Skip to main content

 

"บัดชา ข่าน" ทหารที่ไม่ใช้ความรุนแรงของอิสลาม

 

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี

สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่

 

 

Eknath Easwaran ผู้เขียนหนังสือ “ทหารที่ไม่ใช้ความรุนแรงของอิสลาม” (Nonviolent Soldier of Islam) เป็นศาสตราจารย์ทางด้านวรรณคดีอังกฤษ แห่ง University of Nagpur ประเทศอินเดีย และในปี 1959 เคยไปสอนที่ University of California at Berkley ด้วยความที่่ท่านได้มีโอกาสพบปะพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับทั้งมหาตมะ คานธี และบัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) ท่านจึงเชื่อมั่นว่า บัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) คือ ผู้ที่เป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ในสิ่งที่คานธีเสนอแนวคิดว่าด้วย "การไม่ใช้ความรุนแรงของผู้กล้า"

ท่านได้เกริ่นนำในหนังสือเล่มนี้ด้วยการจั่วหัวข้อ “การไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อศตวรรษที่ 21” โดยหยิบยกคำพูดของบัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) ที่กล่าวไว้ในปี 1983 ว่า

“โลกเราทุกวันนี้จะอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้จากการผลิตอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากมายมหาศาล ก็ด้วยการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น หากโลกเรายังคงต้องการสืบสานมนุษยชาติและอารยธรรมกันต่อไปแล้วไซร้จะต้องหันกลับมาสู่คำสอนในเรื่องความรักและสันติภาพของคานธีมากยิ่งกว่าในอดีตกาล”

Eknath Easwaran ละเลงในบทเกริ่นนำของท่านต่อไปว่า บัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) เป็นผู้เสนอทางออกให้โลกในศตวรรษที่ 21 ท่านเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา (อิสลาม) และเป็นแฟนพันธุ์แท้ในการทุ่มเทร่วมต่อสู้เคียงข้างกับมหาตมะ คานธี ในการเป็นนักต่อสู้ด้วยมือเปล่าเพื่อสิทธิเสรีภาพให้กับคนของท่านอย่างแท้จริงตลอดระยะเวลา 80 ปี โดยไม่เคยจับอาวุธ

ในปี 1985 บัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “โลกเราปัจจุบันกำลังเดินไปในทิศทางที่แปลกประหลาด ท่านเห็นไหมว่าโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่การทำลายล้างและใช้ความรุนแรง ซึ่งการใช้ความรุนแรงนั้นมันจะมีลักษณะพิเศษก็คือ สร้างความเกลียดกลัวขึ้นในหมู่ผู้คน ฉันเป็นคนที่เชื่อในการไม่ใช้ความรุนแรง และฉันขอบอกว่า สันติภาพและความสงบสุขจะเกิดขึ้นกับผู้คนไม่ได้เลยหากเรายังนิยมการใช้ความรุนแรง เนื่องจากการไม่ใช่ความรุนแรงมันคือความรัก และมันสร้างความกล้าหาญให้กับผู้คน”

บัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) เกิดในปี 1890 ในครอบครัวชนชั้นสูงมุสลิมในเมืองชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียในเขตการปกครองของอังกฤษขณะนั้น (หรือประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ท่านได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนของมิชันนารีอังกฤษชื่อ Edward’s Mission School ท่านเป็นคนรักเรียนและมองเห็นความสำคัญของบทบาทการศึกษาเพื่อการพัฒนาผู้คนและสังคม

ดังนั้น ในปี 1910 ซึ่งท่านมีอายุแค่ 20 ปี จึงได้ตั้งโรงเรียนขึ้นในมัสยิดในบ้านเกิดของท่าน เพื่อให้ความรู้แก่ชาวปัชตุน (ปาทาน) ที่ด้อยโอกาสการศึกษาในหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกล

ในปี 1919 ท่านได้นำผู้คนประท้วงกฎของชาวอังกฤษจึงถูกจับคุมขังข้อหา สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายเป็นเวลา 3 ปี จนร่างกายท่านเกือบรับไม่ไหวจากการถูกทรมานอยู่ในคุก

หลังจากออกคุก ท่านได้ทุ่มเทอุทิศตนเองด้านการศึกษาเพื่อปฏิรูปและยกระดับวิถีชีวิตของชาวปัชตุนให้พ้นจากความยากจนและความไม่รู้หนังสือ ซึ่งกล่าวกันว่าท่านเดินทางไปยังหมู่บ้านชาวปัชตุนในที่ต่างๆ ถึง 1,000 หมู่บ้านในช่วงระยะเวลา 10 ปี

ด้วยความที่ท่านเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดและเข้าใจอิสลามอย่างลึกซึ้งถึงแก่น จึงทำให้ท่านได้เรียนรู้และหล่อหลอมยึดมั่นในแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงจากคำสอนอิสลาม ท่านกล่าวว่า

“ศาสนาของฉันคือสัจธรรม ความรัก และการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและมวลมนุษย์ ทุกศาสนาที่มีมาในโลกนี้ต่างนำสารแห่งความรักและความเป็นพี่น้องกัน ผู้ใดที่ไม่สนใจใยดีในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ผู้ที่หัวใจปราศจากความรัก แสดงว่าพวกเขาไม่รู้ความหมายของคำว่าศาสนา”

และท่านยังกล่าวอีกว่า

“มันไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดในหมู่คนมุสลิมหรือคนปาทานอย่างฉันที่จะใช้หลักแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิต ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มันเป็นการเจริญรอยตามแนวทางของท่านนบีมุฮัมหมัดมาเป็นเวลากว่าหนึ่งพันสี่ร้อยปีแล้ว”