสธทฤษฎีการต่อสู้ที่ผ่านมาของขบวน

อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยจากภาครัฐที่เปิดช่องทางของรัฐบาลด้วยนโยบาย 66/23 แต่เพียงเท่านั้น

ประกอบกับบริบทแวดล้อมในขณะนั้นก็มีปัจจัยภายนอกหนุนนำให้นักศึกษาเหล่านี้เรียนรู้ คือ สถานการณ์ปฏิวัติในอิหร่านเมื่อปี 2523 สงครามมูญาฮิดีนระหว่างอัฟกานิสถานและรัสเซีย ซึ่งส่งอิทธิพลให้การต่อสู้ที่แต่เดิมอิงแนวคิดชาตินิยมมลายูและแนวคิดสังคมนิยม มาสู่การแสวงหาแนวทางที่ยึดโยงกับศาสนามากขึ้น

ปัญญาชนยุคนั้นจึงมีบทบาทอย่างสำคัญในการเดินสายขายแนวคิดการต่อสู้ "บนดิน" กับแกนนำและกองกำลังของคนรุ่นก่อน ว่ากันว่านักการเมืองหนุ่มอดีตนักศึกษากลุ่มพีเอ็นวายเอสเคยปราศรัยสด ณ ฐานที่มั่นกลางป่าเขาในแถบเทือกเขาที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ต่อหน้ากองกำลังติดอาวุธนับร้อยของขบวนการบีอาร์เอ็นในการต่อสู้ในระบบรัฐสภา

ในระหว่างการต่อสู้ทางความคิดภายในขบวนการ การชุมนุมของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ก็อุบัติขึ้นหลายครั้ง อาทิเช่น การประท้วงเรียกร้องให้นักศึกษาหญิงของสถาบันราชภัฎยะลาสามารถคลุมฮิญาบได้ หรือการประท้วงกรณีกรมศิลปากรจะขึ้นทะเบียนมัสยิดกรือเซะเป็นโบราณสถาน เป็นต้น ซึ่งแทบทุกครั้งขบวนการใต้ดินแทบจะไม่มีบทบาทใดๆ ทว่าผลสะเทือนของการเคลื่อนไหวดังกล่าว คือ การมองเห็นช่องทางในการต่อรองกับอำนาจรัฐในประเด็นวัฒนธรรมและศาสนา

แม้ในเวลาต่อมา พวกเขาจะยึดกุมอำนาจรัฐได้ในนามของสมาชิกรัฐสภาและตัวแทนของท้องถิ่นยังได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองในระดับรัฐมนตรีหลายคน ทว่าการกลายสภาพเป็นนักการเมืองที่มุ่งแสวงหาประโยชน์และรักษาอำนาจของพวกเขาได้ทำให้พื้นที่ทางการเมืองผ่าน "กลุ่มวาดะห์" ต้องมืดมนลง เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาลทักษิณ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายดังกล่าวยังเชื่อมั่นว่า พรรคการเมืองในระบบรัฐสภาจะยังคงเป็นทางเลือกสำหรับคนท้องถิ่นได้อยู่ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ประเด็นข้อเสนอที่เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าใครหรือกลุ่มใดเสนอตนเป็นตัวแทน

"ผมคิดว่าหากมีพรรคการเมืองใดที่เสนอเขตปกครองพิเศษในพื้นที่แห่งนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะได้รับเลือก"

ถึงกระนั้น นี่คือบทสรุปจากบทเรียนที่คนมลายูมุสลิมได้เรียนรู้และยังไม่แน่ชัดว่าขณะนี้ผู้คนในท้องถิ่นมีทางเลือกที่ไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่