Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

 
 

           สถานการณ์เผาโรงเรียนและทำร้ายครูจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง  ทำให้โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงหลายแห่ง ต้องตัดสินใจปิดสถานที่และย้ายครู-นักเรียนมาทำการสอนรวมกับโรงเรียนอื่น โดยหวังจะช่วยลดการสูญเสีย และแก้ปัญหาการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ไม่ทั่วถึงได้

นายมุสตาฟา วาโด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาเจาะ อ.บันนังสตา จะ.ยะลา กล่าวว่า ขณะนี้ครูและนักเรียนบ้านบาเจาะได้ย้ายมาทำการเรียนการสอนรวมกันอยู่กับโรงเรียนบันนังสตา ซึ่งอยู่ในตัวอำเภอ ซึ่งห่างจากโรงเรียนบ้านบาเจาะ ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยภายหลังจากการโรงเรียนมาอยู่รวมกับโรงเรียนแห่งใหม่พบว่า มีนักเรียนกลับเข้ามาศึกษามากกว่าเดิม จากเดิมที่โรงเรียนบาเจาะในช่วงที่มีเหตุการณ์จะมีนักเรียนเข้ามาเรียนเพียง 100 คนแต่เมื่อย้ายเข้าอยู่ที่โรงเรียนบันนังสตา ก็มีนักเรียนกลับเข้ามาเรียนเพิ่มเป็น 200 คน

          ตั้งแต่เปิดภาคการเรียนเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โรงเรียนบ้านบาเจาะ และโรงเรียนบ้านสาคู ยังไม่ได้เปิดการเรียนการสอน เนื่องจากครูและผู้ปกครองไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ความรุนแรง ทั้งนี้นับแต่โรงเรียนถูกกลุ่มผู้ก่อการ บุกเข้าเผาอาคารเรียนต่อหน้าครูและนักเรียน เมื่อปลายเดือนพ.ย.ปีที่ผ่านมา และมีการบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ ร. 2511 ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านบาเจาะ พร้อมๆ กับการบุกเผาและโจมตีเจ้าหน้าที่อีก 15 แห่งเมื่อคืนใน จ.ยะลา วันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา

นายมุสตาฟา กล่าวต่อว่า ความหวาดกลัวยังคงปกคลุมอยู่ในความรู้สึกของทั้งครูและนักเรียน เนื่องจากโรงเรียนบ้านบาเจาะเคยถูกเผาโรงเรียนเป็นกลางวันแสกๆ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มครูซึ่งเป็นไทยพุทธ เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งต้องจากพื้นที่ทำให้ต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปหมดด้วยความหวาดกลัว

"กลุ่มครูเรายังไม่ถูกข่มขู่โดยตรงแต่ถูกข่มขู่มาแบบรวมๆ กันทั้งอำเภอ แต่ก็ยังพอจะอยู่กันได้ ก็พยายามที่จะแก้ปัญหาโดยเอาคนในพื้นที่หรือครูที่เคยอยู่ในบังนังสตา ให้มาช่วยราชการในพื้นแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูมุสลิม" นายมุสตาฟา กล่าวและว่า

กลุ่มที่ปฏิบัติการเป็นใครมาจากไหนนั้น ตนไม่สามารถระบุได้ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่พอจะสังเกตได้ว่าแม้แต่กลุ่มผู้นำท้องถิ่นเองก็ไม่กล้าที่จะมาส่งบุตรหลานมาโรงเรียน รวมถึงไม่กล้าที่จะรับส่งลูกหลานคนภายในชุมชนเดียวกัน

นายมุสตาฟา กล่าวอีกว่า ทางหน่วยงานราชการโดยเฉพาะทางกระทรวงศึกษาธิการก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่ทั้งงานด้านนโยบายและงบประมาณ โดยตนเห็นว่าการจัดพื้นที่โดยรวมโรงเรียนในพื้นที่อันตรายเข้ามาไว้ด้วยกันเป็นเรื่องที่ช่วยผ่อนความหวาดกลัวของครูลงไปได้มากเพราะเจ้าหน้าที่สามารถดูแลความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง เพียงแต่ผู้ปกครองอาจจะประสบปัญหาความลำบากในการส่งเด็กนักเรียนเข้ามาโรงเรียนซึ่งทำให้ต้องเดินทางไกลขึ้น

ด้าน นายสมาน ยีมะยี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสุเป๊ะ อ.รือเสาะ จ.ยะลา กล่าวว่า ภายหลังจากที่โรงเรียนบ้านสุเป๊ะถูกเผาจนต้องทำการหยุดการสอนไป 1 วัน อย่างไรก็ดี วันนี้มีนักเรียนกลับเข้าเรียนตามปกติโดยนักเรียนจำนวน 233 คนยังคงมาเรียน ขณะที่ผู้ปกครองก็ได้เดินทางมารับส่งบุตรหลานตามปกติ ส่วนอาคารที่ที่ถูกเผาทำลายไปนั้น ขณะนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการสร้างอาคารใหม่แล้ว แต่ก็ต้องรอเวลากว่า 2 ปี จนกว่าจะสร้างเสร็จ

ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือการย้ายครูและนักเรียนมาตั้งเป็นอาคารชั่วคราวในโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ซึ่งเป็นโรงเรียนในระดับมัธยมในพื้นที่ โดยสถานที่ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านสุเป๊ะประมาณ 1 กิโลเมตร ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านสุเป๊ะ เป็นโรงเรียน 1 ใน 8 แห่งที่ถูกเผาในช่วงเปิดภาคการศึกษานี้ โดยถูกลอบเผาถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ทำให้อาคารเรียน 3 หลังเสียหายทั้งหมด

ผ.อ.โรงเรียนบ้านสุเป๊ะ กล่าวว่า การเดินทางของนักเรียนในพื้นที่ไปยังโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ ได้มีการจัดรถรับส่งนักเรียนซึ่งทำกันอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว และทาง อบต.ก็สนับสนุนเรื่องค่าน้ำมันอยู่ตลอด

"ขณะนี้ความหวาดกลัวในบรรดาหมู่ครูและนักเรียนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังคงมีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่าครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบข่มขู่ ขณะที่การรวมโรงเรียนเข้ากับโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ทำให้มีเพื่อนครูอีกหลายคน ซึ่งช่วยสร้างความอุ่นใจได้บ้างแม้ว่าจะยังมีความหวาดกลัวอยู่ก็ตาม"  

นายชัยวัฒน์ สุเมธาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนยาแลเบาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนได้ย้ายครูและนักเรียนทั้งหมดไปทำการสอนที่โรงเรียนบ้านยาบะ ในเขตเทศบาลอำเภอรือเสาะ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนยาแลเบาะประมาณ 3-4 กิโลเมตร ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้การย้ายสถานที่เรียนเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างทางโรงเรียนและผู้ปกครองเด็ก เนื่องจากไม่มีใครกล้ารับประกันความปลอดภัยได้

ผอ.รร.ยาแลเบาะ เล่าย้อนให้ฟังว่า วันเกิดเหตุเป็นวันที่ 3 ธันวาคม 2549 คนร้ายได้ลอบเข้ามาเผาอาคารเรียนจนไฟไหม้หมดทั้งหลัง โดยรถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาทำการดับไฟได้ ขณะชาวบ้านในระแวงใกล้เคียงก็ไม่มีใครกล้าออกมาช่วยดับไฟ ทั้งนี้เนื่องจากคนร้ายได้ยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าจำนวนหลายนัด

"โรงเรียนถูกไฟเผาได้รับความเสียหายทั้งหมด ไม่คุ้มกับการที่จะสร้างใหม่ อีกทั้งก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะไม่ถูกเผาอีก เทียบค่าใช้จ่ายกับการจ้างรถรับ-ส่งเด็กเข้าไปเรียนในตัวเมืองถือว่าถูกกว่ามาก ประเด็นสำคัญ คือ ก็ไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยของครูหากจะทำการสอนอยู่ในพื้นที่ต่อไป ขณะที่โรงเรียนที่ถูกเผาจำเป็นต้องปล่อยทิ้งร้างไว้ เนื่องจากทางกระทรวงก็ไม่อนุญาตให้สร้างใหม่ด้วย"

ผอ.รร.ยาแลเบาะ อธิบายว่า การย้ายสถานที่การเรียนการสอนไปอยู่ร่วมกับโรงเรียนอื่น ไม่ได้เป็นการยุบโรงเรียน โดยเจ้าหน้าที่ครูและนักเรียนยังคงสังกัดอยู่ในชื่อโรงเรียนเดิม เพียงแต่ไปใช้ทรัพยากรร่วมกัน เรียกว่า "บูรณาการเรียนร่วม"  ซึ่งตนเห็นว่ามีข้อดีหลายประการ ทั้งในเรี่องการดูแลความปลอดภัย, ขวัญกำลังใจครูนักเรียน และประสิทธิภาพในการเรียนการสอน 

นอกจากนี้ แนวทาง "บูรณาการเรียนร่วม"ยังสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการจะให้มีโรงเรียนประจำตำบล "หนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียน" ด้วย

นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า เมื่อมาเรียนร่วมกันในเขตตัวเมืองเทศบาล ทำให้ปัจจัยสภาพแวดล้อมต่างๆ เอื้อต่อการเรียนของเด็กๆ มากขึ้น เด็กนักเรียนไม่ต้องมามัวคิดถึงเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อเจอเพื่อนเยอะขึ้นก็จะสนุกสนาน ทำให้การเรียนเป็นไปอย่างมีความสุข เทียบกับเมื่อก่อนตอนที่สอนอยู่ในพื้นที่ ยอมรับว่า มีเด็กบางคนมีพฤติกรรมอคติ แสดงอาการแอนตี้ครูอยู่เหมือนกัน ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร

สำหรับข้อเสียของการย้ายออกมานอกพื้นที่ก็มีอยู่บ้าง อย่างเช่น กรณีนักเรียนกว่า 5-10 % ไม่สามารถตามไปเรียนในสถานที่แห่งใหม่ได้ ซึ่งนายชัยวัฒน์เองก็ไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เนื่องจากได้จัดรถเข้าไปรับส่งจากในที่โรงเรียนเดิม และยังใช้คนในพื้นที่ซึ่งเป็นมุสลิมเข้าไปรับด้วย และทั้งนี้ หากเป็นในสถานการณ์ปกติ ทางโรงเรียนก็สามารถเข้าไปตามตัวเด็กนักเรียนถึงที่บ้าน ให้กลับมาเรียนตามเดิมได้ แต่ปัจจุบันก็ไม่มีใครกล้าเข้าไป แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานอื่นๆ ก็ไม่มีใครกล้าเข้า จะมีก็แต่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปลาดตระเวนเป็นครั้งคราวเท่านั้น

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง คือ ตั้งแต่เปิดภาคเรียนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา การขาดเรียนของเด็กในแต่ละวัน มีอัตราที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางโรงเรียนก็ทำได้แค่บันทึกรายงานประจำวัน ไม่รู้จะดำเนินการอย่างไร ในขณะที่เจ้าหน้าที่ศึกษานิเทศ ก็ไม่ได้ลงมาแนะนำหรือให้คำปรึกษาใดใดมากว่า 3 ปีแล้ว" นายชัยวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองส่วนใหญ่กว่า 90% ยังยินดีที่จะให้เด็กๆ ย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่จัดให้ ซึ่งมีความปลอดภัยกว่า และเด็กไม่ต้องเสียสมาธิไปกับการปิดๆ เปิดๆ ของโรงเรียนเนื่องจากเหตุความไม่สงบ

"ปัญหาที่น่าเป็นหนักใจที่สุด คือ ภาวะจิตใจของครูในพื้นที่ ทุกคนเครียดกันหมด รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง งบประมาณก็สนับสนุนไม่เพียงพอ อย่างเช่นค่าใช้จ่ายในการจ้างรถตู้เข้าไปรับส่งนักเรียน ซึ่งจะต้องจ่ายเป็นรายวัน แต่งบประมาณตั้งเบิกต้องรอ มันเป็นขั้นตอนราชการ ทำให้ทางโรงเรียนต้องหาเงินมาหมุน มันทำให้ยิ่งอ่อนใจ จนครูจำนวนมากขอย้ายออกนอกพื้นที่ไปช่วยราชการที่อื่นกันเกือบหมดแล้ว ทีนี้ครูที่ยังเหลืออยู่ก็ยิ่งลำบาก"นายชัยวัฒน์กล่าว

ด้าน นายสิทธิชัย วรรณจิตจรูญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านละหาน  อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ตั้งแต่เปิดภาคเรียนเป็นต้นมา ทางโรงเรียนได้ย้ายนักเรียนจำนวน 203 คนออกมาสอนกันนอกพื้นที่ที่วิทยาลัยการอาชีพ ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเทศบาล ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ เนื่องจากครูไทยพุทธไม่กล้าเดินทางไปสอนที่โรงเรียน ซึ่งขณะนี้ครูไทยพุทธของโรงเรียนบ้านละหานและครูในพื้นที่อื่นๆ ของอำเภอได้ย้ายมาอยู่รวมกันที่ ศูนย์ประสานงานหลักที่อยู่ในเขตเทศบาล อ.รือเสาะกันหมดแล้วและไม่ได้เดินทางกลับไปสอนที่โรงเรียนกันมานานหลายสัปดาห์แล้ว

ผอ.โรงเรียนบ้านละหานเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ ม. 5 ต.ละหานเองก็เป็นพื้นที่สีแดง โรงเรียนบ้านละหานถูกเผา 2 ครั้งเมื่อต้นปี ครั้งแรกเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ อีกครั้งก็ วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา เท่าที่ตนทราบ ราษฎรซึ่งเป็นผู้ปกครองของนักเรียนก็มีท่าทีปฏิเสธอำนาจรัฐ กรณีการนำนักเรียนออกมาทำการเรียนการสอนนอกพื้นที่ ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็นัดนักเรียนที่โรงเรียนเดิมแล้วนำรถไปรับ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังให้บุตรหลานมาเรียนหนังสือ

นายสิทธิชัยบอกว่าขวัญและกำลังใจของครูทั้งใน อ.รือเสาะและทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้แทบจะสูญสิ้น นอกจากครูถูกคุกคามเอาชีวิตจนแทบจะทุกวัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสองครูสาวที่ อ.ศรีสาครได้บั่นทอนกำลังใจของครูทุกคนแทบไม่เหลือ เพราะแม้จะสอนกันอยู่ในโรงเรียนก็ยังไม่มีความปลอดภัย

ผอ.โรงเรียนบ้านละหานแสดงความเห็นด้วยที่จะนำรูปแบบการรวมพื้นที่กันสอน ในลักษณะของโรงเรียนในอำเภอใดอำเภอหนึ่งจะรวมกันอยู่ที่เดียว หรือหากพื้นที่กว้างใหญ่เกินไปการเดินทางใช้เวลานาน ก็ใช้เขตเทศบาลตำบลของที่ใดที่หนึ่งเป็นจุดศูนย์รวม แต่หากจะให้แบ่งพื้นที่เป็นตำบลทุกตำบล ก็จะเป็นลักษณะเดิมที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เพราะครูก็จะต้องยังเดินทาง กำลังของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่เข้าไปรักษาความปลอดภัยก็ไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นต้องรวมกันที่เดียว เพื่อไม่ให้ครูต้องเดินทางอีก

กรณีที่ครูไม่กล้าเดินทางไปสอนที่โรงเรียน นายสิทธิชัยกล่าวว่า ทางคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ก็เข้าใจและแสดงความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว พร้อมได้กำชับให้ครูทุกคนรักษาชีวิตของตนเองให้ปลอดภัยก่อน แต่พยายามอย่าให้กระทบกับการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดขณะนี้คือการรวมพื้นที่เพื่อทำการสอน แต่ต้องเร่งกระทำกันอย่างเร่งด่วน

"ความเข้าใจของผมคือการที่โรงเรียนถูกเผา ครูต้องออกนอกพื้นที่ มันเท่ากับว่า งานเขาสำเร็จแล้วครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคือ จะทำอย่างไรไม่ให้มีการเรียนการสอนในพื้นที่อีกต่อไป ผลกระทบตรงนี้เกิดขึ้นกับครูเต็มๆ ทั้งที่ครูอยู่ตรงกลาง เป็นตัวแทนรัฐที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรเลย ตรงนี้เราจะหาทางออกกันอย่างไร" ผ.อ.โรงเรียนบ้านละหานตั้งคำถามทิ้งท้าย