Skip to main content
ดวงยิหวา อุตรสินธุ์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 

อีกไม่กี่วัน…ก็จะครบรอบ 41 ปีของการประท้วงของประชาชนนับแสนที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่มีผลกำหนดชะตากรรมต่อระยะที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในการประท้วงที่ยาวนานของประเทศไทย เพราะกินเวลาทั้งสิ้น 45 วัน (ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม ปี 2518 จนถึงวันที่ 24 มกราคม 2519)

หากแต่ว่า...ทำไมถึงไม่ได้รับการกล่าวถึงเท่าที่ควร?​ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์การประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีปะทุขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับการต่อสู้ของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แต่ทำไมถึงไม่มีการกล่าวขานหรือให้ความสำคัญของการต่อสู้ของคนในพื้นที่สามจังหวัด?​​ แล้วเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีสำคัญอย่างไร?​

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 2518 (ซ้าย) และฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2518 (ขวา)

เหตุการณ์การประท้วงเริ่มจากการที่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้รวมตัวกันชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล สืบเนื่องมาจากการที่นายทหารนาวิกโยธินจำนวนหกนายได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้านรวมทั้งสิ้นห้าศพก่อนโยนทิ้งตรงสะพานกอตอลงแม่น้ำสายบุรีในคืนวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2518 จุดที่เกิดเหตุเป็นเขตรอยต่อระหว่างอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี กับอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เรื่องทั้งหมดคงจะเงียบหายไปหากไม่เป็นเพราะเด็กชายซือแม บราเซะ ในวัยเพียงสิบห้าปี กลับรอดชีวิตจากการฆาตกรรมหมู่ในคืนวันนั้นราวปาฏิหาริย์ เด็กชายซือแมกัดฟันลากตัวเองขึ้นฝั่ง ออกมาตีแผ่การกระทำที่ไร้ความเป็นธรรมและความเหี้ยมโหดของเจ้าหน้าที่รัฐให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้

หลังจากที่เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานีได้เพียงแค่สองวัน เกิดเหตุโยนระเบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุมประท้วงในช่วงเวลาประมาณหนึ่งทุ่มของคืนวันที่ 13 ธันวาคม 2518 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสิบสองคน และบาดเจ็บอีกนับสามสิบคน มีประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้การว่าตำรวจเป็นผู้ที่โยนระเบิดเข้ามาในที่ชุมนุม[1] นำมาซึ่งความเจ็บปวดต่อผู้คนที่ประสบเหตุการณ์ความสูญเสียในการชุมนุมในวันนั้น คาดว่าผู้โยนระเบิดอาจมีความตั้งใจที่จะสร้างความหวาดกลัวให้ผู้ชุมนุมประท้วงจนแตกสลายการชุมนุมกันไปเอง หากแต่ผลกลับปรากฏเป็นไปในทิศตรงกันข้าม ชาวบ้านกลับยิ่งมารวมตัวในการชุมนุมประท้วงกันมากขึ้นจนถึงวันที่มีผู้ชุมนุมประท้วงมากที่สุดที่คาดว่าถึงแสนคน การชุมนุมยืดเยื้อออกไป จนวันที่ 24 มกราคม 2519 ได้มีการตกลงยุติการชุมนุมอย่างเป็นทางการระหว่างกลุ่มผู้พิทักษ์ประชาชนกับนายปรีดา พัฒนถาบุตร ตัวแทนรัฐบาลในการเจรจาในขณะนั้น

การประท้วงครั้งใหญ่ที่ปัตตานีในปี 2518 นับได้ว่าเป็นจุดการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มมีการพัฒนาความมีส่วนร่วมมือทางการเมืองของประชาชน (political participation) ชาวบ้านกล้าที่จะออกมาร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ ซึ่งโดยปกติแล้วชาวบ้านค่อนข้างกลัวที่จะแสดงออกทางการเมืองเนื่องเพราะเจ้าหน้าที่รัฐในอดีตกดขี่ข่มเหงรังแกชาวบ้าน ยิ่งโดยเฉพาะชาวบ้านมลายูมุสลิมที่พูดภาษาไทยไม่คล่องนักมักจะถูกกลั่นแกล้งรังแกได้ง่าย

ที่มา: ฐานข้อมูลจดหมายเหตุจังหวัดปัตตานี (บน) และบทความ Looking through Photographs in the Same 'Shadow of History' (ล่าง)

นอกจากนี้การประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีในยุคนั้นยังถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่ทำให้นักการเมืองทั้งกลุ่มวาดะห์และนักการเมืองฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ถือกำเนิดขึ้นมาจนมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญจนถึงยุคปัจจุบัน และเป็นช่วงที่นักพูดฝีปากกล้าและผู้นำในการประท้วงถูกเจ้าหน้าที่รัฐไล่ตามเก็บทั้งระหว่างปราศรัยและหลังจากที่การประท้วงสิ้นสุดลง จนเป็นเหตุให้หลายคนต้องระเห็จหนีเข้าป่า

การประท้วงที่ปัตตานีสามารถลากยาวได้เป็นระยะเวลาถึง 45 วัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเป็นการประท้วงในช่วงระยะที่มีรัฐบาลพลเรือนมีอำนาจ บวกกับการที่นายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชไม่ได้เป็นฝ่ายคุมเสียงข้างมากในสภา และถูกสถานการณ์การเมืองฟากอินโดจีนบีบคั้น จึงขาดเสถียรภาพทางการเมืองเท่าที่ควร รัฐบาลช่วงนั้นกลายเป็นช่วงที่เรียกได้ว่าเป็น weak state ซึ่งถ้าเทียบกับเหตุการณ์สิบสี่ตุลาและหกตุลา ถือเป็นการเกิดการปะทุขึ้นช่วงที่รัฐบาลทหารเรืองอำนาจ จึงทำให้การปราบปรามผู้ประท้วงนั้นหนักกว่าเหตุการณ์ประท้วงที่ปัตตานี 2518

อีกเหตุผลหนึ่งที่การประท้วงที่ปัตตานีเป็นไปได้อย่างยาวนานจนได้ผลการตกลงที่เป็นที่พึงพอใจระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลก็เพราะทางฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงมีการจัดการการชุมนุมประท้วงอย่างมีประสิทธิภาพ มีการร่วมมือกันระหว่างองค์กรทั้งในพื้นที่อย่างศูนย์พิทักษ์ประชาชน นักศึกษามอ.ปัตตานีนับหกสิบคน กลุ่มข้าราชการมุสลิม และองค์กรนอกพื้นที่อย่างชมรมมุสลิมสยามที่กรุงเทพ มีเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยยุคนั้นเข้าร่วมในการประท้วงที่ปัตตานี รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้นที่ต่างก็มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือในการจัดการการชุมนุมเรียกร้องให้เป็นไปอย่างสงบ

องค์กรศูนย์พิทักษ์ประชาชน ซึ่งเป็นการร่วมกันจัดตั้งโดยกลุ่มนักศึกษามุสลิมสลาตัน ผู้นำศาสนา  ครูบาอาจารย์ ผู้นำชุมชน ผู้สื่อข่าวและผู้จัดรายการวิทยุระดับท้องถิ่น แพทย์ ต่างร่วมมือกันทำงานอย่างแข็งขัน มีการแจกจ่ายภาระงานความรับผิดชอบให้แต่ละคนในการจัดการการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบ มีการจัดตั้งเวทีปราศรัย รวมถึงการอ่านอัลกุรอาน มีการละเล่นการแสดงเพื่อไม่ให้ผู้ร่วมชุมนุมเบื่อหน่าย และมีการแลกเปลี่ยนอภิปรายปัญหาการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ชาวบ้านผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับข้อมูลข่าวสารบ้านเมือง[2] การปราศรัยใช้ทั้งภาษาไทยและมลายูสลับกัน จนเป็นเหตุให้ พล.ท. สัณห์ จิตรปฏิมา แม่ทัพภาคที่สี่ในขณะนั้นให้ความเห็นว่า “การเปิดอภิปราย มีการพูดทั้งภาษาไทยและมลายู มีความมุ่งหมายยั่วยุให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล”[3]

ที่มา: หนังสือ ปัญหาความขัดแย้งในสี่จังหวัดภาคใต้

หากย้อนกลับขึ้นไปคำนึงถึงคำถามที่ได้ตั้งไว้ในตอนต้นของบทความนี้ เหตุผลแรกอาจเป็นเพราะว่าการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองหลวงอย่างเหตุการณ์สิบสี่ตุลา[4] หรือหกตุลา และมีความรุนแรงน้อยกว่าทั้งสองเหตุการณ์​ การประท้วงที่ปัตตานีปี 2518 จึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แม้ว่าจะมีการนำเสนอผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐและเดลินิวส์อย่างใกล้ชิดทุกวันนับตั้งแต่วันที่เริ่มมีการร่วมชุมนุม

เหตุผลข้อที่สอง การที่ผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจทางการเมืองในยุคนั้นเช่น พล.อ. กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม หรืออย่าง พ.ต.ท. บุญเลิศ เลิศปรีชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ล้วนให้สัมภาษณ์ว่าการประท้วงใหญ่ที่มัสยิดกลางปัตตานีได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายผู้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ​ อยุธยา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ในระยะแรกเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อมาได้มีการถือสาเหตุนี้เป็นการเรียกร้องแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเรายอมไม่ได้ ทั้งนี้มีผู้ใช้กรณีที่มีคนตายเรียกร้องขึ้นมา”[5] มีการกล่าวหาประชาชนผู้เข้าร่วมประท้วงอย่างไม่มีมูล กล่าวหาว่าผู้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเป็นผู้จัดตั้งการประท้วงครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของประชาชนผู้ร่วมชุมนุม และ ถือเป็นการดูถูกศรัทธาอันแรงกล้าของประชาชนในพื้นที่ที่อยากจะมีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะที่ ดร.อารงค์ สุธาศาสน์ ผู้เข้าร่วมสังเกตุการณ์ประท้วงในครั้งนั้นได้ตั้งข้อสังเกตุว่า “การประท้วงครั้งนี้นับว่าเป็นบทบาทของประชาชนอย่างแท้จริง”[6] ดร.อารงค์กล่าวว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นการประท้วงที่ชาวบ้านระดับรากหญ้าที่ยอมเดินทางมาจากหมู่บ้านที่ห่างไกลเพื่อมาร่วมชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม ชาวบ้านเหล่านี้แม้จะมีความรู้เรื่องทางการเมืองค่อนข้างน้อย แต่เขาก็เริ่มที่จะเข้าใจสิทธิ์ทางการเมืองและเริ่มเรียนรู้ความเป็นไปและข่าวสารทางการเมืองมากขึ้นในระหว่างการชุมนุม[7]

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่า ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดอย่างไรเสียก็ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสันติ และเกือบทุกครั้งที่รัฐและคนของรัฐมักเป็นฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงกำราบประชาชนให้ขลาดกลัวที่จะลุกขึ้นมาตั้งข้อสงสัยในการทำงานของรัฐ

ตราบใดที่รัฐบาลยังคงทัศนคติเดิม ๆ เหมารวมว่าความต้องการความเป็นธรรมของประชาชนคือสิ่งเดียวกันกับความต้องการที่จะแบ่งแยกดินแดน กล่าวคือ...ไม่มีศักยภาพในการที่จะสามารถจำแนกแยกแยะตัวแปรทั้งสองให้แยกจากกันได้นั้น เมื่อนั้นความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ก็จะยังคงยืดเยื้อดำเนินต่อไป

จึงอยากกระซิบบอกว่า...เหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดไม่ได้มีเพียงแต่การเกิดเหตุที่กรือเซะกับการชุมนุมที่ตากใบในปี 2547 เหตุการณ์การต่อสู้โดยประชาชนระดับประเทศก็ไม่ได้มีเพียงแค่เหตุการณ์สิบสี่ตุลา 16 และหกตุลา 19

คนที่ร่วมต่อสู้หน้าพื้นที่มัสยิดกลางปัตตานีในวันนั้นยังคงจำเหตุการณ์ได้ดี เฉกเช่นนี้แล้ว...พวกเราก็ไม่ควรลืมว่ามีการประท้วงใหญ่ที่มัสยิดกลางปัตตานีในปี 2518

ไม่อยากให้ลืมว่าครั้งหนึ่ง ชนกลุ่มน้อยชาวมลายูมุสลิมได้กล้าที่จะลุกขึ้นมารวมตัวกันเกือบเรือนแสนเพื่อชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐไทย ไม่อยากให้ลืมว่าครั้งหนึ่งมีการประท้วงโดยประชาชนที่มารวมตัวกันจากทุกภาคส่วนซึ่งเป็นการประท้วงรัฐบาลอย่างสันติ เป็นความต้องการที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมโดยประชาชนเพื่อประชาชน ไม่ใช่เป็นความต้องการที่จะแบ่งแยกดินแดนอย่างที่รัฐมักกล่าวหายามที่ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ขอมีส่วนร่วมทางการเมือง

และที่สำคัญ...ไม่อยากให้ชาวมลายูมุสลิมเองต้องลืมว่าความสามัคคีและความเป็นเอกภาพนั้นคืออาวุธทางการเมืองที่สำคัญที่สุดที่จะใช้ในการต่อรองกับผู้มีอำนาจเหนือกว่าได้อย่างสันติ

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 ธันวาคม 2559 และเพิ่มเติมภาพประกอบโดยกองบรรณาธิการฯ

ที่่มา: โพสต์ของ Najib Bin Ahmad (ซ้าย) เว็บไซต์ของ P4 (กลาง) และโพสต์ของ TUNAS Online (ขวา)



[1] ไทยรัฐ วันพฤหัสบดี ที่ 18 ธันวาคม 2518 หน้าที่ 16

[2] อารง สุทธาศาสน์ ปัญหาความขัดแย้งในสี่จังหวัดภาคใต้ หน้า 49

[3] ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2518 หน้า 16

[4] เหตุการณ์ช่วงสิบสี่ตุลามีการประท้วงรัฐบาลโดยนักศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส แต่ศูนย์กลางการชุมนุมประท้วงหลักตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ จากหนังสือขบวนการประชาชนตุลาคม 2516

[5] ไทยรัฐ วันอังคาร ที่ 16 ธันวาคม 2518 หน้า 16

[6] อารง สุทธาศาสน์ ปัญหาความขัดแย้งในสี่จังหวัดภาคใต้ หน้า 35

[7] อารง สุทธาศาสน์ ปัญหาความขัดแย้งในสี่จังหวัดภาคใต้ หน้า 49