Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

 
 
ข้อเขียนนี้เป็นความพยายามตอบคำถามต่อข้อสังเกตุของผู้ใช้นามว่า mamablues ที่เขียนความคิดเห็นต่อท้ายบทความของผมในเรื่อง “ความอ่อนด้อยเชิงยุทธวิธี” โดยหวังว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ๆ ที่ผมใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในปัจจุบัน
 
เท่าที่ได้อ่านคิดเห็นดังกล่าว ผมจับประเด็นได้ 3 ประเด็น ประเด็นแรก เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์กับยุทธวิธี ประเด็นที่สอง คือ กระบวนการจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเด็นที่สาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทของหน่วยงานต่างๆ
 
          ความเห็นของผมต่อสามประเด็นดังกล่าว มีดังนี้
 
ประเด็นแรก ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์กับยุทธวิธี mamablues ได้เสนอว่า เดิมทีการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เน้นไปที่ยุทธศาสตร์การทหารจนสามารถจับกุมคนร้ายได้มาก นับเป็นชัยชนะทางยุทธวิธี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบได้ ซ้ำยังมีแนวโน้มว่ารัฐจะพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ จึงเปลี่ยนการดำเนินการใหม่เป็นเน้นไปที่ยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง หรือที่คุ้นเคยกันว่าเป็นการใช้การเมืองนำการทหาร แต่กลับปรากฏว่าจะใช้ยุทธวีธีทางทหารแบบเดิมไม่ได้ ยุทธวิธีทางการเมืองที่ใช้ใหม่ก็ใช้ไม่ออก กลายเป็นความอับจนทางการยุทธวิธี แม้เชื่อว่าแนวทางใหม่นี้ ในที่สุดรัฐจะเป็นฝ่ายชนะแต่ก็จำต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย อาจจะเข้าทำนอง “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” และอาจทำให้ทั้งยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ รัฐจะเป็นฝ่ายแพ้ทั้งสองเรื่อง
 
          ประเด็นนี้หากผู้มีหน้าที่บัญชาการและผู้ปฏิบัติงานภาคสนามเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์กับยุทธวิธีก็คงไม่เกิดปัญหาดังกล่าว ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหาร ตำรวจจะไม่เข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นพื้นฐานทางการทหาร แต่ที่อยากจะชี้ให้เห็นก็คือ ความลึกซึ้งที่เกิดจากการเข้าใจสภาพของคู่ต่อสู้และสภาพแวดล้อมต่างหาก เป็นต้นว่าลักษณะของพื้นที่สู้รบ สภาพทางสังคมจิตวิทยาของมวลชนท้องถิ่น ลักษณะทางวัฒนธรรม เจตคติ ความคิด ความเชื่อ และการจัดตั้งทางสังคม ตลอดจนถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่จำเป็นอื่นๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการจัดความสัมพันธ์ ระหว่างยุทธศาสตร์กับยุทธวิธี เพื่อให้ยุทธวิธีได้มีบทบาทที่ขึ้นต่อยุทธศาสตร์ และมีฐานะรับใช้ยุทธศาสตร์อย่างได้ผลต่างหาก
 
 ตัวอย่างเช่น หากเจ้าหน้าที่รัฐใช้ยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ยุทธวิธีก็ควรจะแบ่งเป็นสามหมวด คือ หมวดว่าด้วยการสร้างความเข้าใจ หมวดที่ว่าด้วยการเข้าถึงประชาชน และหมวดที่ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่  ยุทธวิธีแต่ละหมวดก็จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป เช่น หมวดการสร้างความเข้าใจ ก็จะมีกิจกรรมประเภทให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ การพบปะสร้างความเข้าใจทางตรง การจัดประชุม อบรม พัฒนายกระดับความรับรู้ของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ หมวดว่าด้วยการเข้าถึงก็จะมีกิจกรรมประเภทการปรับทุกข์ ผูกมิตร เช่น การเยี่ยมบ้าน การช่วยแก้ปัญหา การเปิดโอกาสและสร้างความหวัง การรับรู้สภาพความเป็นอยู่และร่วมยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาสของแต่ละคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหมวดที่ว่าด้วยการพัฒนา ก็จะมีกิจกรรมประเภทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ขุดลอกแม่น้ำลำคลอง พัฒนาอาชีพระดับครัวเรือน และชุมชน กิจกรรมแต่ละหมวดล้วนเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองบริบทของการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อีกนัยหนึ่งก็คือกิจกรรมทางยุทธวิธีดังกล่าว ล้วนขึ้นต่อยุทธศาสตร์และรับใช้ยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนานั่นเอง
 
          จะเห็นได้ว่าหากยุทธศาสตร์กับยุทธวิธีมีความสัมพันธ์กันไปในลักษณะดังกล่าว ภาวการณ์ที่ได้ชัยชนะทางยุทธศาสตร์ แต่พ่ายแพ้ทางยุทธวิธี หรือได้ชัยชนะทางยุทธวิธี แต่พ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ จะไม่มีทางเกิดขึ้นเช่นกัน
 
ประเด็นที่สอง คือ กระบวนการจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติให้สอดคล้องกับความรู้สึกเชิงบวกของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดทำมีความตั้งใจจริงและจริงใจในการแก้ปัญหา ที่แล้วมาการจัดทำนโยบายไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ ก็เพราะผู้รับผิดชอบใช้วิธี ตั้งธง หรือ กำหนดประเด็นหลักของนโยบายไว้ล่วงหน้า เวทีสาธารณะของภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมได้เพียงการเสนอแนะ เพิ่มเติมในส่วนย่อยๆ เท่านั้น ไม่ได้มีส่วนในการกำหนดประเด็นหลักการระดับพื้นฐานแต่อย่างใด
 
ที่สำคัญ กระบวนการจัดทำนโยบายความมั่นคงจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ของขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่ทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด การละเลยไม่ให้ความสำคัญจะยิ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การต่อต้านยังดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงหรือไม่ก็ตาม
 
          การผลักดันให้เกิดผลในทางการปฏิบัติโดยมวลชนหรือภาคประชาสังคมจึงไม่เข้มข้นตามความคาดหวังของภาครัฐเท่าใดนัก ทั้งนี้ การจะให้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ได้รับการขานรับจากประชาชนในพื้นที่ และให้พวกเขาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ กระบวนการจัดทำนโยบายต้องยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางในการกำหนดประเด็น และกำหนดวิธีการขับเคลื่อนด้วยตัวของเขาเอง จะดำเนินการดังกล่าวได้ เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องใจกว้าง และไว้วางใจประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ รัฐเป็นเพียงพี่เลี้ยงสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการและข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น
 
          หากทำได้ดังนี้ กระบวนการจัดทำนโยบายความมั่นคงฯ ฉบับใหม่ก็น่าจะประสบผลสำเร็จ และการมีส่วนร่วมของประชาชนก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
 
ประเด็นที่สาม คือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทของหน่วยงานต่างๆ
 
          เรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานต่างๆ  ก็เช่นเดียวกับงานยุทธศาสตร์ของหน่วยงานด้านความมั่นคง กระบวนการขับเคลื่อนโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งในภาคราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากงานตามแผนแม่บทไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเท่าที่ควร งานใดๆ ก็ไม่อาจขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จได้
 
          เพราะฉะนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมจะต้องทำอย่างจริงจังตั้งแต่แรกเริ่มให้ทุกฝ่ายได้ร่วมคิดร่วมวางแผน ร่วมกำหนดเป้าหมายและร่วมกำหนดภารกิจกันให้ชัดเจน การร่วมกันทั้งกระบวนตั้งแต่ต้นจนปลาย จะทำให้การขับเคลื่อนงานสามารถเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้

 

ความเห็นของ mamablues
 
ประเด็นคำถามของคุณมูฮำหมัดอายุบ น่าสนใจนะครับ เพราะเดิมที รัฐเน้นยุทธศาสตร์ทางการทหาร ผลคือสามารถกล่าวได้ในระดับหนึ่งว่า เอาชนะทางยุทธวิธีได้ สถิติการจับกุมเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อันสะท้อนถึงการพ่ายแพ้ในระดับยุทธศาสตร์
 
จนถึงในห้วงที่ผ่านมา ภายใต้นโยบายเสริมสร้างสันติสุขฯ ฝ่ายรัฐพยายามจะปรับยุทธศาสตร์มาสู่การ 'เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา' มากขึ้น เพื่อเอาชนะทางยุทธศาสตร์ให้ได้ ปรากฏว่า กรอบทิศทางของนโยบายนี้ที่เน้นการเมืองนำการทหาร และการอำนวยความยุติธรรม กลับไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยยุทธวิธีเดิม( ที่เน้นการทหาร และอาจเรียกได้ว่ามาตรการสายเหยี่ยว) รวมทั้งยุทธศาสตร์ของนโยบายนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา ทั้งยังเป็นเรื่องนามธรรมค่อนข้างมาก การจะวัดผลสำเร็จของมันต้องรอดูในระยะยาว พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นมาตรการแก้ปัญหาระยะยาวนั่นเอง เช่น เรื่องของการแก้ไขความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ การเปิดโอกาสทางการศึกษา การเคารพในอัตลักษณ์อันแตกต่าง ฯลฯ ดังนั้น ในขณะที่ผลลัพธ์ของยุทธศาสตร์ยังไม่บังเกิด จึงปรากฏให้เห็นว่า รัฐดูเหมือนจะพ่ายแพ้ทางยุทธวิธีเสียแล้ว
 
มาในวันนี้ รัฐกำลังจะจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นใหม่ โดยเน้นไปในเรื่องที่คุณมูฮำหมัดอายุบถามถึงนี่เลยครับ คือ การขับเคลื่อนและบริหารจัดการนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้ง เพิ่มหลักของการยึดเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าจะยึดเอาอำนาจรัฐเป็นตัวตั้ง ซึ่งในแง่นี้ ก็จะเป็นสิ่งที่สะท้อนทิศทางให้เห็นกว้างๆ แล้วว่า ภายใต้นโยบายฉบับใหม่ ในวันข้างหน้านั้น ประชาชนในแต่ละพื้นที่เอง ที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย ร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ซึ่ง ณ วันนี้ คงต้องบอกว่า นโยบายฉบับใหม่นี้ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น คือ ขั้นของการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ซึ่งในแง่นี้ คงต้องรบกวนคุณมูฮำหมัดอายุบ และทุกท่านเป็นอย่างมาก ในการแชร์ความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายกันตั้งแต่แรกเริ่ม ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ ผมเข้าใจข้อจำกัดของรัฐไทยว่า นโยบายมักจะผลิตจากส่วนกลาง (ผ่านการรับฟังความคิดเห็นในเวทีสัมมนาของโรงแรมในพื้นที่) แล้วท้องถิ่นก็จะมีส่วนร่วมก็เมื่อหลักคิดนโยบายมันผลิตออกมาแล้วเท่านั้น จึงมิได้เป็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในขณะที่การจะปรับเปลี่ยโครงสร้างรัฐโดยเปิดให้ท้องถิ่นสามารถมีอำนาจทางนโยบายมากขึ้น (หรือเรื่องของเขตปกครองพิเศษ) ก็ยังเป็นเรื่องที่หัวก้าวหน้ากว่าความคิดเจ้าหน้าที่และสังคมใหญ่ทุกวันนี้จะยอมรับฟัง ประเด็นนี้ คือข้อจำกัดที่อิหลักอิเหลื่ออยู่ในทุกววันนี้ อย่างไรก็ดี สำหรับนโยบายจชต. ฉบับนี้ ผมเข้าใจว่า ทางฝ่ายรัฐต้องการให้มันเป็นการมีส่วนร่วมตั้งแต่ในระดับแรก ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นนโยบายฉบับแรก ที่รัฐกับประชาชนเริ่มต้นร่วมกันจตั้งแต่ต้นทาง ครับ
 
ขอเริ่มจากประเด็นที่คุณตั้งถามทิ้งท้ายไว้ก่อนดีมั๊ยครับ ว่า ในทรรศนะของคุณมูฮำหมัดอายุบแล้ว คิดเห็นอย่างไร ? ใครควรจะเข้าร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทของหน่วยงานต่างๆ บ้าง ? 

 

อ่านงานเขียนเก่าของ Ayub