Skip to main content

http://www.tnamcot.com/wp-content/uploads/image/2016/06/16/16-6-2559-13-30-10.jpg 

-บทนำ-

(ปฐมเหตุ มิถุนายน 2259)

             ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2559 รัฐได้นำเสนอข่าวเรื่องนักศึกษาไทยมุสลิมต่างประเทศมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน  จากการนำเสนอในที่ประชุมของ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) โดย เลขา สมช. พลเอก ทวีป เนตรนิยม ได้กล่าวว่า “นักศึกษาไทยมุสลิมต่างประเทศมีแนวคิด แบ่งแยกดินแดนประมาณกว่า 100 คนจากจำนวน 4,000-5,000 คน โดยมากจะพบในอียิปต์และอินโดนีเซีย” ที่สำคัญกว่านั้น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม สมช. ได้กล่าวว่า “หลังจากนี้ทางภาครัฐจะพยายามสนับสนุนให้มุสลิมได้ไปเรียนต่างประเทศ นอกเหนือจากประเทศอียิปต์และอินโดนีเซีย” [1]

                 ในทางกลับกัน พันเอก พีรวัชณ์ แสงทอง โฆษกประจำ กอรมน. ได้ออกมาปฏิเสธคำพูดของ เลขา สมช. พลเอก ทวีป เนตรนิยม ได้กล่าวว่า “นักศึกษาไทยมุสลิมต่างประเทศมีแนวคิด แบ่งแยกดินแดนประมาณกว่า 100 คนจากจำนวน 4,000-5,000 คน โดยมากจะพบในอียิปต์และอินโดนีเซีย” ว่าคำพูดนั้นเป็นแค่คำพูดลอย ๆ และแนวคิดของคนบางกลุ่ม ในขณะที่ข้อมูลที่ได้รับ ยังไม่มีนักศึกษาที่มีแนวคิดส่อแววไปในทางดังกล่าว***[2]

              เมื่อเป็นเช่นนี้สามารถสรุปและชี้ให้พลเมืองเห็นได้ว่า “การทำงานของหน่วยงานรัฐยังไม่เกิดความเสถียร เพราะหน่วยงานของรัฐกลับให้ข้อมูลกันคนละแบบ ฝ่าย สมช.บอกว่ามีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน แต่ กอรมน.กลับมาปฏิเสธว่ายังไม่พบกลุ่มนักศึกษาที่มีแนวคิดดังกล่าว”[3]

                หนำซ้ำการสร้างข่าวดังกล่าวได้เกิดความหวาดระแวงสำหรับนักศึกษาไปทั่ว  โดยเฉพาะนักศึกษามุสลิมไทยต่างแดน  แม้ความวุ่นวายในประเทศกำลังดำเนินไปอย่างเป็นจังหวะ และรัฐต้องระแวงระวังความพลิกผลัยของความรุนแรงดังกล่าว กระนั้น “รัฐไม่ควรสร้างเงื่อนไขความรุนแรงเพิ่ม เพราะความวุ่นวายในรัฐในแต่ละวันตามสื่อ ก็มีเรื่องยุ่งยากมากพอที่รับมือเกือบจะไม่ไหวอยู่แล้ว กระนั้น รับก็ควรสอดส่องและระวัง ไม่ใช้ตั้งแง่จนกลายเป็นประเด็นและเงื่อนไขความรุนแรงอีกขั้นหนึ่ง”  

(มีนาคม: 3 เดือน ก่อนหน้า)

              เดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ศอบต. + สำนักจุฬา + คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย + คณะกรรมการอิสลามในแต่ละจังหวัด สนับสนุนให้นักศึกษา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสอบแข่งขันชิงทุนการศึกษาต่อ ณ ประเทศอียิปต์ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮารจำนวน 80 ทุน ซึ่งมีโรงเรียนผ่านการรับรองที่ทำ MOU กับมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร ประมาณ 97 โรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนส่งตัวแทนจำนวน 3 คนเพื่อมาสอบชิงทุน รวมทั้งสิ้น 291 คน[4]

               สำหรับประเทศอินโดนีเซีย ผู้อำนวยการ ศอบต. นายภาณุ อุทัยรัตน์ ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงจากาตาร์ เพิ่งได้รับการประสานงานเกี่ยวกับการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาไทยเพื่อไปศึกษาในสถานศึกษาสังกัดของ Muhammadiyyah จำนวน 13 แห่ง ซึ่งมีทุนการศึกษา ระดับปริญญาตรี ประมาณ 226 ทุน ในปี 2559[5]

                 เมื่อเป็นเช่นนี้สามารถสรุปและชี้ให้พลเมืองเห็นได้ว่า การทำงานของรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ และศอบต. ขาดการประสานงานกัน และเป็นการทำงาน ที่ ต่างคนต่างทำ ต่างคิด ต่างนำเสนอแนวทางของตัวเอง

“พุทธธรรม” ทางออกรัฐไทยในการบริหารประเทศ  

               ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของรัฐไทย ณ ตอนนี้เริ่มเข้าสู่วิกฤติอย่างหนัก สื่อทุกสำนักต่างมองในรูปแบบเดียวกัน การทำงานของรัฐเริ่มสื่อถึงความไร้เสถียรภาพ จนนักรัฐศาสตร์บางท่านได้วิเคราะห์ ว่า “ประเทศไทย ณ ตอนนี้ เป็นรัฐที่เสื่อมสมรรถภาพทางหลักนิติธรรมในการปกครอง” และยิ่งไปกว่านั้น เป็น “รัฐล้มเหลวในการจัดการความผาสุกของพลเมือง”

               เราสามารถสังเกตจากข่าวในแต่ละวันได้ว่า “รัฐไม่สามารถจัดการความสุขและความสงบให้กับพลเมืองได้ตามเจตจำนงของหลักปรัชญาการเมืองไม่ว่าจะเป็นตามปรัชญากรีก โรมัน เสรีนิยมอย่างอเมริกา หรือปรัชญาอิสลาม”

                  เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐไทยสมควรทบทวนตัวเองใหม่ รัฐเสื่อมรรถภาพอาจเป็นเพราะ รัฐไม่ได้ดำเนินนโยบายประเทศตามหลักพุทธธรรมและพุทธศาสนิกไม่ได้นำหลักพุทธธรรมมาใช้ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐจะไม่สามารถยกระดับตัวเองไปสู่วิถีแห่งพระพุทธเจ้าได้เลย ความุรนแรงและความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมจึงเกิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นในนามรัฐที่หลงใหลในอำนาจ  ด้วยเหตุนี้ กระบวนการตรวจสอบตัวเองนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

                 หลักปรัชญาพุทธ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้นำเสนอหลักธรรมว่าด้วย “การปลงสังขาร”หรือ “การเพิ่งพิจารณาธรรม” ด้วยการเพ่งพิเคราะห์ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ซึ่งไม่สามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้ แน่นอน ก็จะหยุดมัวเมาในความเป็นหนุ่ม  “การฉันทราคะในสิ่งที่รักฉันใด” หรือความกำหนดด้วยอำนาจความพอใจ ซึ่งจะสละได้เพราะพิจารณาว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เมื่อมีการปลงสังขารได้ก็จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น  เพราะเขาจะรู้สึกว่า มนุษย์กลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น นี่แหละคือ สิ่งเรียกว่า “ทางแห่งสันติ” คือ การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เราก็จะอยู่อย่างถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนั้น กิเลสทั้งหลายก็ไม่ได้อาหาร “อนุสัย” หรือ เครื่องหมักดองในสันดานทั้งหลายก็จะสิ้นไปโดยอัตโนมัติ[6]

              ด้วยเหตุนี้ การตรวจสอบตัวเองที่ดีที่สุดคือ “การนำหลักพุทธธรรมมาบริหารประเทศ” เพราะประเทศไทยมีพุทธศาสนิกกว่า 80 % ทางออกของความวุ่นวายในประเทศจะหมดลงได้ด้วยการนำหลักธรรมเข้ามาจัดการ เมื่อนั้น จะพบกับความสุขที่แท้จริง แน่นอน ความเจริญของรัฐก็จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

                "ให้ไม้บรรทัดของหลักศาสนาเป็นเครื่องตรวจสอบวิถีชีวิต รัฐก็ไม่ต่างกัน"

(ติดตามตอนที่ 2)

***หมายเหตุ***

ติดตามบทสัมภาษณ์ได้ ที่  https://www.youtube.com/watch?v=Amu59oC8_f4

 


[1] ทีมข่าวอิสรา. นศ. มุสลิมไทยใน ตปท. คิดแยกดินแดน เรื่องเก่าเล่าใหม่ สะท้อนดับไฟใต้เหลว. สำนักข่าวอิสรา. 18 มิถุนายน 2559 http://www.isranews.org/ เรื่องเด่น-สำนักข่าวอิสรา/item/47785-outer_47785.html

[2] ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์. กอ.รมอ. ยัน นศ. มุสลิมรับทุนเรียนนอก ไม่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน. ไทยรัฐออนไลน์. 17 มิถุนายน 2559  http://www.thairath.co.th/content/640946

[3] ทีมข่าวแนวหน้า. กอ.รมน. โต้เลขาฯ สมช. ไม่มีนศ. แบ่งแยกดินแดน. แนวหน้า. 18 มิถุนายน 2559. http://m.naewna.com/view/breakingnews/221282

[4]ดิอาลามี่. นักเรียนไทยมุสลิมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมสอบชิงทุนฯมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ประเทศอิยิปต์. The Alami. http://www.thealami.com/main/content.php?page=news&category=13&id=1540

[5] สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี. ศอ.บต.รับสมัครทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีขององค์กรศาสนาอินโดนีเซียสำหรับนักเรียนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้ปีการศึกษา 2559. สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี.  19 กุมภาพันธ์ 2559. http://psu10725.com/2558/?p=1827

[6] พุทธทาสภิกขุ. ธรรมะกับการเมือง. (กรุงเทพฯ: เพชรประกาย, 2549) หน้า 186-188.