Skip to main content
นางสาวสุวรา แก้วนุ้ยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี
พันตำรวจตรีสุรจิต เพชรจอม ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
 

รายงานการวิเคราะห์การก่อเหตุช่วงเดือนรอมฎอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี 2547 -2558 เป็นการสรุปสถิติของการก่อเหตุความรุนแรงในทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเดือนรอมฎอน[1] ตั้งแต่ปี 2547 – 2558 ที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ช่วยในการประเมินสถานการณ์ภาพรวมและเข้าใจรูปแบบการก่อเหตุในช่วงรอมฎอน อันจะนำไปสู่แนวทางในการจัดทำนโยบายเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

1. ภาพรวมการก่อเหตุช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547 -2558

จากสถิติการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอน ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2558 ระยะเวลา 12 ปี มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวม 1,853 เหตุการณ์ โดยปีที่มีเหตุการณ์สูงสุดได้แก่ ปี 2556 จำนวน 274 เหตุการณ์ (ร้อยละ 14.8) และปีที่มีเหตุการณ์น้อยที่สุดได้แก่ ปี 2557 จำนวน 68  (ร้อยละ 3.7) เมื่อจำแนกสาเหตุในการก่อเหตุ พบว่า เหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการก่อความไม่สงบ 1,307 เหตุการณ์ (ร้อยละ 70.5) รองลงมาคือ สาเหตุจากเรื่องส่วนตัว จำนวน 397 เหตุการณ์ (ร้อยละ 21.4) และไม่ทราบสาเหตุ จำนวน 144 เหตุการณ์ (ร้อยละ 7.8) และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายรัฐ จำนวน 5 เหตุการณ์ (ร้อยละ 0.3)  

แผนภาพที่ 1 แสดงสถิติการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547-2558 จำแนกตามสาเหตุการก่อเหตุ

 

เมื่อแยกรูปแบบการก่อเหตุ พบว่า ภาพรวมส่วนใหญ่มีการก่อเหตุด้วยการยิง ร้อยละ 47.8 รองลงมา คือ การวางระเบิด ร้อยละ 16.9 การก่อกวน ร้อยละ 14.3 วางเพลิง/ เพลิงไหม้ ร้อยละ 6.9 และการประทุษร้ายอาวุธ ร้อยละ 6.5  

สำหรับพื้นที่การก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนส่วนใหญ่ คือ จังหวัดนราธิวาส ร้อยละ 39.2 รองลงมาคือ จังหวัดปัตตานี ร้อยละ 29.4  จังหวัดยะลา ร้อยละ 27.3 และจังหวัดสงขลา ร้อยละ 4.2 โดยในรอบ12 ปีที่ผ่านมา สถานีตำรวจที่มีสถิติการเกิดเหตุในช่วงรอมฎอนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) สภ.เมืองยะลา  2) สภ.ระแงะ 3) สภ.บันนังสตา 4) สภ.รามัน 5) สภ.รือเสาะ 6) สภ.ยะรัง 7) สภ.สายบุรี 8) สภ.บาเจาะ      9) สภ.สุไหงปาดี และ 10) สภ.หนองจิก  

ตารางที่ 1 สถิติการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547-2558 จำแนกตามพื้นที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบ

 

พื้นที่ สภ. ที่รับผิดชอบ

จำนวนการเกิดเหตุ

ร้อยละ

1

สภ.เมืองยะลา

139

7.5

2

สภ.ระแงะ

120

6.5

3

สภ.บันนังสตา

110

5.9

4

สภ.รามัน

98

5.3

5

สภ.รือเสาะ

93

5.0

6

สภ.ยะรัง

89

4.8

7

สภ.สายบุรี

82

4.4

8

สภ.บาเจาะ

80

4.3

9

สภ.สุไหงปาดี

71

3.8

10

สภ.หนองจิก

68

3.7

การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงวันในการก่อเหตุของเดือนรอมฎอน ซึ่งแบ่งเป็น ช่วง 10 วันแรกของเดือน,วันที่ 11-20 ของเดือน และ 10 วันสุดท้ายของเดือน ตั้งแต่ปี 2547 – 2558 พบว่า โดยส่วนใหญ่สถิติในการก่อเหตุจะมีแนวโน้มของสัดส่วนที่สูงขึ้นในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ดังแสดงในแผนภาพที่ 3 นอกจากนี้ การวิเคราะห์ช่วงเวลาในการก่อเหตุ พบว่า ช่วงเวลา       18.01 – 24.00 น. เป็นช่วงเวลาที่มีการก่อเหตุสูงที่สุด ร้อยละ 38.2 (จำนวน 708 เหตุการณ์) รองลงมาคือ ช่วงเวลา 06.01 – 12.00 น. ร้อยละ 26.7 (จำนวน 495 เหตุการณ์)

แผนภาพที่ 2 แสดงสถิติการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547-2558 จำแนกตามช่วงเวลาในการก่อเหตุ

แผนภาพที่ 3 แสดงสถิติการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547-2558 จำแนกตามช่วงวันในการก่อเหตุ

 

2. ทบทวนสถิติ 12 ปี: มิติรูปแบบการก่อเหตุ

การวิเคราะห์รูปแบบการก่อเหตุในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1)การยิง 2)ระเบิด 3)การก่อกวน 4)วางเพลิง/เพลิงไหม้ 5)ทำร้ายร่างกาย(ที่ไม่ใช่การยิง) 6)การฆ่าด้วยวิธีทารุณโหดร้าย เช่น การฆ่าตัดคอ การฆ่าและเผา  7)การประทุษร้ายอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐ 8)การปะทะต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายตรงข้าม 9)การโจมตีฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ 10)การซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ 11)อื่นๆ

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลรูปแบบการก่อเหตุช่วงรอมฎอนในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา พบว่า รูปแบบการก่อเหตุส่วนใหญ่ คือการยิง มีทั้งสิ้น 885 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 47.8 จากการเกิดเหตุทั้งหมด โดยปีที่มีจำนวนเหตุการณ์ยิงสูงสุดได้แก่ ปี 2550 จำนวน 121 เหตุการณ์ และปีที่มีการยิงน้อยที่สุดได้แก่ ปี 2558 จำนวน 39 เหตุการณ์ สำหรับสาเหตุของการยิงส่วนใหญ่มาจากการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ร้อยละ 50.1 และสาเหตุที่เป็นเรื่องส่วนตัว ร้อยละ 36.9 เมื่อเชื่อมโยงรูปแบบการก่อเหตุกับพื้นที่ พบว่าการยิงเกิดขึ้นสูงสุดในจังหวัดนราธิวาส และเกิดขึ้นส่วนใหญ่ในช่วงเวลา 18.01-24.00 น. (ร้อยละ 38.5) และช่วงเวลา 12.01-18.00 น. (ร้อยละ 30.1)

รูปแบบการก่อเหตุรองลงมาคือ การวางระเบิด มีทั้งสิ้น 313 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 16.9 จาก  การก่อเหตุทั้งหมด โดยปีที่มีจำนวนเหตุการณ์ระเบิดสูงสุดได้แก่ ปี 2554 จำนวน 35 เหตุการณ์ และปีที่มี   การระเบิดน้อยที่สุดได้แก่ ปี 2558 จำนวน 12 เหตุการณ์ ในการก่อเหตุระเบิดเกือบทุกเหตุการณ์มาจากสาเหตุการก่อความไม่สงบในพื้นที่ (ร้อยละ 98.7) เมื่อเชื่อมโยงการระเบิดกับพื้นที่การก่อเหตุ พบว่าจังหวัดนราธิวาสมีการเกิดเหตุระเบิดสูงสุด และการก่อเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงกลางวัน (เวลา 06.01-12.00 น. ร้อยละ 45.4 และเวลา12.01-18.00 น. ร้อยละ 28.8)

แผนภาพที่ 4 แสดงสถิติรูปแบบการก่อเหตุแต่ละประเภทในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547-2558

 นอกจากนี้ ประเด็นที่มีความน่าสนใจของรูปแบบการก่อเหตุอื่นๆ ช่วงเดือนรอมฎอนในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา มีดังนี้

-       เหตุการณ์การก่อกวนเกิดขึ้นสูงสุดในปี 2556  จำนวน 153 เหตุการณ์จากการเกิดเหตุทั้งหมด 265 (ร้อยละ 57.7%) ซึ่งการก่อกวนเกือบทุกเหตุการณ์มีสาเหตุจากการก่อความไม่สงบ

-       การเกิดเพลิงไหม้/วางเพลิง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี (ร้อยละ 37.5) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการก่อความไม่สงบ (ร้อยละ 80.5) และช่วงเวลาที่เกิดเหตุเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน (ช่วงเวลา 18.01 – 06.00 น. ร้อยละ 85.9)

-       การก่อเหตุในรูปแบบการทำร้ายร่างกาย ที่ไม่ใช่การใช้อาวุธปืน เกือบทั้งหมดมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว (ร้อยละ 91.7) ซึ่งเกินครึ่งนึงของการก่อเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี (ร้อยละ 58.3) และเกิดขึ้นในช่วงเวลา 06.01-12.00 น. (ร้อยละ 54.2)

-       การก่อเหตุด้วยการฆ่าด้วยวิธีทารุณโหดร้าย เช่น การฆ่าตัดคอ การฆ่าและเผา ในช่วง12 ปี ของเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา พบว่า มีทั้งหมด 13 เหตุการณ์ โดยเกือบครึ่งนึงของการเกิดเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ( 6 เหตุการณ์) และเกิดขึ้นในช่วงเวลา 06.01-12.00 น. ( 7 เหตุการณ์)

-       รูปแบบการประทุษร้ายอาวุธส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ ได้แก่ช่วงปี 2547 – 2549 โดยการก่อเหตุเกิดขึ้นสูงสุดในปี 2548 จำนวน 97 เหตุการณ์จากการเกิดเหตุทั้งหมด 120 (ร้อยละ 80.8) เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเดือนรอมฎอนตั้งแต่ปี 2550 – 2557 ไม่มีการเกิดเหตุในรูปแบบการประทุษร้ายอาวุธ แต่ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมากลับมีรูปแบบการก่อเหตุในรูปแบบนี้อีกครั้ง (จำนวน 5 เหตุการณ์)

-       ช่วงรอมฎอนมีการก่อเหตุชุมนุมประท้วง 2 ครั้ง คือ ปี 2547 เกิดการชุมนุมประท้วง ณ สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส และ ปี 2550 เกิดการชุมนุมประท้วง ณ ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา

-       การปะทะ ซุ่มโจมตี และโจมตีฐานที่ตั้ง ทุกเหตุการณ์มาจากสาเหตุการก่อเหตุความไม่สงบ จำนวน 47 เหตุการณ์ โดยการปะทะ ซุ่มโจมตี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา แต่การโจมตีฐานที่ตั้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

 

3. ทบทวนสถิติ 12 ปี: มิติพื้นที่ที่เกิดเหตุ

การวิเคราะห์ข้อมูลในมิติของพื้นที่การเกิดเหตุความรุนแรงในห้วงเดือนรอมฎอนช่วง 12 ปีที่ผ่านมา พบว่าในทุกจังหวัดมีรูปแบบการก่อเหตุสูงสุดอันดับ 1 คือการยิง รองลงมาอันดับ 2 คือการระเบิด และอันดับที่ 3 คือการก่อกวน ยกเว้นจังหวัดปัตตานี คือการวางเพลิง/ เพลิงไหม้  

เมื่อวิเคราะห์รูปแบบการก่อเหตุด้วยการยิงและการระเบิด กับพื้นที่ของสถานีตำรวจที่รับผิดชอบ พบว่า10 พื้นที่ที่มีการก่อเหตุยิงสูงสุดช่วงเดือนรอมฎอน ได้แก่ 1) สภ.ระแงะ 2) สภ.เมืองยะลา 3) สภ.รือเสาะ 4) สภ.บันนังสตา 5) สภ.สายบุรี 6) สภ.ยะรัง 7) สภ.รามัน 8) สภ.หนองจิก 9) สภ.เมืองปัตตานี และ  10) สภ.สุไหงปาดี ดังแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 แสดงข้อมูลการก่อเหตุยิง ใน10 พื้นที่ที่มีการก่อเหตุยิงสูงสุดช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547-2558

 

พื้นที่ สภ. ที่รับผิดชอบ

จำนวนการเกิดเหตุ

ร้อยละ

1

สภ.ระแงะ

72

8.1

2

สภ.เมืองยะลา

66

7.5

3

สภ.รือเสาะ

55

6.2

4

สภ.บันนังสตา

49

5.5

5

สภ.สายบุรี

48

5.4

6

สภ.ยะรัง

47

5.3

7

สภ.รามัน

44

5

8

สภ.หนองจิก

37

4.2

9

สภ.เมืองปัตตานี

34

3.8

10

สภ.สุไหงปาดี

32

3.6

สำหรับข้อมูลพื้นที่ที่มีการก่อเหตุระเบิดสูงสุด ได้แก่ 1) สภ.เมืองยะลา 2) สภ.เมืองนราธิวาส  3) สภ.ระแงะ 4) สภ.รือเสาะ 5) สภ.ตากใบ 6) สภ.รามัน 7) สภ.ธารโต 8) สภ.เมืองปัตตานี 9) สภ.ยะรัง     10) สภ.สุไหงโกลก และ 11) สภ.เจาะไอร้อง ดังแสดงในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 แสดงข้อมูลการก่อเหตุระเบิด ใน 11 พื้นที่ที่มีการก่อเหตุยิงสูงสุดช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547-2558

 

พื้นที่ สภ. ที่รับผิดชอบ

จำนวนการเกิดเหตุ

ร้อยละ

1

สภ.เมืองยะลา

26

8.3

2

สภ.เมืองนราธิวาส

23

7.3

3

สภ.ระแงะ

22

7

4

สภ.รือเสาะ

15

4.8

5

สภ.ตากใบ

15

4.8

6

สภ.รามัน

14

4.5

7

สภ.ธารโต

14

4.5

8

สภ.เมืองปัตตานี

13

4.2

9

สภ.ยะรัง

13

4.2

10

สภ.สุไหงโกลก

13

4.2

11

สภ.เจาะไอร้อง                

13

4.2

 

4.ทบทวนสถิติ 12 ปี: ผลกระทบที่ได้รับ

การก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ช่วงเดือนรอมฎอนในรอบ 12 ปี ที่ผ่านมาพบว่า จากจำนวนเหตุการณ์ทั้งหมด 1,853 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 763 ราย ปีที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดคือ ปี 2550 จำนวน 111 ราย (ร้อยละ 14.5) และปีที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดได้แก่ ปี 2558 จำนวน 33 ราย (ร้อยละ 4.3) สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการก่อเหตุความไม่สงบ ร้อยละ 57.9 รองลงมาคือสาเหตุที่เป็นเรื่องส่วนตัว ร้อยละ 33.7 โดยรูปแบบการก่อเหตุที่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตสูงสุดได้แก่การยิง ร้อยละ 79.4 รองลงมาได้แก่การระเบิด ร้อยละ 7.2 ซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์ช่วงปีกับรูปแบบการก่อเหตุที่มีผู้เสียชีวิต พบประเด็นน่าสนใจคือ ช่วงปี 2556 – 2559 พบว่ารูปแบบการก่อเหตุด้วยระเบิดส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อเหตุระเบิดในช่วงอดีตที่ผ่านมา

สำหรับพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ร้อยละ 36.3 รองลงมาได้แก่ จังหวัดปัตตานี ร้อยละ 32.9 จังหวัดยะลา ร้อยละ 26.6 และจังหวัดสงขลา ร้อยละ 4.2 เมื่อจำแนกการเสียชีวิตตามพื้นที่ของสถานีตำรวจที่รับผิดชอบ พบว่า10 พื้นที่ที่มีการเสียชีวิตสูงสุดในช่วงรอมฎอน ได้แก่ 1) สภ.เมืองยะลา 2) สภ.ระแงะ 3) สภ.รือเสาะ 4) สภ.รามัน 5) สภ.สายบุรี 6) สภ.เมืองปัตตานี 7) สภ.บันนังสตา 8) สภ.ยะรัง 9) สภ.ยะหา และ 10) สภ.หนองจิก

แผนภาพที่ 5 แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547-2558 จำแนกตามพื้นที่

ในด้านผลกระทบที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บ พบว่า ช่วงเดือนรอมฎอน 12 ปีที่ผ่านมา มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1,246 ราย ปีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงที่สุดคือ ปี 2552 จำนวน 153 ราย (ร้อยละ 12.3) และปีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุดได้แก่ ปี 2553 จำนวน 64 ราย (ร้อยละ 5.1) สำหรับสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บส่วนใหญ่มาจากการก่อเหตุความไม่สงบ ร้อยละ 80 รองลงมาคือสาเหตุที่เป็นเรื่องส่วนตัว ร้อยละ 14.4 โดยรูปแบบการก่อเหตุที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บสูงสุดคือการระเบิด ร้อยละ 53.9 รองลงมาคือการยิง ร้อยละ 36.8 ซึ่งปีที่มีการบาดเจ็บจากการระเบิดสูงสุดได้แก่ปี 2557 จำนวน 88 (ราย)

สำหรับพื้นที่ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ร้อยละ 39.8 รองลงมาได้แก่ จังหวัดยะลา ร้อยละ 29 จังหวัดปัตตานี ร้อยละ 28.6 และจังหวัดสงขลา ร้อยละ 2.6 เมื่อจำแนกการเสียชีวิตตามพื้นที่ของสถานีตำรวจที่รับผิดชอบ พบว่า10 พื้นที่ที่มีการเสียชีวิตสูงสุดในช่วงรอมฎอน ได้แก่   1) สภ.เมืองยะลา 2) สภ.ระแงะ 3) สภ.เมืองปัตตานี 4) สภ.เมืองนราธิวาส 5) สภ.สุไหงโกลก 6) สภ.ยะรัง     7) สภ.ตากใบ 8) สภ.สายบุรี 9) สภ.รามัน และ 10) สภ.บันนังสตา

 

5. บทสรุป: 12 ข้อสังเกตจากการก่อเหตุช่วงรอมฎอนในรอบ 12 ปี

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการก่อเหตุช่วงเดือนรอมฎอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี   2547-2558 สามารถสรุปประเด็นและข้อสังเกตจากการก่อเหตุได้ 12 ประเด็น ดังนี้

1.     สถิติการก่อเหตุความรุนแรงในทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547 – 2558 มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวม 1,853 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการก่อความไม่สงบในพื้นที่ โดยมีรูปแบบการก่อเหตุสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1) การยิง 2)การระเบิด และ 3) การก่อกวน

2.     การก่อเหตุด้วยการยิงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ประมาณ 1 ใน 3 ของการยิง มีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว และประมาณครึ่งนึงมีสาเหตุมาจากการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ในขณะที่การระเบิด และการก่อกวน เกือบทุกเหตุการณ์มีสาเหตุมาจากการก่อความไม่สงบในพื้นที่

3.     รูปแบบการประทุษร้ายอาวุธส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะในปี 2548 เกิดเหตุประมาณร้อยละ 80 และหลังจากปี 2549 การก่อเหตุเพื่อประทุษร้ายอาวุธไม่ปรากฎอีกในชวงเดือนรอมฎอน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมากลับมีรูปแบบการก่อเหตุในรูปแบบนี้อีกครั้ง

4.     ช่วงรอมฎอนปี 2547 มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่สำคัญ ได้แก่ การชุมนุมประท้วง ณ สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย

5.     หากจำแนกข้อมูลของการเกิดเหตุความรุนแรงกับมิติของพื้นที่รายจังหวัด ในห้วงเดือนรอมฎอนช่วง 12 ปีที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีจำนวนเหตุการณ์โดยรวม จำนวนการเกิดเหตุยิงและระเบิด รวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุด

6.     หากพิจารณาความรุนแรงในพื้นที่ความรับผิดชอบของสถานีตำรวจ พบว่า พื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง         5 อันดับแรก ได้แก่ 1) สภ.เมืองยะลา  2) สภ.ระแงะ 3) สภ.รือเสาะ 4) สภ.เมืองปัตตานี  5) สภ.รามัน โดยพิจารณาจากเหตุการณ์ภาพรวม เหตุยิง เหตุระเบิด และจำนวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในพื้นที่

7.     ช่วงวันในการก่อเหตุของเดือนรอมฎอน พบว่าแนวโน้มของการก่อเหตุจะมีสัดส่วนที่สูงขึ้นในห้วง 10 วันสุดท้าย โดยเฉพาะรูปแบบการประทุษร้ายอาวุธ พบว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนในปีที่เกิดเหตุ

8.     การวิเคราะห์ช่วงเวลาในการก่อเหตุทุกรูปแบบ พบว่า ช่วงเวลา 18.01 – 24.00 น. เป็นช่วงเวลาที่มีการก่อเหตุสูงที่สุด รองลงมาคือ ช่วงเวลา 06.01 – 12.00 น. หากจำแนกตามรูปแบบการเกิดเหตุ พบว่าช่วงเวลาการเกิดเหตุ ที่ควรเฝ้าระวัง มีดังนี้

o    การก่อเหตุระเบิด ช่วงเวลาที่ควรเฝ้าระวังคือ ช่วงกลางวัน (เวลา 06.01-18.00 น.) โดยเฉพาะช่วงเช้าใน เวลา 06.01 – 12.00 น.

o    การก่อเหตุยิง ช่วงเวลาที่ควรเฝ้าระวังคือ ช่วงหลังเที่ยงวันถึงก่อนเที่ยงคืน (12.01 – 24.00 น.) โดยเฉพาะช่วงค่ำ ในเวลา 18.01 – 24.00 น.

o    การปะทะและซุ่มโจมตี ช่วงเวลาที่ควรเฝ้าระวังคือ ช่วงกลางวัน (เวลา 06.01-18.00 น.) โดยเฉพาะช่วงบ่าย ในเวลา 12.01 – 18.00 น.

แผนภาพที่ 6 แสดงสถิติรูปแบบการก่อเหตุแต่ละประเภทในช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2547-2558   จำแนกตามช่วงเวลาในการก่อเหตุ

9.     ผู้เสียชีวิตจากการก่อเหตุช่วงรอมฎอนในรอบ 12 ปี มีจำนวน 763 ราย ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตประมาณ 1 ใน 3 มาจากเรื่องส่วนตัว และประมาณครึ่งนึงของการเกิดเหตุมาจากการก่อความไม่สงบ โดยรูปแบบการก่อเหตุที่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตสูงสุดได้แก่การยิง แต่เมื่อทำการวิเคราะห์ช่วงปีกับรูปแบบการก่อเหตุที่มีผู้เสียชีวิต พบประเด็นน่าสนใจคือ ช่วงปี 2556 – 2559 พบว่ารูปแบบการก่อเหตุด้วยระเบิดส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อเหตุระเบิดในช่วงอดีตที่ผ่านมา

10.  ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการก่อเหตุช่วงรอมฎอนในรอบ 12 ปี มีจำนวน 1,246 ราย สำหรับสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บส่วนใหญ่มาจากการก่อเหตุความไม่สงบ โดยรูปแบบการก่อเหตุที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บสูงสุดคือการระเบิด

11.  เมื่อพิจารณาสถิติแนวโน้มการก่อเหตุช่วงรอมฎอนในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงอาจมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่สัญญาณเชิงบวกได้เริ่มปรากฏให้เห็นโดยเฉพาะแนวโน้มการเสียชีวิตมีทิศทางลดลง จากประมาณ 2-3 คนต่อวัน ในช่วงก่อนปี 2551 ลดลงเหลือประมาณ 1 คนต่อวัน ในช่วงปี 2557-2558 และปรากฎชัดขึ้นในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด นอกจากนี้ปี 2557 ยังเป็นปีที่มีเหตุการณ์น้อยที่สุดในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาด้วย  

12.  โดยสรุปสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงรอมฎอนที่ผ่านมานั้น พบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการก่อความไม่สงบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์และความเชื่อ ดังนั้นทุกฝ่ายควรร่วมกันทำความเข้าใจ เพื่อแก้ปัญหา และหาทางลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่  นอกจากนี้ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนควรช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังการก่อเหตุในพื้นที่ และควรสร้างพื้นที่แห่งการสื่อสารเชิงบวก เพื่อลดอคติ ความกลัว และ ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การหนุนเสริมบรรยากาศของสันติภาพ สันติสุขในสังคมต่อไป

[1] ช่วงเวลาของเดือนรอมฎอนในแต่ละปี มีดังนี้ 1) ปี 2547 ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม- 13 พฤศจิกายน 2) ปี 2548 ตรงกับวันที่ 4 ตุลาคม -  2 พฤศจิกายน 3) ปี 2549 ตรงกับวันที่ 23 กันยายน - 23 ตุลาคม 4) ปี 2550 ตรงกับวันที่ 13 กันยายน - 12 ตุลาคม 5) ปี 2551 ตรงกับวันที่     1 กันยายน – 30 กันยายน 6) ปี 2552 ตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม – 19 กันยายน 7) ปี 2553 ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม – 9 กันยายน 8) ปี 2554 ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม – 29 สิงหาคม 9) ปี 2555 ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม - 19 สิงหาคม 10) ปี 2556 ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม - 7 สิงหาคม 11) ปี 2557 ตรงกับวันที่ 29 มิถุนายน – 27 กรกฎาคม 12) ปี 2558 ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายน – 16 กรกฎาคม