Skip to main content

แม้จะอยู่ห่างจากเมืองไทยในช่วงนี้แต่ก็อยากส่งกำลังใจไปให้กับเพื่อนๆ ที่อยู่ในภาคใต้  หลังเหตุการณ์ระเบิดเสาไฟฟ้า เผาสายโทรศัพท์และยางรถยนต์ใน 18 อำเภอในปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา   ตามที่มีการรายงานข่าวโดยอ้างอิงข้อมูลของกอ.รมน. มีเสาไฟฟ้าเสียหาย 52 ต้น ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่ทำให้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟมาปัตตานีได้รับความเสียหายจึงทำให้ไฟฟ้าในปัตตานีดับเป็นบางช่วงเวลา

สำหรับคนนอกพื้นที่ ความรุนแรงในภาคใต้เป็นแค่ข่าว แต่สำหรับคนที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของสงขลา มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องประสบในช่วงกว่า 13 ปีที่ผ่านมา  นักศึกษาที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีต้องเรียนในห้องที่มืดบ้างสว่างบ้าง  บางคนหุงข้าวยังไม่สุกแต่ไฟดับก่อน  ธุรกิจได้รับผลกระทบ มิพักต้องพูดถึงว่าการที่กระแสไฟฟ้าติดๆ ดับๆ อาจจะส่งผลต่อการจัดการของโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยนอนรักษาพยาบาลอยู่ 

การก่อเหตุข้ามจังหวัดไม่ใช่เรื่องใหม่  มีการปฏิบัติการในลักษณะเช่นนี้หลายครั้งหลายคราในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในภาคใต้      ข้อมูลจาก “คนใน” คนหนึ่งบอกว่าการปฏิบัติการครั้งนี้เป็น “การก่อเหตุประจำปี”  จากที่เคยสัมภาษณ์คนที่เคยร่วมปฏิบัติการกับ BRN พวกเขาสะท้อนว่าการปฏิบัติการแบบข้ามพื้นที่หลายจังหวัดเช่นนี้มีส่วนในการสร้างขวัญกำลังเพราะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนที่ร่วมในขบวนการ  เพราะคนในระดับปฏิบัติการก็ไม่รู้จักคนที่ทำงานต่างพื้นที่  รับรู้แต่ในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้องเท่านั้น

อีกประเด็นหนึ่งที่พึงพิจารณาคือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแปดวันหลังการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย 2 รายที่อ.รือเสาะ จ.นราธิวาสคือนายอาเซ็ง อูเซ็งและนายอิสมาแอ หามะเมื่อวันที่ 29 มีนาคมซึ่งเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับการกราดยิงรถของนายสมชาย ทองจันทร์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในอำเภอเดียวกันเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน รวมถึงเด็กวัย 8 ขวบด้วย การโจมตีเด็กทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

หลังเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมดังกล่าวเพียงวันเดียว ก็มีการปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการกราดยิงอาวุธสงครามเข้าไปยังสถานีตำรวจที่อ.ระแงะ จ. นราธิวาสทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นายและบาดเจ็บ 3 นายในวันที่ 30 มีนาคม  อีกสี่วันถัดมา (3 เมษายน) ก็มีการใช้อาวุธสงครามยิงถล่มป้อมตำรวจที่อ.กรงปินัง จ.ยะลาทำให้ตำรวจบาดเจ็บ 9 นาย

สิ่งที่พึงตั้งข้อสังเกตคือมีการร้องเรียนหลายครั้งว่าการวิสามัญฆาตกรรมของฝ่ายรัฐนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะไม่มีการต่อสู้  ในครั้งนี้ก็มีการร้องเรียนจากครอบครัวของผู้เสียชีวิตเช่นเดียวกัน   และหลายครั้งที่การวิสามัญฆาตกรรมของผู้ที่เชื่อว่าเป็นแนวร่วมของฝ่ายขบวนการจะตามมาด้วยการตอบโต้ที่รุนแรง การโจมตีที่สถานีตำรวจที่อ.ระแงะและอ.กรงปินังนั้นมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเป็นการตอบโต้การวิสามัญฆาตกรรมที่อ.รือเสาะ   ส่วนการก่อเหตุระเบิดเสาไฟฟ้าและก่อกวนอื่นๆ ใน  19 อำเภอนั้นเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน  ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ขบวนการจะใช้ช่วงจังหวะนี้ในการระดมพลปฏิบัติการเพื่อปลุก semangat (จิตวิญญาณ/กำลังใจ) ของสมาชิก

หากยังจำกันได้ในวันที่ 13 ตุลาคมปีที่แล้ว มีการวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา รายงานข่าวบอกว่าเจ้าหน้าที่เชื่อว่าผู้เสียชีวิตเป็น “แกนนำระดับควบคุมสั่งการ”   11 วันต่อมา (24 ตุลาคม 2559) เกิดเหตุระเบิดที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้ม หน้าตลาดโต้รุ่งที่อ.เมือง จ.ปัตตานีทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 20 คน ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นคนพุทธ  ต่อมาในวันที่ 30 ตุุลาคม 2559 มีการวิสามัญฆาตกรรมนายอาหามะ แมเร๊าะซึ่งตามรายงานข่าวเชื่อว่าเป็นแกนนำระดับปฏิบัติการในพื้นที่จ.นราธิวาส  หลังจากนั้นสามวัน (2 พฤศจิกายน 2559) มีการปฏิบัติการในปัตตานี นราธิวาสและสงขลา 19 เหตุการณ์ทั้งยิงใส่ฐานของเจ้าหน้าที่ทหารพรานและตำรวจ  ระเบิดเสาไฟฟ้า ระเบิดร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน ระเบิดตู้ ATM เผายางรถยนต์  ฯลฯ   ในรายงานข่าวของมติชนออนไลน์ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็เชื่อว่าเป็นการตอบโต้การวิสามัญฆาตกรรมนายอาหามะ

จากรูปแบบการปฏิบัติการที่ผ่านมา  รวมถึงการได้สัมภาษณ์ “คนใน” บางคน ผู้เขียนมองเห็นลักษณะการโต้ตอบแบบนี้ในหลายครั้ง  การวิสามัญฆาตกรรมของฝ่ายเจ้าหน้าที่ผลักให้เกิดการปฏิบัติการแก้แค้นเอาคืนที่รุนแรง ดูเหมือนว่าผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ก็อาจจะสนับสนุนอย่างเงียบๆ หรืออย่างน้อยก็ปล่อยให้การวิสามัญฆาตกรรมที่เกินกว่าเหตุเช่นนี้เกิดขึ้น  ที่น่าเศร้าก็คือในบางครั้งเป้าหมายอ่อนแอ เช่น ชุมชนคนพุทธ ได้กลายเป็นเหยื่อโดยที่พวกเขาเองก็อาจจะไม่รู้ที่มาที่ไป แม้จะดูเหมือนว่าในหลายเดือนที่ผ่านมาฝ่ายขบวนการจะมีความระมัดระวังในการปฏิบัติการมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติการหลังการวิสามัญฆาตกรรมในครั้งนี้มุ่งโจมตีผู้ถืออาวุธโดยตรงและทำลายฐานทางเศรษฐกิจของฝ่ายรัฐ  โดยไม่มุ่งโจมตีเป้าหมายพลเรือน

บทเรียนจากปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงควรจะหลีกเลี่ยงการวิสามัญฆาตกรรมให้มากที่สุด  กฎการปะทะพึงจะนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  ในกรณีที่มีข้อร้องเรียนควรจะให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นอิสระเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของผู้ถืออาวุธ   การหลีกเลี่ยงในเรื่องนี้จะเป็นการช่วยลดวงจรอุบาทว์ของการแก้แค้นเอาคืนซึ่งมักจะขยายตัวเมื่อความขัดแย้งรุนแรงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งรุนแรงยังไม่ยุติ  การพูดคุยสันติภาพยังไม่ก้าวหน้า  อย่างน้อยก็ควรหลีกเลี่ยงปฏิบัติการใดๆ ที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

------------------------------------------------------------------------------------------------

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยอิสระที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Australian National University บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่มติชนออนไลน์ วันที่ 9 เมษายน 2560