Skip to main content

เป็นภาพที่คงไม่มีให้เห็นบ่อยนัก เมื่อผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญของโลกเดินทางเยือนประเทศไทยพร้อมๆ กันถึง 2 คนเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

หนึ่งก็คือ ดร.มูฮัมหมัด ซาอิด ฏอนฏอวี ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ กับอีกหนึ่งคือ .ดร.อับดุลเลาะห์ บิน อับดุลเราะฮมาน อัลตุรกี เลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือว่ามีนัยยะอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเดินทางเยือนในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังประสบมรสุมอันหนักหน่วงจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แม้ด้านหนึ่งจะเป็นที่รู้กันว่า การเชิญบุคคลทั้งสองมาเยือนประเทศไทย สร้างภาพบวกให้กับรัฐบาลเป็นอย่างสูงในยุทธศาสตร์ "สองแนวรบ" ที่อธิบายโดย พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในอันที่จะเพิ่ม "แต้มต่อ" ของรัฐไทยในแนวรบด้านต่างประเทศ เพื่อบีบให้กลุ่มก่อความไม่สงบเหลือทางเลือกเพียงหนึ่งเดียว คือ การใช้ความรุนแรงในแนวรบภายในประเทศเท่านั้น

         อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเรื่องของเรื่องจะมีเบื้องหลังเช่นไร แต่กระแสธารความคิดที่ไหลผ่านวาทะของผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญระดับนี้ย่อมน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะสารจาก ดร.มูฮัมหมัด ซาอิด ฏอนฏอวี ผู้ที่อุทิศตนเพื่อวงการการศึกษาอิสลามอย่างอุตสาหะ ทำให้มีลูกศิษย์มากมายทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "นักปราชญ์และผู้นำศาสนาอิสลามที่ได้รับการยอมรับระดับสากล" (Grand Sheikh of Al Azhar ) ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน

ดร.มูฮัมหมัด ซาอิด ฏอนฏอวี กล่าวในการปาฐกถาหลังจากรับมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอิสลามศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า การสานเสวนาเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างความเข้าใจ...ประชาชาติหนึ่งซึ่งสมาชิกอาศัยอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกัน ประชาชาตินั้นต้องมีความรักและสานความผูกพันกันให้แข็งแรงเหมือนอิฐที่ก่อขึ้นเพื่อยึดตัวอาคาร

          ดร.ฏอนฏอวี ยังได้ยกตัวอย่างประเทศอียิปต์ที่มีประชากร 73 ล้านคน เป็นชาวมุสลิมร้อยละ 90 ส่วนที่เหลือร้อยละ 10 เป็นชาวคริสต์ แต่ทุกศาสนิกล้วนมีสิทธิและหน้าที่เหมือนกัน ต้องจ่ายภาษีเท่ากัน ชายอายุครบ 18 ปีต้องเป็นทหารเหมือนกัน ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนา ไม่มีการบีบบังคับ เพราะการบังคับสะท้อนถึงการไร้ซึ่งความศรัทธา

นอกจากนี้ ในอียิปต์ยังมีการพบปะปรึกษาหารือกันระหว่างผู้นำศาสนิก เพื่อวางแผน พัฒนา แก้ปัญหาร่วมกัน เพราะทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอียิปต์ จะส่งผลกับทุกศาสนาด้วย

          "ปัจจุบันเราอยู่ในยุคของวิทยาการ ประชาชาติใดที่มีการเผยแพร่ด้านวิชาความรู้ ก็จะมีความเจริญก้าวหน้า แต่ความรู้ที่ว่าต้องหมายถึงความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ซึ่งผู้ที่เข้าถึงความรู้เหล่านี้จะได้พบความสุขภายใต้ร่มเงาของพระเจ้า"

"ความรู้ที่ข้าพเจ้าต้องการเห็น แบ่งเป็น 3 ส่วน คือความรู้ที่จะก่อให้เกิดความสามัคคี ความรัก และความร่วมมือกัน เพราะความรู้ที่ตั้งอยู่บนหลักการแห่งความแตกแยกนั้น ความโง่เขลายังประเสริฐกว่า อิสลามจึงยืนยันหลายครั้งที่จะไม่สนับสนุนการใช้ความรู้ที่ไม่สร้างสรรค์ การบ่อนทำลาย และการสร้างอคติ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้มีการทำความเข้าใจกัน เปิดใจรับฟังเรื่องราวซึ่งกันและกัน มีการรอมชอมเมื่อเกิดความแตกต่างด้านความคิด เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์  มีการแสวงหาสันติภาพด้วยมารยาทที่ดีงาม"

          "ความแตกต่างไม่ใช่เงื่อนไขของความขัดแย้ง ทุกศาสนาล้วนเห็นพ้องกันว่า แท้จริงแล้ว มารยาท การประนีประนอม การปรึกษาหารือ เป็นแนวทางที่สมบูรณ์ที่จะสร้างความสงบสุข ความมั่นคง ส่วนแนวทางอื่นอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ความเข้าใจผิด อคติ และสู่หายนะ"

          "ข้าพเจ้าขอนำความปรารถนาดีจากมหาวิทยาลัย Al-Azhar ประชาชน และรัฐบาลอียิปต์ สู่ท่านทั้งหลาย มหาวิทยาลัย Al-Azhar มีความผูกพันทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 90 ปี มีนักศึกษาจากประเทศไทยศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย Al-Azhar จำนวนมาก"

ดร.ฏอนฏอวี ยังกล่าวถึงมหาวิทยาลัย Al-Azhar ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่อายุกว่า 1,000 ปี ว่า มีพันธกิจในการจัดการศึกษาบนพื้นฐานของการสร้างวิถีชีวิตสายกลางแก่มุสลิมและประชาชาติ ไม่เห็นด้วยกับลัทธินิยมความรุนแรง การรบ การเหยียดผิว และการขับไล่ผู้อื่นจากถิ่นฐาน  

นอกจากการสอนศาสตร์ในสาขาต่างๆ มากมายจนนับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งเดียวในโลกที่มีการสอนศาสตร์ต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว มหาวิทยาลัย Al-Azhar ยังได้สอนนักศึกษาให้ยึดถือในสัจธรรมตามหลักพระคำภีร์อัลกุรอาน ที่ว่ามนุษย์ถูกสร้างมาจากพ่อ แม่เดียวกัน และกระจายเผ่าพันธุ์เพื่อจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน

และแท้จริงแล้ว ความแตกต่างและแตกแยกเรื่องอุดมการณ์และความศรัทธานั้น เป็นเรื่องที่ศาสนาไม่เห็นด้วย ไม่มีการบังคับใดๆ ในวิถีศรัทธาของศาสนิกต่างๆ

 

(ดร.มูฮัมหมัด ซาอิด ฏอนฏอวี)

 

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้