Skip to main content

 

But how could you live and have no story to tell?

ฟีโอดอร์ ดอสตอเยฟสกี้ ตำนานนักเขียนชาวรัสเซียเหมือนจะทิ้งคำถามอันสำคัญแก่ผู้ท่องไปในโลกแห่งวรรณกรรม โลกแห่งจิตวิญญาณและโลกของการผจญภัย ในเรื่องสั้นที่ชื่อว่า White Night

 

 

อย่างที่ได้เคยเกริ่นไปกับเหตุผลของการมารัสเซียครั้งนี้ ผมไม่ค่อยได้รู้เรื่องหรือมีพื้นฐานอะไรมากนักเกี่ยวกับประเทศรัสเซีย นอกจากวลาดีเมียร์ ปูติน หนังสายลับที่มักจะมีประเทศรัสเซียเป็นฉากหลังและวลีติดปากแบบฉบับวัยรุ่นว่า "โหดสัสรัสเซีย"

หลังจากแวะไปเยี่ยมมิตรสหายที่เคยช่วยผมตอนถูกปล้นเงินที่อิสตันบุล ผมจับเครื่องบินของสายการบินตุรกิชแอร์ไลน์เที่ยวสุดท้ายของวันเพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงมอสโกของประเทศรัสเซียโดยที่ผู้โดยสารเกือบทั้งหมดเป็นคนรัสเซียสังเกตุจากรูปพรรณสัณฐานที่เห็นได้ชัด เครื่องบินพาผมมาถึงสนามบิน VKO อันเป็นหนึ่งในสามสนามบินหลักของกรุงมอสโกตอนตีสามครึ่ง ภาพแรกที่เห็นคือนอกจากจะเป็นเอเชี่ยนคนเดียวของสนามบินแล้วก็คือความเจิดจ้าของท้องฟ้า มันสว่างกันตั้งแต่กี่โมงนี่ผมนั่งนึกอุทานในใจ จนเสร็จภารกิจพิธีการเข้าประเทศถึงได้เดินออกมาสูบบุหรี่และสูบอากาศของกรุงมอสโกให้ฉ่ำปอด ผมเดินไปสอบถามเจ้าหน้าที่ของสนามบินว่ารถไฟเข้าเมืองเริ่มวิ่งตอนกี่โมง ก็ได้คำตอบว่าเริ่มกันตอนหกโมงเช้า ผมถูกจนท.คนเดิมถามผมว่ามาจากชิลีหรือปล่าว ตอนแรกก็นึกแปลกใจแต่พอเห็นป้ายชื่อเขาแล้วมีโลโก้ฟีฟ่าประดับอยู่จึงร้องอ๋อเพราะช่วงที่ผมมาเขากำลังมีการแข่งขันฟุตบอลในรายการ Confederations Cup ที่เอาทีมชาติอันเป็นแชมป์ระดับทวีปของทุกทวีป รวมทั้งแชมป์โลกมาโม่แข้ง และเป็นรายการที่จัดโดยฟีฟ่า ทัวร์นาเมนต์นี้คือการทดลองระบบต่างๆของประเทศที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอย่างเช่นรัสเซียซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีหน้าว่าพร้อมขนาดไหน อานิสงส์ที่ได้ก็คือมีการจัดให้มีอาสาสมัครชาวรัสเซียซึ่งสื่อสารภาษาอังกฤษได้คอยช่วยเหลือคนมาดูบอลและนักท่องเที่ยวแบบผมจนทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเป็นกอง จุดไหนที่มีน้องๆอนงค์นางน่ารักๆผมก็ใช้เวลาทำความเข้าใจกับเส้นทางนานหน่อยแค่นั้นเอง

 

 

ด้วยความที่มาถึงมอสโกตอนเช้ามากและก่อนเวลาเช็คอินเข้าโรงแรมเป็นเวลานาน ผมเลยตัดสินใจนั่งรถไฟชิลล์ๆไปเที่ยวเมือง Surgiev Posad หนึ่งในที่ตั้งวิหารอันสำคัญของชาวคริสต์ออร์โทดอกส์ แต่ตอนนั่งรอรถไฟจากสนามบินเข้าเมืองเพื่อต่อรถไฟไปเมือง Surgiev Posad ผมสังเกตเห็นบางอย่างที่น่าสนใจคือ ผมเป็นคนเดียวที่ใส่รองเท้าแตะ ด้วยความที่อยากนั่งเครื่องแบบสบายๆเลยเก็บรองเท้าผ้าใบไว้ในกระเป๋า รัสเซียไม่ต่างจากพวกยุโรปที่เมื่อออกนอกบ้านต้องแต่งตัวให้ดี เมื่อรู้สึกได้อย่างนั้นเลยต้องรีบควักกระเป๋าเปลี่ยนเป็นใส่รองเท้าผ้าใบอย่างรวดเร็ว อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องกลิ่นตัว พวกยุโรปยังพอให้รู้สึกได้บ้างว่าบางคนเลือกที่จะรักษาความดิบของกลิ่น แต่ชาวมอสโกนี่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของน้ำหอมอย่างแท้จริง ผมนี่แทบจะต้องระวังรักแร้ด้วยการปิดมันไว้อย่างแนบแน่น แน่นอนก่อนจะได้เช็คอินเข้าโรงแรมเบ็ดเสร็จแล้วผมนับได้ว่าตัวเองไม่ได้อาบน้ำมาเกินสองวัน

 

 

เมื่อผมนั่งรถไฟไปถึงวิหาร Surgius Lavra ก็ชวนให้ทึ่งกับความงาม-ของกลุ่มอาคาร ขณะเดียวกันก็พบว่าความชิลล์ของผมในการมาเที่ยวเมืองนี้ด้วยการนั่งรถไฟสายสโลว์ไลฟ์มลายหายไปสิ้นเมื่อพบกับทัวร์กลุ่มใหญ่ของนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่ พวกเขาเป็นลูกค้าและปรากฎการณ์ที่สำคัญของการท่องเที่ยวในยุคนี้อย่างแท้จริง

การเดินทางในกรุงมอสโก

การเดินทางในกรุงมอสโกและเมืองโดยรอบนับได้ว่าง่ายแสนง่ายด้วยระบบรางรถไฟที่โอบล้อมไว้อย่างแน่นหนา เมืองที่มีประชากรราวสิบห้าล้านคนและรถบนท้องถนนก็หนาแน่นไม่แปลกเลยหากการเดินทางด้วยระบบรางจะช่วยให้ชีวิตสะดวก เพียงแต่ว่าตัวภาษารัสเซียที่แปะไว้ตรงสถานีต่างหากที่ทำเอาชีวิตมึนงงแม้จะมีภาษาอังกฤษกำกับอยู่บ้างแต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ และนั่นจึงทำให้การซื้อซิมรัสเซียมาใช้นั้นช่วยได้มาก ราคาประมาณ 200 บาท พร้อมอินเตอร์เน็ต 12 GB ด้วยความเร็วระดับ LTE ชีวิตเลยง่ายขึ้นเป็นกองเวลาที่งงกับป้ายต่างๆ

 

 

มอสโกเป็นเมืองที่ Wikipedia บอกว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ ผู้คนสูบบุหรี่ทุกที่ ราคาบุหรี่ถูกกว่าไทยประมาณหนึ่งในสาม แต่สิ่งที่อาจเป็นอาชญากรรมสำหรับผมคือมันหาซื้อยากหน่อย ที่สำคัญตามสถานีรถไฟนั้นจะไม่มีบุหรี่ขายเป็นอันขาดจ้า แต่สิ่งที่ผมว่าเป็นอาชญกรรมกับคนอุษาคเนย์อยู่บ้าง และโดยส่วนตัวผมว่านี่คือความที่พวกยุโรปไม่เข้าใจถึงความสะอาดหมดจดที่แท้จริงคือสายฉีดน้ำในห้องน้ำที่ชาวยุโรปไม่รู้จักและไม่เข้าถึงนั่นเอง....

 

 

สองสามวันที่นอนในมอสโก ผมเอาตัวไปซุกหัวนอน ณ hostel รูหนู ที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างถนน Arbat เก่าและใหม่ รีวิวที่ผมอ่านถือว่าได้คะแนนดีที่เดียวในแง่ของการเดินทางต่อไปยังที่ต่างๆ สะดวกปลอดภัยเหมาะสำหรับคนมาเที่ยว หลายคนบอกว่าถนนนี่ฮิปมาก แต่ผมรู้สึกว่ามันถูกออกแบบมาสำหรับนักท่องเที่ยวและสำหรับวัยรุ่นรัสเซียซึ่งกำลังเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร มิตรสหายบอกว่ามันดูไม่จริงเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวณิพกที่ร้องเพลงร็อคเสียงดัง กลุ่มศิลปินที่อาสาวาดรูป ผมก็เออใช่ เล่นวางต้นซากุระปลอมเสียกลางถนนแบบนั้น แต่เรื่องนี้มันนานาจิตตัง ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อมาหาว่าอะไรแท้หรือไม่แท้ ผมมาด้วยเหตุผลอื่นมากกว่า

มลายูที่รู้สึก ณ จตุรัสแดง

ผมใช้เวลาสองสามวันแรกในมอสโกด้วยการเดินไปตามจุดท่องเที่ยวต่างๆไม่ว่าจะเป็น VDNKh อ่านว่าวิดิอังคา ซึ่งเป็นศูนย์แสดงสินค้าและความร่ำรวยทางเศรษฐกิจซึ่งสร้างขึ้นในสมัยโซเวียตก่อนที่เยอรมันจะเข้ามาบุกในยุคสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน ศูนย์แห่งนี้มีขนาดใหญ่มากๆและประกอบไปด้วยอาคารจัดแสดงนับสิบหรืออาจจะร้อยหลัง ไม่ว่าจะเป็นอาคารของเหล่าประเทศที่สมัยนั้นอยู่ภายใต้โซเวียตสำหรับจัดแสดงสินค้า อาคารสำหรับแสดงความเจริญก้าวหน้าทางอวกาศและนิวเคลียร์ และแน่นอนหลายๆตึกและสถาปัตยกรรมยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของสมัยโซเวียตไม่ว่าจะเป็น ดาว ฆ้อน เคียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความใหญ่โตของมัน ผมเดินแค่เพียงไม่กี่ส่วนก็พบว่าตัวเองนั่งปวดขาและต้องหยุดพัก รูปปั้นของท่านเลนินซึ่งทำหน้าที่ต้อนรับและอำลาบรรดาผู้มาเยือนคงไม่ว่าอะไรกระมังที่ผมเดินได้ไม่หมด

 

 

อีกที่หนึ่งที่ผมได้เดินไปเที่ยวนั่นคือมัสยิดกลางมอสโก ตั้งอยู่ใกล้ๆสนามกีฬาโอลิมปิกในเขตเมืองชั้นในของกรุงมอสโก สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1904 แต่ก็ได้มีการสร้างมัสยิดใหม่ทับที่เดิม ทำพิธีเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนปี 2015 โดยมี วลาดิเมียร์ ปูติน, แอร์โดกาน และ มาห์มูด อับบาส เข้าร่วมในพิธี มัสยิดแห่งนี้รองรับคนมาละหมาดได้ถึง 10,000 คน และบ่อยๆมัสยิดแห่งนี้จะถูกเรียกว่ามัสยิดของพวกตาตาร์ซึ่งอพยพขึ้นมาทำมาหากินในเมืองหลวง ข้อมูลเรื่องมุสลิมในรัสเซียนั้นกระจัดกระจายมาก บ้างก็ว่ามีประมาณ 10 ล้านคนจากประชากรทั้งประเทศที่มีประมาณ 144 ล้านคน ขณะที่มีตัวเลขจากสำนักต่างๆซึ่งแตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วถือว่ามีไม่น้อย

 

 

แต่สิ่งที่ทำเอาผมแปลกใจในวันหนึ่งของการเดินทางคือตอนที่ผมไปเดินเล่นแถวจตุรัสแดง ท่ามกลางมวลหมู่นักท่องเที่ยว ผมสังเกตุเห็นบังคนหนึ่งใส่ชุดมลายูและซอเกาะยืนเซลฟี่คนเดียว ผมเลยเข้าไปทักทายพอหอมปากหอมคอและขอถ่ายรูปด้วย คุยไปคุยมาเลยทราบว่าแกเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่ USM และมางานรับปริญญาหลานสาวที่มอสโก เสียดายที่ผมไม่ได้นับกระดุมที่เสื้อว่าแกใส่กี่เม็ด แต่ที่สะดุดตามากกว่านั้นคือหลังจักถ่ายรูปเสร็จ แกจัดการถอดเสื้อมลายูและซอเกาะเก็บไว้ในกระเป๋า เหลือไว้แต่เพียงรูปถ่ายมลายูที่รู้สึกในกรุงมอสโก

Gorky Park และปัญหาที่พวกฮิปสเตอร์สร้างขึ้น

Gorky Park เป็นชื่อที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กโดยเฉพาะจากเพลง Wind of Change ของวง Scorpion เอาจริงๆแล้วภาพจำของคนรัสเซียเท่าที่นึกออกคือเจ้าพ่อ มาเฟีย ผู้คนหน้านิ่งๆเข้มขรึมแบบปูติน ฉากในหนังสายลับ และความดิบๆ ซึ่งนั่นอาจเป็นภาพที่ถูกหนังสร้างขึ้นมาหรืออาจจะเป็นภาพจริงๆก็ได้ แต่ในมอสโกซึ่งเป็นเมืองใหญ่มากๆก็เหมือนกับเมืองใหญ่ๆทั่วโลกผู้คนมาจากหลากหลายพื้นที่ของประเทศ คนรุ่นใหม่มีความมั่นใจในตัวเอง รักการแสดงออก ผู้คนยิ้มแย้มส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะนี่คือหน้าร้อนของพวกเขา พลังงานของดวงอาทิตย์เลยคอยหล่อเลี้ยงผู้คนไม่ให้อับเฉา

 

 

ตัดกลับมาที่สวนสาธารณะ Gorky Park ซึ่งมีขนาดใหญ่ มีทุกอย่างที่สวนสาธารณะควรจะมี ผมใช้เวลาจำนวนมากอยู่สองที่คือที่ลานเสก็ต เห็นแล้วน่าจะจัดที่ปัตตานียิ่งนัก อีกที่คือแกลเลอรี่ร่วมสมัยที่ชื่อว่า Garage บังเอิญที่เขากำลังมีนิทรรศการอยู่สองนิทรรศการคือของศิลปินอเมริกันกับศิลปินของคองโก ผมดูงานของศิลปินอเมริกันแล้วเฉยๆ แต่ของคองโกนี่น่าสนใจเต็มไปด้วยสีสันและเล่าเรื่องมากกว่า เขาเล่าตั้งแต่พัฒนาการของศิลปะแบบยุคใหม่ (ช่วงใกล้จะได้รับเอกราชจากเบลเยี่ยม) เรื่องราวในสังคมและการเสียดสีทางการเมือง มีอยู่ชุดหนึ่งที่ผมชอบซึ่งพยายามจะอธิบายเรื่องความพยายามของฝรั่งที่พยายามจะหา "ความแท้" ของงานแกะสลักบางอย่างแบบคองโกที่ศิลปินคองโกไม่ค่อยทำแล้วเพราะมันใช้เวลา เปลืองทรัพยากร วัสดุหายาก แต่ฝรั่งก็ยืนยันว่าต้องทำแบบจารีตเดิมๆ ผมนักนึกว่าถ้ามากับพ่อเคราแดงคงได้นั่งคุยอยู่ตรงนั้นในประเด็นนี้ยาว

 

 

วันเดียวกันผมนัดมิตรสหายท่านหนึ่งที่ได้มีโอกาศเจอกันตอนที่ผมไปเที่ยวจอร์เจียเมื่อสองปีที่แล้ว เธอพาผมไปย่านที่บรรดาพวกฮิปสเตอร์สิงสถิตและเรียกว่า Art Play เราเดินไปและแซะไปกับความเป็นฮิปสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่แบบฉบับที่ฮิปสเตอร์จะต้องไปสร้างถิ่นฐาน ต้องดูเก่าๆและต้องมีพื้นที่ที่จะพัฒนา / ออกแบบไอเดียเก๋ๆใส่เข้าไป ร้านกาแฟฮิปๆบนตึกเก่าๆ ร้านขายของแบบฮิปสเตอร์ที่ดูสะอาด unique และแพง เธอบอกว่าเขตนี้เคยเป็นเขตโรงงานเก่าและมันก็ร้าง จนกระทั่งชาวฮิปสเตอร์เข้ามา และนั่นก็กลายเป็นปัญหาเมื่อสถานที่มันฮิปขึ้นมา ราคาที่ดิน / ค่าเช่าก็ขยับตัวทำเอาคนที่อยู่เดิมๆและรอบๆ ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้และต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ เราเรียกสิ่งนี้ว่า Gentrification และเกิดขึ้นในหลายๆเมืองใหญ่ทั่วโลก หลายๆครั้งมันเป็นปัญหาใหญ่เพราะมันทำให้ความเป็นชุมชนเดิมที่เคยอยู่นั้นแทบล่มสลายไปเลย พวกฮิปสเตอร์นี่สร้างปัญหาไว้เยอะจริงๆ

 

 

เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและสายน้ำ

 

 

เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อดีตเมืองหลวงของรัสเซียสมัยราชวงศ์โรมานอฟ เมืองที่สวยงามและให้กำเนิดบุคคลสำคัญมากมาย ผมนั่งรถไฟตู้นอนมาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กโดยใช้เวลาราวแปดชั่วโมงจากระยะทางราวแปดร้อยกิโลเมตรก็ถือว่าไม่เลวทีเดียว ผมมาถึงเมืองนี้ในตอนเช้าตรู่และใช้เวลาจำนวนมากกับการเดินชมเมือง เดินไปเรื่อยๆ ผมไม่ค่อยสนใจพระราชวังหรืออนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่มากนัก ผมเดินไปเรื่อยๆจริงๆ ผมว่ามันคุ้มค่าแล้วกับการเดินชมเมืองที่สวยงามขนาดนี้ สายน้ำเป็นส่วนสำคัญของการสร้างเมืองนี้ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทะเลบอลติค โดยมีแม่น้ำเนวาเป็นฉากที่สำคัญที่สุดของเมือง จักรพรรดิซาร์ปีเตอร์มหาราช ผู้พิชิตและก่อร่างสร้างเมืองนี้ขึ้นมาในปี 1703 ก็ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ สายน้ำอีกเช่นกันที่มักจะดึงดูดอารมณ์ความรู้สึกอันเล็กๆของผมให้นั่งเฝ้ามอง สูดกลิ่น และชักชวนให้จิตใจสงบนิ่ง พรแห่งวารีมักทำให้ผมมีความรู้สึกเย็นขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุเสมอ ยิ่งได้นั่งอยู่คนเดียว นั่งมองผิวน้ำกระทบฝั่ง นั่งมองสายน้ำที่ไหลเอื่อยๆ มันมักจะชวนให้จิตใจล่องลอยและมีความรู้สึกดีอยู่ในทีเสมอ

 

 

เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศรัสเซีย และนั่นจึงทำให้มีปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่ท้องฟ้ายังคงจะสว่างไสวแม้พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าไปแล้ว เขาเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า White Night ทำให้ร้านกาแฟจำนวนมากเปิดให้บริการยี่สิบสี่ชั่วโมงในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

สถานีรถไฟใต้ดินในรัสเซียนั้นอลังการมาก แม้ว่าในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจะไม่อลังการเท่ามอสโกแต่ก็ยังอลังการอยู่ดี วันหนึ่งของการเดินทางผมมีโอกาสไปทัวร์รถไฟใต้ดินที่โรงแรมจัดให้ฟรี ก็สนุกไปอีกแบบ คุณไกด์แสนสวยผู้หลงไหลในทะเลพัทยาเธอพยายามอธิบายรายละเอียดต่างๆรวมทั้งเรื่องชวนขนหัวลุก สิ่งที่น่าสนใจคือสถานีรถไฟใต้ดินในเมืองที่เต็มไปด้วยสายน้ำแบบนี้ต้องสร้างกันลึกพอควร สถานีที่ลึกที่สุดนั้นอยู่ใต้ระดับแผ่นดินกว่าร้อยเมตร บันไดเลื่อนจึงต้องทำยาวเป็นพิเศษเช่นกัน ในสถานีจะมีรูปปั้นของบุคคลสำคัญซึ่งแตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นของ Lenin, Pushkin แต่ไม่มีของกวีดิบเถื่อนที่ชื่อ Mayakovsky มีเพียงชื่อสถานีของเขาซึ่งเป็นสถานีอันเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติและลุกขึ้นสู้

 

 

อีกสถานที่หนึ่งในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่ผมได้ไปเยือนคือมัสยิดกลางเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 1913 ตอนนั้นถือว่าเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มัสยิดถูกแบนไม่ให้ใช้ทำละหมาดตอนปี 1940 แต่รัฐบาลเปิดให้ทำการอีกครั้งในปี 1956 หลังจากประธานาธิบดี Soekarno แห่งอินโดนีเซียเดินทางไปเยือนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและร้องข้อไปยังรัฐบาลรัสเซีย ตัวมัสยิดออกแบบโดยล้อกับสุสานของจักรพรรดิติมูร์ในเมือง Samarkand ตอนมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในปี 1910 ฑูตจากจักรวรรดิออตโตมานก็ได้เข้าร่วมพิธีด้วย แต่ตอนนี้ตัวมัสยิดกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงเลยต้องขึ้นไปละหมาดกันตรงชั้นลอย ความงามของมัสยิดจึงยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์

 

 

หลังจากเดินในเมืองจนหนำใจและเตรียมพร้อมขึ้นเครื่องเดินทางต่อไปยังที่อื่น ผมมีข้อสังเกตุอย่างหนึ่งเวลาที่เดินไปไหนมาไหนในสองเมืองใหญ่ของรัสเซียคือ ผมมักจะเห็นคนทำงานแรงงานส่วนใหญ่ในสองเมืองนี้มีหน้าตาค่อนไปทางเอเชียกลาง บทความในหนังสือพิมพ์พูดถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่างในประเมศรัสเซียและสิ่งที่ชวนให้ย้อนแย้งกันในข่าวที่อยู่ในหน้าถัดไปคือการมีมาตราการจำกัดแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศ ปัญหานี้ช่างเหมือนเรื่องที่เคยได้ยินมาก่อนจากที่ไหนสักที่ ในส่วนคุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้เป็นยังไงนั้นผมก็จนปัญญาที่จะบอกได้ แต่อาจสรุปกันแบบเร็วๆได้ว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้นคงเกิดขึ้นในหลายๆที่ แต่ความเป็นชาตินิยมดูเหมือนทำให้บั่นทอนสภาพความเป็นจริงและความต้องการที่แท้จริงอยู่ไม่น้อย