เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6
นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ในการรณรงณ์ระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้นำเสนอนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากนักเกี่ยวกับตะวันออกกลาง แต่จะเน้นการวิจารณ์ความผิดพลาดของโอบามาและนางคลินตันมากกว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการวิจารณ์นโยบายของโอบามาต่ออิหร่าน
ทรัมป์มองว่าโอบามาค่อนข้างอ่อนแอมากในการจัดการกับอิหร่าน โดยที่ไม่เห็นด้วยที่โอบามาผลักดันการเจรจานิวเคลียร์อิหร่าน จนนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงและการยกเลิกมาตราการคว่ำบาตรอิหร่านในที่สุดตามมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ที่ 2331 เพื่อเป็นการรับรองข้อตกลงนิวเคลียร์กับ 6 ชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศล จีน และเยอรมัน โดยมีเงื่อนไขคือห้ามรัฐบาลเตหะรานพัฒนาโครงการขีปนาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลา 8 ปีนับตั้งแต่กรกฎาคม ค.ศ. 2015
นอกจากไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ทรัมป์ยังมองว่าควรยกระดับการคว่ำบาตรอิหร่านอีกเป็นเท่าตัว เพราะเขาเชื่อว่าอิหร่านมีการสะสมยูเรเนียมมาโดยตลอด และข้อตกลงนี้ก็ไม่อาจที่จะหยุดยั้งการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านได้ ทรัมป์มองว่าทางออกเดียวที่ต้องจัดการกับอิหร่านคือต้องเข้าไปเปลี่ยนระบอบการเมืองของอิหร่าน (regime change)
ทรัมป์ยังหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับท่าที่ของสหรัฐภายใต้รัฐบาลโอบามาที่มีต่ออิหร่านว่าทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิสราเอล โดยเขาคิดว่าอิสราเอลคงไม่พอใจข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวและการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เพราะจะเปิดทางให้อิหร่านเข้มแข็งขึ้นมา ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่ออิสราเอล
ด้วยท่าที่และจุดยืนของทรัมป์ต่ออิหร่าน ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าแนวโน้มสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านอาจจะกลับมาตึงเครียดมากหรือมากกว่าเดิม หลังจากที่ดีขึ้นมาในช่วงท้าย ๆ ของรัฐบาลโอบามา
อิหร่าน 1 ใน 7 ประเทศมุสลิมที่ถูกแบน ความแตกต่างในความเหมือน
หากมองจากจุดยืนของทรัมป์ที่กล่าวมา คงไม่น่าแปลกที่อิหร่านจะถูกรวมอยู่ในกลุ่มที่ถูกแบนไม่ให้พลเมืองเข้าสหรัฐตามคำสั่งพิเศษของฝ่ายบริหาร แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับบริบทของอีก 6 ประเทศที่ถูกแบน ก็จะพบความแตกต่างที่สะท้อนเหตุผลของการเมืองระหว่างประเทศ
หกประเทศที่ถูกแบน กล่าวคือ อิรัก ซีเรีย เยเมน โซมาเลีย ซูดานและลิเบีย จะมีบริบทบางอย่างหรือหลายอย่างที่คล้าย ๆ กัน เช่น มีสงครามกลางเมือง เกิดปัญหาผู้อพยพลี้ภัย การเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธและกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ไม่มีรัฐบาลกลางหรือมีก็ขาดประสิทธิภาพ รัฐอ่อนแอ รัฐล้มเหลว ถูกโจมตีทางอากาศจากกลุ่มประเทศภายนอกอย่างสหรัฐ ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย และอิสราเอล เป็นต้น แต่สำหรับอิหร่านไม่ได้ประสบปัญหาหรือสถานการณ์ที่กล่าวมาเลย จึงเกิดคำถามว่าด้วยเหตุผลใดจึงถูกแบนไปด้วย หรือเพราะสหรัฐต้องการเปิดฉากการเมืองดุเดือดกับอิหร่านครั้งใหม่
สหรัฐอาจมองอิหร่านเป็นรัฐสนับสนุนการก่อการร้าย โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน หากสหรัฐมองฮิซบุลลอฮ์เป็นกลุ่มก่อการร้ายแล้ว ในตรรกเดียวกันเลบานอนก็ควรจะถูกแบนด้วย หรือหากมองว่าอิหร่านสนับสนุนกลุ่มกบฏในเยเมน สหรัฐเองก็ประกาศชัดในการให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลอัสซาดในซีเรีย โดยเฉพาะกลุ่มที่สหรัฐเรียกว่ากบฏสายกลางหรือ FSA หรือกลุ่มเคิร์ด YPG เป็นต้น
นอกจากนี้ หลายประเทศกลับไม่ถูกแบนทั้ง ๆ ที่สหรัฐมองประเทศเหล่านั้นว่าเป็นแหล่งศูนย์รวมบ่มเพาะและส่งออกแนวคิดสุดโต่งและกลุ่มก่อการร้าย อย่างซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อียิปต์ หรือประเทศมุสลิมใหญ่ ๆ อย่างอินโดนีเซีย เป็นต้น จึงมีการตั้งข้อสังเกตุมากมายถึงคำสั่งพิเศษดังกล่าวว่าสหรัฐยกเว้นบ้างประเทศเพราะมีผลประโยชน์กันอยู่ หรือมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่พึงพากันอยู่
วัฏจักรปัญหาการเมืองเรื่องขีปนาวุธและการคว่ำบาตร
หลังทรัมป์ออกคำสั่งพิเศษแบนพลเมืองอิหร่านไม่ให้เข้าสหรัฐ อิหร่านก็แสดงท่าทีตอบโต้อย่างรวดเร็วในลักษณะเดียวกันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน มองว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นชาวมุสลิมและเป็นของขวัญชิ้นใหญ่สำหรับผู้ก่อการร้าย
ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2017 อิหร่านได้ทำการทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ(Khorramshahr) แม้หลายคนจะมองว่าเป็นการตอบโต้ที่ถูกสหรัฐแบน แต่อิหร่านยังคงยืนยันว่าเป็นการทดลองตามแผนปกติ โดยเป็นการทดลองครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปี หรือนับตั้งแต่การทดลองครั้งล่าสุดเมือเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016 โดยในครั้งนั้นก็นำไปสู่การถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐครั้งแรกหลังจากที่บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างกัน มีบริษัทและเอกชน 11 รายที่ถูกคว่ำบาตรเพราะมีความเกี่ยวข้องกับโครงการทดลองนี้ สหรัฐกล่าวหาอิหร่านว่าละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำขึ้นในปี 2015 ส่วนอิหร่านได้ยืนยันว่าไม่ได้ละเมิดข้อตกลงแต่อย่างใด มองว่าการค่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่านนั้นขาดความชอบธรรม และอิหร่านจะยังคงเดินหน้าโครงการทดลองขีปนาวุธของตน นอกจากนี้ ยังชี้ว่าสหรัฐเองเป็นตัวที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาค เพราะสหรัฐยังคงขายอาวุธให้กับพันธมิตรของตัวเองในตะวันออกกลางที่ถูกนำไปใช้โจมตีชาวปาเลสไตน์ และเยเมน
คำสั่งพิเศษแบนอิหร่านของทรัมป์และการทดลองขีปนาวุธของอิหร่าน ถือเป็นบททดสอบแรกที่ต่างฝ่ายต่างท้าทายซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม จากปฏิกิริยาที่ผ่านมาของสหรัฐและอิหร่านที่ตอบโต้กันไปมาก็จะพอทำให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์ที่กำลังเดินหน้าไปสู่จุดเดิมของความขัดแย้งและการคว่ำบาตรกันเหมือนเช่นในอดีต
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ทรัมป์ตอบโต้การทดลองขีปนาวุธของอิหร่านด้วยการประกาศคว่ำบาตรรอบใหม่ รวมทั้งเพื่อเป็นการลงโทษอิหร่านที่สหรัฐมองว่าให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏในเยเมน มีบริษัท 12 แห่ง และชาวอิหร่าน 13 คน ที่ถูกคว่ำบาตรในรอบนี้
ปัญหาระหว่างสหรัฐกับอิหร่านในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ ส่อเค้าว่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นและคงจะกลับมาพูดคุยกันได้ยาก เพราะทั้งสองฝ่ายมีการยั่วยุและท้าทายกันไปมาอยู่ตลอด ทรัมป์แสดงท่าทีต่ออิหร่านในทำนองว่าอาจใช้ทุกวิธีการเพื่อจัดการกับอิหร่าน รวมไปถึงแนวคิดการเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบอบในอิหร่าน หรือหลังจากที่อิหร่านทดลองขีปนาวุธ ทรัมป์ได้เตือนแบบข่มขู่ว่า “อิหร่านกำลังเล่นกับไฟ.... ซึ่งเขาเองก็ไม่ใจดีเหมือนอดีตประธานาธิบดีโอบามา” ในขณะที่อิหร่านก็ไม่สนใจคำขู่ของเขา พร้อมกับประกาศว่าจะใช้ “มาตรการตอบโต้อย่างเท่าเทียม” โดยจะเพิ่มข้อจำกัดทางกฎหมายกับบริษัทสหรัฐบางกลุ่ม ส่วนประเด็นด้านการทดลองขีปนาวุธก็เช่นกัน อิหร่านยืนยันว่าตัวเองมีสิทธิและไม่ได้ละเมิดข้อตกลงแต่อย่างใด ที่สำคัญคือประกาศชัดว่าจะเดินหน้าโครงการนี้โดยไม่ยอมจำนนให้กับคนที่ไม่มีประสบการณ์อย่างนายทรัมป์
อย่างไรก็ตาม การเมืองและความขัดแย้งในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นวัฏจักรของปัญหาในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาตั้งแต่หลังปฏิวัติอิหร่านใน ค.ศ. 1979 โดยเฉพาะในยุคสมัยของรีพับลิกันที่ค่อนข้างแข็งกร้าวกับอิหร่าน แต่ถึงกระนั่นสหรัฐก็ไม่เคยทำสงครามเผชิญหน้าโดยตรงกับอิหร่านเลย ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะสงครามตัวแทน การข่มขู่ และการคว่ำบาตรมากกว่า แต่พอมาในยุคของประธานาธิบดีขวาจัดอย่างทรัมป์ ทำให้เกิดข้อกังวลว่าสถานการณ์อาจรุกลามบานปลายเป็นสงครามได้หรือไม่ (อ่านตอนต่อไป “ทรัมป์กับแนวโน้มการเปิดสงครามกับอิหร่าน” )
อ่านตอนที่แล้ว
เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)