ฟุตบอลหญิง เพศสภาพและพฤติกรรมในการสื่อสาร: อีกครั้ง
——
ขณะที่เรามักได้ยินคำเรียกร้องจากสาธารณะต่อสื่อเสมอมาว่าต้องไม่เสนอเรื่องราวสร้างความเกลียดชัง แต่ในโลกโซเชียลที่พวกเราทุกคนมีพื้นที่สื่อกับสาธารณะนั้น ผู้คนดูจะไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองพูด
เราใช้โซเชียลตำหนิวิจารณ์ผู้คนจนเป็นเรื่องปกติ ในแง่หนึ่งโซเชียลมันดีเพราะมันเป็นพื้นที่ให้สิทธิให้เสียงกับคนตัวเล็ก คนที่ถูกกดทับคนที่อยากให้สังคมได้ยินเสียงพวกเขา
แต่เรื่องการแสดงออกแบบนี้นั้นมันมีเส้นแบ่งที่เบาบางอย่างยิ่ง ระหว่างการเป็นผู้เรียกร้องสิทธิเพราะถูกละเมิด กับการที่เราจะไปละเมิดคนอื่น
วาจาของคนทำร้ายกันได้ มันเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจนป่านนี้จะยังมีคนด่าสื่อในกรุงเทพฯที่ใช้พาดหัวว่า “โจรใต้” อยู่ละหรือ
ผู้เขียนเข้าออกร้านหนังสือบูคูบ่อย บางครั้งเห็นน้องๆกลุ่มที่เล่นฟุตบอลผู้หญิงกลุ่มที่กำลังตกเป็นเป้าการตำหนิอย่างเผ็ดร้อนกลุ่มนี้แหละเขาล้อมวงพูดคุยกัน แม้ไม่ได้เข้าร่วมและไม่รู้เนื้อหา แต่สิ่งที่เห็นก็คือพวกเขาก็นั่งคุยกันในร้านนั่นเอง
ร้านหนังสือบูคูนั้นเขาเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้าไปใช้เพื่อพูดคุยกันได้ แม้แต่เวทีที่เสวนาเรื่องปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนจชต.หลายหนก็จัดกันที่นี่ หนังสือที่เขียนโดยคนในพื้นที่ที่ถูกจับตาจากจนท.ก็เปิดตัวที่นี่ ร้านบูคูเป็นที่ถกเถียงเสวนาเรื่องทำนองนี้หลายหนจนเจ้าของร้านก็เคยเจอทหารตบเท้าไปเยี่ยมเพื่อกดดันช่วงหนึ่ง ยังจำกันได้หรือไม่
น้องๆกลุ่มผู้หญิงที่เล่นฟุตบอลก็นั่งคุยกันในร้านนั่นเองและอย่างเปิดเผย ไม่ได้ไปทำอะไรในที่ “ลับตา” สังคมอย่างที่มีคนไปโพสต์ให้ดูกำกวมและน่ารังเกียจ
ส่วนเรื่องเนื้อหา ก็ควรจะรับฟังจากคนที่เขาจัดว่าเขาคุยอะไรกัน แต่มันจะเป็นการชักชวนคนให้เข้าร่วมเป็น “พวกรักร่วมเพศ เกย์ กระเทย ตุ้ด” อย่างที่โพสต์กล่าวหากันจริงหรือเปล่านั้น บอกตรงๆว่าผู้เขียนยังสงสัย
ในช่วงหนึ่งของชีวิต ผู้เขียนเคยอยู่อังกฤษเกือบยี่สิบปี อยากเล่าว่า ในดินแดน “ตะวันตก” และ “เสรีนิยมสุดโต่ง” อย่างที่ว่ากันนั้น ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะมีคนมาชวนให้เปลี่ยนไปรักเพศเดียวกัน
คนกลุ่มเดียวที่มา “เชิญชวน” ให้ลองของใหม่ก็คือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า God’s Army กองทัพของพระเจ้า บางคนมาเคาะประตูบ้านคุยด้วย มีหนหนึ่งกลับบ้านยามเที่ยงคืน เดินบนถนนผ่านป้ายรถเมลย์ มีหญิงสาวมาถามข้อมูลการเดินทาง ในบทสนทนาอันแสนสั้นเธอยังชวนให้ไปโบสถ์ด้วย เวลาเขามาชวนถกเราก็สนองตอบด้วยความเคารพในสิ่งที่เขาทำ แต่เราไม่ทำตามก็ไม่เห็นเขาจะว่าอะไร
ตัวตนของเรา ความคิดของเรา มันก็อยู่กับเรา มันอยู่กับเราอย่างเหนียวแน่นตราบเท่าที่เราต้องการ
ยิ่งเรื่องบางอย่างหากเราไม่เห็นด้วยหรือไม่ทะลุในความคิด ไม่ว่าอะไรก็จะมาทำให้เราเป็นเช่นนั้นไปไม่ได้ และผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าเราจะทำอะไรเราก็ทำด้วยตัวของเราเองไม่จำเป็นต้องให้ใครมาชักจูง เรารับผิดชอบการกระทำอันนั้นของเราด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องไปโทษใคร
การบอกว่าทำสิ่งต่างๆเพราะโดนชักจูงนั้นแท้ที่จริงแล้วมันก็แค่ข้ออ้างเท่านั้น
ประเด็นคืออยากจะบอกว่า เรื่องเพศสภาพมันไม่ใช่เรื่องความเชื่อ มันไม่ต้องเผยแพร่ ที่พูดกันว่าผู้หญิงสองคนมาเผยแพร่ให้คนในจชต.กลายเป็นกระเทย เกย์ ฯลฯ ฟังแล้วไม่เข้าใจว่ามันจะเป็นไปได้หรือทำได้อย่างไร
การใช้ภาษาพูดถึงคนอื่นยิ่งดูว่าไม่ใส่ใจแม้แต่น้อยว่าเรากำลังกดพวกเขาให้ด้อยลง ทั้งๆที่หลายคนที่โพสต์ถึงพวกเขาก็รู้จักพวกเขาดี อยากถามว่า เคยไปคุยกับพวกเขาตรงๆไหมในเรื่องนี้
นี่เป็นเรื่องตลกร้ายของพื้นที่นี้ที่ผู้เขียนเคยเจอมากับตัวเอง รู้จักกัน เป็นเพื่อนกันในเฟส แต่เวลาที่เขาคิดว่าคุณเป็นตัวปัญหาคุณจะกลายเป็นปีศาจไปฉับพลันและโดนด่าได้โดยที่ไม่ต้องคุยกันก็ได้ ความเป็นเพื่อนหายไปทันควัน
ความระแวงก็มากล้น เมื่อไหร่เริ่มระแวง กิจกรรมที่ทำด้วยเจตนาดีแม้ผลจะออกมาดีก็ยังอาจถูกตีความไปได้ว่ามีอะไรแอบแฝง ผู้เขียนได้แต่พยายามคิดว่า มันอาจเป็นอาการไข้ของคนในพื้นที่ที่ถูกกดทับมานาน
บางคนเลยเถิดไปถึงขั้นว่ารับเงินต่างชาติมาทำงาน ทำลายพื้นที่นี้
เอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ก็รับทุนนอกทั้งนั้นแหละ ก็ทุนนอกมันให้อิสระมากกว่า และทราบหรือไม่ว่าทุนพวกนี้ทำให้หลายคนได้โอกาสมามากแล้ว
อย่าไปเหมาเข่งค่ะ เราควรจะแยกแยะเป็นเรื่องๆกันไป
และอยากจะยืนยันว่า คนที่เข้าไปทำงานในจชต.ส่วนใหญ่เคารพความต่าง ไม่มีใครหรอกที่จะแตะต้องศาสนาอิสลาม การเคารพความต่าง ไม่ว่าในเรื่องศาสนา อัตลักษณ์และวิถีชีวิตเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของคนนอกที่เข้าไปทำงานประเภทเอ็นจีโอหรือกึ่งเอ็นจีโอในจชต. งานเหล่านี้มันเป็นงานแทบจะกึ่งอาสา มาด้วยใจกว่าครึ่ง ไม่เช่นนั้นพวกเขาไม่ลงไปหรอกค่ะเพราะเงินที่ได้น่ะมันน้อยนิดเมื่อเทียบกับการทำงานที่อื่น หากจะทำอะไรผิดพลาดก็เกิดจากความไม่รู้ เกร็ง หรือว่าเพราะอ่อนด้อยทางการแสดงออก
“คนนอก” เหล่านี้ไม่ใช่คนที่จะย่ำยีศาสนาอิสลามและมุสลิมในจชต. ในทางกลับกันพวกเขาคือคนที่จะช่วยทำให้คนนอกที่ไกลตัวออกไปเข้าใจคนจชต.มากขึ้นเสียด้วยซ้ำ หลายคนที่มาทำงานในพื้นที่นี้ทะเลาะเบาะแว้งกับมิตรสหายและกับครอบครัวของตัวเองเพื่อแก้ต่างให้คนจชต. นี่คือข้อเท็จจริงที่เอ็นจีโอหรือนักวิชาการภาคใต้ที่สัมพันธ์กับคนเช่นนี้ควรจะรู้ดีแต่พูดเหมือนไม่เข้าใจจนผู้เขียนก็เริ่มจะสับสนและคิดว่าต้องเก็บความรู้ใหม่เกี่ยวกับคนที่นี่
มาถึงวันนี้ได้ข่าวน่าห่วง ข่าวว่ามีการแชร์ภาพน้องๆในกลุ่มฟุตบอลผู้หญิง
จะล่าแม่มดกันหรือคะ ตรองให้ดี
พวกเขาเหล่านั้นเป็นเพียงเด็กสาวที่สถานะในสังคมอยู่ในขั้นอ่อนแอกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ผู้ชาย นักวิชาการ ผู้รู้ในสังคมนี้มีสถานะเหนือกว่าพวกเธอมากนัก ยังมีวิธีการอื่นๆที่จะแสดงออกได้ดีกว่าไม่ใช่ build บิ้วอารมณ์คนในสังคมจนเรื่องไปลงเอยที่การใช้ความรุนแรง
ถามตัวเองเถอะว่า กำลังเปลี่ยนจากการเป็นคนที่ต้องการจะมีสิทธิมีเสียงในสังคมไทย ไปเป็นคนที่ใช้เสียงที่ดังกว่าของตัวเองในสังคมตัวเองทำร้ายคนที่อ่อนแอกว่าหรือไม่
จะทำกับพวกเขาเช่นเดียวกันกับที่ตัวเองก็ถูกกระทำเช่นนั้นหรือ
แล้วคนที่มองมาจากภายนอก คนที่อยู่ภายใต้อิทธิพล “ตะวันตก” ที่ถูกครอบงำด้วยวิธีคิด “เสรีนิยมสุดโต่ง” ก็ คงจะได้เห็นตัวอย่างของการกดทับในสังคมนี้สินะ