Skip to main content
 
 
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี
 
 
 
Storm Surge แปลเป็นไทยว่าคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง ในทางวิชาการหมายความถึงคลื่นที่เกิดจากการยกตัวขึ้นของน้ำทะเลนอกชายฝั่งด้วยอิทธิพลของความกดอากาศต่ำ บวกกับอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนแบบ tropical cyclone เมื่อลมความเร็วสูงพัดผ่านพื้นผิวมหาสมุทรหรือทะเลจะทำให้คลื่นสูงขึ้นกว่าระดับปกติ และพร้อมกันนั้นความกดอากาศต่ำที่บริเวณศูนย์กลางของพายุ (เรียกกันว่า--ตาพายุ) ก็จะกลายเป็นเหตุปัจจัยอีกประการหนึ่งของการเกิดคลื่นแบบนี้ ซึ่งก็คือคลื่นยกสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง บวกกับอิทธิพลของชั้นความลึกของทะเลด้วย ผลรวมจากปรากฏการณ์ความกดอากาศต่ำร่วมกับการพัดของลมพายุอย่างต่อเนื่องเหนือบริเวณทะเลน้ำตื้น ทำให้บังเกิดอุทกภัยจากคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่งดังกล่าว บางครั้งเราอาจจะเรียกคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่งในลักษณะที่ไม่เป็นทางการว่าน้ำขึ้นหนุนจากพายุ หรือการที่มีคลื่นทะเลหรือน้ำขึ้นสูงอันเกิดจากพายุ หรือภาวะน้ำทะเลหนุน  
 
คลื่นแบบพายุหมุนยกซัดฝั่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งในทะเลเขตร้อนและนอกเขตร้อน แต่ความเสียหายรุนแรงสูงสุดมักจะเกิดขึ้นในฝั่งทะเลเขตร้อน ตัวอย่างคลื่นพายุที่เกิดนอกเขตร้อน คือ พายุในเดือนมีนาคมปี 2536 ซึ่งเกิดที่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาและคิวบา ทำให้เกิด storm surges จำนวนมากที่ชายฝั่งรัฐฟลอริดา อย่างรุนแรง จนถูกเรียกว่าเป็นพายุแห่งศตวรรษ ยอดคลื่นสูงถึง 3.7 เมตร และในปี 2548 พายุเฮอริเคนแคทรินาที่รัฐหลุยส์เซียนาก็ทำให้เกิดคลื่นสูงมากถึง 8 เมตร คลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ก็คือพายุในอ่าวเบงกอลในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2513 โดยเกิดจากพายุหมุนเขตร้อนชื่อโบลาไซโคลนที่ชายฝั่งบังคลาเทศและอินเดียทำให้คนตายถึงประมาณ 500,000 คน คลื่นพายุหมุนยกซัดชายฝั่งครั้งใหญ่ที่เคยเกิดประเทศไทยเกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 25 - 26 ตุลาคม 2505 ในครั้งนั้นเกิดคลื่นยักษ์สูงประมาณยอดต้นสน (สูงประมาณ 20 เมตร) สร้างความเสียหายให้ 9 จังหวัดในภาคใต้เป็นอย่างมาก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 911 คน สูญหาย 142 คน ประชาชนไม่มีที่อยู่อาศัยประมาณ 10,314 คน
 
หลังจากนั้นรายงานที่เป็นทางการของคลื่นพายุแบบนี้ก็ไม่มีปรากฏชัด แต่มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเริ่มมองว่าความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมของโลกอาจจะมีผลทำให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อีกที่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย ชายฝั่งทะเลภาคใต้กลายเป็นจุดล่อแหลมต่อภัยคุกคามตามธรรมชาติดังกล่าว
 
รายงานสรุปลักษณะอากาศประจำสัปดาห์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน ระบุว่าร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้และอ่าวไทยในระยะต้นช่วง โดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลจีนใต้ตอนล่าง ซึ่งต่อมา “หย่อมความกดอากาศต่ำนี้” ได้ทวีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชั่นในตอนบ่ายของวันที่ 31 คุลาคม และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 1 พฤศจิกายน เวลา 23.30 น. จากนั้นได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดตรัง กระบี่ พังงา และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 2 พฤศจิกายน รายงานสรุปเพียงแค่ว่าลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนาแน่น และมีรายงานน้ำท่วมหลายพื้นที่ นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยายังกล่าวว่าลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนาแน่น และมีรายงานน้ำท่วมหลายพื้นที่ การวิเคราะห์สรุปดังกล่าวคล้ายเหตุการณ์ปกติ เหมือนรายงานอากาศที่เกิดขึ้นประจำวัน
 
แต่ในความเป็นจริงมีอะไรหลายอย่างที่น่าตกใจเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เพราะในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 พายุดีเปรสชั่นที่ว่า มีผลกระทบอย่างมากต่อชายฝั่งจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจุดเริ่มต้นของกระบวนการเข้าปะทะชายฝั่งได้เริ่มต้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเสียหายได้เกิดขึ้นบริเวณหมู่บ้านชายฝั่งทะเลหลายแห่งของจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะที่ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ทำให้มีข้อสงสัยว่าอาจจะเกิดคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่งหรือ storm surge ในปรากฏการณ์พายุดังกล่าวหรือไม่? หรือถ้าไม่ใช่ปรากฏการณ์หลายอย่างในรอบปีที่ผ่านมารวมทั้งในวันดังกล่าวบ่งชี้ว่ามีสิ่งบอกเหตุจากธรรมชาติว่า ภัยพิบัติแบบรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตหรือไม่? การระมัดระวังเฝ้าเตือนภัยอาจจะต้องเปลี่ยนไป มันอาจจะไม่ใช่พายุดีเปรสชั่นปกติที่เราได้ยินในการพยากรณ์อากาศรายวัน แต่เป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นและทำให้ต้องมีการคิดนอกกรอบในเรื่องภัยพิบัติตามธรรมชาติ ต่อไปนี้เป็นรายงานการเก็บข้อมูลเบื้องต้นของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้และหน่วยงานในพื้นที่ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน เพื่อดูว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ในตอนนั้น
 
 
1. จุดเริ่มต้นของกระบวนการ
 
วันที่ 31 ตุลาคมและ 1 พฤศจิกายน ตลอดทั้งวัน มีรายงานการก่อตัวของของศูนย์พายุดีเปรสชั่น เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี ได้รับทราบรายงานต่อมาว่า ศูนย์กลางของพายุนี้อยู่ที่นอกชายฝั่งของจังหวัดนราธิวาส ผลก็คือทั่วทั้งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง มีฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุดีเปรสชั่น ฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เริ่มติดตามเฝ้าดูด้วยความระมัดระวังตามแผนป้องกันภัยพิบัติปกติ ทุกคนต่างคิดกันว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของฤดูฝนอันยาวนานของภาคใต้ตอนล่าง แม้จะเร็วไปกว่าปกติเล็กน้อยก็ตาม
 
วันที่ 1 พฤศจิกายน ฝนยังตกหนักอย่างต่อเนื่องทั้งวัน หลายคนรู้ว่าศูนย์กลางของระบบของมันอยู่ที่ใดที่หนึ่งนอกชายฝั่งจังหวัดนราธิวาส จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันฯ ปัตตานีได้รับรายงานจากนราธิวาสว่าฝนขาดเม็ดและหายไปจากนราธิวาส แต่ที่ชายฝั่งปัตตานีลมและฝนยังแรงอยู่ โดยสัญชาติญาณทุกคนรู้ว่า พายุมันกำลังเคลื่อนขึ้นบนมาทางปัตตานีแล้ว!
 
 
 
2. การเคลื่อนตัวของ “ตาพายุ” ไปตามแนวชายฝั่งปัตตานี
 
1 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 16.00 น. รายงานจากภาคสนามระบุว่าพายุดีเปรสชั่นยังเดินหน้าต่อไปทางด้านปัตตานีและศูนย์กลางของมันได้เคลื่อนตัวไปตามแนวชายฝั่งปัตตานี เริ่มตั้งแต่อำเภอไม้แก่นไล่ขึ้นเหนือไปถึงอำเภอสายบุรีและอำเภอปานะเระ ในช่วงที่พายุได้เดินไปตามแนวชายฝั่ง บริเวณดังกล่าวก็มีปรากฏการณ์ของฝนตกหนักและเกิดลมพายุบริเวณกว้างจากบริเวณชายฝั่ง จากรายงานของอาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือน (อปพร.) ในพื้นที่ ชาวบ้านตามหมู่บ้านชายทะเลบางแห่งในบริเวณอำเภอปานะเระให้ปากคำภายหลังว่าว่าพวกเขาเริ่มได้รับผลกระทบจากพายุลมกระโชกแรงและคลื่นสูงกระฉอกขึ้นบนชายฝั่งแล้วเข้ามาถึงหมู่บ้าน แม้จะยังไม่เข้าไปลึกมากในช่วงแรก เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันฯ ปัตตานีวิเคราะห์ว่าพายุเริ่มเปลี่ยนทางเดินและเดินขนานไปตามแนวชายฝั่ง เพราะอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทิศทางลมบกลมทะเลในช่วงเวลา 16.00 - 17.00 น. นอกจากนี้ การที่พายุจากปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้อุณหภูมิผิวหน้าทะเลในเขตศูนย์สูตรจะต่ำกว่าปกติ ในขณะที่อุณหภูมิบริเวณพื้นที่บนบกมีความร้อนสูง
 
 
3. นาทีวิกฤต: หัวพายุชนแหลมตาชี
 
เวลาประมาณ 18.00 น. กำนันตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่งจังหวัดปัตตานียืนอยู่หน้าบ้านตัวเองซึ่งมีที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านในอ่าวปัตตานี ณ หมู่บ้านบูดี ขณะกำลังเก็บของบนเรือประมงเพื่อหลบพายุ เขามองไปทางด้านทิศเหนือของบ้านตนเองไปยังแหลมตาชี เห็นแนวพายุหมุนอย่างรุนแรง พัดต้นไม้บริเวณนั้นราบพังพินาศ กำนันรู้ว่าภัยพิบัติกำลังมาแน่แล้ว จึงวิ่งหนีออกจากจุดนั้น เข้าไปในหมู่บ้าน ต่อมาบ้านหลังนั้นก็ถูกพายุพัดพังพินาศพร้อมกับบ้านอื่นอีกนับสิบๆ หลังในหมู่บ้านบูดี นอกจากนี้แล้วเจ้าหน้าที่ อปพร. ในหมู่บ้านก็ให้ปากคำแบบเดียวกันว่าพายุได้ชนแหลมตาชีในช่วงเวลาขณะนั้นซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 18.00 - 19.00 น. การให้ปากคำของคนในที่เกิดเหตุชี้ให้เห็นว่าศูนย์กลางพายุดีเปรสชั่นได้เคลื่อนตัวไปปะทะแนวแหลมตาชี จังหวัดปัตตานี หลังจากนั้นพายุก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าหาอ่าวปัตตานี เกิดกระแสลมและคลื่นความปั่นป่วนอย่างรุนแรงที่บริเวณปลายแหลมตาชีและหมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
 
 
         
ในช่วงเวลาประมาณ 18.00 - 19.00 น. เช่นเดียวกัน พยานหลักฐานจากหลายแหล่งในพื้นที่ยืนยันข้อมูลตรงกันว่าพายุได้ปะทะบ้านบูดี ตำบลแหลมโพธิ์เป็นจุดแรกก่อน หลังจากนั้นคาดว่าจะม้วนตัวกลับเข้าหาทะเลในอ่าวปัตตานีและกลับมาปะทะหมู่บ้านดาโต๊ะอีกครั้ง ณ จุดนี้เองที่มีหลักฐานพบว่าน่าจะเกิด Storm Surge ขึ้นที่ชายฝั่งของหมู่บ้านทั้งสองอย่างรุนแรง คลื่นพายุพัดได้เข้ามามากกว่าหนึ่งครั้งในช่วงเวลาตั้งแต่ 18.30 - 20.00 น. ความสูงของคลื่นประมาณ 3 - 5 เมตรที่บ้านดาโต๊ะ ส่วนที่บ้านบูดีนั้น จากปากคำของชาวบ้านในที่เกิดเหตุระบุตรงกันว่าความสูงของคลื่นประมาณ 3 - 5 เมตรเช่นเดียวกัน หรือบางทีอาจจะสูงถึงระดับต้นมะพร้าว มีบ้านเรือนราษฎรเสียหายอย่างรุนแรงไม่ต่ำกว่า 100 หลัง
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านดาโต๊ะแสดงให้เห็นลักษณะพิเศษของคลื่นที่เกิดจากพายุดังกล่าว เพราะหมู่บ้านนี้เป็นหนึ่งในสองหมู่บ้านที่ถูกโจมตีจากคลื่นแรงมากที่สุด ลักษณะประการแรก คือ ชาวบ้านบอกว่าคลื่นเกิดขึ้นในลักษณะที่ต่างจากคลื่นทะเลปกติ คลื่นที่เข้ามามีลักษณะ เป็นน้ำที่ “ยกสูง” “คลื่นนี่มันมายกไปเลย” “ยกข้ามปึ้ดสูง” ยกแล้วก็ลงและมี “เสียงดังเหมือนฟ้าผ่า... ”  “...ยกน้ำสูงเป็นคลื่นใต้น้ำ” ลักษณะประการที่สอง คือ เป็นคลื่นที่พัดมาประมาณสามรอบ ลูกแรกน้ำยังไม่สูงมากนัก แต่เมื่อประมาณเวลา 18.30 น. จากคำบอกเล่าของชาวบ้านดาโต๊ะผู้หนึ่งที่ให้กับผู้สื่อข่าวทีวีไทยซึ่งระบุว่าน้ำที่ขึ้นรอบแรกจะขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ลูกที่สองลูกใหญ่ความสูงประมาณ 5 เมตรข้ามหลังคาบ้านได้ ชาวบ้านอีกคนหนึ่งเล่าว่า “...คลื่นเท่าบ้าน” คลื่นลูกที่สองนั้นแรงและสูงมาก เกิดขึ้นประมาณช่วงเวลา 19.00 - 20.00 น. และระดับน้ำจะคงอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง จนกระทั่งถึงประมาณ 21.00 น. น้ำจึงลดลงด้วยความรวดเร็วมาก  เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าในขณะเดียวกันหมู่บ้านในพื้นที่ก้นอ่าวปัตตานีด้านใน เช่น หมู่บ้านแหลมนกนั้น น้ำจะอยู่ในระดับคงที่อยู่จนกระทั่งเที่ยงคืน จากนั้นก็จะลดระดับลง ลักษณะประการที่สาม ก็คือ ความไกลของระยะที่คลื่นยกตัวสูงที่จะเข้าไปในแผ่นดิน น้ำจะขึ้นไปถึงมัสยิดดาโต๊ะซึ่งชาวบ้านใช้เป็นที่หนีหลบภัย ระยะทางจากชายหาดไปถึงมัสยิดประมาณ 700 เมตร ในกรณีของหมู่บ้านแหลมนกนั้นน้ำจะเข้าไปไกลถึงวัดแหลมนกซึ่งไกลกว่า 700 เมตรจากฝั่งทะเล ลักษณะพิเศษประการที่สี่ คือ ทิศทางของลมพายุมีหลายทิศทาง ชาวบ้านอีกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ทีวีไทยว่าลมเข้ามาจากสามหรือสี่ทิศทางคือลมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลมตะวันตกเฉียงเหนือ และลมตะวันตกเฉียงใต้ ลมที่มีกำลังแรงมากที่สุดคือลมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งทำให้เกิดคลื่นกวาดเข้ามาในหมู่บ้านในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าสภาพพายุในช่วงขณะที่ชนแหลมตาชีนั้นเกิดความปั่นป่วนอย่างรุนแรงในอากาศ
 
ตามข้อสมมุติฐานของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดปัตตานีท่านหนึ่ง ดูเหมือนว่าพายุกำลังจะเข้าฝั่งที่อำเภอเมืองปัตตานีและอำเภอยะหริ่ง แต่ปะทะกับแหลมตาชีก่อน แหลมตาชีได้เป็นกำแพงกันปัตตานีเอาไว้ ณ เวลานั้นมันได้ทำหน้าที่เหมือนที่เคยทำมาเป็นเวลาหลายร้อยปีในอดีตที่ป้องกันลมพายุให้ศูนย์กลางการค้าทางทะเลในอุษาคเนย์ที่รุ่งเรืองเทียบเท่ากับอยุธยา นั่นก็คืออาณาจักรปาตานีดารุสซาลาม จากคำบอกเล่าของชาวบ้านดาโต๊ะ คนแก่คนเฒ่าอายุถึงเก้าสิบปีก็บอกว่าไม่เคยพบเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเวลากว่าร้อยปีที่จะได้เห็นพายุที่รุนแรงแบบนี้ในอ่าวปัตตานี
 
 
4. หัวพายุเข้าบริเวณกลางอ่าวปัตตานี ปั่นคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง
 
หลังจากที่พายุเข้าปะทะหมู่บ้านบูดีและดาโต๊ะ รวมทั้งหมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง คาดว่าทิศทางของพายุจะเข้าหากลางอ่าวปัตตานีและหมุนปั่นอยู่ตรงบริเวณนี้ มันเหมือนอสุรกายที่มีการสะสมพลังงาน ส่งแรงกระทบไปยังบริเวณโดยรอบ เป็น storm surge ไปทั่วบริเวณอ่าวปัตตานี ผลกระทบก็คือเกิดน้ำท่วมขึ้นฝั่งจากทะเลไปทุกทิศทุกทางไปจนถึงก้นอ่าวปัตตานี ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง และบริเวณชายฝั่งตำบลรูสะมีแล อำเภอเมืองปัตตานี รวมทั้งบริเวณชายฝั่งทะเลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านระบุว่า คลื่นน้ำได้พัดเข้ามาที่หมู่บ้านแหลมนกซึ่งอยู่ด้านในบริเวณก้นอ่าว คลื่นพายุสูงมากถึงหน้าอกในช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. แต่ที่นั่น ระดับน้ำจะนิ่งอยู่นานถึงเวลาประมาณ 24.00 น. น้ำจึงลดลงและไหลกลับอย่างแรง ในเวลาใกล้เคียงกันคือประมาณ 19.00 น. คลื่นก็วิ่งเข้าไปทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งอยู่บนแฟลต 12 ริมทะเลเล่าให้ฟังด้วยความระทึกใจว่าเห็นคลื่นพายุจากทะเลวิ่งเข้าหามหาวิทยาลัยในมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้น้ำท่วมสูง รวมทั้งความเสียหายจากลมอย่างรุนแรงที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่จัดตั้งมหาวิทยาลัยมานับ 40 ปี พายุดังกล่าวทำให้ต้นไม้ใหญ่บริเวณมหาวิทยาลัยหักโค่นไปทันทีมากกว่า 100 ต้น
 
 
5. ออกสู่ชายฝั่งปัตตานีมุ่งสู่สงขลา
 
หลังจากนั้น ทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุคาดว่าศูนย์กลางจะเคลื่อนออกจากอ่าวปัตตานีด้านใน ไปสู่อ่าวด้านนอก หรือบริเวณชายฝั่งทะเลอำเภอหนองจิก บริเวณตำบลรูสะมีแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะหมู่บ้านในตำบลท่ากำชำ ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จนกระทั่งเคลื่อนผ่านจากจังหวัดปัตตานี เข้าสู่เขตจังหวัดสงขลา และวิ่งเข้าหาแผ่นดินที่จังหวัดสงขลาบริเวณอำเภอสทิงพระ การสะสมพลังงานเพิ่มขึ้นอีกครั้งของตัวพายุทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงอีกที่บริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะที่อำเภอสทิงพระและอำเภอหาดใหญ่
 
 
ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวเป็นการสำรวจเบื้องต้นหลังเหตุการณ์พายุสดๆ ร้อนๆ แต่ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบจะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ดูลักษณะการก่อตัว พัฒนาการและการเคลื่อนที่ของพายุจากข้อมูลเชิงประจักษ์ แต่สิ่งที่เรามองเห็นอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือลักษณะของ Storm Surge หรือคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่งน่าจะเกิดขึ้นจริงหรือสภาพความเสียหายจากพายุนี้ใกล้เคียงกับสิ่งนี้จริงๆ แม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ว่ามันควรจะเรียกว่าอะไร? แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือแนวคิดในการระมัดระวังป้องกันภัยพิบัติตามธรรมชาติหรือการจัดการภัยพิบัติพลเรือนจะต้องเปลี่ยนไปเพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือได้กับปรากฏการณ์แบบดังกล่าวได้ดีขึ้น นับตั้งแต่นี้ต่อไปในอนาคต อะไรก็อาจจะเกิดขึ้นได้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เพียงแค่สถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของฤดูมรสุมของภาคใต้ตอนล่าง

 

ดาวน์โหลดบทวิเคราะห์ (ไฟล์พีดีเอฟ)

File attachment
Attachment Size
storm_surge_report.pdf (2.2 MB) 2.2 MB