Skip to main content

Original PATANI FoRUM  ทำไมคนตุรกีไม่เอารัฐประหาร ?

 

 
อาทิตย์ ทองอินทร์

เหตุการณ์การก่อกบฏต่อระบอบอัรดูฆอนโดยกลุ่มทหารส่วนหนึ่ง เกิดขึ้นในบริบทการเมืองที่อัรดูฆอนถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพสื่อ การดำเนินคดีเด็ก 13 ขวบที่วิจารณ์ประธานาธิบดี การปราบปรามผู้ชุมนุมจนทำให้เด็กวัย 14 ซึ่งเดินไปซื้ออาหารถูกลูกหลงเสียชีวิตและอัรดูฆอนออกมาบอกว่าเขาคือผู้ก่อการร้าย การเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของกลุ่ม LGBT ที่ต้องการให้รัฐบาลยอมรับการมีอยู่ของพวกเขา การแต่งตั้งผู้พิพากษาเนื่องจากเขาเห็นว่าฝ่ายตุลาการเดิมมีใจโน้มเอียงไปทางเฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้นำทางศาสนาที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในสหรัฐ [2] ทั้งนี้ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของอัรดูฆอนถูกถาโถมอย่างหนักเกี่ยวกับข้อหาทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง-เจ้าหน้าที่ระดับสูง แต่อัรดูฆอนมองว่าเป็นเกมเลื่อยขาเก้าอี้ที่ “เครือข่ายกูเลน” ซึ่งสถิตอยู่ในกลไกรัฐส่วนต่างๆ ใช้บ่อนทำลายเขาโดยสมคบคิดกับ “นานาชาติ (?)” อัรดูฆอนเชื่อว่าเครือข่ายกูเลนเหล่านี้นำมาซึ่งโครงสร้าง “รัฐซ้อนรัฐ” ในตุรกี และนั่นคือสิ่งที่ต้องกำจัด นั่นนำไปสู่การโยกย้ายอัยการ 20 คน และการปลดตำรวจ 350 คนที่มีส่วนกับการทำคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง[3] และล้างด้วยการนำคนที่ภักดีต่อตนเองใส่เข้าไปในตำแหน่งสำคัญๆ ของกลไกรัฐส่วนต่างๆ[4]   

ดังนั้น นอกจากภาพของเกมช่วงชิงอำนาจระหว่าง “สองขบวนการอิสลาม” ที่ดุลแห่งสัมพันธภาพทางอำนาจและแนวคิดไม่ลงรอยกันแล้ว[5] กระแสเชิงลบในย่อหน้าข้างต้น คือ “ข้อควรล้มล้าง” ระบอบอัรดูฆอน ซึ่งเป็นเงื่อนไขเพียงพอที่จะทำรัฐประหารสำเร็จในประเทศประชาธิปไตยเปราะบางแตกหักง่ายหลายแห่งในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา .. แต่โจทย์ที่น่าสนใจคือ .. ทำไมคนตุรกีไม่เอาด้วย?

ถ้าพิจารณา Timeline ของเหตุการณ์ก่อกบฏอย่างละเอียด[6] จะพบว่า ในช่วงเริ่มต้นการก่อกบฏของกลุ่มทหารดูมีทีท่าจะเป็นต่อกว่าฝ่ายรัฐบาลอยู่พอสมควรและไต่ระดับขึ้นถึงจุดได้เปรียบที่สุด ในช่วงที่ยึดสถานีโทรทัศน์ TRT ของรัฐเอาไว้ได้ พร้อมทั้งตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต อย่างน้อยในอังคาราและอิสตันบูล  แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเหตุการณ์ อยู่ที่การ facetime ของอัรดูฆอนผ่านมือถือ และฉายไปทั่วประเทศในทีวีช่อง CNN Turk ภายหลังการเริ่มต้นก่อกบฏได้เพียง 1 ชั่วโมง เนื้อหาหลักคือ เขาเรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลังต่อต้านการก่อกบฏให้เต็มท้องถนน และการสื่อสารของเขาสำเร็จ ประชาชนจำนวนมากพากันออกมาตามท้องถนน และชุมนุมเผชิญหน้ากับทหารตามจุดสำคัญๆ เช่น จัตุรัสทักซิม

ประชาชนออกมาเผชิญหน้ากับทหาร บริเวณจตุรัสทักซิม l ภาพ OZAN KOSE/AFP 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลังประชาชนส่วนใหญ่ที่ออกมาต่อต้านการก่อกบฏนั้นเป็นมวลชนฝ่ายอัรดูรฆอนเป็นแกนหลัก เพราะนอกจากพวกที่ออกบ้านมาด้วยเหตุนี้แล้ว ก็มีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งออกบ้านมาเพียงเพื่อกดเงินจาก ATM ด้วยหวั่นเกรงความไม่แน่นอน โดยไม่ได้ไปชุมนุมด้วยเช่นเดียวกัน จริงอยู่ที่ย่อมมีมวลชนที่ออกมาต่อต้านการก่อกบฏเพราะปฏิเสธการแทรกแซงการเมืองของกองทัพ แต่หากพิจารณาเฉพาะจากมุมของกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลพรรคอัค ผู้เขียนมองว่า แม้การออกมาต่อต้านของพลังประชาชนจะเป็นไปด้วยกลิ่นอายประชาธิปไตย หากแต่แรงขับเคลื่อนเบื้องลึก คือสิ่งที่เรียกว่า “ชาตินิยมมวลชน” (mass nationalism) มากกว่า

ชาตินิยมมวลชน คือ สำนึกความเป็นชาติที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการประกอบสร้างอัตลักษณ์ตัวตน ตลอดจนการประดิษฐ์รูปแบบและตัวตนของรัฐ ดังนั้น เราจะเข้าใจการเมืองตุรกีได้ในอีกแบบหนึ่งหากมองจากการเมืองอัตลักษณ์ ที่ปัจจุบัน การสนับสนุนพรรคอัคและอัรดูฆอนอย่างมากมาย เป็นผลสำคัญจากการที่พรรคอัคและอัรดูฆอนเป็นภาพตัวแทนที่จับต้องได้และสะท้อนมากที่สุดถึงตัวตนคนชาติเติร์กในอุดมคติภายใต้บริบทยุคสมัยใหม่ ซึ่งมีกลิ่นอายทางศาสนาเพิ่มขึ้นและมีพลังส่งมาจากแรงบันดาลใจของประวัติศาสตร์มากขึ้น อันเป็นจุดศูนย์ดุลใหม่ในการระบุตำแหน่งแห่งที่ในเวทีโลกให้กับคนชาติตุรกี การตอบสนองเชิงบวกของสังคมต่อนโยบาย ‘นีโอออตโตมาน’ ตลอดจนการสื่อสารสาธารณะโดยเกาะอยู่กับ ‘ภาษาทางศาสนา’ บ่อยครั้งของอัรดูฆอน เป็นหลักฐานอย่างดีให้กับข้อวิเคราะห์ดังกล่าว

"ในแง่นี้ การออกมาปกป้องอัรดูฆอนสำหรับมวลชนฝ่ายรัฐบาลจึงไม่ได้เป็นเรื่องขี้ข้าปกป้องนาย  หรือความรักบูชาตัวบุคคลอย่างไร้เหตุผลดังที่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยในประเทศโลกที่สามบางประเทศค่อนขอด หากแต่การออกมาปกป้องอัรดูฆอนมีความหมายเท่ากับการปกป้องส่วนหนึ่งของตัวตนพวกเขาเอง ปกป้องผู้เป็นตัวแทนที่พวกเขาให้กำเนิดผ่านการลงกันคนละเสียง และเป็นการปกป้องเงื่อนไขแห่งสำนึกว่า “ชาติเป็นของพวกเขา” ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การจะอยู่หรือไปของรัฐบาลจึงต้องขึ้นอยู่กับคนทั้งชาติ และชะตากรรมของ “รัฐชาติ” ต้องอยู่ที่พวกเขาเป็นคนกำหนด "    

ประชาชนออกมาโบกธงชาติรอการออกมาแถลงของประธานาธิบดีอัรดูฆอน ภายหลังที่รัฐบาลควบคุมสถาการณ์รัฐประหารไว้ได้ lภาพ Murad Sezer/Reuters

อย่างไรก็ตาม ข้อติดขัดในเชิงทฤษฎีมีอยู่ว่า ชาตินิยมมวลชนในที่นี้ไม่เสมอไปว่าจะสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพราะหลายครั้ง การกีดกันและเบียดขับอะไรที่ ‘เป็นอื่น’ ไปจากตัวตนชาติของพวกเขาก็เป็นรูปแบบการทำงานหนึ่งของชาตินิยมเช่นกัน ดังนั้น มวลชนที่ออกมาสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านกบฏโดยทหารนั้น อาจสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าของเหล่านั้นไปด้วยกันได้ตามความเป็นชาติในแบบพวกเขาหรือเปล่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่แม้ในช่วงรัฐบาลอัรดูฆอนจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน คุกคามเสรีภาพสื่อ แทรกแซงกระบวนยุติธรรม กดทับสิทธิเพศที่สาม และเพิกเฉยต่อสิทธิเสียงส่วนน้อยในหลายครั้ง แต่มวลชนก็ยังคงสนับสนุนอัรดูฆอนและพรรคอัคอย่างมากมาย การลุกฮือของประชาชนในกรณีนี้จึงมีความอิหลักอิเหลื่อในการนิยามที่ไม่อาจโรแมนติไซส์ได้ว่าเป็นคลื่นพลังของผู้รักในประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์  

พูดอย่างง่าย คือ พวกมากเหล่านี้อาจจะลากไปในทางที่ดีหรือทางที่เสื่อมก็ได้ แต่กระนั้น ชาตินิยมที่ให้ที่ทางและราคากับผู้คนธรรมดา ให้พวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของชาติ ก็เป็นกระบวนการสำคัญที่เกื้อหนุนให้ประชาชนรู้สึกภาคภูมิ มั่นใจในตนเอง และกล้าที่จะรับผิดชอบผืนแผ่นดินที่ตนอาศัยอยู่ ไม่ใช่เอาแต่กล่าวโทษโยนขี้ให้คนอื่น หรืออัตลักษณ์อื่นเวลาเกิดสิ่งผิดพลาดขึ้นในสังคม สิ่งที่เป็นความหวังว่าอาจตามมาจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคมแบบนี้ คือ ประชาชนที่บรรลุวุฒิภาวะทางการเมือง เมื่อเกิดปัญหาพวกเขาจะไม่งอมืองอเท้าร้องไห้งอแงรอให้มีใครมาโปรด แต่พวกเขาจะกล้าเผชิญปัญหาด้วยตนเอง โดยเชื่อในพลังเปลี่ยนแปลงของคนธรรมดา

"สังคมการเมืองแบบนี้อาจเบียดขับ กดทับ ไม่สมบูรณ์แบบ และหลายครั้งผู้คนต้องลองผิดลองถูก แต่สังคมการเมืองแบบนี้มีโอกาสก้าวไปสู่ทางอารยะมากกว่าสังคมการเมืองที่แขวนทุกอย่างไว้ที่กลุ่มผู้นำเดี่ยวที่มี(ภาพลักษณ์ว่ามี)ศีลธรรม โดยผู้คนที่เหลือถูกตัดออกจากกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง"    

.....   

นอกจากการมองในมุมของมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลแล้ว หากเราพิจารณาท่าทีและบทบาทของ “ขั้วตรงข้าม”ทางการเมืองของอัรดูฆอนในเหตุการณ์นี้ ก็จะเห็นประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม เริ่มจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งสามพรรคที่พากันออกมาประกาศจุดยืนต่อต้านการก่อกบฏของทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรค Halkların Demokratik Partisi (HDP) หรือ Peoples' Democratic Party อันเป็นพรรคแนวฝ่ายซ้ายและสนับสนุนชาตินิยมเคิร์ด (ซึ่งแน่นอนว่าไม่น่าจะไปด้วยกันได้กับชาตินิยมมวลชนตุรกีโดยภาพรวม) ก็ออกตัวผ่านทวิตเตอร์หลังจากเหตุการณ์ก่อกบฏเริ่มต้นเพียง 3 ชั่วโมงว่า “ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ไม่สามารถมีใครคนใดคนหนึ่งสวมรอยตนเองเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนได้ พรรค HDP ต่อต้านการก่อรัฐประหารทุกรูปแบบ ในทุกสถานการณ์”[7] การที่พรรคฝ่ายค้านซึ่งด่าทอต่อสู้กับรัฐบาลอย่างถึงพริกถึงขิง และไม่เคยชนะเลือกตั้งเหนือพรรคอัคมายาวนาน แต่เลือกที่จะยืนข้างอัรดูฆอนสะท้อนให้เห็นการผูกพันตนเองอยู่ในกรอบกติการ่วมเดียวกัน ซึ่งนี่คือเงื่อนไขสำคัญสำหรับการจะธำรงไว้ซึ่งระเบียบของสังคมการเมือง

บนสะพานบอสฟอรัสทหารกำลังผลักดันกันขึ้นรถบัสเพื่อหลบหนีฝูงชนภายหลังที่ฝ่ายก่อการรัฐประหารยอมจำนน l ภาพ เว็บไซต์ Aljazeera By Murad Sezer/Reuters

อย่างไรก็ตาม ข้อติดขัดในเชิงทฤษฎีมีอยู่ว่า ชาตินิยมมวลชนในที่นี้ไม่เสมอไปว่าจะสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพราะหลายครั้ง การกีดกันและเบียดขับอะไรที่ ‘เป็นอื่น’ ไปจากตัวตนชาติของพวกเขาก็เป็นรูปแบบการทำงานหนึ่งของชาตินิยมเช่นกัน ดังนั้น มวลชนที่ออกมาสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านกบฏโดยทหารนั้น อาจสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าของเหล่านั้นไปด้วยกันได้ตามความเป็นชาติในแบบพวกเขาหรือเปล่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่แม้ในช่วงรัฐบาลอัรดูฆอนจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน คุกคามเสรีภาพสื่อ แทรกแซงกระบวนยุติธรรม กดทับสิทธิเพศที่สาม และเพิกเฉยต่อสิทธิเสียงส่วนน้อยในหลายครั้ง แต่มวลชนก็ยังคงสนับสนุนอัรดูฆอนและพรรคอัคอย่างมากมาย การลุกฮือของประชาชนในกรณีนี้จึงมีความอิหลักอิเหลื่อในการนิยามที่ไม่อาจโรแมนติไซส์ได้ว่าเป็นคลื่นพลังของผู้รักในประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์  

พูดอย่างง่าย คือ พวกมากเหล่านี้อาจจะลากไปในทางที่ดีหรือทางที่เสื่อมก็ได้ แต่กระนั้น ชาตินิยมที่ให้ที่ทางและราคากับผู้คนธรรมดา ให้พวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของชาติ ก็เป็นกระบวนการสำคัญที่เกื้อหนุนให้ประชาชนรู้สึกภาคภูมิ มั่นใจในตนเอง และกล้าที่จะรับผิดชอบผืนแผ่นดินที่ตนอาศัยอยู่ ไม่ใช่เอาแต่กล่าวโทษโยนขี้ให้คนอื่น หรืออัตลักษณ์อื่นเวลาเกิดสิ่งผิดพลาดขึ้นในสังคม สิ่งที่เป็นความหวังว่าอาจตามมาจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคมแบบนี้ คือ ประชาชนที่บรรลุวุฒิภาวะทางการเมือง เมื่อเกิดปัญหาพวกเขาจะไม่งอมืองอเท้าร้องไห้งอแงรอให้มีใครมาโปรด แต่พวกเขาจะกล้าเผชิญปัญหาด้วยตนเอง โดยเชื่อในพลังเปลี่ยนแปลงของคนธรรมดา

"สังคมการเมืองแบบนี้อาจเบียดขับ กดทับ ไม่สมบูรณ์แบบ และหลายครั้งผู้คนต้องลองผิดลองถูก แต่สังคมการเมืองแบบนี้มีโอกาสก้าวไปสู่ทางอารยะมากกว่าสังคมการเมืองที่แขวนทุกอย่างไว้ที่กลุ่มผู้นำเดี่ยวที่มี(ภาพลักษณ์ว่ามี)ศีลธรรม โดยผู้คนที่เหลือถูกตัดออกจากกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง"    

.....   

นอกจากการมองในมุมของมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลแล้ว หากเราพิจารณาท่าทีและบทบาทของ “ขั้วตรงข้าม”ทางการเมืองของอัรดูฆอนในเหตุการณ์นี้ ก็จะเห็นประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม เริ่มจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งสามพรรคที่พากันออกมาประกาศจุดยืนต่อต้านการก่อกบฏของทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรค Halkların Demokratik Partisi (HDP) หรือ Peoples' Democratic Party อันเป็นพรรคแนวฝ่ายซ้ายและสนับสนุนชาตินิยมเคิร์ด (ซึ่งแน่นอนว่าไม่น่าจะไปด้วยกันได้กับชาตินิยมมวลชนตุรกีโดยภาพรวม) ก็ออกตัวผ่านทวิตเตอร์หลังจากเหตุการณ์ก่อกบฏเริ่มต้นเพียง 3 ชั่วโมงว่า “ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ไม่สามารถมีใครคนใดคนหนึ่งสวมรอยตนเองเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนได้ พรรค HDP ต่อต้านการก่อรัฐประหารทุกรูปแบบ ในทุกสถานการณ์”[7] การที่พรรคฝ่ายค้านซึ่งด่าทอต่อสู้กับรัฐบาลอย่างถึงพริกถึงขิง และไม่เคยชนะเลือกตั้งเหนือพรรคอัคมายาวนาน แต่เลือกที่จะยืนข้างอัรดูฆอนสะท้อนให้เห็นการผูกพันตนเองอยู่ในกรอบกติการ่วมเดียวกัน ซึ่งนี่คือเงื่อนไขสำคัญสำหรับการจะธำรงไว้ซึ่งระเบียบของสังคมการเมือง

จริงอยู่ที่หลายคนประเมินความเป็นไปได้ว่า ท่าทีของพรรคฝ่ายค้านเหล่านั้นอาจไม่ใช่เพราะพวกเขารักประชาธิปไตยอย่างไร้เดียงสาเท่านั้น หากแต่เป็นผลมาจากการหยั่ง ‘ทิศทางลม’ แล้วเห็นว่ากลุ่มกบฏน่าจะพ่ายแพ้ในท้ายที่สุด กระนั้นก็ดี ผู้เขียนมองว่า แม้บรรดาพรรคฝ่ายค้านอาจเล็งเห็นภาพข้างต้น แต่ตัวแปรที่น่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขามากกว่า คือ ความเสี่ยงที่อาจต้องงัดกับกระแสพลังประชาชนในภายภาคหน้า และการเรียนรู้อดีตว่าระบอบที่ตามมาหลังรัฐประหารจะสร้างความเลวร้ายมากกว่าระบอบอัรดูฆอนที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้หลายเท่าตัวนัก โจทย์ของอัรดูฆอนที่ควรตอบแทนท่าทีของพรรคเหล่านี้ (ไม่ว่าพวกเขาจะตัดสินใจด้วยเหตุผลใดก็ตาม) คือ การทำให้ระบบและช่องทางการเมืองแบบปกติยังเปิดกว้างในระดับที่มากพอจะมอบความหวังให้กับกลุ่มการเมืองต่างๆ ได้ และไม่สร้างสภาวะทางตันที่อาจบีบผลักให้บางกลุ่มการเมืองเลือกไปเล่นเกมนอกระบบ    

ในส่วนของสื่อมวลชน เราเห็นปรากฏการณ์ที่สถานีโทรทัศน์อย่างบีบีซีนิวส์ตุรกี ลุกขึ้นสู้ขัดขืนการพยายามเข้ามาตัดสัญญาณของกลุ่มทหารกบฏ และในช่วงเริ่มแรกการก่อกบฏที่สถานีของรัฐอย่าง TRT โดนยึดเอาไว้ การ facetime ของอัรดูฆอนอันเป็นจุดพลิกสถานการณ์ สามารถเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการที่ CNN Turk ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่ถูกกับรัฐบาล ยอมเปิดพื้นที่และเอามือถือที่อัรดูฆอน facetime นั้น ขึ้นจอโทรทัศน์ให้ ในข้อนี้เราจะเห็นว่า แม้อัรดูฆอนจะขึ้นชื่อเรื่องคุกคามสื่อและใช้สื่อเป็นเครื่องมือบริหารภาพลักษณ์อย่างเก่งกาจ แต่สื่อมวลชนรายใหญ่ก็ไม่เบนความขัดแย้งดังกล่าวไปสู่ความเกลียดชังที่ยอมใช้ทุกวิถีทางเพียงเพื่อกำจัดอัรดูฆอน การที่สื่อมวลชนเผชิญหน้ากับอัรดูฆอนและการให้พื้นที่กับเขา ทั้งสองบทบาทนี้ล้วนเป็นไปภายใต้หลักการปกป้องเสรีภาพสื่ออย่างเท่าๆ กัน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ต้องคารวะให้กับความแน่วแน่ในจรรยาบรรณวิชาชีพของพวกเขา

            ....

หากอัรดูฆอนและรัฐบาลแถลงว่า เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้เป็นเรื่องที่ต้องบันทึกในประวัติศาสตร์เพื่อย้ำเตือนไม่ให้เกิด “การทรยศขึ้นอีก” ประวัติศาสตร์ตุรกีหน้านี้ก็ต้องบันทึกไว้เช่นเดียวกันว่าการที่วิกฤติของระบอบผ่านพ้นไปได้ รัฐบาลและอัรดูฆอนเป็นหนี้ประชาชนทุกฝ่าย ทั้งที่เลือกและไม่ได้เลือกเขา ทั้งที่นโยบายของเขาตอบสนองและที่นโยบายของเขาทำร้ายคุกคาม ประวัติศาสตร์จะต้องบันทึกเพื่อฝากข้อระลึกว่า อัรดูฆอนต้องเคารพประชาชนของตนเองให้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมา แม้คะแนนนิยมอัรดูฆอนจะมาก แต่คนที่ไม่ชอบเขาก็ไม่น้อยเช่นกัน สภาวะแบบนี้ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงที่เป็นไปได้ว่าจะแยกออกเป็นสองขั้วได้ในอนาคต หากไม่มีการถอดบทเรียนอันละเมียดพอ

           

       [1] หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์  วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม  มหาวิทยาลัยรังสิต.

[2] “ทหารตุรกี "สภาสันติภาพ" ทำรัฐประหาร สั่งเคอร์ฟิว ปิดสนามบิน ปิดช่องแคบเชื่อมเอเชีย-ยุโรป” , ใน ประชาไท. http://prachatai.org/journal/2016/07/66911.

[3] “ฉาวอีก! รบ.ตุรกีประกาศ “ปลด” ตำรวจ 350 คน ภายในคืนเดียว”, ใน ผู้จัดการออนไลน์. http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000002247 และ; “ตุรกี “โยก” 20 อัยการที่สอบสวนทุจริต “รับสินบน” จนท.รัฐบาลระดับสูง”, ใน ผู้จัดการออนไลน์. http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000006233.

[4] “Military coup attempted in Turkey against Erdogan government”, in The Guardian. https://www.theguardian.com/world/2016/jul/15/turkey-coup-attempt-milita....

[5] ศราวุฒิ อารีย์. “สองสายธารแห่งขบวนการอิสลามในตุรกี : วิถีมุสลิมโลก” , ใน คม ชัด ลึก. http://www.komchadluek.net/news/politic/175701.

[6] สามารถดูได้ใน http://www.mirror.co.uk/news/world-news/turkey-coup-live-updates-explosi....

[7] https://twitter.com/HDPenglish/status/754105954849976320.

หมายเหตุ : ภาพประกอบภาพแรกจาก เว็บไซต์ Aljazeera By Murad Sezer/Reuters